สองเดือนในกมธ.งบฯ : “ระบอบประยุทธ์” สร้างศัตรูตัวร้ายที่เรียกว่า “รัฐราชการ”

การประชุม กมธ.งบ 64 จบไปแล้ว มีการเรียกหน่วยงานราชการต่างๆมาชี้แจงครบแล้ว ต่อไปก็เป็นขั้นตอนลงมติวาระ 2-3

สองเดือนที่ผ่านมา ระหว่างการประชุม มีเหตุการณ์สำคัญๆที่น่าสนใจหลายเรื่องเกิดขึ้น มีการชิงไหวชิงพริบ ต่อสู้กับด้วยเทคนิคทางการเมือง กฎระเบียบต่างๆ มีการเห็นตรง-เห็นแย้ง กันอย่างดุเดือด บางเรื่องก็เห็นพร้องต้องกัน ท่ามกลางวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจสังคม ที่กำลังเกิดขึ้น ก่อนที่การพิจารณาทุกอย่างจะสิ้นสุดลง

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ  ส.ส.เชียงราย ได้โพสต์ข้อความสั้นๆ สรุปรวบยอดจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เป็น ส.ส.สมัยแรก และเป็นครั้งแรกที่พรรคส่งให้เป็นกมธ.งบฯ  โดยวิจารณ์ว่า จากบทเรียนที่ผ่านมา ขอสรุปรวบยอดอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ ผ่านช่องทางการจัดสรรงบประมาณประเทศ คือ ระบอบรัฐราชการรวมศูนย์ ซึ่งทำงานอย่างเข้มแข็งมากในช่วงหลายปีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามามีอำนาจผ่านการรัฐประหาร

มติชนออนไลน์ จึงขอพูดคุยกับ นพ.เอกภพ เพื่อขอให้เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ช่วงสองเดือนในกมธ.งบฯ  ให้ขยายความความเห็นดังกล่าว ว่า ที่ว่าเลวร้าย ร้ายขนาดไหน หรือจะมองแต่ด้านลบอย่างเดียว ไม่มีด้านดีบ้างหรือ และนี่คือบทสนทนาที่เกิดขึ้น  … 

Advertisement

 

  • ทำไมถึงโพสต์ข้อความว่าประยุทธ์สร้าง ศัตรู ตัวร้าย ที่เรียกว่ารัฐราชการ

มันสะสมตั้งแต่วันแรกที่ทำงานจนถึงวันที่โพสต์ เนื่องจากเราต้องฟังคำชี้แจงจากหน่วยงาน  รวมกับระบบที่ตีกรอบไว้ มันทำให้เรารู้สึกว่า  โห รัฐราชการมันใหญ่มาก  ใหญ่จนเรารู้สึกว่าเราจะปรับหรือเปลี่ยนอะไรมันยากมากทีเดียว  ที่นี้ต้องเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่ผมเรียนจบใหม่ๆแล้วเป็นหมอเพื่อใช้ทุน ผมจบมาในช่วงปี 2544  ยังจำได้คือเป็นยุคเริ่มต้นของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร  ตอนนั้นคือยุคเริ่มต้นของบัตรทอง และเป็นยุคเริ่มต้นของการปฏิรูปราชการ  ผมอยู่ในแวดวงราชการประมาณ 10 กว่าปี  มันเห็นความเปลี่ยนแปลงแตกต่างชัดเจน  เราต้องเริ่มแข่งขันกันทำงานเร็วเพื่อประชาชน เราแข่งกันทำงานให้มีประสิทธิภาพ การทำแผนตอนนั้น ผมต้องไปเรียนเพิ่มเติม เรียนรู้เรื่องแผนกลยุทธ์หน่วยงาน  แต่อย่างที่ผมเจอในการประชุมกรรมาธิการ พบว่าหน่วยงานราชการไม่มีการวิเคราะห์อย่างรอบด้าน ไม่มีส่วนร่วมของประชาชน โครงการสำคัญ ถ้าไม่มีใครหยิบขึ้นมาพูด โครงการนั้นก็จะผ่านไป กลายเป็นโครงการที่ทำโดยที่ประชาชนไม่ต้องการ  อย่างที่ลพบุรี  โครงการสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ  ซึ่งคนลพบุรีบอกว่าไม่เอา สะพานตรงนี้ไม่จำเป็น รถสัญจรไปมาไม่ได้เยอะเลย  ถ้าไม่มีใครมาพูดตรงนี้ ก็ไม่รู้ว่ามันผ่านระบบราชการมาแล้ว  

ถ้าเราไปดูการจัดทำงบประมาณ มันเริ่มจากราชการทำแผนส่งขึ้นมา มารวบรวมไว้ที่สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ  จากนั้นสำนักงบประมาณก็จะเป็นคนตัด  แล้วเอามาให้เราพิจารณา  ประชาชนมีส่วนร่วมตอนที่สำนักงบประมาณเอาโครงการขึ้นเว็บ  ถามว่าความคิดเห็นของประชาชนได้รับการตอบสนองหรือเปล่า จากที่ผมมาพิจารณาตรงนี้ ไม่เห็นเลยนะครับ

Advertisement

การทำงานในฐานะกรรมาธิการ เราถือว่าเราเป็นตัวแทนประชาชน เราสามารถให้ความเห็น สามารถโต้แย้ง  เสนอแนะได้  อย่างเรื่องการจัดซื้ออาวุธในช่วงนี้ มันควรจะต้องมีการทบทวนใหม่ทั้งหมด เพราะงบประมาณมันควรจะนำไปใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ และ covid ก็ยังเห็นว่าการจะไปพูดถึงเรื่องซื้ออาวุธงบประมาณกองทัพ เป็นอะไรที่ยากมากกว่าจะมีการยอมถอยซื้อเรือดำน้ำ ต้องผ่านการถกเถียงเยอะมาก ต้องหยุดประชุม มีปัญหาหลายรอบ ทำให้ได้เห็นว่า 1. ปัญหาการบริหารประเทศอยู่ที่วิสัยทัศน์ของรัฐบาล   2. มันจะถ่ายทอดไปสู่ระบบราชการ  ผมเชื่อว่าข้าราชการส่วนใหญ่ เป็นคนดี ต้องการสร้างประเทศ ต้องการพัฒนาประเทศ ต้องการทำให้บ้านเมืองเขาดีขึ้น  แต่ด้วยระบบที่เป็นอยู่ ทำให้เขาไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ ติดขัดด้วยระบบบริหารและอะไรหลายๆอย่างที่ตีกรอบไว้เยอะ  ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของข้าราชการไม่มี ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เลยทำให้ทุกอย่างมันดูขับเคลื่อนช้า 

  • วัฒนธรรมการจัดงบของแต่ละหน่วยงานรัฐเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

เนื่องจากคนคิดกรอบคือสำนักงบประมาณ เดี๋ยวนี้มีหลายกรอบ กรอบใหญ่คือแผนปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ  จากนั้นก็มีแผนสภาพัฒน์  มีกรอบการจัดทำงบประมาณของสำนักงบประมาณ  มีกรอบกฎหมายกระจายอำนาจ มีกรอบของสตง. กรอบของกพร. อย่างนี้เป็นต้น  พอมีหลายกรอบขึ้นมาปุ๊บ  อิสระเสรีที่จะคิดมันก็น้อยลง  ก็เลยได้งบประมาณอย่างที่เราพิจารณากัน  เป็นงบประมาณที่เหมือนอยู่ในกรอบของตัวเอง  ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน  ที่น่าสนใจคือ ปีนี้ เราพิจารณางบประมาณของปี 64  คือเริ่มใช้ตั้งแต่ตุลาคม 2564 ถึงกันยายน 2565 งบประมาณที่ใช้ในปีนี้มันเป็นแผนที่คิดมาตั้งแต่ปี 62  แต่เรามี covid ต้นปี 2563 เขาก็พยายามจะปรับแก้  แต่ที่เราดูงบประมาณที่ทำมาแล้ว ก็เหมือนไม่ได้ปรับแก้  เหมือนไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจว่าเรากำลังอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เราเจอ covid อยู่นะ  งบประมาณก็ยังทำถนนกันปกติ  ยังมีงบประมาณเดินทางต่างประเทศปกติ  ยังมีงบประมาณจะซื้อของไม่จำเป็นจนเหมือนปกติอยู่  

ยกตัวอย่าง ตอนนี้ถ้าเราต้องการให้มันเปิดบ้านเปิดเมืองได้ เราต้องมีระบบสาธารณสุขที่เพียงพอ แต่ปีนี้มีการซื้อเครื่องช่วยหายใจไม่ถึงร้อยเครื่อง ทั้งประเทศ แล้วกระจายไม่ทั่วด้วย ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ราคาเฉลี่ยของเครื่องช่วยหายใจคือ 2ล้านบาท ต่อ 1 เครื่อง  งบประมาณเรือดำน้ำ 2.2 หมืนล้านบาท  สามารถซื้อเครื่องช่วยหายใจได้ราว 1 หมื่นเครื่อง คำถามคือแทนที่เราจะซื้อเรือดำน้ำหรือสร้างถนน ในจุดที่ยังไม่จำเป็น โยกมาก่อนได้ไหม  มาขยายโรงพยาบาล  มาขยายการจ้างบุคลากรทางการแพทย์  มาขยายระบบเฝ้าระวัง การป้องกันโรค  เพื่อที่เราจะได้เปิดเศรษฐกิจได้มากขึ้น  ตรงนี้เราจะเห็นว่าไม่มีเลย เราจะเห็นว่าประมาณฝึกอบรมของราชการเยอะมาก  เราเห็นงบประมาณที่เป็นเงินเดือน  เราเห็นงบประมาณเช่ารถ  ซื้อรถ  โดยข้ออ้างว่าซื้อทดแทน  ในขณะที่ประชาชนยังใช้รถเก่าอยู่นะ ไม่มีเงินซื้อรถ ทำไมราชการต้องใช้รถใหม่ การสร้างบ้านพักของบางหน่วยงานที่อาจยังไม่จำเป็นนัก การสร้างอาคารสร้างตึกทั้งที่ตึกเก่ามีอยู่  ทำไมจะยังเลื่อนไม่ได้บ้าง พวกนี้เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ  ว่าทำไมถึงตัดงบประมาณมาแบบนี้  จึงเป็นที่มาของความอึดอัดใจ  กรรมาธิการมีหน้าที่ก็คือถามว่าทำไมคุณถึงเป็นแบบนี้   งบประมาณแบบนี้สมเหตุสมผลหรือไม่ รายงานทำไมถึงทำแบบนี้  คำตอบที่ได้มันเป็นคำตอบที่แบบ  ผมใช้คำพูดแบบที่โพสต์เลยคือ “เลือดเย็น” คือไม่มีความรู้สึกอ่ะ  ผมเข้าใจนะหลายคนพยายามทำงานให้ดี  หลายอย่างที่ราชการคิด ทำเพื่ออยากให้งานของเขาดีขึ้น แต่หลายอย่างมันไม่ได้ทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น  

  • ยกตัวอย่างกระทรวงหรือหน่วยงานที่คิดว่ามีปัญหาที่สุดให้ดูเป็นรูปธรรม 

ความจริงมันเยอะนะครับ (หัวเราะ) แต่เอาง่ายๆ  มันมีงบประมาณที่เอาไปตกแต่งห้องประชุม  งบประมาณที่ไปรีโนเวทอาคารสำนักงานใหม่  งบประมาณที่ไปจัดซื้อกระสุน  อาวุธ  ซื้อรถถัง  ซื้อเรือดำน้ำ  งบประมาณตรงนี้มันไม่ Make Sense  ผมถามเขาว่าในช่วงปัจจุบัน  หรือปีถึง 2 ปีนี้  เรามีภัยคุกคามที่จะต้องดำเนินการเร่งด่วนเพื่อซื้ออาวุธหรือไม่  ไม่มีนะ  ประเมินดูสถานการณ์โลก มันไม่มีภัยคุกคามขนาดนั้น  ส่วนงบประมาณที่ดูไร้อารมณ์  ส่วนใหญ่เป็นพวกจัดซื้อ จัดหา  ก่อสร้าง  หรือแม้แต่การจัดอีเว้นท์  มีงบประมาณจัดอีเว้นท์กระตุ้นการท่องเที่ยวในต่างประเทศ   ทั้งที่ไม่รู้ว่าประเทศจะเปิดให้คนมาเที่ยวได้เมื่อไหร่ ประเภทนี้คือถามไปแล้วก็จะไม่ได้ feedback กลับมา 

อีกอันนึงคือ  เวลาเราถามว่าเราต้องการได้คำตอบเชิงวิชาการกลับมาจากราชการ มีข้อมูลรองรับ แต่คำตอบที่ได้สร้างความน่าหงุดหงิด  ไม่มีข้อมูล ข้อมูลไม่ครบ หรือข้อมูลที่นำเสนอเป็นข้อมูลคนละชุด กับสิ่งที่เรามี ขอข้อมูลคนละชุดเราจะรู้ได้ไง ว่าอันไหนจริงอันไหนเท็จ มีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ยกตัวอย่างง่ายๆ  อย่างเรื่องอ่างเก็บน้ำเหมือนตะกั่ว ที่เพิ่งพิจารณาผ่านไป เราไปดูพื้นที่จากการลงพื้นที่สำรวจ พบว่าข้อมูลหลายอันมันไม่สอดคล้องกลับของราชการ ราชการบอกว่าประชาชนแจ้งความต้องการมาเอง อยากมีอ่างเก็บน้ำอันนี้ แต่ข้อมูลของเรามีหนังสือที่ประชาชนล่ารายชื่อ บอกเลยว่าไม่เอา เห็นไหมครับนี่คือข้อมูลต่างกัน หรือข้อมูลการสร้างถนน ราชการบอกว่าถนนต้องสร้างเพราะชำรุด แต่ข้อมูลของคนในพื้นที่ ถนนเส้นนี้ยังดีอยู่ไปทำทำไม ทำไมไม่ไปทำเส้นอื่น มันมีข้อมูลยิบย่อยรายละเอียดเยอะมาก ที่ข้อมูลไม่ตรงกัน  แต่ละรายการมาดู คงใช้เวลามากกว่านี้เลย

“ต้องบอกความตลกของการพิจารณาในกรรมาธิการงบประมาณคือเขาให้ไฟล์มาเป็น PDF เป็นไฟล์เอกสารเป็นเล่ม  ทั้งที่งบประมาณมันมีรายการเยอะมาก ในความเป็นจริงเราไม่สามารถไล่ดูไปทีละหน้าได้  เพื่อให้เห็นความแตกต่างหรือความผิดปกติ  ผมใช้วิธีคือผมรับผิดชอบเรื่องสาธารณสุข  ผมให้ทีมงานเอาข้อมูลในส่วนของสาธารณสุขซึ่งมีเป็นพันหน้าไป ไปแปลงเป็นข้อมูลแล้วใส่ใน Excel  เพื่อดูความผิดปกติ  ดูจุดที่โด่งผิดปกติ ดูการกระจายตัวของประมาณ  จะเห็นว่ามันยากมากในการทำงาน  (หัวเราะ) ถ้าตั้งใจจะทำงานให้ดีมันยากมาก”  

  • มีคนบอกว่า หมอเข้าใจผิดแล้ว รัฐราชการต่างหากที่สร้างระบอบประยุทธ์ขึ้นมา 

(หัวเราะ) เอ่อ…  ไก่กับไข่เลย  จริงๆแล้วรัฐราชการสร้างประยุทธ์ไม่ได้ เพราะยุคสมัยก่อนหน้านี้  ระบบราชการไทยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  มีพัฒนาการต่อมาเรื่อยๆบางช่วง ก็ใหญ่  บางช่วงก็เล็ก  เห็นได้ชัดอย่างช่วงปฏิรูปราชการสมัย รัฐบาลทักษิณ ที่ทำสำเร็จ เพราะว่าช่วงนั้นเศรษฐกิจดี สมัยนั้นคนเรียนจบมาไม่อยากเป็นราชการนะ เขาอยากไปทำธุรกิจ อยากมีธุรกิจส่วนตัว รุ่นผมตอนที่เข้าเรียน คนอยากเรียนวิศวะมากกว่าหมอ วิศวะงานเยอะมากก่อสร้างเต็มไปหมด เรามาดูทุกวันนี้ คนต่อคิวสอบราชการกันมากขนาดไหน เศรษฐกิจมันไม่ดีคนไม่มีงานทำ ราชการเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง คุณประยุทธ์อยู่มาได้ 6 ปี จะ 7 ปี แล้ว เขาสร้างราชการที่ใหญ่กว่าเดิม สร้างหน่วยงานใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ พอเรื่องนี้คิดไม่ออก ไม่รู้จะให้ใครทำดี ก็สร้างหน่วยงานใหม่ เรื่องนี้หน่วยงานเดิมแก้ไม่ได้ ก็สร้างหน่วยงานใหม่ พอสร้างใหม่แล้วเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องสร้างพนักงาน จ้างราชการใหม่  จ้างลูกจ้างใหม่  ก็เป็นองค์กรที่ใหญ่ขึ้นใหญ่ขึ้น  เป็นระบบของราชการ  เดี๋ยวนี้ไม่ได้มีแค่ราชการ  เขาได้ดีไซน์อาสาสมัครต่างๆ ที่เรารู้จักมากที่สุดคืออสม. เดี๋ยวนี้รู้ไหมครับว่าแทบจะทุกกระทรวงมีอาสาสมัครของตัวเอง อาสาสมัครของไฟป่า กระทรวงทรัพย์  อาสาสมัครของพม. เหมือนเป็นการสร้างระบบราชการจากส่วนกลาง แล้วขยายมือ ลงไปถึงรากของประชาชนเลย  การกระจายอำนาจทุกวันนี้ถามว่าเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า  มันเหมือนกับย้อนยุคไป ทุกวันนี้อำนาจไปอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด  นายอำเภอ  กำนันผู้ใหญ่บ้าน เมื่อก่อนสมัยปฏิรูปราชการงบประมาณไม่ได้ลงไปที่ผู้ว่า เยอะ  นายอำเภอไม่มีงบประมาณ  ผู้ใหญ่บ้านไม่มีงบประมาณ  แต่ทุกวันนี้งบประมาณส่งลงไปถึงกระทั่งผู้ใหญ่บ้าน  สามารถจัดซื้อจัดจ้างเองได้  การจัดซื้อจัดจ้างของผู้ใหญ่บ้านไม่มีการตรวจสอบของสตง.นะ เพราะสตง.ไม่มีกฎหมายไปถึงให้ตรวจสอบ  เพราะแต่เดิมเราคิดว่าผู้ใหญ่บ้านไม่มีอำนาจสั่งจ่าย  ไม่ได้เป็นพนักงานพัสดุอยู่แล้ว  สตง.จึงไปเน้นตรวจสอบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 

อย่างปีนี้แย่สุดคืองบอุดหนุนซึ่งเป็นงบรายหัว  งบนมโรงเรียน  งบประมาณครู  งบประมาณข้าราชการของเขาเนี่ยได้ไม่ครบ  รายได้ของท้องถิ่นที่ควรจะได้จากภาษีที่ดินก็โดนตัด  ตอนนี้รายได้ของท้องถิ่นเขาแทบจะอยู่ไม่รอด  ผู้ว่าใหญ่ขึ้น จังหวัดหนึ่งมีงบประมาณ 3-4 ร้อยล้าน  ในนั้นมีงบประมาณที่เรียกว่างบบริหารจัดการ  เหมือนเป็นงบตีเช็คเปล่า บางจังหวัดได้ 10 ล้าน บางจังหวัดได้ 15 ล้าน บางกลุ่มจังหวัดได้ 15 ล้านถึง 20 ล้าน  งบตีเช็คเปล่านี่คือเอาไปทำอะไรก็ได้ ตามใจราชการ ตามใจผู้ว่า แล้วมันจะตอบสนองต่อประชาชนไหม  เพราะผู้ว่าไม่ได้มาจากประชาชน  ผู้ว่ามาจากมหาดไทย  เขาไม่จำเป็นต้องผูกติดกับพื้นที่  ไม่ต้องทำเพื่อประชาชนก็ได้ทำเพื่อนายไว้ก่อน นี่คือที่มาว่างบประมาณไม่สอดคล้อง  นี่คือที่มาว่ารัฐราชการที่ทุกคนเข้าใจ ว่ามันเป็นปัญหาอยู่แล้ว แต่คุณประยุทธ์ได้สร้าง ให้มันใหญ่ขึ้น และตอบสนองกัน หมายความว่าคุณประยุทธ์จะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีระบบราชการที่ใหญ่โตเทอะทะ เกื้อหนุนเขา และราชการจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีคนแบบคุณประยุทธ์ มาเป็นผู้นำ มันเป็นระบบที่เอื้อกันและกัน  ผมว่ามันมาจากการออกแบบของเขา  ใครจะว่าอย่างไรไม่รู้แต่ผมว่าเขาตั้งใจ รัฐธรรมนูญ 60 เกิดจากความตั้งใจหลังจากการยึดอำนาจแล้วมีการร่างรัฐธรรมนูญ คุณมีชัยก็ยอมรับว่าทำตามออเดอร์  มันมาจากความต้องการแบบนี้  จึงเขียนแบบนี้  การดีไซน์แบบนี้มันมาจากคสช. ราชการก็เกิดจากคสช. 

  • ให้เทียบ รัฐราชการ  ระหว่างยุค Prayuth regime กับ Thaksin regime แตกต่างกันอย่างไร 

(หัวเราะ) ผมเห็นชัดเลย  ตอนอยู่ยุคระบอบทักษิณผมเป็นข้าราชการ  ตอนอยู่ยุคประยุทธ์ผมมาอยู่ในภาคเอกชน และเข้ามาการเมือง ได้เห็นราชการใน 2 ระบบนี้ ความแตกต่างชัดเจน  เอาความรู้สึกก่อนเลย ในสมัยระบอบทักษิณ  คุณไม่เห็นข้าราชการใส่ชุดข้าราชการเดินไปทั่วบ้านทั่วเมืองแบบนี้นะ  ลองสังเกตลองนึกย้อนกลับไป ในยุคนั้นคุณจะไม่ค่อยเห็นราชการแต่งชุดเดินไปไหนมาไหน เพราะข้าราชการน้อย โดนบีบให้ทำงานเยอะ อย่างเต็มศักยภาพ อยู่ในที่ทำงาน ผู้ว่าก็ต้องเป็นผู้ว่า CEO ต้องปรับตัว ทำงานไม่มีผลงาน ไม่มี Productivity ก็ต้องออกไป ผมได้รับฟังเรื่องเล่ามาแม้กระทั่งรัฐมนตรี รัฐมนตรียุคทักษิณ เขาให้เวลา 6 เดือน ถ้าไม่มีผลงานคุณออกไป แล้วมาดูยุคคุณประยุทธ์สิ รัฐมนตรีอยู่ยาวแต่ละคนมีผลงานอะไรผมไม่รู้นะ แต่ก็ไม่เห็นเปลี่ยน 

เมื่อก่อนยุคทักษิณเราจะเห็นข้าราชการแข่งกันเอาใจประชาชน มีการเปิดเสาร์-อาทิตย์ แข่งกัน ระดับอำเภอก็มีโครงการอำเภอยิ้มอย่างนี้ Excellence Service พวกนี้ครับ โรงพยาบาลสมัยผมอยู่ ตอนนั้นเราแข่งกันว่าต้องทำให้ระยะเวลาในการรอคอยสั้นที่สุด คนไข้ต้องอยู่ในโรงพยาบาลสั้นที่สุด ตัวชี้วัดก็พยายามบีบมาเรื่อยๆ เช่นจาก 4 ชั่วโมง  เหลือ 3  เหลือ 2  เหลือ 1  ชั่วโมง เมื่อก่อนข้าราชการจะกลัวประชาชนร้องเรียน สมัยก่อนบางราชการไม่มีพักเที่ยงด้วยซ้ำ เทียบกับสมัยนี้คิดว่าไปติดต่อราชการต้องรอนานขึ้นไหม สมัยนี้ไปติดต่อราชการยากขึ้นหรือง่ายขึ้น อันนี้เป็นคำถามให้ลองไปคิดดูเอง 

สมัยทักษิณมีการเริ่มทำวันสต๊อปเซอร์วิส  สมัยประยุทธ์ก็พยายามทำแต่ก็เปลี่ยนรูปแบบไป หลายอย่างเปลี่ยนไป  ถ้าถามว่าความแตกต่างคือราชการยุคนั้นตอบสนองประชาชนมากกว่ายุคนี้ เมื่อก่อนหน่วยงานราชการไม่เยอะ ยุคประยุทธ์เขาสร้างหน่วยงานไว้เยอะมาก หลายหน่วยงานมันทับซ้อนกัน คนจะไปประสานงาน 1 เรื่องอาจจะต้องไปหลายที่  ยกตัวอย่างผมติดต่อเรื่องการทำถนนในเขตอำเภอเมืองเชียงราย บางตำบลไม่มีถนน ที่อยู่ในพื้นที่ป่า ผมต้องไปติดต่อกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ต้องไปติดต่อป่าไม้ ป่าไม้บอกตรงนี้เป็นของอุทยานฯ ก็ต้องไปติดต่อกรมอุทยานฯ อุทยานฯบอกว่าเป็นอำนาจของอธิบดี  ก็ต้องขึ้นมาที่กระทรวง  ผมไปติดต่อเรื่องไฟฟ้าก็ต้องติดต่อแบบนี้อีก  ไปท้องที่ อบต. เทศบาล ให้เขาทำเรื่องขึ้นมา แล้วเดินมาหาไฟฟ้า ไฟฟ้าบอกอยู่ในเขตป่าไม้ก็ต้องไปหาป่าไม้อีก ป่าไม้บอกต้องลากสายไฟเข้าอุทยานฯ ก็ต้องไปคุยกับอุทยานฯ มันไม่จบ

  • การปฏิรูปราชการก็เป็นนโยบายอันหนึ่งของรัฐบาลประยุทธ์ ที่ประกาศผลักดันมาตั้งแต่เข้ามามีอำนาจ 

ก็มันไม่สำเร็จอ่ะ  (หัวเราะ) คุณประยุทธ์ก็มาจากราชการ คุณประยุทธ์เป็นทหารมาทั้งชีวิต ความเชี่ยวชาญของของเขาคือราชการ ความเชี่ยวชาญของเขาคือทหาร ไม่รู้ว่าเขาจะไปพัฒนาระบบราชการให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะเขาไม่ได้เป็นผู้ใช้บริการระบบราชการ  ถามว่าคุณประยุทธ์ทำอย่างไร คุณประยุทธ์หาคนเก่งได้หรือไม่ หาคนที่มีความสามารถ  มีวิสัยทัศน์  มาช่วยได้ไหม  คำตอบคือก็เท่าที่เราเห็น ค่อนข้างมีแวดวงจำกัด คนที่อยู่รอบข้างคุณประยุทธ์  ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงไม่เลือกคนหรือขอความช่วยเหลือจากคนที่น่าจะพอทำให้ประเทศนี้ขับเคลื่อนไปได้ อันนี้เป็นคำถามครับ  

  • มีคนบอกว่างบประมาณของไทยส่วนใหญ่หมดไปกับเงินเดือนข้าราชการจริงหรือไม่

ถ้าตีเป็นตัวเลขกลมๆประมาณ 40 %  มันจะมีรายจ่ายประจำอีกนะ รายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่าย เช่นงบผูกพันไว้แล้ว รายจ่ายที่ขยับขับเคลื่อนไม่ได้  ต้องใช้หนี้อะไรพวกนี้  ตีไปแล้วรวมซักประมาณ 60% รวมแล้วจะเหลือเงินใช้อยู่ไม่เยอะ ประมาณ 30 ถึง 40 %  เป็นงบลงทุนจริงประมาณ 20%  แล้วการลงทุนนั้นถามว่าลงทุนอะไร รัฐราชการแบบคุณประยุทธ์ ลงทุนแบบสร้างซัพพลาย  เช่นการสร้างถนน สร้างตึก สร้างอาคาร ซึ่งเราคิดต่างกัน อย่างพรรคก้าวไกล เห็นว่าการลงทุนไปแล้วให้ได้ประโยชน์ต้องสร้าง ดีมานด์ เพราะการสร้างความต้องการมันจะสร้างมูลค่า สร้างมูลค่ามันก็สร้างตลาดของมันเอง ที่ผ่านมามันเป็นการลงทุนแบบราชการ ไม่ใช่แบบประชาชน ถามว่าถ้าประชาชนอยากได้อะไรสักอย่าง มันยากนะ กว่าที่จะเอาสิ่งที่เราต้องการ มันต้องผ่านราชการ ข้าราชการไม่เอากับคุณมันก็ไม่ได้ ถ้าไม่รวมกันส่งเสียงดังๆออกมา  

ผมลองคิดใหม่ สมมุติเรามีงบประมาณปีนี้ 3.3 ล้านล้าน แล้วเราแบ่งงบประมาณมาก้อนนึงตีซะแค่ 3 แสนล้าน หรือ 10% ของงบประมาณ ให้งบประมาณก้อนที่ตั้งไว้ แล้วเปิดให้ประชาชนส่งความต้องการขึ้นมา แล้วมาโหวตกันว่าเรียงลำดับมาเลย 20-30 อันดับก็ได้ จากนั้นมาพูดคุยดีเบตกัน แล้วกรรมาธิการรับมาเอามาทำเป็น project ทำเป็นแบบจำลองว่าถ้าทำโครงการนี้แล้วจะเกิดผลอะไรขึ้น ศึกษาให้ จากนั้นส่งกลับไปให้ประชาชนดูว่าประชาชนจะเลือกอันไหน ผมเชื่อว่าเราจะได้อะไรที่สร้างสรรค์    

  • เหมือนจะมีแต่เรื่องลบๆ มีการจัดงบของหน่วยงานหรือกระทรวงไหนไหมที่ชอบที่สุด หรือสร้างสรรค์บ้างไหม 

(หัวเราะ – นิ่งคิดสักพัก)  โอ้โห ผมพยายามหานะ ผมเป็นคนที่พยายามหาจุดดี คือด้วยความรู้สึกว่านั่งมา 2 เดือนก็ต้องหาอะไรดีๆบ้าง  ถามว่าเจองบประมาณที่ชอบไหม เจอการจัดงบประมาณที่ใช่ไหม อาจจะไม่เจอแบบที่ชอบตรงๆ  แต่ผมเจอหน่วยงานบางหน่วยงานเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในซอกหลืบ ขององค์กรราชการที่ใหญ่โต  ถ้าใครติดตามการเมืองตั้งแต่ปีที่แล้ว ครูจุ๊ย กุลธิดา อดีตส.ส. ที่เพิ่งถูกตัดสิทธิ์ไป  เคยพูดถึงกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นหน่วยงานที่เล็กมากๆ ใช้งบประมาณเล็กมากๆ  แต่หน่วยงานที่เขาทำงานที่ใหญ่โต คือไปสำรวจเด็กที่ยากจน โดยผ่านทางทุกโรงเรียน ให้ครูไปสำรวจแล้วทำขึ้นทะเบียน เอามาเข้าระบบฐานข้อมูลดิจิตอล มีการช่วยเหลือให้เงินตรงที่นักเรียน  เพื่อให้เด็กยากจนออกจากระบบการศึกษาน้อยลง มีการศึกษาต่อที่ดีขึ้น หน่วยงานนี้คือหน่วยงานแรกและปีนี้ก็ยังน่าสนใจ  อีกหน่วยงานที่ผมเจออยู่ในกระทรวงวัฒนธรรม ชื่อว่าศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  มีคุณหมอโกมาตรเป็นผู้อำนวยการ หน่วยงานนี้เป็นงานที่ทำการศึกษา ลงไปในพื้นที่จริง กับเรื่องของมนุษยวิทยา ทำเรื่องของการทำความเข้าใจความหลากหลายของคน ทำเรื่องความหลากหลายของมนุษย์ ถ้าพูดถึงปัญหาชายแดนใต้  ปัญหาเกิดจากการที่รัฐไทยไม่ยอมรับความหลากหลาย ผมอยู่ทางเหนือคือเชียงรายได้คุยกับนักวิจัยที่ทำเรื่องประวัติศาสตร์ล้านนา พบว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหลายพื้นที่ถูกทำให้หายไป หน่วยงานนี่คือหน่วยงานที่มุ่งทำความเข้าใจ กับความหลากหลาย รวมถึงเรื่องชาติพันธุ์ เมื่อเราเข้าใจความหลากหลายเราจะรู้ว่าเขาต้องการอะไร การจัดสรรนโยบายมันจะถูกจุดมากขึ้น งานของเขามีประโยชน์จริงแต่เป็นหน่วยงานที่เล็กมากๆ ได้งบน้อยมากหลักสิบล้าน จนผมรู้สึกว่าเฮ้ย ทำไมหน่วยงานแบบนี้ไม่ให้งบประมาณเขาไปเยอะๆ  หน่วยงานแบบนี้เราต้องฟังเขา  แล้วจ่ายงานให้เขาไปทำ 

วันนั้นผมมีโอกาสได้คุย กับกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งที่ตอนเช้าผมยังเสนอให้ยุบกระทรวงวัฒนธรรมอยู่เลย เพราะรู้สึกว่าเขาติดอยู่ในกรอบความดี คนดี ศีลธรรม ความเป็นไทยที่นิยามไม่ได้มากเกินไป การไม่ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมถึงเมื่อเทียบกับกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลี ที่กระทรวงวัฒนธรรมสร้างความ Popular ให้กับบ้านเมืองเขา ผลักดัน Soft Power ที่ได้ผลจริง ทั้งที่ประเทศไทยก็ทำได้แต่ติดอยู่กับกรอบวัฒนธรรมเดิม  แต่พอช่วงปลายของการชี้แจง ได้เห็นหน่วยงานเล็กๆอย่างศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ก็เป็นวันที่ผมรู้สึกดี รู้สึกมีความหวังขึ้นมา อีกอัน คือหอภาพยนตร์แห่งชาติ อันนี้คือหน่วยงานที่ผมรู้สึกว่าเราต้องให้ทรัพยากร ให้งบเขามากกว่านี้ เขาไม่ได้เก็บเฉพาะภาพยนตร์ที่เหมือนราชการอยากเก็บ แต่เขาเก็บทุกอย่างที่เป็นของประชาชนด้วย ทุกวันนี้เขาทยอยเอาฟิล์มลง youtube  ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีช่อง YouTube เขาด้วย หลังจากนั้นผมรีบไปเปิดดู โอ้โหมีบางเรื่องที่มันทรงคุณค่ามาก  นี่ควรจะต้องมีงบให้เขาบำรุงรักษา   

  • บรรยากาศการต่อสู้ของฝ่ายค้านในที่ประชุม สู้อย่างไร เจรจาไหม ต้องพูดโน้มน้าวไหม สำเร็จหรือไม่

จริงๆแล้วการทำงานในที่ประชุมงบประมาณ แทบจะไม่มีคำว่าฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เพราะทุกคนมาในนามกมธ.และทุกคนต้องนั่งพูดคุยกัน  แต่มันก็มีประเด็นบางเรื่องที่มันเป็นเรื่องการเมือง  เช่นเรื่องที่เราคุยกัน คือเรือดำน้ำ  เรื่องบางเรื่องที่เราต้องต่อสู้เพื่อประชาชน  ก็จำเป็นต้องต่อรอง  กับฝ่ายรัฐบาลวันนี้ช่วยคุยให้หน่อยได้ไหม  ก็เหมือนกับต้องช่วยกันทำงาน  ส่วนเรื่องบรรยากาศการทำงาน อย่างวาระเรื่องอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว ตอนที่เราทำข้อมูลแล้วมานำเสนอในกรรมาธิการ  ก็มีหลายคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย  แต่ตอนยกมือเราก็ลุ้น ว่าสุดท้ายแล้วจะยกมืออย่างไร ปรากฏว่ามีพรรครัฐบาลอยู่พรรคหนึ่ง เขามีส.ส.อยู่ที่จังหวัดพัทลุง  เขามายกให้เรา  ไม่สนับสนุนให้เอาเขื่อนเหมืองตะกั่ว  เราก็เซอร์ไพรส์  อันนี้ไม่ได้คุยกัน  ไม่ได้ขอด้วย  (หลายเรื่องขอก็ไม่ได้)  แต่ว่าเรื่องนี้พรรคนี้กลับยอมรับข้อมูลเรา ผมไม่รู้ว่ามีเรื่องอะไรหรือเปล่า อาจจะเป็นเพราะเขาอยู่ในพื้นที่ หรือว่าต้องการแย่งชิงกับอีกพรรคนึงหรือเปล่า แต่พอเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นมันก็เซอร์ไพรส์เฉยเลย  (หัวเราะ)   บางโครงการที่เรารู้สึกว่าข้อมูลครบชัดเจนน่าจะช่วยโหวตฝ่ายเราล้มโครงการนี้ ปรากฏว่าก็ไม่มีใครช่วย เช่นโครงการผันน้ำที่นครศรีธรรมราช  ที่ขอให้ชะลอไปแล้วคิดใหม่ให้ครบ หรือโครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ของปภ. เพิ่มเติม ซึ่งเรามองว่าของเดิมยังใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ปรากฏว่าทั้งห้องเห็นด้วยให้ชะลอเฉยเลย  แล้วก็มีบางเรื่องที่เป็นเรื่องจริงไหวชิงพริบทางการเมืองอย่างเช่นเรื่องเรือดำน้ำ มีการเลื่อนประชุม เพราะว่ายังมีการต่อรองไม่เสร็จ มันขึ้นกับบรรยากาศข้างนอกด้วย ผมคิดว่าความสำคัญคือสิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอก ถ้าประชาชนไม่สามารถส่งเสียงได้ อยู่ในรัฐบาลที่ไม่เป็นปกติ ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรือดำน้ำ มันจะเกิดอะไรขึ้นกับเขื่อนเหมืองตะกั่ว จะเกิดอะไรขึ้นกับอีกหลายโครงการที่โดนพับไปเพราะเราฟังเสียงประชาชน   

  • รัฐราชการรวมศูนย์ทำประเทศพัฒนาช้า 

ช้า.. ประเทศที่ผู้นำรัฐบาลไม่มีวิสัยทัศน์จะนำราชการไปไม่ได้ ราชการเขาต้องฟังผู้บริหาร และองคาพยพของราชการก็ต้องมีประสิทธิภาพ ต้องเร็วและเชื่อมโยงกับประชาชนมากกว่านี้ ประเทศไทยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนามากี่สิบปีแล้ว ผมว่ามัน 40-50 ปีแล้ว  การจะเปลี่ยนจากประเทศกำลังพัฒนาเป็นประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันใช้เวลาไม่เยอะ เกาหลีใต้ใช้เวลาประมาณ 10 ปี  เอสโตเนียใช้เวลาประมาณ 10 กว่าปี  ในการเปลี่ยนได้ มันอยู่ที่โครงสร้างระดับบน  โครงสร้างของราชการ  และสิ่งที่จะช่วยได้คือการกระจายอำนาจ  ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนแปลงประเทศได้ด้วยการกระจายอำนาจ   รัฐราชการรวมศูนย์ไม่มี ทุกวันนี้เราเห็นการเคลื่อนไหวของประชาชน เสียงเรียกร้องมากมาย นี่คือเสียงของอนาคต  นี่คืออนาคต นี่คือเสียงของยุคสมัยแล้วนะ  ถ้าเทียบกันคุณประยุทธ์เป็นคนที่มาจากยุคอดีต ผมเป็นคนมาจากยุคปัจจุบัน  เสียงของเยาวชนคือเสียงของอนาคต  ถามว่าถ้าเราทำงาน ณ วันนี้  เราจะทำงานเพื่ออดีตหรือจะทำงานเพื่ออนาคต เราเป็นคนปัจจุบันก็ต้องทำงานเพื่ออนาคต  ให้ประเทศไทยมันสามารถเติบโตและอยู่ได้อย่างมีความสุข รัฐราชการมันตอบสนองอดีตไม่ได้ตอบสนองอนาคต 

  • คิดว่าตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง มีประวัติศาสตร์การเมืองช่วงไหนที่รัฐราชการรวมศูนย์ถูกท้าทายมากที่สุด  

ผมคิดว่าระบบราชการแบบปัจจุบันโดนท้าทายมากที่สุดคือช่วงแรกของรัฐบาลทักษิณ โดนทดสอบและโดนเขย่ามากที่สุด  ทั้งนี้ ระบบการเมืองคือระบบที่ท้าทายระบบราชการมาก ถ้ายุคไหน ระบบการเมืองดีระบบราชการจะถูกบีบ ถ้ายกไหนระบบราชการเป็นใหญ่ระบบการเมืองจะถูกบีบ ที่จริงทั้งสองส่วนมันสามารถอยู่ด้วยกันแล้วไปด้วยกันได้ การเมืองต้องใหญ่ขึ้นและเป็นอิสระ ราชการเล็กลงไม่พอต้องทันสมัย ในระบอบเสรีประชาธิปไตย ราชการก็เป็นฟังก์ชันหนึ่งที่สำคัญ ทุกประเทศในโลกนี้ที่เป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยก็มีระบบราชการ ระบบราชการของไทยมันมีหลายระดับหลายส่วน ผมเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจ  ว่าข้าราชการหรือคนที่ทำงานมีใจที่เป็นประชาธิปไตย และมีความโหยหาอยากจะทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น เป็นข้าราชการที่อยากทำงานให้ประชาชน  แต่ระบบมันไม่รองรับ อย่าไปโทษว่าข้าราชการจะเข้าไม่ได้กับระบบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย  ต้องโทษรัฐบาลชุดนี้ และรัฐธรรมนูญแบบนี้ ที่พยายามแยกข้าราชการออกมาจากระบอบประชาธิปไตย  เราต้องแก้รัฐธรรมนูญ  ราชการจะมีอิสระ มีเสรีทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น  ที่จริงมันทำงานด้วยกัน ไม่ขัดแย้งกัน อย่างการทำงานในที่ประชุมกรรมาธิการ นักการเมืองก็คุยกับอธิบดีได้ เราให้เหตุให้ผลกันได้ นักการเมืองถือว่าเป็นตัวแทนประชาชน   

  • แล้วระบอบประยุทธ์ ขัดแย้งหรือไม่ขัดแย้งกับระบบราชการ 

ระบอบประยุทธ์ส่งเสริมให้ราชการ เป็นราชการแบบราชการทหาร  ระบอบประยุทธ์ทำให้ราชการไม่สามารถคิดและตัดสินใจเองได้  ระบอบประยุทธ์ทำให้ราชการส่วนภูมิภาคตัดสินใจเองไม่ได้ ทำอะไรเล็กน้อยต้องมาขอความเห็นจากส่วนกลาง  นี่คือสิ่งที่ประยุทธ์สร้างขึ้น นี่คือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นหลังจากที่มีการกระจายอำนาจในประเทศไทย  ระบอบประยุทธ์ดึงประเทศไทยย้อนหลังกลับไป ก่อนยุคที่จะมีการกระจายอำนาจ คุณประยุทธ์ ดีไซน์ประเทศให้ย้อนกลับไปในอดีต   ปัญหาคือสิ่งที่เขาทำมันไม่เข้ากับยุคสมัย การดีไซน์ทุกอย่างให้ย้อนกลับไป มันย้อนไม่ได้ สุดท้ายแล้วคุณก็จะแพ้ โอเคแหละช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ทุกคนอยู่ในภาวะจำยอม แต่ตอนนี้ทุกคนบอกว่าไม่ไหวแล้ว ไม่ยอมแล้ว ผมประชุมงบประมาณ ผมมองตาข้าราชการที่ทำข้อมูลให้กับข้าราชการฝ่ายบริหาร ผมเชื่อว่าวันหนึ่งข้าราชการที่โดนกดขี่ อาจจะลุกขึ้นมาแล้วบอกว่าเขาอยากจะมีอนาคต ร่วมกับประชาชนทั้งประเทศก็ได้ ผมฝันถึงวันนั้น  แล้วผมก็ฝันว่าประเทศเราจะพัฒนาได้สักที   

  • ทำไมถึงได้มานั่งเป็นกรรมาธิการงบ อาสามาเป็น หรือว่าพรรคส่งมา /  แล้วทำหน้าที่อะไร เป้าหมายการทำงานอย่างไร 

ก็คือใครจะมาเป็นกรรมาธิการ ต้องทำการบ้านในประเด็นที่ตัวเองรับผิดชอบ อย่างผมรับผิดชอบเรื่องสาธารณสุข ก็จะเป็นคนเรื่องงบประมาณและนำมาอภิปราย เมื่อนำเรื่องต่างๆมาพูดคุยกัน พอถึงรอบนี้ก็เป็นการคุยกันว่าใครจะนั่งเป็นกรรมาธิการ  ทั้งกรรมาธิการชุดใหญ่ ซึ่งพรรคได้โควต้า 6 คน และอนุกมธ.ชุดต่างๆ  ไม่เชิงว่าใครเลือก เป็นเหมือนกับว่าเราสมัครใจมาทำงานและเรียนรู้ตรงนี้  และนี่คือครั้งแรกที่ได้มาทำหน้าที่ตรงนี้  หลังจากได้รับการบอกเล่าจากเมื่อปีที่แล้ว ว่างานกรรมาธิการงบจะยุ่งมาก  ใช้เวลานาน  ต้องดูเอกสารแบบเร็วมาก  สำหรับเป้าหมายของการทำงานคืออยากรู้รายละเอียด ให้เห็นปัญหาเพื่อที่จะดูว่าในอนาคตจะแก้ไขอะไรได้บ้าง  ส่วนเรื่องการจัดสรรงบให้มีประสิทธิภาพนั้น ตัวคณะกรรมาธิการเองจะทำได้ประมาณหนึ่ง แต่ด้วยรัฐธรรมนูญเขียนกำกับไว้ ให้ตัวสส.มีส่วนยุ่งกับงบประมาณได้น้อยมาก มีหลายมาตราเขียนล็อคไว้พอสมควร แต่ก็พยายามทำงานเต็มที่ 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image