เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา กางแผนรับมือคดีพิษโควิด

เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา กางแผนรับมือคดีพิษโควิด

เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา กางแผนรับมือคดีพิษโควิด

นักเศรษฐศาสตร์ต่างฟันธงไปในทางเดียวกันว่า สภาพเศรษฐกิจปี 2564 หรือปีฉลู ย่ำแย่ต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเป็นปี “วัวป่วย” สืบเนื่องจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ซ้ำเติมปัญหาเดิมเศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่แล้วจากรอบแรก ทั้งคนว่างงาน ข้าวของราคาแพงแต่คนมีรายได้ต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงความขัดเเย้งทางการเมืองหลายด้าน

ปัจจัยที่ว่ามานี้ จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่มาถึงอรรถคดีที่จะเข้ามาในศาลยุติธรรมจำนวนมาก ดูเหมือนศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม ตระหนักถึงการรับมือปัญหานี้ดี

เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาหญิงคนแรกของประเทศ ได้เล่าถึงภารกิจในการรับมือคดีที่เกิดจากมรสุมเศรษฐกิจไว้อย่างน่าสนใจว่า ศาลมีโครงการศาลยุติธรรมห่วงใยฝ่าภัยโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-30 กันยายน 2563 เพราะมีคนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวนมาก โดยเฉพาะนายจ้าง ลูกจ้าง และคนที่มีหนี้สินไม่สามารถชำระได้ ขณะนั้นมีการลดค่าใช้จ่ายคู่ความ ลดค่าส่งหมาย ค่านำหมายด้วย

Advertisement

ที่สำคัญ และยังทำต่อเนื่องมาจนขณะนี้คือ การไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทออนไลน์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งสามารถทำผ่านมือถือ หรือสะดวกจะมาศาลก็ยินดีต้อนรับ

ส่วนในปัจจุบันมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนของการไกล่เกลี่ย เรียกง่ายๆ ว่า “ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง” ซึ่งเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้จากที่ได้ไปตรวจราชการที่ศาลจังหวัดราชบุรี พบว่ามีประชาชนมีข้อพิพาทกันมา ได้ขอเข้ามาไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง และตกลงกันได้ ขั้นตอนนี้จะไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ ศาลจะไกล่เกลี่ยโดยใช้ผู้พิพากษา หรือผู้ประนีประนอมของศาล ทำให้สามารถลดข้อพิพาท เเละลดคดีขึ้นสู่ศาลได้ บางคนไม่อยากมีคดีความ ไม่อยากถูกฟ้องเป็นจำเลย เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายไปจ้างทนายความต่อสู้คดี เเละต้องไปขึ้นศาลให้การหลายครั้ง

แต่หากมาใช้วิธีการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องก็มีโอกาสมานั่งคุยกัน หากคุยกันจบได้ก็ไม่มีคดี คดีที่จะตกลงกันได้ทั้งนั้น เช่น มีหนี้สินแล้วไม่ยอมชดใช้เสียที เจ้าหนี้ก็อยากได้เงินคืนจะผ่อนชำระก็ได้ แต่ไม่แน่ใจว่าลูกหนี้จะชำระให้จริงไหม ก็ให้พากันมาที่ศาลดีกว่า เพราะศาลจะทำสัญญาตามข้อตกลงให้ว่าจะต้องผ่อนชำระกันอย่างไร เท่าไหร่ นานแค่ไหน ซึ่งช่วยได้มาก โดยเฉพาะช่วงที่มีคนตกงานจำนวนมากถือเป็นจังหวะพอดี ซึ่งหลายๆ ศาลได้ดำเนินการแล้ว ได้ผลดี

ประธานศาลฎีกาขยายให้ฟังอีกว่า การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามวิแพ่งที่แก้ไขใหม่เริ่มเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในอนาคตถ้ามีคนมาใช้บริการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องมากขึ้น ต่อไปจะจัดผู้พิพากษาให้บริการด้านนี้เป็นการเฉพาะตามวันเวลาที่คู่ความสะดวก เป็นการช่วยผู้ที่ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ

“นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ยังพบปัญหาด้านแรงงานที่มีการเลิกจ้างจำนวนมาก ตรงนี้อาจมีความไม่เข้าใจระหว่างนายจ้างลูกจ้างได้ เพราะว่าลูกจ้างจะอยู่ได้ นายจ้างต้องอยู่ได้ก่อน ฉะนั้นหลักคดีแรงงานต้องให้ทั้งสองฝ่ายไกล่เกลี่ยกันก่อน เมื่อต่างฝ่ายต่างยอมรับเงื่อนไขเพื่อให้ทำงานอยู่ได้ นายจ้างไม่ต้องเลิกกิจการ ตรงนี้ถือเป็นบทบาทของผู้พิพากษาในศาลแรงงาน ซึ่งมีศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานภาค 1-9 ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจะสามารถให้บริการตรงนี้ด้วย”

นอกจากนี้ ประธานเมทินียังได้บอกถึงการที่จะให้ประชาชนถึงกระบวนการยุติธรรม โดยพยายามจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้วยว่า ได้มอบนโยบายให้ศาลแต่ละแห่งไปดูว่า มีกระบวนการทำงานอะไรที่ซ้ำซ้อน หรือมีอะไรที่สามารถลดลงไปได้ เช่น การซ้ำซ้อนในระบบธุรการของศาลที่จะส่งผลทำให้คู่ความต้องมาศาลหลายๆ ครั้ง

หลักการคือ ให้คู่ความมาศาลให้น้อยที่สุด และทุกครั้งที่มาให้ใช้เวลาอยู่ที่ศาลน้อยที่สุด แต่ต้องได้ผลเต็มตามที่เขาต้องการ ซึ่งผู้พิพากษาจะได้กำหนดรูปแบบการทำงานของท่าน เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางนี้

ประธานศาลฎีกาหญิงคนเเรกยังได้ตอบคำถามถึงการรับมือคดีที่จะเข้าศาลจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า เชื่อว่าการโควิด-19 ระบาดรอบใหม่นี้ศาลสามารถรับมือได้ จะไม่กระทบต่อคดีที่ศาลได้นัดไว้แล้ว เพราะมีประสบการณ์จากปีที่แล้ว ซึ่งมีคดีจำนวน 160,000 กว่าคดีที่ได้เลื่อนไปในช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาด แต่ตอนนี้ได้ดำเนินการคืนกลับมาทั้งหมดแล้ว ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ภายใต้การออกแบบกระบวนการทำงานที่เหมาะสมของแต่ละศาล ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา

ซึ่งในส่วนคดีอาญาเอง ศาลได้รับความร่วมมือจากกรมราชทัณฑ์ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ในการสืบพยาน ผัดฟ้อง ฝากขัง โดยผู้ต้องหาไม่ได้เสียสิทธิใดๆ เลย

“ต้องยอมรับว่าผู้พิพากษากับกรมราชทัณฑ์ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะการสืบพยานทางจอภาพต้องใช้เวลามาก แต่ผู้พิพากษาก็ยินดีทำ เพื่อให้คดีไม่ล่าช้าออกไป เพราะโรคระบาด จึงเชื่อว่าการเกิดแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ เราตั้งรับได้ เรามีประสบการณ์ที่จะรับมือได้อย่างไม่กระทบกระเทือน และดูแลไม่ให้ในศาลเป็นพื้นที่แพร่ระบาดของโรค เพราะแต่ละวันจะมีคนมาติดต่อศาลจำนวนมาก ที่ผ่านมาที่มีการเเพร่ระบาด เรารอดหมดทุกศาล นั่นเพราะเรามีมาตรการเข้มข้นในการคัดกรอง และทุกคนให้ความร่วมมืออย่างดี ในครั้งนี้ที่มีการระบาดอีกเราจะต้องทำให้ดีกว่าเก่า” ประมุขตุลาการกล่าวด้วยเสียงหนักแน่น

ประธานเมทินีระบุว่า ในปี 2564 ศาลได้เตรียมรองรับปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นปัญหาที่รุนแรง แล้วนำมาสู่ปัญหาสังคม การกระทำความผิดน่าจะเกิดมากขึ้น ตอนนี้ทางศาลเยาวชนและครอบครัวเองก็ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว เพราะสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็งจะทำให้เด็กที่เติบโตมาอยู่ในกรอบ ไม่ออกนอกทางมากมายนักสามารถอยู่กับครอบครัวได้อย่างอบอุ่น ปัจจุบันนี้จะเห็นว่าครอบครัวคนไทยไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูก สังคมไทยมีการหย่าร้างกันมากขึ้น เด็กอาจอยู่กับปู่ย่าตายาย แต่ตรงนี้ก็คือครอบครัว เมื่อเป็นครอบครัวแล้วเด็กหรือเยาวชนที่โตขึ้นต้องถูกหล่อหลอมจากครอบครัวลักษณะนั้น ถ้าครอบครัวไม่เข้มแข็ง เด็กจะไปอยู่กับเพื่อนกับกลุ่มคนอื่น ที่อาจชักนำไปในทางที่ไม่ดีที่จะนำไปสู่การกระทำผิดอาญา หรือนำไปสู่ความคิดที่แปลกแยกกับสังคมมากๆ ในที่สุดเด็กไม่สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ พอเรียนหนังสือจบอาจไม่สามารถทำงาน หรืออยู่ร่วมกับผู้อื่นได้

ตรงนี้คือปัญหา คนที่ไม่มีงานทำ ทางออกของคนเหล่านี้คือ ทำเรื่องที่ผิดกฎหมายเพื่อจะได้มีรายได้ให้มีชีวิตอยู่ได้ ตอนนี้เรามีศาลเยาวชนอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งต้องทำหน้าที่เป็นเบ้าหลอมเบื้องต้นศาลจังหวัด ศาลแขวง ที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีผู้ใหญ่รับช่วงต่อ ต้องดูแลคนที่กระทำความผิดไม่ให้กลับมากระทำความผิดซ้ำ ด้วยการให้โอกาส

ได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการใช้โทษอาญาไปเพื่อที่จะเป็นแนวทางให้ผู้พิพากษาเห็นว่า โทษอาญามีหลายอย่าง การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไม่อาจอาศัยแต่โทษที่รุนแรงอย่างเดียว โทษที่จะลงต้องได้สัดส่วนกับพฤติการณ์การกระทำความผิด ต้องพิจารณามูลเหตุการกระทำความผิดของจำเลยแต่ละคน เพื่อพิจารณาถึงโอกาสที่เขาจะได้รับการฟื้นฟู เยียวยา กลับมาเป็นคนดีคืนสู่สังคมได้ ปัจจุบันนี้คนกระทำความผิดอายุน้อยมากขึ้น อายุ 20 ปีเศษ ถ้าไม่ให้โอกาสเราจะสูญเสียเขาไปเลย และถ้าเขาไปแล้วจะเตลิดไปหนักยิ่งขึ้น

แนวทางใช้โทษทางอาญานี้จะแนะนำผู้พิพากษาว่า ควรหาข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้าน ดูความเป็นมาของผู้กระทำผิดว่า มีสาเหตุอย่างไร มีภูมิหลังอย่างไร คิดถึงอนาคตที่ยังเหลือของผู้กระทำผิดอีกประมาณ 50 ปี ว่าจะทำให้สามารถแก้ไขตัวเองได้หรือไม่ ถ้าสามารถแก้ไขตัวเองได้ เราอย่าเสียคนๆ หนึ่งไปเพียงเพราะการกระทำผิดพลาดในวัยที่มีความล่อแหลม วุฒิภาวะไม่เพียงพอ ตรงนี้เราสามารถเอาเขากลับมาได้หรือไม่ เเต่ในขณะเดียวกันการเอากลับมาต้องมีมาตรการดูแล สร้างเงื่อนไข วิธีการดูแล การคุมประพฤติ มีการรอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษเพื่อให้หลาบจำไม่กระทำความผิดซ้ำ

แนวทางการใช้โทษอาญาที่ได้ออกคำเเนะนำไปนี้อาจเปลี่ยนวิธีคิดของผู้พิพากษาได้บางส่วน จากที่เคยมีคำครหาอยู่ว่าติดยึดอยู่กับแนวทางเดิมๆ หรือบัญชีอัตราโทษที่เราเรียกกันว่า “ยี่ต๊อก” แต่แนวทางการใช้โทษอาญานี้จะบอกว่าบัญชีอัตราโทษเป็นเพียงข้อแนะนำ ถ้ามีเหตุผลพิเศษที่แตกต่างไปจากนั้น ผู้พิพากษาสามารถทำได้ ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง เช่น ต้องมีเหตุผลประกอบ มีการสืบเสาะ มีข้อมูล ปรึกษาหัวหน้าศาล หรืออธิบดีฯศาลนั้น อันจะนำมาสู่ความคิดเห็นที่ตรงกัน แล้วออกมาเป็นผลของคำพิพากษา เรามีระบบองค์คณะให้หารือกัน เพราะความคิดเห็นเพียงของคนใดคนหนึ่ง อาจไม่ครอบคลุมทุกมิติ

“เรื่องนี้เมื่อมีการประกาศออกไปมีผู้พิพากษาบางท่านบอกมาว่าเป็นการปลดเปลื้องพันธนาการที่ยึดติดมานาน ทำให้ผู้พิพากษาได้ใช้ดุลพินิจที่กว้างขึ้น มองโลกมองสังคมอย่างคนที่เข้าใจจริงๆ แล้วเป็นการมองแบบให้โอกาส แต่ขณะเดียวกันกรณีที่จำเลยกระทำผิดหลายครั้ง ความผิดร้ายแรง หรือเป็นฆาตกรต่อเนื่อง เช่นนี้โอกาสที่ให้เขาไปก็อาจไม่เกิดประโยชน์อะไร ก็ต้องใช้โทษจำคุกไปเพื่อความปลอดภัยของสังคม ทั้งที่โทษจำคุกเป็นมาตรการที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลมาก” ประธานศาลฎีกากล่าว และว่า เเต่หากไม่ใช่กรณีเเบบนี้ก็มีโทษอย่างอื่นอีก เช่น โทษปรับ โทษกักขังแทนค่าปรับ หรือแนวทางที่เคยใช้ก่อนหน้านี้คือ การรอการกำหนดโทษ ซึ่งอยากให้ผู้พิพากษาใช้กันให้มาก เพราะทำให้คนไม่มีมลทิน อย่างคนอายุ 20 กว่า ทำความผิดแล้วมีหมายแดงมาตลอด ไปเรียนหนังสือก็ลำบาก ไปรับราชการก็ไม่ได้ มีชีวิตค่อนข้างลำบากกว่าคนอื่น

เมื่อลองคิดถึงผลกระทบเหล่านี้ ผู้พิพากษาก็เข้าใจสิ่งที่พยายามชี้เป็นเเนวทางไป ซึ่งผู้พิพากษาอยากที่จะทำอยู่แล้ว เราเปิดกว้างให้ท่านได้ใช้ดุลพินิจ เราบอกเลยว่า ดุลพินิจผู้พิพากษาไม่มีอะไรกีดขวาง แต่ต้องทำอย่างสุจริตใจ ไม่มีใครมาขอ และมีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ ปรึกษากับองค์คณะ หรือผู้บริหารศาลว่าใช้แนวทางนี้จะเป็นแนวทางที่เหมาะสมหรือไม่ หวังว่าเมื่อออกคำเเนะนำไปจะมีการใช้โทษที่หลากหลายมากขึ้น และเหมาะสมกับจำเลยแต่ละคนอย่างแท้จริง

ตอนท้ายประธานศาลฎีกาขมวดปมอีกครั้งว่า “แนวโน้มปีหน้าเชื่อว่าคดีจะมากขึ้น ทั้งคดีแพ่ง และอาญา เพราะจากสภาวะเศรษฐกิจ สังคม ที่เห็นกัน เริ่มจากคนไม่มีงานทำ มีรายได้น้อย อึดอัดก็จะหันไปหาสิ่งที่ตัวเองต้องการ บางครั้งมีการวางของล่อตาล่อใจ หยิบก่อน พอได้ผลไม่มีใครจับได้ก็ทำมากขึ้น เป็นไปตามหลักคิดของการกระทำผิด ที่เป็นทฤษฎี ครั้งแรกที่ทำอาจเป็นความจำเป็นเป็นโอกาส พอทำได้จิตใจเหิมเกริมแล้วทำหนักขึ้นเรื่อยๆ จนยอมปล้นฆ่าก็ได้ เวลาคนทำความผิดจะไม่คิดตอนที่ตัวเองถูกจับได้ ทุกคนที่ทำล้วนคิดว่าตัวเองจะรอดหมด เพราะฉะนั้นจะไปกำหนดโทษหนักๆ ก็อาจไม่ได้ผล เพราะทุกคนคิดว่าตัวเองจะรอด จะไม่เข็ดหลาบ ไม่กลัว สิ่งเหล่านี้จะเป็นผลกระทบซึ่งกันและกันทำให้เกิดคดีความมากขึ้น เชื่อว่าคดีลักเล็กขโมยน้อยมาเยอะแน่นอน สังคมทุกวันนี้ปากกัดตีนถีบทุกคนออกจากบ้านไปทำมาหากินหมด บ้านปิดใส่กุญแจแทบทุกบ้าน พอปิดไว้มีความล่อแหลมที่จะมีคนมากระทำความผิดได้”

ปิดท้ายภารกิจต้องขับเคลื่อนเดินหน้าว่า ฉะนั้นสิ่งที่ศาลทำตอนนี้คือเตรียมพร้อมตั้งรับการพิจารณาคดีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจะจัดให้มีช่องทางพิจารณาคดีที่รวดเร็ว คดีที่ต้องการความเร่งด่วน เช่น คดีครึกโครม คดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ต้องทำเร็ว ไม่ใช่ต่อแถวคดีสุดท้าย ถ้าไปทำอย่างนั้นก็เลือนไปจากความทรงจำประชาชน และของสังคมไป ถ้าศาลมีช่องทางพิจารณาคดีได้เร็ว คนจะเห็นว่าการกระทำแบบนี้ได้รับผลแบบนี้

นอกจากนี้ จะเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของศาลในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น จะมีโครงการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวออนไลน์ยื่นได้ 24 ชั่วโมง สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ประชาชนไม่ต้องเดินทางมาศาลด้วยตนเอง รวมถึงการยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย เหยื่ออาชญากรรม และพยาน โดยมีแนวทางว่า “คุ้มครองสิทธิจำเลยและผู้ต้องหา เยียวยาผู้เสียหายและเหยื่อ เอื้อเฟื้อดูแลพยาน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image