‘สุรเกียรติ์ เสถียรไทย’ ชี้ ทิศทางการเมือง-ศก.-การต่างประเทศ ปี’64

หมายเหตุ – ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย (APRC) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และต่างประเทศ ในรอบปี 2563 และแนวโน้ม ทิศทางของเรื่องดังกล่าวในปี 2564

⦁มองเรื่องเศรษฐกิจ ต่างประเทศ การเมือง ในรอบปี 2563 อย่างไร

ในรอบปี 2563 เรื่องการต่างประเทศมีความผันผวนค่อนข้างมาก เรียกว่าเป็น VUCA world ในโลกแห่งความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อนมีมากขึ้น เกิดสงครามการค้า มาจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีนิยมน้อยมาก

เรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศถูกผลักออกไปทั้งๆ ที่มีการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เข้ามา แทนที่ประเทศต่างๆ จะมองข้ามพรมแดนของตัวเองไปแล้วหันมาร่วมมือกันโดยข้ามพรมแดน แต่ทุกประเทศกลับปิดพรมแดนหมด สหรัฐก็ไม่ขายอุปกรณ์การแพทย์ให้ต่างประเทศ ไม่ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก ต่างคนต่างดูแลเฉพาะในประเทศของตัวเอง

Advertisement

ถ้าเทียบกับสมัยการระบาดของโรคซาร์ส จะประชุมอาเซียน 10 ประเทศบวกจีน มีผู้นำทั้ง 11 ประเทศมาประชุมร่วมกัน ภายในเวลา 7 วัน แล้วกำหนดข้อตกลงร่วมกันในการตรวจโรค มาตรการทางพรมแดน ใช้เวลาเพียง 60 วัน หยุดการระบาดของโรคซาร์สได้

แต่โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะเกิดขึ้นแล้วทุกคนต่างโทษว่ามาจากประเทศจีน แต่ลืมไปว่าโลกสมัยนี้ทุกคนเดินทางกันตลอด ไปได้ทุกที่ต่างคนต่างตกใจใช้ความรักชาติในการแก้ปัญหา ใช้ความเป็นชาตินิยม แต่สมัยโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก เอาชาตินิยมแล้วว่าบอกจะเอาชาติเรารอด ต้องร่วมมือระหว่างประเทศ แต่ครั้งนี้ทุกประเทศมองว่าจะเอาชาติรอดแต่ไม่ร่วมมือกับใคร ผมมองว่า

1.การแก้ปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือว่าช้ามาก กว่าอาเชียนจะเริ่มประชุมกันผ่านไปช่วงปลายเดือนมีนาคม 63 แต่ละอนุภูมิภาคเริ่มมีการประชุมกัน แต่ระดับโลกไม่มีการประชุมกัน บทบาทขององค์การอนามัยโลกแทบจะไม่มี ต้องถือว่าน่าผิดหวัง ทั้งในเรื่องสาระ ที่บอกว่าไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย ให้ใส่เฉพาะคนที่ติดเชื้อ หลังจากนั้นผ่านไปกว่า 2 เดือน องค์การอนามัยโลกถึงได้ออกมาบอกว่าให้ใส่หน้ากากอนามัย ตรงนี้แสดงถึงความไม่แม่นยำในสาระในทางวิชาการ

Advertisement

2.การที่สหรัฐอเมริกาไม่ร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ ขณะที่ประเทศจีนยังร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศบ้าง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าความร่วมมือระหว่างพหุภาคี ความร่วมมือระหว่างประเทศถูกผลักออกไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดในเรื่องระหว่างประเทศ

ในเรื่องของสงครามการค้า สหรัฐอเมริกาหันมาใช้มาตรการฝ่ายเดียว ไม่ไปใช้กลไกขององค์การการค้าโลกทั้งที่เป็นสมาชิกอยู่ ทั้งที่ถ้าประเทศจีนทำผิดจริงควรไปที่องค์การการค้าโลกมาดำเนินการ ถ้าประเทศจีนทำผิดจริงก็มีมติไม่ซื้อสินค้าจากประเทศจีน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจีนยังไม่ได้อธิบายอะไร สหรัฐก็กำหนดว่าจะขึ้นภาษีเท่านั้นเท่านี้ จึงเกิดสงครามการค้าและลามไปสู่สงครามการลงทุน คือการพยายามที่จะไม่ให้คนอเมริกาไปลงทุนในประเทศจีน ให้คนสหรัฐกลับมาลงทุนในประเทศสหรัฐ ซึ่งขัดกับสภาพความเป็นจริงในโลกของการแข่งขันทางธุรกิจ

3.ที่อันตรายคือการพัฒนาไปสู่สงครามทางเทคโนโลยี คือการกีดกันบริษัทหัวเว่ยของประเทศจีนด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ให้บริษัทลูกของหัวเว่ยทำธุรกรรมต่างๆ ทำให้ประเทศจีนต้องตอบโต้สหรัฐ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เงินในตลาดหลักทรัพย์ของโลกหายไปนับแสนล้านบาท

วันหนึ่ง โดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่าเจรจากันไม่รู้เรื่องและจะขึ้นภาษีเกี่ยวกับสินค้าของจีน หุ้นตกไปทั่วโลกนานนับสัปดาห์ วันดีคืนดีทรัมป์ บอกว่าเจรจารู้เรื่องแล้วหุ้นก็กลับขึ้นมาใหม่ เป็นแบบนี้นับสิบครั้ง นั่นคือความผันผวนของโลก

สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดในปี 2563 คือการแยกเทคโนโลยีระหว่างประเทศจีนกับประเทศสหรัฐ แยกการลงทุน แยกการค้าของสองประเทศ ผู้แทนของประเทศจีนท่านหนึ่งโทรศัพท์มาหาผมเมื่อปลายปี 2562 ให้มาร่วมสัมมนา จัดโดยสถาบันของประเทศจีนร่วมกับสถาบันของประเทศสหรัฐ เชิญนักธุรกิจมาร่วมด้วยพูดคุยกันเรื่องสงครามการค้า สะท้อนตรงกันว่าการแยกเทคโนโลยีของทั้งสองประเทศนั้นขัดกับโลกความเป็นจริงทางเศรษฐกิจแล้วจะทำให้พังกันหมด

ยกตัวอย่าง ประเทศฟิลิปปินส์ ส่งสินค้ามาประเทศไทยและประเทศไทยก็ส่งต่อไปยังประเทศจีน ประเทศจีนทำเป็นสินค้าสำเร็จรูปแล้วส่งไปประเทศสหรัฐ แต่พอมีการตัดขาดระหว่างสหรัฐกับจีน จีนก็ไม่ซื้อจากไทย ไทยไม่ซื้อจากฟิลิปปินส์ จะเกิดผลกระทบกันไปหมด ไม่ว่าเป็นเอเชียกับอเมริกา กับละตินอเมริกา เพราะฉะนั้นจึงเกิดการหักสะบั้นของห่วงโซ่อุปทาน เรื่องนี้จะทำให้พังกันไปทั้งโลก

รูปแบบการลงทุนในปีที่ 2563 จึงมีความพยายามในการปรับเปลี่ยน ญี่ปุ่นที่ลงทุนอยู่ในจีนอยากจะออกจากจีนแล้วมาลงทุนในอาเซียน แต่ปัญหาคือญี่ปุ่นมาอาเซียน แต่ไม่ได้มาที่ประเทศไทย แต่ไปประเทศเวียดนาม หลายคนจึงต้องวางแผนการลงทุนใหม่หมด มีผลกระทบมาจากสงครามการค้า ลามมาสู่สงครามการลงทุน และลามมาสู่สงครามเทคโนโลยี สวนทางกับโลกโลกาภิวัตน์ที่ทุกอย่างหมุนตามโลก กลายเป็นโลกาภิวัตน์ที่เป็นเศษเสี้ยว เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องสงครามการค้า ความร่วมมือระหว่างประเทศที่ถูกผลักออกไป

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประเทศต่างๆ กลับมาให้ความสนใจในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร การสาธารณสุข การแพทย์มากขึ้น อย่างประเทศจีน รัฐบาลกลางมอบให้ผู้ว่าฯเมืองให้ผลิตชุดพีพีอีให้ได้ 100 ล้านตัว ผลิตหน้ากากอนามัยให้ได้จำนวนมากๆ เพื่อใช้ต่อสู้กับโรคโควิด-19

เรื่องเศรษฐกิจ เครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศไทย ดับเกือบหมด การลงทุนจากต่างประเทศ การส่งออกก็ดับ เหลือเพียงอย่างเดียวคือการท่องเที่ยวจากเป้าหมายนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน พอเจอสถานการณ์โควิด-19 ก็จบอีกจึงเหลือเพียงเครื่องยนต์ตัวเดียวคือ การใช้จ่ายภาครัฐ ยังค่อนข้างช้า ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศให้ขับเคลื่อนได้ยังไม่ดีพอ เพราะยังเกิดขึ้นแค่ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาของกระทรวงการคลังที่เริ่มกระตุ้นการใช้จ่ายได้ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรื่องเศรษฐกิจไทยในปี 2563

คนฟังอาจจะงงว่าสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 1 ในเรื่องความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ แต่บลูมเบิร์กดูแค่ปัจจัยเรื่องตัวเลขเงินสำรองระหว่างประเทศ ประเทศไทยมีกว่า 1.92 แสนล้านดอลลาร์ มีความมั่นคงมาก เขาดูว่าเงินจะเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์มากแค่ไหน เป็นตัวเลขบวก เพราะฉะนั้น 2 ข้อที่เป็นบวกแต่ทำให้ประเทศเป็นลบ เพราะการที่เงินไหลเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์มากทำให้เงินบาทแข็ง ส่งผลให้การกระตุ้นท่องเที่ยวไม่ขึ้น สินค้าส่งออกยาก ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศสูงขึ้น เพราะไม่มีการนำเข้า ไม่มีการลงทุนกับภาคเอกชน

บางครั้งนำเข้ามาก ส่งออกมาก กลับเป็นเรื่องดีกับระบบเศรษฐกิจประเทศ แต่ปัจจุบันนำเข้าน้อย ส่งออกน้อยทำให้เงินสำรองประเทศมีมาก เงินสำรองของเอกชนก็มีอยู่มาก แต่ไม่ออกมาในระบบเศรษฐกิจ การที่เศรษฐกิจซื้อกิจการกัน ทางเศรษฐศาสตร์ระบุว่าไม่ได้มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะไม่ใช่การลงทุนใหม่ เพราะฉะนั้นตัวเลขที่ดีทางการเงินของไทยกลับเป็นตัวแสดงปัญหาของเศรษฐกิจไทย ปัญหาเศรษฐกิจของไทยจึงเป็นปัญหาของคนจนกับคนชั้นกลาง คนถูดปลดจากงานและจะได้รับผลกระทบช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นไป เพราะเงินเก็บและเงินเยียวยาเริ่มหมด

ถ้าภาครัฐแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ภาคอื่นก็จะไปฉุดภาคการเงินให้มีปัญหาตามมาได้ เพราะคนที่ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เมื่อไม่มีเงินก็จะส่งผลกระทบต่อธนาคารที่จะเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร เหมือนปัญหาเศรษฐกิจเมื่อปี 2540

แม้ตอนนี้หนี้ของประเทศเพิ่มขึ้นไปกว่า 40% ของจีดีพี แต่ยังไม่สูงมาก ปัญหาคือช่วงต่อจากนี้ไปเมื่อใช้เงินเยียวยาไปแล้วจะมีแผนใช้เงินเพื่อฟื้นฟูประเทศอย่างไร เพราะเงินฟื้นฟูต้องใช้มากกว่าเงินเยียวยา การใช้เงินเยียวยาของรัฐบาลบางเรื่องก็ถูก บางเรื่องอาจจะไม่ถูก

เรื่องการเมืองในช่วงปี 2562 ต่อเนื่องถึงปี 2563 เป็นการเมืองที่มีความผันผวน มีความขัดแย้งสูง เป็นการเมืองที่มาจากความปะทุของความไม่พอใจของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ระดับนักเรียนขึ้นไป ที่ไม่พอใจในช่วง 7 ปีของประเทศ เด็กที่มีอายุช่วง 15-22 ปี เป็นช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ แต่ผู้ใหญ่หลายฝ่ายละเลยที่จะฟังเสียงสะท้อนของเด็กและเยาวชนว่าในช่วง 7 ปี ว่าพวกเขาได้เห็นอะไรในประเทศมาบ้าง ทั้งเรื่องกระบวนการยุติธรรม เรื่องสิทธิเสรีภาพ จนเกิดการปะทุขึ้นมา เป็นความเห็นต่างที่ยังไม่มีกลไกในการมาเสวนาหาทางออกร่วมกัน ยังไม่มีกลไกการรับฟังความแตกต่างดังกล่าว ไม่มีกลไกให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าได้รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

ไม่มีการจัดเวทีเสวนาหาทางออกเหมือนกันในต่างประเทศที่มีการศึกษาและจัดเวทีหาทางออกในความขัดแย้ง

ผมคิดว่ารัฐบาลยังมองปัญหาทางการเมืองผ่านเลนส์ของความมั่นคงเดิมๆ ว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง มีการจัดการอย่างไร แต่ยังไม่เข้าใจรากเหง้าของปัญหา ยิ่งในยุคสังคมโซเชียลมีเดีย ยุค 4.0 ที่พูดกันเป็นวาทกรรม มีผลต่อการเมือง มีผลต่อแฟลชม็อบอย่างไร

ซึ่งข้อดีของความผันผวนทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และต่างประเทศ ก็ทำให้คนไทยมีความอดทนต่อสิ่งดังกล่าวได้ดีขึ้น การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนหลายครั้งที่ผ่านมาก็ไม่มีการกระทบกระทั่งจนถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อ เรื่องเศรษฐกิจคนไทยก็มีความอดทนมาก

เรื่องสาธารณสุข คนไทยมีความเป็นเยี่ยม รวมทั้งมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่เข้มแข็ง ส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมของคนไทยด้วยที่เจอกันยกมือไหว้ ไม่ถึงขั้นโอบกอด หอมแก้มกันเหมือนกับต่างประเทศ

⦁เรื่องความปรองดองสมานฉันท์ในปี’63 หากจะเดินหน้าต่อในปี’64 แนวทางควรเป็นอย่างไร

เท่าที่ผมศึกษาจากต่างประเทศมาและเคยเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ผมได้เชิญผู้รู้จากต่างประเทศมาร่วมพูดคุย และในฐานะที่เคยเป็นประธานคณะมนตรีความปรองดองแห่งชาติและเอเชียคิดว่ามีวิธีการหลายวิธี แต่วิธีที่สำคัญที่สุดในการออกจากความขัดแย้งอย่างสันติต้องมีการออกแบบกระบวนการพูดคุย ผมยังเชื่อว่า ไม่ว่าจะทะเลาะหรือขัดแย้งมากเพียงใดในโลกก็ต้องจบด้วยการเจรจา การเสวนา การพูดคุย อยู่ที่ว่าเราจะเลือกจบด้วยวิธีการแบบไหน เพราะฉะนั้นถ้ารู้ว่าความขัดแย้งต้องจบด้วยการพูดคุย ทำไมไม่เริ่มที่การเสวนา การเจรจา ทำไมสภาใช้เวลานานมากกว่าจะมีการพูดคุยในเรื่องนี้

การจะตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาทุกอย่างต้องมีการออกแบบ ยกตัวอย่าง การเจรจาในต่างประเทศ ครั้งนี้จะเจรจากับ นายคิม จอง อิล อดีตประธานาธิบดีเกาหลีเหนือ ตอนนั้นใช้อดีตผู้นำประเทศ 4 คนคือ นายจิมมี คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ นางโกร ฮาร์เล็ม บรันดท์แลนด์ อดีตนายกฯนอร์เวย์ นายมาร์ตติ อาติซารี อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์

นางแมรี โรบินสัน อดีตประธานาธิบดีไอร์แลนด์ ถามว่าที่ต้องใช้ทั้ง 4 คนนี้เพราะทั้ง 4 คนมีความพอดี เป็นคนที่ผู้นำเกาหลีเหนือรับได้

การเจรจาต้องมีการออกแบบ สมมุติจะคุยกับกลุ่มเยาวชนอาจจะต้องเลือกคนที่ฝ่ายรัฐรับได้ ฝ่ายเยาวชนรับได้ อาจจะเป็น นาย ก. นาย ข. นาย ค. หรือใครก็ได้แล้วมาคุยกัน ส่วนคนที่จะไปคุยกับตัวแทนพรรคการเมืองอาจจะเป็นคนอีกกลุ่มคือ นาย ง. นาย จ. ต่างจากคนกลุ่มแรก ไม่ใช่ว่าใครก็ได้จะเป็นคนกลางที่สามารถคุยได้ทุกกลุ่ม

ภาษาทางการทูตต้องหาคนที่มีความพอดี ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสบายใจ ในประเทศไทยมีอยู่แล้วว่าเป็นใครที่กลุ่มเด็กเขารับฟัง การคุยกันต้องมีการออกแบบ คุยทีละฝ่าย แล้วค่อยมาคุยรวมกัน วิธีคุยก็มีรูปแบบคือการเสวนาหาทางออก คือเน้นการคิด ไม่ใช่เน้นการเถียง เข้ามาต้องมาช่วยกันคิด เพื่อดูว่าความแตกต่าง ความแตกแยกมีกี่ข้อ

สมมุติมี 20 ข้อ ต้องมาดูว่ามีข้อไหนที่สามารถร่วมกันได้อาจจะเห็นตรงกัน 2 ข้อ ก็เริ่มทำ 2 ข้อก่อน ส่วนอีก 18 ข้อก็เอาไว้ก่อน รอบหน้ามาคุยกันใหม่

เพราะฉะนั้นกระบวนการหารือ เสวนาหาทางออก เป็นกระบวนการ ไม่ใช่แค่เรียกคนมาคุยกันแล้วกลับบ้าน แล้วสรุปว่าสมานฉันท์แล้วมันไม่ใช่ อย่างภาครัฐเรียกทุกฝ่ายไปคุยกันที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมก็ไม่ได้เกิดความสมานฉันท์แต่อย่างใด

ผมคิดว่าเราต้องศึกษามากกว่านี้ ในโลกมีความแตกแยกมากกว่าประเทศไทย ดูว่าแต่ละแห่งทำอย่างไร แล้วก็นำสิ่งต่างๆ มาออกแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทย ที่เราขาดคือยังไม่มีกลไกที่จะรับฟังซึ่งกันและกัน มีแต่เวทีพูดกันมาก จุดเริ่มต้นต้องมาจากภาครัฐที่ถืออำนาจ ต้องตั้งหลักอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยพูดผ่านการเดินสายไปพบกับสื่อแต่ละองค์กรว่า พร้อมพูดคุยกับเด็กและเยาวชน แต่พอพูดได้วันเดียว วันรุ่งขึ้นก็เปลี่ยนไปตรงกันข้าม ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างจึงดูว่าสายไปหมด

คนอาจมองว่าเมื่อมีการระบาดของโควิด-19 อีกรอบม็อบอาจจะอ่อนแรงไป ผมยังไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงนี้จะใช่หรือไม่ แต่ผมมองว่าความคุกรุ่นความไม่พอใจยังมีอยู่ ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มเยาวชน จริงๆ แล้วสิ่งที่เขาต้องการคือ ให้มีผู้ใหญ่มานั่งฟังพวกเขา เรื่องนี้ผู้ใหญ่ควรต้องเป็นฝ่ายเริ่ม

ส่วนรูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์ ผมมองว่ารูปแบบที่ดูแข็งตัวอาจจะเริ่มต้นยาก พอฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ไม่เข้าร่วม โอกาสที่คณะกรรมการสมานฉันท์จะเริ่มต้นก็เกิดยาก อีกทั้งคนที่เข้ามาก็เป็นเพียงตัวแทนจากด้านต่างๆ ไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจกระบวนการเสวนาหาทางออกเข้ามาร่วมด้วย ไม่ได้ออกแบบว่าจะเลือกคนจากกลุ่มไหนแล้วจะได้รับการยอมรับของคนอีกกลุ่ม เรายังติดรูปแบบเดิมๆ ของการตั้งคณะกรรมการ เหมือนเป็นการมาประชุมกันแล้วพูดกัน แต่ไม่ได้มาช่วยกันคิด การเสวนาหาทางออกจะเน้นการคิด ไม่เน้นการพูดการพูดคุยไม่ใช่ครั้งเดียวจบ อาจจะคุยกัน 5 ครั้งแล้วไม่ได้ข้อสรุปก็ได้ แต่ต้องทำให้เห็นว่าความแตกต่างมีกี่ประเด็น ประเด็นไหนที่เห็นร่วมกันได้ ตอน คอป.ทำเหมือนกับลักษณะนี้ เช่น ไม่ต้องการเห็นความรุนแรง ต้องการเห็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พอทุกฝ่ายเริ่มเห็นประเด็นตรงกันก็เดินหน้ากระบวนการไปต่อ ทั่วโลกก็ดำเนินการเช่นนี้

⦁ปัจจัยที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อสถานการณ์ในปี’64 อย่างไร และควรดำเนินการในแนวทางใดเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อ

เรื่องการต่างประเทศ เมื่อสหรัฐเปลี่ยนประธานาธิบดีเป็นนายโจ ไบเดน ทิศทางการร่วมมือระหว่างประเทศ สถานการณ์ของสงครามการค้าระหว่างประเทศน่าจะมีสัญญาณดีขึ้น ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอย่าง นายแอนโทนีบลิงเคน อยู่ในคณะกรรมการผู้นำแห่งสันติภาพ มีผมและสมาชิกจากประเทศจีน ประเทศอินเดีย อดีตผู้นำจากประเทศต่างๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการประมาณ 30 คน

แอนโทนีเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องพหุภาคีนิยม เรื่องความสัมพันธ์กับยุโรป เรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ แนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวก็น่าจะดีขึ้น คนละแบบกับที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ทำ และคงจะดึงประเทศรัสเซียเข้ามาร่วมมือกับนานาประเทศมากขึ้น ไม่ปล่อยให้รัสเซียต้องไปพึ่งพาจีนอย่างเดียว

คิดว่านายไบเดนและสหรัฐจะให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้นเพื่อคานอำนาจกับประเทศจีน ให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ให้ความสำคัญกับองค์กรของสหประชาชาติ ขณะเดียวกันพรรคเดโมแครตก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องมนุษยชน สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากขึ้น ส่วนสหรัฐจะเอานโยบายในเรื่องดังกล่าวไปผูกกับการค้าและการลงทุนมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อไป

ส่วนจีนมีนโยบายใหม่ที่สำคัญคือ การไหลเวียนแบบคู่ขนาน เป็นแผน 5 ปี คือจีนจะเน้นเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นเศรษฐกิจในประเทศก่อน เน้นเรื่องอาหาร เรื่องสุขภาพ เรื่องเทคโนโลยี นโยบายเศรษฐกิจของจีนเป็นเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐเบาลง แต่เรื่องสงครามทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีนคงยังไม่ลดระดับลงการพยายามแยกเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐยังคงเดินต่อ ประเทศไทยยังสบายใจไม่ได้ เพราะยังมีผลกระทบในเรื่องห่วงโซ่อุปทาน

เรื่องเศรษฐกิจ ผมคิดว่าในปี’64 ต้องมองการฟื้นฟูประเทศ ฟื้นฟูธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวว่าจะทำอย่างไร ประเทศจีนทำโครงการจีนเที่ยวจีน ประสบความสำเร็จในช่วงวันหยุดยาวของจีน มีคนจีนออกมาท่องเที่ยว 600 กว่าล้านคน มีเงินหมุนเวียนในประเทศนับแสนล้านบาท แต่โครงการไทยเที่ยวไทยยังไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ เพราะคนรายได้ปานกลางและคนรายได้ต่ำซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศยังมีรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการท่องเที่ยว อีกทั้งภาครัฐยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ชัดเจนว่าคนแต่ละกลุ่มท่องเที่ยวแบบไหน ใช้เงินเท่าใด ต้องออกแบบแพคเกจการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มรายได้

การเยียวยา โดยเฉพาะเรื่องเอสเอ็มอี ยังไม่มีแผนการเยียวยาที่ชัดเจน การศึกษาของไทยยังล้มเหลว โครงสร้างการศึกษาของไทยยังต่ำกว่าระดับปริญญาตรี คนที่จบการศึกษาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเวลานี้ถือว่าตกขบวนเทคโนโลยีไปแล้ว ได้คุยกับคนประเทศสิงคโปร์ เขาสร้างคนของเขาให้เป็นผู้ใช้เทคโนโลยี เขาสร้างคนให้เป็นนวัตกร สู้ประเทศสหรัฐ ประเทศญี่ปุ่น ยังไม่ได้ เพราะฉะนั้นประเทศสิงคโปร์จึงใช้หลักสูตรระยะสั้นในการสร้างคนให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตแล้วมาใช้เทคโนโลยีได้ การศึกษาของไทยต้องยกเครื่องใหม่ทั้งระบบต้องไปด้วยกัน แต่ขณะนี้เรื่องการศึกษาแบ่งเป็น 2 กระทรวง คือกระทรวงศึกษาธิการ กับกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ซึ่งดูแลโดย 2 พรรค ซึ่งบางหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการศึกษายังอยู่แบบผิดฝาผิดตัวใน 2 กระทรวงที่ดูแลด้านการศึกษา

สิ่งที่น่าห่วง ประเทศไทยจะไม่พังเรื่องนโยบายด้านเศรษฐกิจ แต่จะพังเพราะนโยบายด้านการศึกษา เพราะผลิตบุคลากรมารองรับยุค 4.0 ไม่ทัน

ยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวชี้วัดชัดเจนว่าประเทศไทยต้องรองรับยุค 4.0 ให้ได้ในทันที บริษัทที่ทำอีคอมเมิร์ซเติบโต 400% ขณะที่บริษัททำธุรกิจท่องเที่ยวกลับเจ๊ง ตรงนี้ชัดเจนว่าโลกกำลังไปทางไหน และยังมีความหนักใจในเรื่องของผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังจากโควิด-19 เริ่มระบาดอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยในด้านลบตั้งแต่เดือนธันวาคม 63 จะเริ่มส่งผลมากขึ้นเป็นต้นไปจนถึงปี’64 เทคโนโลยีจะทำให้ความเหลื่อมล้ำของคนนั้นยิ่งสูงขึ้น

เรื่องการเมืองผมคิดว่ายังไม่สายเกินไปที่รัฐบาลจะเปิดใจทำเวทีรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เชิญผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการเสวนาหาทางออกมาคุยกันว่าในประเทศไทยเคยทำกันมาอย่างไร และต่างประเทศทำอย่างไร แล้วมาออกแบบการพูดคุยให้เหมาะสมกับประเทศไทย

สมมุติข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนทั้ง 3 ข้อ ข้อที่ 1 ต้องมาเลือกกันว่าใครเหมาะจะพูดคุยกับกลุ่มไหน ข้อที่ 3 อาจจะยากหน่อยก็เลือกกันมาว่าใครเหมาะจะพูดกับฝ่ายไหนก็มารับฟังกัน ยิ่งเวลานี้การสื่อสารยิ่งห่าง ทั้งเรื่องภาษา ช่องทางการพูดคุย ถ้าการเมืองไม่ทำเรื่องนี้ สุดท้ายการเมืองก็จะไปบั่นทอนเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการศึกษา และจะทำให้ประเทศไทยไม่มีพลังในเรื่องการต่างประเทศ ผมห่วงว่าในปี’64 ถ้ายังไม่มีกระบวนการเสวนาหาทางออกทางการเมือง เกรงว่าสถานการณ์อาจนำไปสู่ความแตกหักได้

⦁ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน ในปี’64 ควรเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าไทยควรดำเนินนโยบายให้เกิดดุลยภาพกับมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐและจีนประเทศไทยต้องสนิทกับทุกประเทศ ซึ่งประเทศไทยดำเนินนโยบายอย่างนั้นมาตลอด ประเทศไทยเป็นสะพานของภูมิภาค ประเทศไหนขัดแย้งกันไทยคุยได้หมด ด้วยความที่ประเทศไทยมีความพอดี ทุกคนจึงอยากให้ไทยเป็นเพื่อน ประเทศไทยก็ต้องใช้จุดแข็งตรงนี้มาขับเคลื่อนนโยบายด้านการต่างประเทศ

บางเรื่องไทยต้องทำกับสหรัฐ บางเรื่องต้องทำกับจีน บางเรื่องก็ต้องดึงประเทศอินเดียให้เข้ามาร่วมด้วย

ประเทศไทยต้องปรับการวางจุดยืนต่อการต่างประเทศให้ได้ บางเรื่องก็ต้องทำในนามอาเซียน เพราะประเทศไทยยังไม่ใหญ่พอ ผมคิดว่าผู้นำอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ต้องพบกันอย่างไม่เป็นทางการมากกว่านี้ อาจผ่านระบบซูมก็ได้ เราถึงจะได้อาเซียนที่เป็นภูมิภาคแห่งความมั่นคงได้ ให้อาเซียนเป็นสะพานของภูมิภาคได้

ผมคิดว่ากระทรวงการต่างประเทศต้องปรับบทบาท วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ต่อประเทศจีนและประเทศอินเดียอีกมาก เท่าที่ผมติดตามคิดว่าไทยตั้งรับมากเกินไป

เราต้องใช้การทูตในเชิงรุกมากขึ้น เช่น ต้องติดต่อกับประเทศจีนเป็นรายมณฑล ที่ผ่านมาไทยติดต่อกับประเทศจีนแค่กรุงปักกิ่ง ซึ่งยังไม่พอ เพราะแต่ละมณฑลของจีนนั้นใหญ่มาก เพราะผู้ว่าฯแต่ละมณฑลนั้นมีอำนาจและมีบทบาทมาก หลายเรื่องเป็นอำนาจของมณฑล ของเมือง ยิ่งเศรษฐกิจของประเทศจีนนับว่าเป็นขนาดใหญ่และมีตัวเลขของการเติบโตเป็นบวก เรื่องเศรษฐกิจไทยจะทิ้งจีนไม่ได้ ต้องเข้าระดับรายมณฑลให้ได้

ส่วนประเทศอินเดีย ไทยต้องเข้าให้ถึงระดับรายรัฐ เพราะมนตรีของรัฐแต่ละแห่งของอินเดียนั้นมีอำนาจมาก เพราะฉะนั้นในอนาคตเรื่องการลงทุน การค้า การท่องเที่ยวเทคโนโลยี จะประมาทอินเดียไม่ได้ เพราะอย่างไรประเทศอินเดียก็มีประชากรถึง 1,100 ล้านคน เป็นประเทศที่สหรัฐจับมืออยู่เพื่อให้คานอำนาจกับประเทศจีน การที่ไทยเข้าถึงอินเดียก็จะเข้าถึงจีนและสหรัฐไปด้วย

การต่างประเทศต้องเป็นเรื่องของทุกกระทรวง ไม่ใช่แค่กระทรวงการต่างประเทศอย่างเดียว ต้องประสานทุกกระทรวงให้ได้ บางเรื่องเราก็ใช้เรื่องพลังงานนำ บางเรื่องก็ใช้เอสเอ็มอีนำ บางเรื่องก็ใช้การสาธารณสุขนำ ยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ก็ต้องใช้เรื่องการอาหารและการสาธารณสุขนำ เพราะประเทศไทยยังมีความมั่นคงใน 2 เรื่อง สามารถสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศที่ยังไม่มีจุดแข็งในเรื่องนี้ให้ได้

ผมคิดว่าเราต้องคิดและเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ ต้องเป็นโครงการที่โลกให้ความสนใจด้วย อย่างการขุดคลองไทย จะทำตรงไหน อย่างไร ก็ไปศึกษากันมาให้ครอบคลุมทุกด้าน ถ้าตอบคำถามในทุกด้านได้ก็เดินหน้าต่อ จะเกิดการลงทุนมหาศาลและส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้

ถ้าจะให้มองภาพรวมทั้งหมด ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ต่างประเทศ และการเมือง ผมมีความกังวลเรื่องดังกล่าวในปี’64 มากกว่าปีที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image