‘อุตตม’เปิดแผนรับมือ ตุนกระสุนกระตุ้นศก.

หมายเหตุนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ “มติชน” เกี่ยวกับมุมมองด้านเศรษฐกิจในปี 2563 รวมถึงการทำงานของกระทรวงการคลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปีที่ผ่านมากระทรวงการคลังเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างมากมาย คาดว่าในปีนี้จะมีมาตรการออกมาอีกหลายชุด

•จีดีพีปี’63ส่อเค้าต่ำกว่า3%
เมื่อต้องพูดถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ก็ต้องบอกว่ายังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก ปัญหาสงครามการค้า (เทรดวอร์) ยังบอกไม่ได้ว่าจะจบเมื่อไหร่ รัฐบาลต้องดูแลเศษฐกิจและบริหารจัดการ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว แต่ตัวเลขจะเป็นเท่าไหร่ต้องมาดูกัน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2563 ว่าจะโต 2.8% สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินไว้ 3.2% ส่วนกระทรวงการคลังประเมินไว้ 3% ไม่แปลกที่ตัวเลขจะแตกต่างกัน อยู่ที่มุมมองของแต่ละหน่วยงานและการให้น้ำหนักในแต่ละปัจจัย สิ่งที่จะมาช่วยเป็นแรงส่งต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2563 คงหนีไม่พ้นในเรื่องการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย มีสัญญาณว่าการจับจ่ายใช้สอยเริ่มกระเตื้องจากมาตรการชิมช้อปใช้ นอกจากนี้ พบว่าดัชนีอุตสาหกรรมมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในประเทศพบตัวเลขดีขึ้น และด้วยมาตรการของรัฐบาลออกไปก่อนหน้านี้ และกำลังจะออกใหม่ในช่วงปีนี้ น่าเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน

•ยันกระสุนกระตุ้นศก.มีเพียบ
กระทรวงการคลังพร้อมจะออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มไม่ดีและทำให้บางกลุ่มลำบาก ยืนยันว่ายังมีกระสุนและเครื่องมือนำมากระตุ้นอีกมาก ส่วนเงินที่นำมาใช้ดูแลเศรษฐกิจ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้งบประมาณปี 2563 จะผ่านสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นสามารถนำเงินงบประมาณใหม่ๆ มาดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้
ขณะนี้เตรียมพร้อมการใช้งบประมาณ 2563 เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันทีเมื่องบประมาณมีผลบังคับใช้ และวางแผนเร่งรัดการเบิกจ่ายให้ทันภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 วันสิ้นสุดการใช้งบประมาณ 2563 มอบหมายให้กรมบัญชีกลาง แจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ เตรียมความพร้อมเบิกจ่าย เช่น จัดเงื่อนไขการเปิดประมูล (ทีโออาร์) ไว้ เมื่องบประมาณผ่านแล้วให้เปิดประมูลทันที นอกจากนี้วันที่ 6 มกราคม นัดประชุม
ผู้บริหารกระทรวงการคลังเพื่อมอบหมายนโยบายและแผนงานกระทรวงการคลังที่จะดำเนินการในปี 2563

•เร่งลงทุนรสก.-ลุ้นส่งออกฟื้น
นอกจากนี้ รัฐบาลดูแลการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนให้เดินหน้าต่อไป การลงทุนภาครัฐเร่งรัดให้ลงทุนเต็มที่ และเมื่อช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมาตั้งเป้าให้รัฐวิสาหกิจลงทุนไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท ล่าสุดสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รายงานแล้วว่าสามารถทำได้ตามเป้าหมาย ช่วงต้นปี 2563 ตั้งเป้าหมายผลักดันการลงทุนรัฐวิสาหกิจไว้ไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อให้เกิดแรงส่งต่อเศรษฐกิจในช่วงต้นปี หากมีการลงทุนทำให้เกิดการจ้างงานและกำลังซื้อต่อไป
ส่วนของการลงทุนเอกชนชะลอก่อนหน้านี้ หากสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น ตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนดีขึ้น จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น และทำให้เอกชนหันมาลงทุนมากขึ้น
สำหรับในเรื่องส่งออกนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกแล้วว่าในปีนี้น่าจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์พยายามเจรจาในเรื่องข้อตกลงทางการค้า (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ รวมถึงเปิดตลาดใหม่ น่าจะทำให้เกิดบรรยากาศและแรงส่งของการส่งออกในปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านมา

Advertisement

•ดันกระทรวงการคลังก้าวสู่ดิจิทัล
สำหรับแผนงานของกระทรวงการคลัง ในปี 2563 มี 4 แผนงานสำคัญประกอบด้วยแผนงานแรกคือ โก ดิจิทัล (Go Digital) ด้วยการใช้ระบบดิจิทัลมาช่วยงานของกระทรวงการคลัง มีแผนนำดิจิทัลไปต่อยอดและยกระดับโครงข่ายอีเพย์เมนต์ เพื่อสนับสนุนให้ไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ต้องการให้อีเพย์เมนต์เข้าไปช่วยเหลือด้านการลงทุน ช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึงยึดโยงกับฐานข้อมูลสวัสดิการแห่งรัฐ และชิมช้อปใช้ ขอให้ธนาคารกรุงไทย ทำงานกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยากให้นำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ในรูปแบบบิ๊กดาต้า เช่น ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชม เอส
เอ็มอี ร้านธงฟ้าประชาชน กระทรวงมีข้อมูลการขายสินค้าผ่านเครื่องอีดีซี ดังนั้นกระทรวงนำข้อมูลตรงนี้มาช่วยพัฒนาขีดความสามารถของร้านค้าว่าเขาต้องการอะไร เช่น ไปร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมช่วยสั่งซื้อของให้ร้านค้าในราคาถูก ด้านของประชาชน อีเพย์เมนต์
และชิมช้อปใช้ ทำให้กระทรวงการคลังรู้ข้อมูลการจับจ่าย รู้ข้อมูลครอบครัว ทำให้สามารถออกแบบนโยบายสวัสดิการในอนาคตให้ตรงจุด และแม่นยำมากขึ้น
นอกจากนี้ ในปี 2563 เตรียมนำระบบบล็อกเชนมาใช้งานกับกรมภาษีทั้งกรมศุลกากร สรรพากร และสรรพสามิต รวมถึงการใช้บล็อกเชนมาช่วยขายพันธบัตรรัฐบาล และใช้ในการคืนแวตนักท่องเที่ยว อีกเรื่องคือ ผลักดันไมโครเอสเอ็มอี เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้เป็นตลาดที่ 3 นอกเหนือจากตลาดใหม่ (mai) และตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างออกหลักเกณฑ์เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เช่นเดียวกับธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดใหญ่
แม้ว่าผู้ประกอบไมโคเอสเอ็มอียังไม่มีกำไร เพราะเพิ่งเริ่มต้นธุรกิจก็สามารถระดมทุนได้ โดยใช้กฎเกณฑ์ในการเปิดเผยข้อมูลต่อนักลงทุน และลงทุนผ่านแพลตฟอร์มที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดขึ้นมา กระทรวงการคลังและหน่วยงานต่างๆ จะเข้าไปช่วยสนับสนุนทั้งสินเชื่อและการพัฒนาธุรกิจบนแพลตฟอร์มดังกล่าว รวมถึงจะมีการร่วมลงทุน หรือเวนเจอร์ กองทุนต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ ผ่านตลาดดังกล่าว การดำเนินการในลักษณะนี้เหมือนกับตลาดโอทีซี หรือ โอเวอร์ เดอะ เคาน์เตอร์ในประเทศสหรัฐ

•ลงทะเบียนคนจนรอบใหม่ม.ค.นี้
สำหรับแผนงานที่ 2 คือเรื่องสวัสดิการประชารัฐ ภายในเดือนมกราคมนี้จะเสนอไปยัง ครม.เพื่อเปิดให้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบใหม่ การลงทะเบียนรอบนี้ทำให้การแจกสวัสดิการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจริงๆ เตรียมปรับเกณฑ์ลงทะเบียนด้วยการ ใช้รายได้
ครอบครัวมาร่วมประเมินร่วมกับรายได้ส่วนบุคคล 1 แสนบาทต่อปี เพื่อดูว่าบุคคลนั้นสมควรได้รับบัตรสวัสดิการหรือไม่
เกณฑ์ใหม่จะนำมาประเมินทั้งกลุ่มคนที่เคยได้สวัสดิการไปก่อนหน้านี้ 14.6 ล้านราย รวมถึงคนใหม่จะเปิดให้ลงทะเบียนอีกรอบ เกณฑ์รายได้ครอบครัวนำมาใช้ นำรายได้ของทุกคนในครอบครัวมารวมกัน และหารด้วยจำนวนสมาชิก เช่น พ่อมีรายได้ 2 แสนบาทต่อปี แม่มีรายได้ 5 หมื่นบาทต่อปี ลูกไม่มีรายได้ เฉลี่ยแล้วครอบครัวนี้มีรายได้เฉลี่ย 8 หมื่นบาทต่อปี ดังนั้นคนจะได้รับบัตรสวัสดิการคือแม่และลูก ส่วนพ่อรายได้ส่วนบุคคลเกินกว่า 1 แสนบาท จึงจะไม่ได้บัตร ก่อนหน้านี้แม่ได้บัตรไปแล้ว ดังนั้นเกณฑ์ใหม่จะไม่ไปตัดสิทธิของแม่ อย่างไรก็ตาม หากพ่อมีรายได้ 5 แสนบาทต่อปี ทำให้รายได้เฉลี่ยครัวเรือนนี้อยู่ที่ 1.8 แสนบาทต่อนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ทั้งครอบครัวนี้ ไม่มีสิทธิได้รับบัตรสวัสดิการทั้งครอบครัว
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาสวัสดิการเพิ่มเติม เช่น มารดาประชารัฐ โดยในปีงบ 2563 รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ 4 หมื่นล้านบาท เตรียมไว้สำหรับสวัสดิการพื้นฐานคือ วงเงินซื้อของร้านธงฟ้า ค่าขึ้นรถเมล์ รถไฟ ดังนั้นหากต้องให้สวัสดิการเพิ่มเติม สามารถหาเงินส่วนอื่นมาเพิ่มได้
ทั้งนี้ เพื่อให้การดูแลสวัสดิการเป็นงานถาวร กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดตั้งกองประชารัฐสวัสดิการ เพื่อเข้ามาดูในเรื่องของสวัสดิการ รวมถึงติดตามประเมินผล จากขณะนี้งานด้านสวัสดิการฝากไว้กับกรมต่างๆ เช่น กรมบัญชีกลาง สศค.
นอกจากนี้ต้องการให้มีการลงทะเบียน และตรวจสอบข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยทุกปี จากของเดิมการลงทะเบียนเมื่อปี 2560 ใช้ฐานรายได้ในปี 2559 ดังนั้นอาจมีความเป็นไปได้ว่ามีคนรายได้เพิ่มขึ้นจนพ้นเส้นความยากจนไปแล้ว อาจะทำให้ผู้ถือบัตรลดลงกว่าเดิม

•เร่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีชงครม.7ม.ค.นี้
ส่วนแผนงานที่ 3 คือการช่วยเหลือเอสเอ็มอี กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีเสริมแกร่ง เพิ่มทุน สร้างไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุนเข้าสู่ที่ประชุม ครม.วันที่ 7 มกราคมนี้ วงเงินช่วยเหลือกว่า 1 แสนล้านบาทคาดว่าจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 1 แสนคน
มาตรการนี้จะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเอสเอ็มอี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นเอสเอ็มอีที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแต่ยังไม่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีสัดส่วนประมาณ 50% ของความต้องการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าไปค้ำประกันมากกว่า 30% เตรียมวงเงินช่วยเหลือเพื่อค้ำประกันหลักหมื่นล้านบาท
กลุ่มที่ 2 เอสเอ็มอีที่มีอุปสรรคมากและกำลังกลายเป็นหนี้เสีย มีสัดส่วนประมาณ 20% ตามกระบวนการเดิม บสย.ต้องฟ้องร้องกลุ่มนี้ก่อน จึงจะจ่ายเงินค้ำประกันได้ แต่จะปรับวิธีการใหม่และ บสย.สามารถจ่ายเงินค้ำประกันก่อนฟ้องร้องได้ เพื่อเปิดทางให้ลูกหนี้มีเวลามากขึ้นในการปรับโครงสร้างหนี้
สำหรับในกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มปกติ แต่ต้องการสภาพคล่องเพิ่มมีประมาณ 30% จะมีสินเชื่อวงเงิน 1 แสนล้านบาทจากธนาคารกรุงไทย 6 หมื่นล้านบาท และธนาคารออมสิน 4 หมื่นล้านบาท เข้ามาช่วยเหลือ
เรื่องการช่วยเอสเอ็มอี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต้องการเห็นการช่วยเหลือเป็นแพคเกจเพื่อยกระดับขีดความสามารถเอสเอ็มอีไทย และยึดโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ยุทธศาสตร์ใหญ่คือรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นต้องมีนโยบายยกระดับชิ้นส่วนรถยนต์ไทยให้ก้าวไปสู่ในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า
รัฐบาลจะไปดูความต้องการเอสเอ็มอีในแต่อุตสาหกรรม ชุดความช่วยเหลือมีทั้งมาตรการทางด้านการเงินจากแบงก์รัฐ มาตรการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ มาตรการภาษีจากสรรพากร กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเอกชน สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้าการด้านทักษะ เทคโนโลยี ดังนั้นการช่วยเหลือก็จะเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน

Advertisement

•เดินหน้าดูแลเศรษฐกิจฐานราก
สำหรับแผนงานสุดท้ายคือการดูแลเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง กระทรวงการคลังร่วมแบงก์รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนตามแนวทางประชารัฐสร้าง เริ่มไปแล้วสำหรับชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา และในปีนี้เดินหน้าต่อให้ครบทั้งประเทศ
ทั้งนี้ ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเปลี่ยนวิธีการใหม่ โดยจะดูให้ครบวงจน ตั้งแต่การผลิต การจำหน่าย รวมถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งในการทำงานเน้นตามแนวทางประชารัฐคือเป็นความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนในชุมชน
คาดหวังให้การพัฒนาตรงนี้ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในระยะยาว และเมื่อชุมชนเข้มแข็งทำให้เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกัน เพราะเข้มแข็งจากภายใน สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยต่อสู้กับความผันผวนของภายในประเทศได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image