ฟังเต็มๆ “พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล” รุ่นใหม่ ผลผลิตจากรุ่นใหญ่(ชมคลิป)

ฟังเต็มๆ “พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล” รุ่นใหม่ ผลผลิตจากรุ่นใหญ่

และแล้วกลุ่มการเมืองกลุ่มใหม่ ก็ถือกำเนิดขึ้นอีกกลุ่ม ในนาม “กลุ่มแคร์” ซึ่งนำโดย ผู้ที่เคยร่วมงานในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อย่าง “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช “เฮียเพ้ง” พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มแคร์ คิด-เคลื่อน-ไทย ประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 17 มิถุนายน 2563 ยังมีเซเลบ ในวงการต่างๆอย่าง ดวงฤทธิ์ บุนนาค” สถาปนิกและนักออกแบบ น.ส.ลักขณา ปันวิชัย (คำผกา) นักเขียนและพิธีกร “วีรพร นิติประภา” นักเขียนซีไรต์ เจ้าของนวนิยายเรื่อง “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” มีอีกหนึ่งรายชื่อที่น่าสนใจ คือ “พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล” บุตรชายของเฮียเพ้ง

คนนี้ไม่ธรรมดา ตอนอายุ 15 ปี เคยเป็นข่าวดัง สร้างโปรเจกต์ท์ศิลปะส่งครู โดยวาดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง มีทั้งการรัฐประหาร การต่อสู้ของคนเสื้อแดง การยึดสนามบินของฝ่ายพันธมิตร ฯลฯ ในหัวข้อ Political Conflict 2006-2010 Demmocratic Solutions …วาดด้วยดินสอเป็นภาพขาว-ดำ “เฮียเพ้ง” พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ถึงกับน้ำตาคลอ พร้อมกล่าวว่า “ลูกชายโตกว่าที่ผมคิด”

เราไปจับเข่าคุยกับเขาทันที เพื่อถามเขาว่า ทำไมถึงเข้าร่วมกับกลุ่มแคร์ และจะลงสนามการเมืองอย่างเต็มตัวหรือไม่

พริษฐ์ ตอบกลับทันทีว่า ไม่คิดจะเล่นการเมือง ที่เข้ามาอยู่กลุ่มแคร์ ตอนแรกก็คิดว่าจะมีคนมาเชื่อมโยงไหม ว่าจะลงมาเล่นการเมืองไหม แต่ก็พูดมาชัดมาตลอดว่าปัจจุบันยังไม่คิดจะเล่นกันเพราะว่าสภาพปัจจุบันยังน่ากลัวอยู่รัฐธรรมนูญก็ไม่มีความยุติธรรมไม่มีความเป็นประชาธิปไตยกฎเกณฑ์กฎหมายก็ก็น่ากลัว เพราะฉะนั้นปัจจุบันก็ยังไม่คิดจะเล่นการเมือง ที่เข้ามากลุ่มแคร์คืออยากจะเป็นกระบอกเสียงมากกว่า อยากจะเข้ามาช่วยออกความเห็นนำความคิดใหม่ๆ เข้ามาเพื่อช่วยหาทางแก้ปัญหา

Advertisement

พริษฐ์ เล่าให้ฟังว่า สิ่งที่เขาทำตอนนี้คือเป็นผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติ ก็มีความคลุกคลีทำงานด้านการศึกษามาตลอดตั้งแต่เด็กก็มีความสนใจด้านการศึกษามาตลอด

“ชอบใช้เวลากับเด็ก คือรู้สึกว่า เด็กก็คือเยาวชนของชาติจริงๆ อยากจะให้เราให้ความสำคัญกับตัวเด็ก เด็กคนนึงเนี่ยคือ ผมอยากเห็นการศึกษาที่สร้างสรรค์ คือโรงเรียนจุดประสงค์ของโรงเรียนผมมองคุณค่าที่แท้จริง คือการช่วยให้เด็กค้นพบตัวตนให้เขาเข้าใจตัวเอง ตั้งแต่อายุน้อยๆ ให้เขาตอบคำถามเบื้องต้นให้ได้ว่า เขาชอบอะไร มีความสนใจด้านไหน อยากจะโตมาเป็นอะไร อยากจะทำอะไร เพราะฉะนั้นอยากจะช่วยให้เราช่วยกันส่งเสริมจุดตรงนี้แล้วตลอดระยะเวลาที่เขาเติบโตมาในระบบการศึกษาหรือเติบโตมาโรงเรียนตั้งแต่เล็กจนโตให้โรงเรียนเป็นโค้ชที่ช่วยให้เด็ก พัฒนาสิ่งที่เขาสนใจและให้เขาสามารถพัฒนาศักยภาพเหล่านั้น เพื่อที่เขาจะสามารถจบมาทำงานทำในสิ่งที่เขาชอบ ให้เขามีแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป และในทางกลับกันการที่เขาพัฒนาตัวเอง เขาก็อยากที่จะพัฒนาประเทศชาติ เข้ามาช่วยสังคม แต่ปัจจุบันผมมองว่าเป้าหมายกับจุดประสงค์ของโรงเรียนอาจจะยังไม่ตรงเราอาจจะยังตอบคำถามตัวเองไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่าจุดประสงค์ของการศึกษาคืออะไร คุณค่าคืออะไร และยิ่งเรามองถึงบริบทปัจจุบันข้อมูลพื้นฐาน ผมมองว่าเด็กไม่จำเป็นต้องมาโรงเรียนเพื่อเอาความรู้ตรงนี้ก็ได้ เด็กสามารถที่จะเข้า internet search ใน Google ก็ได้ข้อมูลเหล่านั้นแล้ว” พริษฐ์ กล่าว

พริษฐ์  กล่าวต่อว่า “แต่คุณค่าที่แท้จริงของการศึกษาคุณค่าที่แท้จริงของโรงเรียนคือการพัฒนาศักยภาพด้านความคิด ด้านการวิเคราะห์ ด้านการกล้าทำ กล้าแสดงออกมากกว่านี้คุณค่าของการศึกษาและอีกอย่างคือ ผมอยากจะให้เราให้ความสำคัญกับการสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างและปลูกปัญญาให้แก่เด็กมากกว่าการให้เพียงความรู้ การประเมินประสิทธิภาพเกรดเพียงอย่างเดียว เพราะผมมองว่าความรู้ มีขอบเขต นักเรียนคนหนึ่งจะไม่สามารถรู้ไปมากกว่าผู้สอน แล้วผู้สอนก็สามารถถ่ายทอดข้อมูลได้เท่าที่เขารู้ เพราะฉะนั้นในบริบทเช่นนั้น คนที่เก่งที่สุดก็คือคนที่จำหรือท่องจำในสิ่งที่ครูสอนได้มากที่สุด

Advertisement
พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล

“แต่การประเมินแบบนี้ไม่ได้ชี้ให้เห็นหรือว่าใครใครคิดเป็นใครคิดไม่เป็นถูกไหมครับ แล้วบริบทอันนั้นเรากำลังตีกรอบว่าคนที่ฉลาดที่สุด คือคนที่เขาท่องจำเก่งที่สุด คือคนที่ทำในสิ่งที่ครูสอนให้มากที่สุด แต่ถ้าเราเปลี่ยนมาให้ความสำคัญด้านการสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างปัญญานักเรียนจะสามารถนำองค์ความรู้ที่ครูสอนในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้ ในชีวิตประจำวัน ไปคิดต่อยอด ไปคิดนอกกรอบ นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ แล้วการรู้และบริบทอันนั้นนักเรียนจะเป็น จะเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิตเขาจะมีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ไขว่คว้า ข้อมูลพัฒนาตัวเองต่อไป คือเหมือนถ้าเรากลับมานั่งคิดว่าตอนเราเป็นนักเรียน เราชอบวิชาไหนมากที่สุด เราก็ชอบวิชาที่เรารู้สึกว่าเราเรียนแล้วมีประโยชน์สำหรับตัวเรา หรือเรียนในสิ่งที่เราสนใจในวิชาเหล่านั้นเราจะตั้งใจเรียน แต่ในวิชาอื่นอย่างเช่น วิชาคณิตบางคนอาจจะโตมาไม่ได้อยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักคณิต นักวิชาการ เพราะฉะนั้นถ้าโรงเรียนหรือถ้าครูไม่สามารถที่จะชี้ให้เค้าเห็นได้ว่า สิ่งที่เขาเรียนในห้องเรียนมีความสำคัญ มีประโยชน์สำหรับชีวิตเขายังไงเนี่ย นักเรียนก็จะไม่มีความสนใจในการเรียนรู้เพราะไม่รู้ว่าจะนำสิ่งที่เรียนในห้องเรียนไปใช้ในชีวิตประจำวันยังไง …

เราลองถามเขาเรื่องสถานการณ์ข่าวสารปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นข่าว โรงเรียนแห่งหนึ่ง สั่งห้ามนักเรียนใส่หน้ากากอนามัยสีอื่น ต้องใส่สีที่กำหนด หรือครูโรงเรียนหนึ่งโพสต์คลิป ไล่นักเรียนไปเรียนที่อื่น หากยืนยันจะไว้ผมยาว ไม่ยอมไว้ผมสั้น เรื่องเหล่านี้ ถูกถกเถียงในสังคมไทยมานาน

“พริษฐ์”  ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า  “เรื่องใส่แมสก์ ผมก็ไม่อยากจะไปวิพากษ์วิจารณ์ตรงนั้น แต่ผมมองว่าบางครั้งเราอาจจะโฟกัสปัญหาผิดจุด คือ ถ้าเราไปบังคับในสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนผมเห็นด้วย ผมเข้าใจ อย่างเช่นถ้าเราบังคับว่านักเรียนทุกคน เรื่องวินัย ไปโรงเรียนตรงเวลา หรือว่านักเรียนทำการบ้านส่งตรงเวลา ถ้าเราไปบังคับสิ่งเหล่าเนี่ย ผมเห็นด้วย เพราะว่ามันมีผลกระทบต่อการเรียนการสอนด้วย

“แต่ถ้าเราไปอย่างเช่นปัญหาเรื่องแมสก์ว่าเราไปกำหนดสี ว่าสีนี้ต้องมีเฉพาะ3-4 เฉก ต่อไปนี้ห้ามใส่แมสก์ที่มีลวดลาย ตรงนี้ผมว่าเราไปบังคับผิดจุด เราไปให้ความสำคัญผิดจุดของการที่เด็กจะใส่แมสสีอะไรก็ตาม ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถต่อการได้รับความรู้ต่อการเรียนการสอนเลย” พริษฐ์ กล่าว

ส่วนกรณีบังคับตัดผมนั้น พริษฐ์ กล่าวว่า “ความเห็นส่วนตัวผมก็มองว่าเป็นการไปโฟกัสผิดจุดเหมือนกัน คือตลกนะครับ ว่าในสังคมเรามีโรงเรียนทั้งในระบบและนอกระบบ  โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนหลากหลาย และโรงเรียนต่างๆ ก็มีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกัน คือผมมองว่าอย่างที่ผมบอกว่าแกนหลักจุดประสงค์ของการศึกษาคือการพัฒนาศักยภาพทางความคิด พัฒนาผู้นำทางความคิด การพัฒนานักคิดนักวิเคราะห์ ผู้กล้าทำกล้าแสดงออก นี่คือแก่นหลักของการศึกษา นี้คือคุณค่าของการศึกษาแต่บ่อยครั้งเราก็ไปให้ความสำคัญ ใช่ครับ เราไปโฟกัสผิดจุดให้ความสำคัญกับเรื่องที่ที่ผมก็ไม่ได้บอกว่าไม่มีความสำคัญนะครับ แต่แค่บอกว่าบางครั้งมันก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อการเรียนการสอนเลย แต่ความสำคัญทางด้านวัฒนธรรม หรือความสำคัญทางด้านคุณค่าทางจิตใจ หรือความสำคัญทางด้านสังคมและผมก็เคารพ”

เราหันไปถามเรื่องไลฟ์สไตล์ ชีวิต ความสามารถพิเศษของเขา โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าเขาวาดรูปเก่ง พริษฐ์ กล่าวตอบ ยอมรับว่า เป็นคนชอบวาดรูป ชอบดูงานศิลปะ เพราะรู้สึกว่างานศิลปะนั้นเป็น เป็นช่องทางในการสื่อสาร ในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้ดี เพราะ เวลาเราจับพู่กัน หรือว่าเราจับดินสอหรือจับอะไรก็ตามเพื่อวาดภาพ เราจะสามารถเป็นตัวตนของตัวเองที่แท้จริง ไม่มีใครมากำหนดว่าเราต้องวาดเส้นตรง เราต้องว่านเป็นวงกลมวาดเส้นโค้งแต่ทุกอย่างที่มาจากความรู้สึกของเรามาจากความรู้สึกความคิดของเราอย่างแท้จริงตรงนี้ก็ช่วยให้เราสื่อสารความเป็นตัวตนความคิดที่เรามีออกมาบนกระดาษ

พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล

“ตอนไปเรียนมหาลัยจริงๆ แล้วผมตอนแรกเลือกเรียนรัฐศาสตร์ คือเรียนรัฐศาสตร์มาอย่างเดียวตอนแรกแต่ว่าจังหวะชีวิตก็มามาเจอกับรัฐประหารปี 2014 ตอนนั้นก็เรียนอยู่มหาลัยปี 1 ก็เลยรู้สึกกลับมานั่งคิดแล้วว่า เราเรียนรัฐศาสตร์ไปแล้วเราจบมาเราจะทำอะไร ก็ยังมองไม่เห็นว่าโอกาสมันคืออะไร หรือว่าจะมองไปข้างหน้าแล้วก็มองว่าความเสี่ยงก็ค่อยข้างเยอะนะ ก็เลยตัดสินใจที่จะ  เรียนเศรษฐศาสตร์มาอีกตัวหนึ่งเพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ตัวเองมากขึ้นเพราะรู้สึกว่าเรารัฐศาสตร์ เราสนใจรัฐศาสตร์ เราสนใจ”

“ก็คิดว่าเศรษฐศาสตร์ก็เป็นพื้นฐานพื้นฐานที่ดีรวมถึงรัฐศาสตร์ก็เป็นพื้นฐานที่ดีนะครับ เพราะว่ารัฐศาสตร์เนี่ย สอนให้เรา สอนให้เราคิดเป็นระบบ สอนให้เราเข้าใจปัญหาโครงสร้างและที่สำคัญคือช่วยให้เรามีกรอบความคิดในการแก้ไขปัญหาตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมได้มาจากการเรียนรัฐศาสตร์” พริษฐ์ เล่าเพิ่มเติมเรื่องการศึกษา

พริษฐ์ เล่าเรื่องรูปวาดการเมือง ผลงานของตัวเอง ที่วาดส่งครูตั้งแต่อายุ 15 ว่า “เป็นคนที่ชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กแล้ว วาดรูปตั้งแต่ 2- 3 ขวบ ก็ชอบวาดรูป ก็วาดมาตลอดที่บ้านก็ต้องเปลี่ยนวอลเปเปอร์ค่อนข้างบ่อย เพราะจะไปวาดบนพนัง ก็มีบ้างครับตอนเด็ก ก็มีบ้างแล้วก็ตอนอยู่ไฮสคูลก็เลือกเรียนวิชาศิลปะเป็นหนึ่งในวิชาตัวเลือก ชอบ เป็นคนชอบวาดดินสอ ชอบวาดดินสอลงบนกระดาษ ชอบวาดรูปเหมือนจริง ก็งานที่ทำตอน 15 ก็เป็นงานที่วาดถ่ายทอดปัญหาทางการเมืองที่มีตัวบุคคลสำคัญๆ มีเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นยุคนั้น  ก็น่าจะเป็นผลงานที่ภูมิใจที่สุดเพราะว่าใช้เวลา  ประมาณ 150 ชั่วโมงครับ”

“คุณพ่อก็รู้สึกเหมือน คุณพ่อก็ประทับใจ เพราะว่าท่านก็ไม่คิดว่าเราจะ จะมีความคิดหรือว่าไม่คิดว่าจะคิดเป็นระบบขนาดนั้น เพราะรูปภาพตอนนั้นก็ถ่ายทอดความรู้สึกของผมล้วนๆ ถึงความฝันที่อยากเห็นเป็นทางออกของ ของการเมืองในประเทศไทย ณ ช่วงเวลานั้น ท่านก็ค่อนข้างตกใจว่า อึ้ง ว่าเราสามารถคิดได้ว่าเราคิดเป็นระบบแล้วก็หาทางออก หาทางออกสำหรับปัญหาได้  ตอนนี้ก็ถ้ามีเวลาว่างก็จะนั่งวาดรูปแต่ก็อาจจะมีเวลาน้อยกว่าแต่ก่อน” พริษฐ์

รูปวาดของพริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล ขณะอายุ 15 ปี เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองในช่วงนั้น

นอกจากวาดรูป พริษฐ์ บอกเราว่า เขายังเป็นคนชอบเตะบอล รักบอลเป็นชีวิตจิตใจสิ่ง สำหรับทีมที่เป็นว่าแชมป์ปีนี้ คือลิเวอร์พูล “ตอนนี้ก็น่าจะเป็นแชมป์แล้วครับ เหลือแค่รอเวลามากกว่า ว่าจะเป็นแชมป์เมื่อไหร่ ตอนเข้ามาเห็นพี่ใส่แมสแมนยูก็ปีนี้อาจจะลำบากหน่อยนะครับ”  พริษฐ์ กล่าวด้วยรอยยิ้ม พร้อมแซวผู้สื่อข่าว ที่ไปสัมภาษณ์ แต่บังเอิญ ใส่แมสก์โลโก้แมนยู

เรายังถามเรื่องการใช้ชีวิตที่มีแฝดของเขา ว่าเป็นอย่างไร  พริษฐ์ เปิดใจ ว่า “การมีฝาแฝดนั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิตของผม ผมรู้สึกว่าโชคดีที่มีฝาแฝด โชคดีที่มีน้องสาว เพราะว่าเราก็โตมาด้วยกันน้องสาวก็เปรียบเสมือนเพื่อนที่ดีที่สุดเราโตมาแล้วก็ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยการโตมาด้วยกันมีปัญหาอะไรเราก็พูดคุยกัน เพราะฉะนั้นก็รู้สึกว่าเราก็มีเพื่อนสนิทมีคนที่เราไว้ใจสามารถพูดคุยได้ทุกเรื่องตลอดเวลา และก็มีน้องสาวก็ทำให้เราเห็นเห็นอะไรก็แตกต่างๆ ค่อนข้างเยอะ เพราะว่าผมเป็นผู้ชายน้องเป็นผู้หญิงเราต่างคนก็ช่วยให้กันและกันเข้าใจปัญหาที่เราพบเจอหรือว่าปัญหาหรือว่าต่างมุมมองสำหรับปัญหาหลายๆ อย่าง

 

พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล พร้อมครอบครัว ขณะรับปริญญา

ส่วนน้องจะเข้ามาสนใจการเมืองหรือไม่นั้น  พริษฐ์ ตอบว่า “น้องไม่ได้เข้ามาครับ น้องเองก็มีความ ส่วนตัวน้องเองก็มีความมีความสนใจทางด้านการศึกษาเหมือนกัน เพราะน้องเองก็เรียนมาด้านการศึกษาเรียน โตมาด้วยกันเรียนตั้งแต่เล็กจนโตเรียนโรงเรียนเดียวกัน แต่ว่าตอนไปมหาลัยก็คือแยกกันเรียน น้องจะเรียนที่มหาลัยนิวยอร์ค ส่วนผมจะเรียนอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ก็คนละฝั่งของประเทศเลยครับ”

ส่วนความสนใจเรื่องการศึกษาเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร เพราะจบมาทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์   พริษฐ์  เล่าว่า ตอนเรียนรัฐศาสตร์ เวลาครูให้เขียนเปเปอร์เกี่ยวกับเกี่ยวกับปัญหาทางทางการเมือง ผมก็จะโยงมาการศึกษาตลอด เพราะผมเป็นคนที่เชื่อว่าการศึกษาคือรากฐานที่สำคัญจริงๆ ของโครงการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า  คือเราต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด แนวคิด ของคนในสังคมก่อน ปัจจุบันผมมองว่าเรามองข้ามช็อต เรามองที่เรามองที่จุดเป้าหมายอย่างเดียว แต่เราไม่มองเลยว่าให้กระบวนการในการปฏิบัติเพื่อนำไปซึ่งจุดหมายที่เราต้องการเนี่ยคืออะไร หรือเราจะไปจุดนั้นได้ไง เพราะฉะนั้นมันก็เลยเป็นเหมือนปัญหาที่พบเจอในปัจจุบัน”

ชมคลิปสัมภาษณ์ที่นี่

ฟังเต็มๆ "พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล" รุ่นใหม่ ผลผลิตจากรุ่นใหญ่

ฟังเต็มๆ "พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล" รุ่นใหม่ ผลผลิตจากรุ่นใหญ่

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันอังคารที่ 23 มิถุนายน 2020

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image