การเมืองเรื่องพลังงาน : ทำไมเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานจึงหอมหวาน

  … เราคงไม่รู้ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังการปรับครม.ประยุทธ์ 2/2 คืออะไร เรื่องใดเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้เกิดการปรับครม. จนทีมรัฐมนตรีชุดเก่า ที่สื่อมวลชนเรียกว่า สี่กุมาร ถึงกับจับมือกันลาออกยกทีม บ้างก็ว่าเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ บ้างก็ว่าเป็นเหตุผลทางการเมือง แต่ไม่ว่าจะเหตุผลใด เก้าอี้รัฐมนตรีสำคัญกระทรวงที่ถูกพูดถึงอย่างมากที่สุดในการปรับครม.ครั้งนี้ นั่นคือกระทรวงพลังงาน

หากผู้อ่านค้นข่าวเกี่ยวกับการจับจ้องเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในคราวปรับครม.ตั้งแต่ครั้งหลังชนะเลือกตั้ง จนถึงครั้งล่าสุด จะพบนักการเมืองไม่น้อยกว่า 5 คน ที่มีชื่อ หรือรายงานข่าวระบุว่าอยากนั่งเก้าอี้เจ้ากระทรวงนี้ 

โดยเฉพาะครั้งล่าสุด ชื่อออกมาชัดเจนถึง 2 คนเป็นข่าวคราวนานหลายวัน สุดท้ายไม่ได้ทั้งคู่ ว่ากันว่า โควต้ากระทรวงนี้ นายกฯเป็นคนคัดเอง เพื่อสยบปัญหาการแย่งเก้าอี้ 

ว่าแต่กระทรวงนี้มีอะไรดี ทำไมกลายเป็นกระทรวงเกรดเอ มีแต่คนอยากมาเป็นเจ้ากระทรวง คนทั่วไปอาจจะเข้าใจว่างบประมาณรายปี ก็มีแค่หลัก 1-2 พันล้าน น้อยกว่ากระทรวงอื่นเป็นสิบ เป็นร้อยเท่า 

เรานำคำถามนี้มาคุยกับ ดร.ชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ ผู้ที่มีผลงานการวิจัย และการสอนในประเด็นการเมืองเรื่องพลังงาน เพื่อตอบคำถามว่ากระทรวงนี้มีอะไรดี รวมถึงถามความเห็นเกี่ยวกับการเมืองเรื่องพลังงานของไทยในประเด็นเกี่ยวเนื่อง (บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นก่อนรู้รายชื่อคณะรัฐมนตรีใหม่)

Advertisement
  • การปรับครม. ครั้งนี้ กระทรวงพลังงานสำคัญไฉน ทำไมมีข่าวยื้อแย่งเก้าอี้กันอย่างหนัก กระทรวงอื่นไม่ดุเดือดขนาดนี้?

ผมก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ถึงเหตุผลส่วนตัว ทำไมนักการเมืองหลายคนยังอยากได้เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่ถ้าตอบด้วยหลักการทั่วไป ที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน มันจะอธิบายผ่านงบประมาณที่กระทรวงแต่ละกระทรวงได้รับ มีการตัดเกรดเป็นกระทรวงเกรด A เกรด B เกรด C  

กระทรวงพลังงานเมื่อแรกตั้งในปี 2545 ก็เข้าใจว่าถูกจัดให้เป็นกระทรวงเกรดเอมาโดยตลอด เพราะเป็นกระทรวงที่กำกับควบคุมงบประมาณและทรัพยากร คำว่างบประมาณที่ผมพูดถึง ไม่ได้หมายถึงว่าประมาณในระบบอย่างเดียว แต่มันมีงบประมาณนอกระบบที่กระทรวงพลังงานสามารถกำกับควบคุมได้ เช่นงบประมาณของสำนักกำกับกิจการพลังงาน เมื่อปีที่แล้วจัดเก็บได้เป็นจำนวนมากกว่า 2 หมื่นล้าน กองทุนอนุรักษ์พลังงาน เก็บได้ประมาณ 2.3 หมื่นล้าน  กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาในปีนี้ ก็ได้ไปแล้วมากกว่า 30,000 กว่าล้าน   ในที่นี้ยังรวมไปถึงปตท. และกฟผ.ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานด้วย กฟผ.และปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่สร้างรายได้ให้กับรัฐเป็นอย่างมาก ผมเข้าใจว่ามีช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้เอง  กองสลากเพิ่งจะกลายเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่จัดส่งรายได้เข้ารัฐมากที่สุด แซงหน้า กฟผ.และปตท. แต่ก่อนหน้านี้กฟผ.และปตท.เป็นหน่วยงานในกำกับการดูแลของกระทรวงพลังงานที่ส่งรายได้เข้ารัฐมากที่สุดมาอย่างยาวนาน เป็นอันดับ 1 และ 2 ของประเทศ ทำเงินอยู่ในระดับแสนกว่าล้าน 

เงินนอกงบประมาณเหล่านี้แหละครับ ที่ทำให้กระทรวงพลังงานถูกจัดเป็นกระทรวงเกรดเอ  เพราะว่าเจ้ากระทรวงสามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ กำกับสั่งการ งบประมาณเหล่านี้ได้ ตรงนี้คือคำอธิบายในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับการใช้งบประมาณ 

Advertisement

ที่นี้ผมอยากจะชี้ชวนให้เห็นมากขึ้นไปอีกว่า รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานมีคุณค่าและมูลค่าในมิติอื่นๆด้วย ตัวอย่างเช่นกระทรวงพลังงานมีอิทธิพลอย่างมาก ในการกำกับกองทุนที่เรียกว่า “กองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า”หมายความว่าทุกที่ที่มีโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ทุกที่ ทุกประเภทที่เป็นโรงไฟฟ้า ตั้งที่ไหน จะต้องมีกองทุนรอบโรงไฟฟ้าเอาไว้ เพื่อที่จะพัฒนาพื้นที่และพัฒนาผู้คนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า ทีนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะเจ้ากระทรวงก็มีบทบาทกำกับ ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตรงนี้  

ลองจินตนาการดูว่า ทั่วประเทศโรงไฟฟ้ามีเยอะมากนะครับ  โดยตัวเลขก็เปลี่ยนแปลงตลอด ผมเข้าใจว่า 30-40 จังหวัดทั่วประเทศมีโรงไฟฟ้าอยู่  และก็มีตัวกองทุนรอบโรงไฟฟ้านี้อยู่  เมื่อกองทุนรอบโรงไฟฟ้านี้ทำงาน มันแจกจ่ายผลประโยชน์สู่ผู้นำชุมชน  ผ่านผู้คนในชุมชน  เข้าไปในหมู่บ้าน  การทำงานของกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้ามั่นไปผูกโยงกับกระทรวงพลังงาน ผูกโยงกับภาพลักษณ์กระทรวงพลังงาน ผูกโยงกับภาพลักษณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผมคิดว่าความสำคัญตรงนี้ทำให้กระทรวงพลังงานถูกจับตามอง พูดง่ายๆก็คือมันเป็นกระทรวงที่นักการเมืองกลุ่มฝ่ายต่างการต้องการเข้ามาควบคุมและมีอำนาจนั่นเอง  

“พูดอย่างตรงไปตรงมา ถ้าคุณจะหาเสียง คุณใช้ผ่านกองทุนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า คุณจะหาเสียงกับชาวบ้านในพื้นที่ได้กว้างขวางมหาศาลมาก ปีนี้คุณอาจจะกำหนดแนวทางการใช้เงินกองทุนนี้ ให้มันหลากหลาย ให้มันง่ายขึ้น ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ผู้นำชุมชนผันเงินรอบโรงไฟฟ้าไปดำเนินการ โดยไม่ต้องมีระเบียบเยอะ เมื่อกองทุนนี้ทำงาน มันก็ยึดโยงกลับมาที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง”

  • กองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้างบประมาณรวมทั้งประเทศประมาณเท่าไหร่ 

จำตัวเลขไม่ได้แน่ชัด แต่น่าจะมีหลักแสนล้าน  โดยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานจะเป็นคนกำกับ ว่าจะวางแนวทางในการจัดสรรอย่างไร  จากนั้นเม็ดเงินก็จะถูกส่งไปตามกองทุนต่างๆซึ่งในแต่ละกองทุนก็จะมีคณะกรรมการอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้นำชุมชน แล้วก็มีตัวแทนชาวบ้าน มาร่วมการตัดสินใจว่าจะใช้เงินตรงนั้นไปทำอะไร แต่ต้องดำเนินการใช้งบประมาณภายใต้แนวทางที่กระทรวงกำหนด 

อีกเรื่องที่สำคัญ และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานมีบทบาท ก็คือความซับซ้อนของพลังงานในปัจจุบัน มันมีมากขึ้นกว่าเดิมมหาศาล ลองจินตนาการกลับไปในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์  ช่วงทศวรรษ 2520 ในปีพ.ศ. 2528 เราค้นพบแก๊สธรรมชาติที่อ่าวไทย การใช้งานก็ไม่ซับซ้อน ขุดแล้วส่งผ่านท่อ ขึ้นมาที่ฝั่ง แล้วก็เอาไปกลั่นกลายมาเป็นพลังงาน แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีด้านพลังงานมันพัฒนามากขึ้นซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)  พลังงานลม  พลังงานแสงอาทิตย์  พลังงานจากต้นไม้ใบหญ้าที่เขาเอามาใช้กัน  การพัฒนาของเทคโนโลยีด้านพลังงานนี่แหละ  ที่ทำให้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะเจ้ากระทรวงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเทคโนโลยีด้านพลังงานที่สังคมไทยจะใช้กัน เทคโนโลยีตัวไหนจะถูกเลือกใช้ ตัวไหนจะถูกปฏิเสธออกไป ไม่ถูกเอามาพิจารณา บทบาทของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเล่นตรงนี้ได้อย่างกว้างขวาง 

  • “เล่น” ในที่นี้หมายถึง “เล่น” การเมืองกับเทคโนโลยีก็ได้  

ใช่  เราสามารถเลือกจะหยิบเอาเทคโนโลยีตรงนี้มาพิจารณาท้ายๆเลย  หรือเราจะเร่งเพื่อเอาเทคโนโลยีตรงนี้มาพิจารณาก่อน  เพื่อที่จะเอามันมาปฏิบัติได้ก่อน  ที่สำคัญก็คือเทคโนโลยีแต่ละตัว  มันผูกโยงกับกลุ่มทุนที่แตกต่างกันไป  

  • พอจะยกตัวอย่างถึงการใช้นโยบายด้านพลังงาน เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างชัดเจน  

ผมตอบแบบนี้ครับ ถ้าถามว่าใช้กระทรวงพลังงานเป็นเครื่องมือทางการเมือง  ผมว่ามันไม่ชัดขนาดนั้น  เพราะตัวกระทรวงพลังงานเองก็เป็นหน่วยงานเป็นองค์กร  แต่ถ้าใช้หน่วยงานในกระทรวงพลังงานเป็นเครื่องมือทางการเมือง  ผมพบว่ามีเยอะ มีเยอะมาก  ยกตัวอย่าง  สมัยก่อนจะมีการอธิบายกันว่าเวลาจะตอบแทนทางการเมือง ก็จะให้ไปนั่งอยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ  กฟผ.และปตท.ก็ถูกบ่นอยู่ตลอดเวลา ว่ามีการแทรกแซงทางการเมือง คนของพรรคการเมืองถูกส่งเข้าไปเป็นบอร์ดบริหาร ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานเหล่านี้ อันนี้ก็คือยุคเก่า 

ไม่ใช้เฉพาะหน่วยงานรัฐ ในส่วนภาคประชาสังคม ก็ใช้หน่วยงานด้านพลังงานเป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนกัน ที่ชัดมากที่สุดคือสมัยช่วงรัฐบาลทักษิณ ที่พยายามจะแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับปตท. ภาคประชาสังคมในช่วงนั้นบวกกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ใช้การแปรรูปกฟผ. และปตท.นี่แหละ เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการล้มรัฐบาลทักษิณ ถ้าเราจำกันได้อยู่ใช่ไหมครับ  มีการต่อต้านกันขนานใหญ่ที่นำโดยภาคประชาสังคม และผนวกรวมกับกลุ่มพันธมิตรฯ การผนวกรวมตรงนี้ก็ใช้องค์กรในกำกับของกระทรวงพลังงานเป็นเครื่องมือ  

ในส่วนภาครัฐถามว่าใช้ไหม ผมคิดว่าเขาใช้ตลอด อาจจะไม่ใช่กระทรวงพลังงานโดยตรงอย่างที่เรียนให้ทราบตั้งแต่ตอนต้น แต่เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงพลังงาน อย่างล่าสุดกรณี covid รัฐบาลก็ให้หน่วยงานในกำกับของกระทรวงพลังงานอย่าง กฟผ. ลดค่าไฟใช่ไหม อันนี้ผมก็ว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกำกับนโยบาย ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน  

อีกอันที่ผมคิดว่าภาครัฐมีบทบาทในการใช้หน่วยงานด้านพลังงานเป็นเครื่องมือมากๆเลย ก็คือการจัดเก็บรายได้ การเอาเงินรายได้จากหน่วยงานมาทำเป็นงบประมาณแผ่นดิน เอามาใช้จ่ายในกิจการของรัฐบาล กล่าวคือเอาเงินตรงนี้มาทำเป็นนโยบาย มาทำประชานิยม ตรงนี้ผมคิดว่าก็เห็นชัด รูปธรรมก็อย่างเช่นทุกรัฐบาลจะมีการตรึงราคาพลังงาน ก็คือการเอาเงินตรงนี้มาชดเชย ถือเป็นการนำเงินเอามาสร้าง แนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของเขา  

ความตื่นตัวและการตรวจสอบของภาคประชาสังคมไทยต่อกระทรวงพลังงาน  

เรื่องความตื่นตัวของภาคประชาสังคมในการตรวจสอบกระทรวงพลังงาน อันนี้เป็นสิ่งที่ผมศึกษาในส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผม  ว่าด้วยเรื่องความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายพลังงานของรัฐไทย ศึกษาประมาณ 30 ปีย้อนหลังตั้งแต่เริ่มตั้งสำนักงานกิจการกำกับพลังงาน จากการศึกษาของผมชี้ให้เห็นว่า ภาคประชาสังคมเริ่มแสดงบทบาทตรวจสอบโครงการหรือนโยบายของกระทรวงพลังงานอย่างชัดเจนและจริงจัง ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530 ก็คือสมัชชาคนจน ที่หยิบยกประเด็นเรื่องพลังงานมาต่อต้านการสร้างเขื่อนปากมูล เขื่อนปากมูลเป็นโครงการพัฒนาด้านพลังงานที่ไปลุกล้ำและสร้างภาระปัญหาให้กับชีวิตของเขา แล้วถ้าถามว่าก่อนหน้านั้นขบวนการเคลื่อนไหวไม่ได้ใช้ประเด็นด้านพลังงานเลยหรือ คำตอบคือใช่ เขาไม่ได้มีโฟกัสหลักเรื่องพลังงาน ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน  สมัชชาคนจนนี่แหละคือภาคประชาสังคมแรก ที่เริ่มใช้ประเด็นด้านพลังงานหยิบยกมาเคลื่อนไหว เพื่อตรวจสอบหรือต่อต้านอำนาจรัฐในการปฏิบัตินโยบายทางด้านพลังงาน 

ถัดมาอีกช่วงคือปี 2533 ก็จะเป็นโครงการแม่เมาะ ที่มีการปล่อยแก๊สพิษออกมาทำให้คนในชุมชนมีผลกระทบ มีการรวมตัวของเครือข่ายผู้ประสบภัย เพื่อเรียกร้องการตรวจสอบโรงไฟฟ้า เรียกร้องการตรวจสอบกฟผ. เรียกร้องการตรวจสอบกระทรวงพลังงาน ถัดจากนั้นไม่นานก็เป็นเรื่องการประท้วงคัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ของเครือข่ายภาคประชาสังคมทางภาคใต้   

จากนั้นก็เป็นปี 2542 นับเป็นขบวนการด้านพลังงานที่ใหญ่โตกว้างขวาง เป็นที่รับรู้ของสังคมนั่นคือขบวนการบ่อนอกหินกรูด  ที่มีความพยายามที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นับเป็นการต่อสู้ระยะยาว มีการปะทะกับรัฐบ้างในบางระดับ  ในปี 2547 ภาคประชาสังคมก็มีการร่วมมือกับภาคการเมืองต่อสู้การแปรรูปกฟผ. ในรัฐบาลทักษิณ ในปี 2558 ก็มีการเคลื่อนไหวทวงคืนปตท.  ปี 2560 มีการเคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดทางภาคใต้  โดยเฉพาะที่จะนะ จังหวัดสงขลา นี่คือพัฒนาการของภาคประชาสังคมที่พยายามกำกับตรวจสอบกิจกรรมหรือโครงการของกระทรวงพลังงาน

  • จริงไหม ต่อสู้ด้านพลังงาน ไม่ยุ่งไม่เกี่ยวกับการเมือง

คำตอบผมคือไม่ใช่-ไม่จริง การต่อสู้ด้านพลังงานเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างน้อยใน 2 ระดับ ตามทฤษฎีการเมืองพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นคำถามเรื่องการเมืองส่งผลอย่างไรกับพลังงาน เพราะการเมืองพูดถึงเรื่องอำนาจของตัวแสดงทางการเมืองที่มีอิทธิพลไปกำหนดทิศทางหรือความเป็นไปของนโยบายพลังงาน อย่างเช่นเมื่อรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายพลังงานเปลี่ยน เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนโรงไฟฟ้าก็อาจถูกเลื่อนออกไปไม่ได้สร้าง  หรือเมื่อภาคประชาสังคมมีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลมาก นโยบายของรัฐบาลที่ถูกวางไว้ก็อาจถูกเปลี่ยนไป นี่คือการเมืองกำหนดพลังงาน  แต่อีกในระดับหนึ่ง การเมืองพลังงานมันพูดถึงเรื่องแล้วลักษณะทางธรรมชาติของพลังงาน มันไปกำหนดการเมืองอย่างไร  

ที่นี่ลักษณะทางธรรมชาติของพลังงานคืออะไร ตัวอย่างเช่น ผมจบจากญี่ปุ่นผมจะมีประสบการณ์เรื่องพลังงานกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นิดหน่อย เวลาพูดถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เรากำลังพูดถึงพลังงานที่มีเทคนิคทางวิศวกรรมค่อนข้างสูง ทำในระบบปิด มีการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในการควบคุมกำกับพลังงาน ว่ากันว่ามลพิษก็มีไม่มากยกเว้นที่เป็นกากนิวเคลียร์ แต่การเมืองในลักษณะธรรมชาติของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มันว่าด้วยเรื่องอะไร ลักษณะทางธรรมชาติของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มันสร้างการเมืองแบบไหน ในญี่ปุ่นลักษณะทางธรรมชาติของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มันไปกำหนดการเมืองเรื่องภัยพิบัติ เพราะผู้คนมันหวาดกลัว  ถ้าระเบิดมาทีมันสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน สร้างความเสียหายกับสุขภาพของคนมากมายมหาศาล ลักษณะทางธรรมชาติของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาจึงสร้างการเมืองเรื่องภัยพิบัติ    

 ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งประเทศไทยอาจจะคุ้นชินเพราะมีโรงไฟฟ้าประเภทนี้พอสมควร ลักษณะทางธรรมชาติของมันคือใช้ถ่านหินในการผลิต ผลลัพธ์จากการผลิตคือจะมีฝุ่นควันออกมา จะเป็นฝุ่นควันพิษหรือสะอาดแบบที่ภาครัฐบอกก็แล้วแต่ว่าฝ่ายไหนจะมอง แต่ผลที่เหลือจากการผลิตคือมีฝุ่นและควันแน่นอน ทีนี้ ลักษณะทางธรรมชาติของโรงไฟฟ้าถ่านหินมันไปกำหนดสร้างการเมืองแบบไหน ผมคิดว่ามันไปกำหนดสร้างการเมืองที่ว่าด้วยเรื่องสุขภาพ 

อีกอันที่เราว่ามันดีมากๆและรณรงค์กันเป็นกระแสทั่วโลก ก็คือพลังงานหมุนเวียน Green Energy หรือพลังงานสีเขียว  ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการเมืองของมัน ลักษณะของพลังงานประเภทนี้ไปกำหนดการเมืองว่าด้วยเรื่องทัศนียภาพ  การเมืองที่ว่าด้วยเรื่องการใช้พื้นที่ เช่นการเอากังหันลมไปตั้งที่หนึ่งแล้วมันไปทำลายทัศนียภาพของคนในชุมชนนั้น คุณจะถกเถียงกันเรื่องนี้อย่างไร หรือคุณไปสร้างโซล่าฟาร์ม ที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ มันก็มีข้อถกเถียงว่าใช้พื้นที่มหาศาลขนาดนี้ กับการที่คุณจะเอาพื้นที่นี้ไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ไปทำเกษตร ไปทำอุตสาหกรรม หรือใช้ประโยชน์อื่นบนที่ดิน นี่คือการเมืองที่กำกับอยู่ไหนแต่ละชนิดพลังงาน    

เชื่อมโยงกับคำถามข้อที่แล้ว ที่ถามว่าการต่อสู้ด้านพลังงานกับการเมืองแยกกันได้หรือไม่ ผมจึงตอบว่าแยกกันไม่ได้ มันก็เกี่ยวสัมพันธ์กันอย่างแนบชิดมาก เพราะข้อต่อสู้ของภาคประชาสังคมเรื่องพลังงาน มันก็จะวนเวียนอยู่ใน 2 ระดับแบบนี้ คือการเมืองกำหนดพลังงาน และพลังงานกำหนดการเมือง 

  • ประชาชนควรสนใจและจับตากระทรวงพลังงานให้มากกว่านี้

เราหนีไม่พ้นที่จะต้องสนใจมัน เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องให้ความสนใจกับกระทรวงพลังงานและกิจกรรมของกระทรวงพลังงาน  เพราะอะไร ผมอธิบายอย่างนี้ครับ  คืออนาคตและโลกข้างหน้าของมวลมนุษยชาติทั้งหมดเลยมันวางอยู่บนพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานที่เรียกว่าไฟฟ้ากับน้ำมัน ลองจินตนาการง่ายๆแบบนี้ครับ Mobility หรือการเคลื่อนย้ายของคน  ในสมัยก่อนการเคลื่อนย้ายของมนุษย์มันขึ้นกับกำลังของมนุษย์เอง เราเดินเราวิ่งไปเองได้  หรือพึ่งพาพลังงานจากสัตว์ หรือการเคลื่อนย้ายของคนในยุคปัจจุบัน หรือ Modern mobility  มันวางอยู่บนพลังงานทั้งหมด  เราขับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เราขึ้นรถไฟฟ้า  คนย้ายจากต่างจังหวัดมากรุงเทพ มันวางอยู่บนพลังงานหมด ชีวิตคนเราผูกโยงกับพลังงานแทบจะทั้ง 24 ชั่วโมง ขนาดว่าเรานอนไปแล้วมันร้อนเราก็ต้องเปิดแอร์ แอร์มันก็ต้องใช้ไฟฟ้า วิถีชีวิตมันผูกโยงกับพลังงานทั้งหมด ฉะนั้นเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสนใจกระทรวงพลังงาน เพราะการสนใจต่อกระทรวงพลังงาน มันคือการสนใจต่ออนาคต และการออกแบบชีวิตของเราในอนาคต เพราะว่าถ้านโยบายพลังงานเปลี่ยน นโยบายการผลิตพลังงานเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้มันผูกโยงกับการออกแบบชีวิตในอนาคตเรามาก มันปฏิเสธไม่ได้ 

ตัวอย่างง่ายๆเช่น  ช่วงโควิดที่ผ่านมาทุกคนต้องอยู่บ้าน ภาครัฐประกาศต้องไทยชนะ  พออยู่บ้านมากก็ต้องใช้พลังงานมาก เมื่อใช้พลังงานมากค่าไฟก็แพง นี่คือตรรกะที่สมเหตุสมผลที่สุด ค่าไฟแพงเป็นผลมาจากอะไร เป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตสูง แล้วเราจะใช้พลังงานที่มีต้นทุนการผลิตต่ำจากไหน  มันก็มีตัวเลือกไม่มากนอกจากคุณผลิตเอง จากโซล่าเซลล์บ้านคุณ หรือคุณต้องเทิร์นเทคโนโลยีทั้งหมดไปสู่การใช้พลังงานนิวเคลียร์ ที่มีต้นทุนในการผลิตพลังงานต่ำสุด มันเกี่ยวโยงกันเป็นระบบหมด

  • บรรยากาศและเสถียรภาพทางการเมืองก็มีผลต่อนโยบายพลังงานประเทศ       

คือตอบคำถามอย่างนี้ เสถียรภาพของรัฐบาลมีผลต่อนโยบายในระยะสั้น มากกว่าระยะยาว นโยบายพลังงานตั้งแต่ไหนแต่ไร คือนโยบายพลังงานมันมีความซับซ้อนในเชิงเทคนิคสูง โดยเฉพาะเทคนิคด้านวิศวกรรม เราเรียกว่าวิศวกรรมพลังงาน อีกตัวหนึ่งคือมีความซับซ้อนด้านเศรษฐศาสตร์พลังงาน การคำณวนต้นทุนต่างๆในการเลือกใช้วัตถุดิบต่างๆในการผลิตพลังงาน การคำณวนอายุของโรงไฟฟ้าที่จะมีผลต่อต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า มีผลต่อค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ผันแปรตามวัตถุดิบที่เอามาผลิตไฟฟ้า อันนี้ว่าด้วยเรื่องเศรษฐศาสตร์พลังงาน กับอีกอันนึงคือว่าด้วยเรื่องนโยบายสาธารณะ คือการคิดต้นทุนกำไรของตัวเลือกทางนโยบาย นโยบายพลังงานหลักๆถูกปกคลุมด้วยเทคนิคองค์ความรู้ 3 ด้าน วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และนโยบายสาธารณะ 

ทีนี้ การพัฒนานโยบายพลังงานในระยะยาวถูกกำกับด้วยนักเทคนิคและข้าราชการประจำเป็นส่วนใหญ่ มากกว่าภาคการเมือง จะเห็นได้ชัดว่าแผนพลังงานส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นแผนระยะยาว 5-10ปี ตัวอย่างเช่นแผนพัฒนาพลังงานว่าด้วยเรื่องการผลิตไฟฟ้า แผนน้ำมัน ว่าด้วยการนำเข้าส่งออกน้ำมัน แผนพลังงานทดแทน ที่ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน การสร้างโรงไฟฟ้าหมุนเวียน การสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย รายกลาง รายใหญ่ ในการผลิตพลังงาน เหล่านี้ อายุของแผนจะมากกว่า 5-10 ปีทั้งสิ้น โอเคมันมีการทบทวนแผนอยู่ประจำ แต่กรอบของแผนอยู่ที่ 5-10 ปีตลอด  ซึ่งแผนตรงนี้มันมีอายุยาวนานกว่าอายุรัฐบาล ผมเคยสัมภาษณ์อดีตรัฐมนตรีพลังงานสองคน  ทั้งสองท่านยืนยันตรงกันว่า องค์ความรู้ในการทำแผนพวกนี้ส่วนใหญ่มาจากข้าราชการประจำซึ่งเป็นนักเทคนิคเสียมากกว่า เพราะฉะนั้น กระทรวงพลังงาน นักเทคนิคหรือข้าราชการประจำจะมีบทบาทสำคัญในการวางแผนระยะยาว ถามว่าเสถียรภาพของรัฐบาลมีผลต่อนโยบายแบบไหน ในความเห็นของผม มีผลระยะสั้น ตัวอย่างเช่น การตรึงราคาพลังงาน การกำหนดภาษีน้ำมัน การออกนโยบายอุดหนุนราคาพลังงาน พวกกรอบมาตรการด้านนโยบายพลังงานระยะสั้นแบบนี้ เสถียรภาพของรัฐบาลมีผลโดยตรงต่อมาตรการด้านนโยบายเหล่านี้มาก 

อีกอันที่อยากจะชวนคุย คือเสถียรภาพของรัฐบาลมีผลอย่างมีนัยยะสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า “จินตนาการเชิงตัวเลือก” นโยบายพลังงาน คือถ้าคุณเป็นรัฐบาลได้ยาวนาน คุณก็สามารถนำเสนอสิ่งที่เรียกว่าจินตนาการเชิงตัวเลือกนโยบายพลังงานได้บ่อยๆ ให้คนในสังคมถกเถียงกัน ชวนให้คนในสังคมช่วยกันคิดว่า มันควรจะพัฒนาไปในแบบนี้ดีไหม อย่างเช่นในช่วงรัฐบาล สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็มีความพยายามที่จะนำเสนอโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับสังคม แต่ตอนนั้นเป็นรัฐบาลเฉพาะกาล อายุสั้นเพียงปีเดียว จินตนาการตรงนี้มันก็หมดไป เมื่อรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ออกไป  หรือในปัจจุบัน จินตนาการรูปแบบโรงไฟฟ้า ก็อาจจะสื่อสารได้อย่างยาวนานหน่อย เพราะอยู่ในตำแหน่งมานาน ตัวอย่างเช่น เคยได้ยินโรงไฟฟ้าประชารัฐ ไหมครับ นี่คือแคมเปญในการสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ ก็มีการสื่อสารนโยบายนี้เสมอ หรืออีกอันคือโรงไฟฟ้าชุมชน โรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชนิดนี้เริ่มจริงๆยุครัฐบาลทักษิณ  แต่ว่าไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์ หรือโยนประเด็นให้สังคมถกเถียงกันอย่างกว้างขวางยาวนานเท่ากับรัฐบาลปัจจุบันที่เริ่มโดยพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีการโปรโมต ประชาสัมพันธ์ เรื่องโรงไฟฟ้าขยะ นำขยะมาผลิตไฟฟ้า เสถียรภาพของรัฐบาล จึงมีผลต่อจินตนาการตัวเลือกเชิงนโยบายใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น 

  • แม้เราจะมีการพัฒนาด้านพลังงานมานาน แต่นโยบายด้านพลังงานในพรรคการเมืองไทย ก็ยังไม่โดดเด่น 

ผมพยายามนึกถึงนโยบายด้านพลังงานของพรรคการเมือง เท่าที่ผมดู เท่าที่ดูเข้าใจว่าเขาไปโฟกัสที่พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก เพราะอันนั้นเป็นกระแสโลก อิงกับรสนิยมของนักอนุรักษ์ในเมืองไทยด้วยที่พยายามจะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเข้ามา คือนโยบายพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศเขาก้าวไปไกลกว่าที่ประเทศไทยถกเถียง ยกตัวอย่างพรรค Green ในเยอรมัน เขาไม่ได้ถกเถียงว่าคุณจะมีจินตนาการพลังงานหมุนเวียนยังไงแล้ว เขาถกเถียงไปถึงขั้นคุณจะให้ incentive ยังไง ให้แรงจูงใจกับประชาชนคนธรรมดายังไง ให้หันมาเป็นผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนเอง แต่ละบ้านคุณต้องติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์เอง สมัยก่อนเยอรมันก็ไม่มีคนติดตั้ง รัฐบาลต้องตัดสินใจเอาเงินงบประมาณเพื่อให้ทุกคนช่วยกันติดตั้ง เพื่อที่จะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทิ้งไป แล้วก็หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทน  เขาถกเถียงกันไปถึงว่าการผลิตไฟฟ้ามันไปกระทบกับสิทธิคนอยู่ในเมืองยังไง มันถกเถียงกันถึงว่าการผลิตไฟฟ้ามันส่งผลต่อการออกแบบเมืองยังไง คือมันไปไกลกว่าที่ประเทศไทยถกเถียงกันอยู่มาก 

อย่างในญี่ปุ่นที่ผมมีประสบการณ์มา โรงไฟฟ้าในญี่ปุ่นเขาถกเถียงไปถึงขั้นที่เรียกว่า ถ้าเกิดคุณไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คุณมีสิทธิที่จะซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าประเภทอื่นไหม คือไม่ใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ได้  ผมขอซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าอันอื่นเพราะผมไม่ชอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แล้วโรงไฟฟ้าประเภทอื่นก็ส่งไฟฟ้าประเภทอื่นไปให้ครัวเรือนนั้นใช้ คือการถกเถียงระดับนี้ได้ เทคโนโลยีในการกระจายไฟฟ้า เทคโนโลยีในการคำณวนค่าไฟ มาตรการการแบ่งปันผลประโยชน์กลุ่มทุนผู้ผลิต โอ้โห..มันไปไกลมากกว่าประเทศไทยเยอะมากแล้ว 

  • ชุดความคิดที่ครอบงำการผลิตนโยบายกระทรวงพลังงาน 

อย่างที่กล่าวไป จากประสบการณ์การทำวิทยานิพนธ์ ที่เคยพูดคุยกับอดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน 2 ท่าน คณะกรรมการปฎิรูปพลังงาน 2-3 ท่าน ผู้ให้ข้อมูลของผมทั้งหมดชี้มาในทิศทางเดียวกัน คือกรอบการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศนี้อยู่ภายใต้นักเทคนิค ข้าราชการประจำเป็นหลัก ทีนี้กรอบคิดในการกำหนดนโยบายมันวางอยู่บนเรื่องอะไร ผมคิดว่ามีอยู่ 2-3 เรื่อง เขาคิดบนฐานที่เรียกว่าความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งในความคิดของนักเทคนิคกระทรวงพลังงาน ก็คือความมั่นคงที่หมายความว่า   เมื่อจะต้องใช้พลังงาน ก็ต้องมีพลังงานให้ใช้เสมอ เปิดไฟปุ๊บ ไฟต้องติด ไม่ติดไม่ได้  ชุดความคิดนี้มันต่างกับภาคประชาสังคมมาก เพราะกรอบคิดของภาคประชาสังคมเป็นเรื่องของการผลิตพลังงานอย่างไร ให้ลดผลกระทบต่อชีวิตผู้คนในสังคมให้มากที่สุด มันต่างกันแล้ว กลุ่มหนึ่งบอกต้องมีซับพรายด้านพลังงานเยอะๆ  เพื่อสำรองเอาไว้ไม่ให้ขาดมือ อีกกลุ่ม ให้ผลิตอย่างกระทบต่อชีวิตคนน้อยที่สุด  ทั้งสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิตของผู้คน สองอันนี้ต่างกัน 

ความคิดอันที่สอง ผมคิดว่าผู้มีอำนาจทางนโยบายให้ความสำคัญก็คือ ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับพลังงาน เพราะเขามองว่าพลังงานคือปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าขาดพลังงาน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะถดถอย    

แนวคิดอันที่สาม แนวคิดด้านพลังงานมันจะวางบทบาทประเทศในเวทีระหว่างประเทศ คือการวางบทบาทประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางพลังงาน ของประชาคมอาเซียน อันนี้เป็นอีกหนึ่งกรอบคิดที่นักเทคนิคพยายามนำเสนอ   

  • ดูเหมือนเงินนอกงบประมาณสำคัญสุด สำหรับกระทรวงพลังาน 

ผมคิดว่าเขาเป็นกระเป๋าตังค์ที่ดีของรัฐบาล ดีมากไหมไม่รู้ แต่เม็ดเงินสูงมาก ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมากฟผ.กับปตท.ส่งเงินให้รัฐ เป็นมูลค่าหลายล้านๆ  

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image