‘สุวัจน์ ลิปตพัลลภ’ ชี้โอกาสในวิกฤต นิว นอร์มอล ซีรีส์เศรษฐกิจ-การเมือง

 

เวลานี้เราจำเป็นต้องรักษาระยะห่างที่เหมาะสม เวลารัฐบาลทำอะไรดีๆ ..

แต่ต้องรักษาดุลยภาพ ไม่ให้ใกล้ชิดเกินไปจนขาดการตรวจสอบ 

 

Advertisement

หมายเหตุนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผลกระทบวิกฤตและโอกาส รวมถึงการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ และสถานการณ์การเมือง

มองสถานการณ์การควบคุมไวรัสโควิด-19 อย่างไร

ถือว่าเราสามารถควบคุมบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดได้ดี เทียบกับต่างประเทศ ไทยมีสถิติทั้งการควบคุมผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมากๆ โดยมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการ ไม่ว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เคอร์ฟิว หรือมาตรการล็อกดาวน์นั้น ประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แสดงออกถึงความมีน้ำใจ ทุกคนยอมเสียสละทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และความสุขจากเรื่องส่วนตัว จนทำให้ประเทศฟันฝ่าวิกฤตมาได้ ถือเป็นความสำเร็จที่แสดงถึงน้ำใจของคนไทยที่เวลามีวิกฤตก็พ้นทุกที ที่สำคัญเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นคนไทยมักจะเรียนรู้ พลิกวิกฤตมาเป็นโอกาสปรับท่าที และแบบแผนเพื่อสร้างบรรทัดฐานอะไรใหม่ๆ ได้เสมอ

Advertisement

หากจำกันได้วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 ถือว่า หนักหนาสาหัส ถือเป็นวิกฤตระดับบนที่เกิดขึ้นกับสถาบันทางการเงิน ธนาคาร รวมไปถึงตลาดหุ้นด้วย วันนั้นได้มีมาตรการหลายอย่างออกมา แต่พอหลังจากวิกฤต ปรากฏว่าได้รีเซตระบบของสถาบันทางการเงิน กำหนดสัดส่วนในการปล่อยกู้ยืม เพิ่มทุน มาสร้างกองทุนจนทำให้ภาคการเงินกลับมาเข้มแข็ง จนมาวันนี้เกิดวิกฤตโควิด แม้จะมีผลกระทบเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย แต่สถาบันทางการเงิน ธนาคารยังเข้มแข็ง อยู่ได้ไม่มีผลกระทบ ที่สำคัญยังสามารถดำเนินนโยบายตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดได้อยู่

เทียบวิกฤตโควิดกับวิกฤตต้มยำกุ้งในอดีตต่างกันแค่ไหน

ต้มยำกุ้งเกิดที่ประเทศไทย ในภูมิภาคเอเชีย จนมีผลกระทบไปทั่วโลก ในปี 2008 เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่สหรัฐอเมริกา ผลกระทบต่อประเทศไทยค่อนข้างน้อย แต่คราวนี้มันแตกต่างออกไป อย่างที่บอกต้มยำกุ้งเป็นวิกฤตระดับบน ผลกระทบต่อคนระดับล่างน้อย รัฐบาลจึงมุ่งแก้ไขโดยดูแลสถาบันทางการเงินเป็นหลัก เหมือนกับการแก้ไขปัญหา ถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ แต่ผลกระทบของโควิดไม่เหมือนกัน มีผลกระทบในวงกว้าง ทุกคน ทุกอาชีพ ในทุกระดับโดนหมดอย่างไม่เหลื่อมล้ำ จากที่เคยประเมินกันว่า ภาคท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม สายการบินจะหนัก แต่ไม่ใช่เลย วันนี้แม้แต่เกษตรกรก็ยังได้รับผลกระทบ เพราะกลัวโควิดกันหมด ทั้งดีมานด์และซัพพลายเสียหายทั้งคู่ ทำให้การแก้ไขปัญหาโควิดเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเกิดขึ้นทุกประเทศทั่วโลก จนมีการพูดกันถึงขนาดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจเที่ยวนี้ อาจจะเป็นเหมือนกับ เดอะ เกรท ดีเพรสชั่น หรือวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เมื่อปี 1929 ที่ทำให้เศรษฐกิจของโลกถดถอย ทั้งจีดีพี ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศติดลบต่อเนื่องหลายปี มีคนตกงานรุนแรง นับเฉพาะแค่ในสหรัฐสูงถึง 25%

ถ้าเหมือนกับเดอะ เกรท ดีเพรสชั่น แล้วผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยจะหนักระดับไหน

ยังเป็นสิ่งที่ทุกคนกังวลกันอยู่ มีการวิเคราะห์กันว่า หลังโควิดแล้วเศรษฐกิจโลกในภาพรวมติดลบแน่ๆ อาจ 3-4% เป็นครั้งแรก อย่างในสหรัฐน่าจะลบถึง 5% ขณะที่อียูคงสูงถึง 7-7.5% เลย เพราะผู้ติดเชื้อในประเทศหลักๆ ของเขาเยอะมาก ส่วนญี่ปุ่น อาจจะลบ 5% มีประเทศจีนเท่านั้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเดียวจะไม่ติดลบเลย เพราะแม้จะเกิดโควิดก่อนใคร แต่หยุดโควิดได้เร็ว ผลกระทบมี แต่อาจจะไม่ถึงขนาดทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจติดลบ สำหรับประเทศไทยคาดว่าจะหนัก อาจจะติดลบ 5-10% เลยด้วยซ้ำ ซึ่งภาพรวมเดิมของปีนี้ก่อนที่จะมีโควิด จากผลกระทบของสงครามทางการค้าก็จะทำให้เศรษฐกิจไม่ดีอยู่แล้ว แต่พอมาเจอโควิด จึงยิ่งกว่าการถูกดิสรัปชั่น เพราะโควิดได้มารีเซตเศรษฐกิจใหม่ทั้งหมด ทุกคนเจ็บตัว ต้องมาต่อสู้ และนับหนึ่งใหม่อย่างเท่าเทียม

แล้วที่ผ่านมาพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย ไม่ได้อยู่บนกำลังของตนเอง เป็นการพึ่งพาต่างประเทศเป็นหลัก มีรายได้จากการลงทุนเพื่อการส่งออกกว่า 70% และยังเป็นการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีก 15% ซึ่งสองรายการนี้ก็ปาเข้าไปเกือบ 90% แล้ว ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี เพราะทุกประเทศได้รับผลกระทบจากโควิดหมด กำลังซื้อที่มีต่อประเทศไทยตกแน่ๆ ดังนั้น เราจะหานักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยได้อย่างไร แล้วความต้องการซื้อสินค้าไทยยังมีอยู่หรือเปล่า แล้วความกังวลใจในเรื่องโรคระบาด จะทำให้เขายังอยากเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศอีกหรือไม่ ทั้งหมดจึงเป็นโจทย์ของการแก้ไขปัญหา เพราะวันนี้เมื่อผลกระทบที่เกิดขึ้นรุนแรง จึงขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเราว่า จะทำได้รวดเร็วแค่ไหน

วันนี้รัฐบาลส่งสัญญาณคลายล็อกเพิ่มขึ้นเป็นลำดับๆ

ผมว่า วันนี้เรากำลังปล้ำอยู่กับยักษ์ 2 ตัวที่มาพร้อมกัน ตัวแรกเป็น เป็นยักษ์เรื่องชีวิต อีกตัวเป็นยักษ์เรื่องปากท้อง ระหว่างชีวิตกับปากท้อง หากมาพร้อมๆ กัน คนเราก็ต้องเลือกชีวิตมาก่อน เอาชีวิตให้รอด พออยู่ได้ถึงมาแก้ปัญหาปากท้อง ดังนั้น วันนี้กำลังแก้ปัญหาของประเทศ โดยแบ่งการแก้ไขปัญหาเป็น 3 เฟส เฟสแรก มุ่งจัดการเรื่องชีวิตโดยเฉพาะ คนไทยต้องปลอดภัย รัฐบาลวางมาตรการไว้ค่อนข้างจะเข้มข้น เหมือนการล็อกดาวน์ประเทศ ขอความร่วมมือให้ประชาชน สวมหน้ากาก ล้างมือ มีโซเชียล ดิสแทนซิ่ง รักษาระยะห่างทางสังคม ปิดจังหวัดไม่เดินทางข้ามเขต เข้มงวดกวดขันเรื่องธุรกิจ สถานบริการ ร้านอาหารต่างๆ เพื่อควบคุม ไม่ให้ตัวเลขติดเชื้อมากขึ้น ไม่ให้มีการเสียชีวิต และปิดประเทศควบคุมไม่ให้มีการนำโรคภัยไข้เจ็บจากต่างประเทศเข้าประเทศ

แต่ขณะเดียวกันในเฟสแรก รัฐบาลก็ไม่ได้มุ่งรักษาชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว เพราะยังมีมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อจัดกับยักษ์เรื่องปากท้อง ด้วยการออก พ.ร.ก.วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อรับซื้อตราสารหนี้ และมีการปล่อยซอฟต์โลน รวมกันเกือบ 9 แสนล้านบาท และได้นำเงิน 6 แสนบาทใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มาเยียวยา และรักษาชีวิตของผู้ว่างงานกว่า 16 ล้านคน ตามโครงการเราไม่ทิ้งกัน เดือนละ 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน ช่วยเหลือเกษตรกร ครอบครัวละ 15,000 บาท ถึง 9-10 ล้านครอบครัว และประกันสังคมอีก 12 ล้านคน รวมแล้วประมาณ 38 ล้านคน ทั้งหมดเป็นเรื่องการดำเนินการในเฟสแรก

วันนี้เข้าสู่เฟสที่ 2 ถือเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเริ่มคลายล็อก มีการผ่อนผันให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาเราควบคุมสถานการณ์โควิดได้ดี พอจะต้องคลายล็อกก็ต้องรอบคอบ ไทม์มิ่งต้องเหมาะสม เหมือนการออกสตาร์ตวิ่ง 100 เมตร หากออกสตาร์ตเร็วไปก็จะทำให้ฟาวล์ ออกสตาร์ตช้าเกินก็ไม่ถึงเส้นชัย ดังนั้น คลายแล้วผู้ติดเชื้อระลอกสองต้องไม่มี คลายแล้วสามารถกอบกู้เศรษฐกิจได้ เพราะไม่พอดี ช้าไปเศรษฐกิจอาจจะเสียหายมากจนกว่าจะดึงกลับมาได้

การบริหารความสมดุลของมาตรการต่างๆ จึงสำคัญ เพื่อส่งสัญญาณว่า เริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจกันแล้ว เริ่มกิจการ ขายสินค้า มีการเดินทางกันมากขึ้น และที่สำคัญจะมีการใช้จ่ายเงินกู้ที่ยังเหลืออีก 4 แสนล้านบาทในการสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะลงไปในรากหญ้า ดึงสินค้าโอท็อป เกษตรกรในชนบทกลับมา ดังนั้น ถ้าผลของการคลายล็อกประสบความสำเร็จ โควิดไม่กลับมา ความร่วมไม้ร่วมมือของประชาชนยังมีอยู่ต่อเนื่อง ก็จะถึงเวลาของเฟส 3 ในการนำเศรษฐกิจของประเทศกลับมาแข็งแกร่งเหมือนเดิม

การคลายล็อกในเฟส 3 ควรกำหนดทิศทางอย่างไร

จะเห็นว่าเฟส 2 มาตรการต่างๆ เหมือนการนำคนป่วยออกจากห้องไอซียูกลับมาบ้าน พักฟื้นเพื่อรอให้ร่างกายแข็งแรงแล้วก็ออกไปทำงาน ดังนั้น เฟสที่ 3 ถือว่าสำคัญมากในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ อย่างที่ผมบอก เมื่อไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาต่างประเทศเป็นหลัก เราจึงมีจุดที่ต้องกังวลใจจากกำลังซื้อจากภายนอกที่หายไป ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าเราใช้เงินไป 1.9 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 12% ของจีดีพีกับมาตรการทางการเงินในการแก้ไขปัญหาโควิดไปแล้ว ใช้เงินประมาณอีก 9% ของมาตรการทางคลังในการช่วยเหลือปัญหาโควิด รวมแล้วเกือบ 2-3 ล้านล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้ได้ก่อให้เกิดภาระหนี้ต่อจีดีพีที่เดิมทีมีอยู่ประมาณ 40% ถือเป็นสัดส่วนที่มีเสถียรภาพมากในทางเงินการคลัง เป็นเครดิตเรตติ้งชั้นดีที่ทำให้คนภายนอกนำเงินมาลงทุนเยอะ เพราะสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีเราต่ำ แต่ผลกระทบของโควิดทำให้เราต้องยอมเพิ่มเพดานเงินกู้ จนขณะนี้อาจจะเกือบ 60% แล้ว ขณะเดียวกันจีดีพีเราลดลง เพราะเศรษฐกิจติดลบ ทำให้ยอดหนี้สูงขึ้น ทั้งจากการที่กู้เพิ่ม และสูงทั้งจากจีดีพีลดด้วย

ผมกำลังจะบอกว่า จากนี้ไปการกอบกู้เศรษฐกิจระยะที่สอง จะมีความลำบากมากขึ้นในหาแหล่งเงินต่างๆ เพื่อมาสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะหากนำเงินกู้หรือเงินจากรัฐก็ตาม มาใช้อีก อาจจะทำให้มีปัญหาในเรื่องเพดาน แม้ส่วนตัวจะเห็นว่าหากมีความจำเป็นต้องขยายก็ทำ เพราะต่างประเทศกู้มากกว่าไทยอีก แต่เรื่องนี้เป็น นอร์มอล ของไทยในการพยายามรักษาวินัยทางการเงินการคลังไว้ หากต้องกู้เพิ่มก็อาจจะกระทบต่อเครดิตเรตติ้งของประเทศ เมื่อสภาพเป็นเช่นนี้อาจต้องอาศัยภาคเอกชนมากขึ้น อะไรที่ไม่จำเป็นให้เอกชนลงทุนแทนรัฐได้หรือไม่ การวางโครงสร้างพื้นฐาน หรือสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่ไม่จำเป็นต้องมีการทบทวน ขณะที่รัฐเองก็ต้องพิจารณาลดไขมัน อะไรที่ไม่จำเป็นเอาออกไป

เงินที่ใช้จ่ายก็ต้องดูให้รอบคอบ อย่างงบประมาณปี 2564 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท ที่กำลังจะเข้าสู่สภา ควรไปดูอย่างจริงจังว่าต้องใช้จ่ายกันอย่างไร เพื่อแสดงออกถึงประสิทธิภาพของการบริหารการเงินการคลังให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ต่อไปถ้าหวังพึ่งต่างชาติลำบากก็จำเป็นต้องใช้ความเป็นชาตินิยมให้มากขึ้น คำว่าเมดอินไทยแลนด์ ไทยทำไทยใช้ ไทยเที่ยวไทย อาจต้องกลับมาเพื่อขอความร่วมมือจากคนในชาติ อย่างที่เคยร่วมกันฝ่าวิกฤตต้มยำกุ้งมาด้วยกัน พยายามส่งเสริมการลงทุนในประเทศ เที่ยวไทย ใช้สินค้าไทย เพื่อชดเชยสิ่งที่หายไป และที่สำคัญที่สุด ต้องหาโอกาสในวิกฤตโควิดเที่ยวนี้ให้ได้ เหมือนกับวิกฤตทุกครั้งที่ผ่านมา ดังนั้น ทั้งหมดที่ผมต้องการจะบอกว่า ทุกอย่างในเฟสที่สาม เป็นเรื่องของการวางยุทธศาสตร์ และความร่วมมือของคนในชาติที่จะฝ่าวิกฤตไปด้วยกันล้วนๆ

มองเห็นอะไร เป็นโอกาสของเมืองไทยในวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา สุวัจน์ บอกว่า : ฝรั่งมีคำว่าพูด Blessing In Disguise หรือพรสวรรค์หรืออะไรดีๆ ที่ถูกปิดบังเอาไว้ ผมว่า ท่ามกลางวิกฤตเที่ยวนี้ มีโอกาสที่เกิดขึ้นอยู่ ผมเห็นอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรก เป็นผลพลอยได้จากสถานการณ์โควิดที่เราสามารถรักษาระดับของผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตต่ำมากๆ จนมีเสียงชื่มชมจากคนต่างประเทศ เป็นมุมมองใหม่ๆ ที่เขาเห็น ไทยเป็นเมืองสุขภาพ เป็นเมืองที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่เราสามารถขยายผลให้เป็นจุดขายทางเศรษฐกิจ ใช้จุดแข็งจากการที่เราได้ชื่อว่า เป็นเมืองไร้โรคระบาด ปลอดภัยมีสุขอนามัยที่ดี มาทำให้ไทยเป็น World health care เป็น Wellness Hub หรือศูนย์กลางบริการทางด้านสุขภาพของโลกที่ใครๆ ก็นึกถึง เพราะจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ผมมองว่าจากนี้ไปใครจะไปลงทุนที่ไหน จะมีเรื่องความปลอดภัยจากโรคระบาดเข้ามามีส่วนสำคัญของการตัดสินใจในการลงทุน และความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานตัวใหม่ที่นักลงทุนทั่วโลกจะใช้พิจารณา นอกเหนือไปจากโครงสร้างพื้นที่ที่เป็นระบบขนส่งต่างๆ ทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟ สนามบิน หรือแม้แต่ 5G ที่สำคัญอาวุธใหม่นี้ยังจะเป็นการดึงดูดนักลงทุนในระยะยาวที่เข้ามาเสริมมาตรการทางด้านภาษีที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ทำอยู่ได้เลย

เรื่องที่สอง คือ การท่องเที่ยว ผมยังมั่นใจในศักยภาพเรื่องนี้ เพราะก่อนโควิด แม้เศรษฐกิจถดถอย เจอกับเรื่องสงครางทางการค้า อย่างอื่นติดลบหมด แต่ท่องเที่ยวยังบวกอยู่ ดังนั้น เมื่อหมดโควิด เศรษฐกิจฟื้นตัว การเดินทางการท่องเที่ยวจะต้องกลับมา แต่สิ่งสำคัญเราต้องเพิ่มจุดขายใหม่ๆ จากที่เคยขายว่า เมืองไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว สวยงาม มีโอท็อป มีภาคบริการที่พร้อม แต่วันนี้จำเป็นต้องใช้จุดแข็งด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเที่ยวนี้มาใช้เป็นโอกาสเพราะความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจะไม่ใช่เพียงแค่ตัดสินใจว่า มาแล้วไม่ถูกวิ่งราว ไม่ถูกปล้นจี้ หรือทำร้ายร่างกายอีกแล้ว แต่จากนี้ไปความปลอดภัยจะหมายถึง ความสะอาด ปลอดภัยจากโรคระบาด เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยมีระบบแพทย์เข้มแข็งรองรับ

ผมมองย้อนหลังกลับไปในวันที่สึนามิพัดเข้าประเทศ เมื่อปี 2547 หรือ 16 ปีที่แล้ว วันนั้นวิตกกันมากว่า ภูเก็ตจะฟื้นกลับมาได้อย่างไร แต่เวลาผ่านไปคนไปเที่ยวภูเก็ตเพิ่มขึ้นมา 5 เท่าแล้ว เพราะแม้สึนามิจะรุนแรง แต่คนไทยสามารถใช้วิกฤตเป็นโอกาสดึงสึนามิ มาเป็นจุดขายให้ภูเก็ตได้ จากภาพที่คนไทยไปช่วยนักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีเตียงก็ถอดประตูบ้านทำเป็นเตียงเพื่อไปช่วยคนเจ็บ ใครที่ติดอยู่ในตึกก็เข้าไปช่วย ภาพนี้ถูกรายงานข่าวไปทั่วโลก จนไปปรากฏอยู่ในหนังเรื่อง The Impossible ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งทำให้คนรู้จักภูเก็ต อยากมาเที่ยว เที่ยวนี้ผมมองว่าเหมือนกัน สิ่งที่คนไทยแสดงน้ำใจ แม้ว่าไม่ได้แสดงต่อคนต่างชาติ แต่การมีน้ำใจกับมาตรการของรัฐ เสียสละช่วยกันจนทำให้เกิดความเข้มแข็งทางด้านระบบสาธารณสุขขึ้น น้ำใจของคนไทยสามารถครีเอตสิ่งดีๆ ที่ทำให้คนทั่วโลกอยากมาเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

ยิ่งผลพลอยได้จากโควิดนอกจากเราจะมีโซเชียลดิสแทนซิ่งกันระหว่างคนกับคนแล้ว เรายังมีโซเชียลดิสแทนซิ่งกับธรรมชาติด้วย จนวันนี้ฟ้าสวย ทะเลใส จนได้เห็นการมากลับมาของธรรมชาติ ฝูงพะยูนมาว่ายน้ำให้เห็น หากสามารถใช้โอกาสนี้วางแผนระบบท่องเที่ยวใหม่ ให้มีโซเซียลดิสแทนซิ่งระหว่างคนกับธรรมชาติ อาจกลายเป็นอีกจุดขายหนึ่ง ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบไฮเอนด์ที่มีกำลังซื้อมาเสริม ผสมผสานสร้างโอกาสอย่างมหาศาลให้กับธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้กับประเทศ

ส่วนวิกฤตเป็นโอกาสเรื่องที่สาม คือ อาหาร ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับวิกฤตโควิด ไม่ได้ยินเลยว่า คนอดเลย แม้รายได้จะลด แต่ก็มีน้ำใจช่วยนำอาหารมาแบ่งปันกัน นี่สะท้อนว่าประเทศไทยยังสมบูรณ์ และอาหารเป็นสินค้าประเภทเดียวเท่านั้นที่มียอดการส่งออกเพิ่ม ตัวเลขจากดัชนีการผลิตของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม บอกว่า ท่ามกลางวิกฤตอุตสาหกรรมอาหารจะมีการขยายตัว เพราะปัญหาโควิดอาหารเป็นที่ต้องการมาก เมื่อประเทศไทยเป็นมหาอำนาจภาคการผลิต ด้านการเกษตร เป็นชาติที่เป็นศูนย์กลางอาหารของโลกอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องสร้างคาแร็กเตอร์ใหม่ให้กับเมืองไทยอย่างจริงจัง ต้องใช้ในเรื่องของเทคโนโลยีมาใช้ในเรื่องของการผลิตเพื่อแปรรูป ใช้การตลาดทำให้ความอุดมสมบูรณ์จากอาหารเป็นจุดขาย

คิดอย่างไรกับคำพูดที่บอกว่า หลังโควิดสังคมไทยจะไม่เหมือนเดิม

วันนี้เราพูดถึงเรื่องนิว นอร์มอล (New Normal) หรือความปกติใหม่ที่จะเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างช่วงโควิด ได้มีมาตรการเวิร์กฟรอมโฮม (WFH) สนับสนุนให้คนทำงานที่บ้าน เพื่อลดการแออัด ซึ่งเท่าที่ผมพูดคุยกับผู้ประกอบการในธุรกิจใหญ่ๆ รวมไปถึงสถาบันทางการเงิน เชื่อได้เลยว่าหลังโควิด WFH จะได้ไปต่อ เพราะทุกคนบอกเลยว่า ประสิทธิภาพของการทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮมไม่ได้น้อยลงไปเลย เพราะทำให้คนมีเวลามากขึ้น ไม่ต้องเดินทาง ประหยัดเวลา รถไม่ติด สิ่งแวดล้อมไม่เสีย ชีวิตมีเวลาอยู่ในฟิตเนสได้ออกกำลังกาย สร้างครอบครัวให้อบอุ่น กลับมาอยู่พร้อมๆ หน้ากัน ที่สำคัญยังทำให้คนมีโอกาสได้แสวงหาความรู้ใหม่ๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต เมื่อรูปแบบหรือพฤติกรรมเปลี่ยน ต่อไปรูปแบบการจ้างงานอาจเปลี่ยนไปด้วย เพราะระบบเทคโนโลยี ไอที ออนไลน์ต่างๆ ทำให้เราทำงานได้ จากเวิร์กฟรอมโฮม ในอนาคตพ้นโควิดไปแล้ว อาจจะเป็น Work At Home เลยก็ได้

สิ่งเหล่านี้จะทำให้พฤติกรรมการเลือกที่พักอาศัยเปลี่ยนไปด้วย จากที่จำเป็นต้องอยู่กลางเมือง อยู่คอนโด ที่พักอาศัยใกล้ที่ทำงาน แต่พอเวิร์กฟรอมโฮมแล้ว คนก็อาจมีความรู้สึกอยู่รอบนอกก็ได้ซื้อบ้านชานเมือง โครงสร้างพื้นฐานที่รัฐสร้างไว้ ทั้งระบบรถไฟฟ้าทุกสายที่พุ่งทะยานออกไปจาก กทม. หรือมอเตอร์เวย์สายต่างๆ จะกระจายให้คนออกไปข้างนอกมากขึ้น ขณะที่อาหารการกิน แต่ก่อนต้องไปเอง แต่เดี๋ยวนี้อยู่บ้านเวิร์กฟรอมโฮมก็สั่งได้ ทุกอย่างมาในรูปแบบออนไลน์หมด ฉะนั้น ท่ามกลางนิว นอร์มอล ที่กำลังจะเกิดขึ้น และโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะสร้างเมืองไทยให้เป็นเมืองสาธารณสุข สร้างเมืองไทยให้เป็นเมืองอาหาร เมืองท่องเที่ยว ทั้งหมดจะอยู่บนพื้นฐานของความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอที ดังนั้น การปรับยุทธศาสตร์ทางด้านการลงทุนทางด้านไอทีให้ทันสมัย ครอบคลุม และง่ายต่อการเข้าถึงได้ จึงจำเป็นมากต่อการสร้างนิว นอร์มอล ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

การเมืองควรมีนิว นอร์มอล ด้วยหรือไม่

ต้องมีเหมือนกัน การเมืองต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในการสื่อสารกับพี่น้องประชาชน แต่ก่อนเราอาจต้องพบปะพี่น้องประชาชนผ่านการลงพื้นที่ หรืออาศัยเวทีสภา แต่วันนี้ระบบออนไลน์ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากภาคการเมืองมากขึ้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่การเมืองต้องคิดต่อ จากสถานการณ์โควิดที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดนั้น เป็นเพราะการสื่อสารที่ดีกับประชาชน ให้ข้อเท็จจริง จนทำให้เกิดความร่วมมืออย่างดี ดังนั้น การเมืองต้องพยายามสร้าง New Normal ด้วยการยึดพื้นฐานของการสร้างข้อเท็จจริง สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องที่สุด เพื่อให้การเมืองได้รับการยอมรับ ผมคิดว่าวันนี้การเมืองจำเป็นต้องเห็นบริบทของประเทศว่า เราต้องชนะให้ได้ทั้งยักษ์โควิด กับยักษ์เศรษฐกิจ ดังนั้น ความร่วมมือกันจึงสำคัญมาก การเมืองต้องใจกว้างที่จะให้กำลังใจกัน เรามีโซเชียลดิสแทนซิ่งสำหรับโควิด แต่ในการเมืองผมคิดว่า เราจำเป็นต้องมี “โพลิติกดิสแทนซิ่ง” หรือระยะห่างทางการเมืองที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านด้วยเช่นกัน

โพลิติกดิสแทนซิ่ง นี่ต้องห่างกันระดับไหน

ผมคิดว่า ที่ผ่านมาระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านมีระยะห่างกันมากเกินไป วันนี้เราจำเป็นต้องมีระยะห่างที่เหมาะสม อยู่ในระยะที่ส่งสายตากันพูดกันได้ เพื่อความเข้าใจในการทำงาน เวลารัฐบาลทำอะไรดีๆ ฝ่ายค้านให้การสนับสนุน หรือห่างกันแค่ไหนที่เวลาฝ่ายค้านส่งเสียงออกมาแล้วรัฐบาลได้ยิน เพื่อรักษาดุลยภาพในน้ำใจไมตรีเพื่อให้การเมืองทำงานได้ แต่ขณะเดียวกันก็มีระยะห่างที่เหมาะสมในการรักษาดุลยภาพ ไม่ได้ใกล้ชิดกันจนขาดการตรวจสอบรัฐบาล ถ้าการเมืองมีภาพความเข้าใจที่ตรงกันก็อาจจะเป็น New Normal ที่ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขกับการเมืองไทยก็ได้

จะเห็นว่า ตอนนี้มีข่าวว่ารัฐบาลได้เดินสายพบกลุ่มธุรกิจ พบกับภาคเอกชนตามสมาคมต่างๆ เพราะต้องการฟังว่า มุมมอง แนวคิดในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่อยากให้รัฐบาลทำ ดังนั้น มุมมองและข้อเสนอแนะจากสภา ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะทุกคนคือตัวแทนของประชาชน การเปิดสภาคราวนี้ น่าจะเอาโอกาสของการพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับ เป็นเวทีในการนำเสนอข้อเท็จจริงซึ่งกันและกัน เล่าให้ฝ่ายค้านฟังเลยว่าใน พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับที่ออกมา รัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ถ่ายทอดให้พี่น้องประชาชนได้รับฟัง ฝ่ายค้านฟังได้ยินก็สามารถบอกรัฐบาลได้ทันทีว่าไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลใด กลัวว่าจะรั่วไหลเรื่องไหน แล้วมีข้อเสนอแนะอะไรที่อยากจะบอกกับรัฐบาล ถ้าบรรยากาศแบบนี้ มีข้อเสนอแนะ ชี้แจงอย่างสร้างสรรค์จะเป็นบรรยากาศที่ดีในการรักษาระยะที่เหมาะสมของการอยู่ร่วมกัน

เพราะวิกฤตนี้ถือว่ายิ่งใหญ่ นักการเมืองที่อยู่ในช่วงนี้ต้องบอกกับตัวเองเลยว่ากำลังอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ จากปัญหาที่เป็นวิกฤตใหญ่ของโลกที่ได้เข้ามีส่วนในการแก้ไข และจะถูกบันทึกไว้ในโอกาสที่ครั้งหนึ่งได้เข้ามาทำงานทางการเมือง

ขจรศักดิ์ สิริพัฒนกรชัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image