“มาทาดอร์อ่อนล้า เจอกระทิงดุ” สุรชาติ วิเคราะห์ ระเบิดเวลา12ลูก การเมืองไทย’64

 

สุรชาติ บำรุงสุข การเมืองไทย ปัญหาและทางออกในปี 2564

หมายเหตุดร.สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการที่สนใจด้านการเมือง ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วิเคราะห์ปัญหาการเมืองไทยในปี 2564 และทางออกจากวิกฤต 

… การเมืองไทยในปี 64 ต้องเรียกตามปีนักษัตร การเมืองไทยในปี 64 ไม่ใช่ปีวัวธรรมดา ไม่ใช่วัวที่เชื่องๆ แต่คงเป็นวัวดุ อยากเริ่มด้วยข้อสังเกตว่าการเมืองปี 2564 เป็นเหมือนวัวกระทิงดุ เพราะว่า เราจะเห็นสถานการณ์ต่างๆที่ดูจากปี 2563 เป็นต้นมาแล้ว  เป็นสถานการณ์ที่ไม่จบในปี 2563 ยังเป็นโจทย์ใหญ่ในปี 2564 จนอยากจะพูดว่าปี 2564 เหมือนเรานั่งอยู่บนระเบิดเวลา 12 ลูกในทางการเมือง

ระเบิดเวลาลูกที่ 1 วิกฤตโรคระบาด หลายฝ่ายกังวลต่อเนื่องว่า การระบาดระลอก 2 จะเกิดขึ้นในสังคมไทยหรือไม่ เนื่องจากดูการระบาดในเวทีโลก และระดับภูมิภาคแล้ว จะเห็นชัดว่าโอกาสที่ประเทศไทยจะเผชิญกับการระบาดระลอก 2 มีความเป็นไปได้มาก จึงกังวลว่าจะมีขอบเขตขนาดไหน จะมีความรุนแรงเหมือนต้นปี 63 หรือไม่ เพราะเชื้อคนละตัว การติดเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เรื่องนี้ต้องไม่โทษพี่น้องที่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องนี้รัฐบาลต้องตั้งหลักคิดมากขึ้น ในมุมหนึ่งการระบาดในหลายประเทศที่มีลักษณะใหญ่มากๆ มีผู้เสียชีวิตเยอะ นี่คือระเบิดเวลาที่เรียกว่าระเบิดเวลา covid

Advertisement

ระเบิดเวลาลูกที่ 2 เราเห็นผลพวงจาก covid ในปี 2563 ชัดเจน คือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คำถามที่เราชอบถามกันมากก็คือปี 2563 เผาจริงหรือไม่ ผมคิดว่าของจริงเราเผาจริงตั้งแต่ปี 2562 เป็นแต่เพียงในลักษณะการเผาจริงแบบไทยมันยาว เป็นการเผาจริงแบบกินเวลา 62-63 หรือจนกระทั่งถึง 64 ก็คือการเผาจริง แม้หลายฝ่ายอาจประเมินว่าตัวเลขปี 64 จะขยับขึ้นได้ ผมเชื่อว่าปี 64 เราจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง ฉะนั้นผลพวงที่เราต้องคิดก็คือโอกาสของหลายอุตสาหกรรมเช่นท่องเที่ยว ปี 2564 คงไม่สดใส ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่ปิดตัวลงหลายอย่าง สิ่งที่จะเห็นต่อในปี 2564 อาจจะเห็นการปิดตัวของหลายโรงงานมากขึ้น นั่นหมายความว่าธุรกิจในหลายๆ ส่วนรวมไปถึงธุรกิจระดับล่างคงจะเจอผลกระทบจากวิกฤตโควิดชุดนี้ อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจในปี 64 ไม่สดใสอย่างที่หลายฝ่ายคาด

 

ระเบิดเวลาลูกที่ 3 คือวิกฤตของคนตกงาน อันนี้ต้องยอมรับว่าเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก เนื่องจากการถดถอยของเศรษฐกิจทุกประเทศได้ก่อให้เกิดภาวะที่ชัดเจน คือการตกงานของคนและเป็นการตกงานอย่างฉับพลัน โอกาสที่จะเกิดสหภาพแรงงานคงไม่ง่าย ภาวะอย่างนี้ทำให้เห็นชัดว่าภาวะของคนตกงานอาจเป็นการตกงานอย่างถาวร ฉะนั้นสิ่งที่เป็นความกังวลใหญ่ก็คือรัฐในอนาคตจะแบกรับภาระคนตกงานอย่างนี้อย่างไร วิกฤตชุดนี้เป็นวิกฤตระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับชาติของในหลายประเทศ ผมคิดว่าประเทศไทยอาจจะไม่ใช่ข้อยกเว้น ยิ่งดูจากในระดับเวทีโลก จะเห็นว่าโจทย์ชุดนี้เป็นเงื่อนไขความกังวลของสหประชาชาติ เขาประเมินว่าคนตกงานจาก covid อาจจะเป็นหลักหลายร้อยล้านคน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเมืองไทยก็คือเราจะบริหารภาวะการว่างงาน การตกงานอย่างถาวรได้อย่างไร

Advertisement

ระเบิดเวลาลูกที่ 4 นอกจากตกงาน ยังมีสภาวะการขยายตัวของคนจนที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในหลายประเทศเผชิญกับภาวะการขยายตัวของคนจนอย่างรวดเร็วไม่ได้แตกต่างกัน สิ่งที่จะเห็นในไทยผมคิดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยไม่เพียงแต่จะทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก แต่ยังทำให้ชีวิตของประชาชนคนไทยส่วนหนึ่งตกอยู่ในภาวะคนจน และอาจจะเป็นคนจนอย่างถาวรในความหมายคือในช่วงระยะเวลาข้างหน้า มองไม่เห็นว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจะช่วยให้พี่น้องระดับล่างหรือคนจากระดับล่างลงมาได้อย่างไร รวมถึงจะมีผลกระทบต่อชนชั้นกลางด้วย ฉะนั้นวิกฤตคนจนจะเป็นระเบิดอีกลูกหนึ่งที่สำคัญ สภาวะอย่างนี้ ในหลายประเทศจะเห็นข้อเรียกร้องทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏชัดคือข้อเรียกร้องรัฐสวัสดิการ ผมคิดว่าข้อเรียกร้องแบบนี้อาจจะเป็นอีกแนวโน้มหนึ่งในการเรียกร้องปี 2564 แต่ถ้ามองในการเมืองโลก มีข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ แนวโน้มที่คนหนุ่มสาวบางส่วน เริ่มหันไปหาแนวคิดสังคมนิยม แต่ต้องย้ำว่าไม่ใช่ลัทธิสังคมนิยมแบบลัทธิมาร์กซ์

 

ระเบิดเวลาลูกที่ 5 เป็นวิกฤตการเมือง ผมคิดว่าวิกฤตการเมืองเป็นส่วนหนึ่งจากผลพวงการประท้วง แม้ภาครัฐจะประเมินการประท้วงอ่อนแรงลงในปลายปี 2563 แต่ผมคิดว่าความชัดเจนก็คือคำว่าอ่อนแรงไม่ได้หมายความว่าการประท้วงจะยุติไปพร้อมกับการสิ้นสุดของปี 2563 ผมคิดว่าการประท้วงอาจจะขับเคลื่อนไม่ได้ในภาวะที่เกิดโรคระบาด หรือเกิดปัญหาโควิด แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่เราเห็นจากปี 2563 ก็คือ เมื่อ covid ลดลง การประท้วงก็กลับขึ้นมาใหม่ ผมเชื่อว่าการประท้วงของสังคมไทยในอนาคตมีโอกาสที่จะฟื้นขึ้น และในขณะเดียวกันการประท้วงในอนาคตอาจจะไม่ใช่เรื่องของคนรุ่นใหม่หรือเป็นการประท้วงของนิสิตนักเรียนนักศึกษาเท่านั้น ในอนาคตผมคิดว่า 3 ประสานของการประท้วงใหญ่ จะเป็นเรื่องของ คนเรียน คนงาน และคนจน เมื่อไหร่ที่คนเรียนคนงานและคนจนเข้าร่วมการประท้วง การประท้วงจะขยายตัวเป็นการเมืองขนาดใหญ่แน่นอน อันนี้น่าจับตาดูว่าการเมืองไทยปี 2564 จะเกิดภาวะสามประสานนี้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด วิกฤตการเมืองในปี 2564 นอกจากจะเห็นกระบวนการตรวจสอบรัฐบาลทางกลไกสภา ผมเชื่อว่าการเมืองไทยในระบอบรัฐสภาปี 2564 จะยังมีแรงกดดันที่รัฐบาลต้องเผชิญจากการเปิดอภิปรายของฝ่ายค้านไม่ได้ รวมถึงการเปิดเรื่องราวความไม่ชอบมาพากลของฝ่ายรัฐ ฉะนั้นวิกฤตการเมืองรอบนี้ไม่ได้มีแต่เรื่องประท้วง แต่ยังเห็นการตรวจสอบภาครัฐโดยกระบวนการรัฐสภา และอาจจะรวมถึงเอกภาพของฝั่งรัฐบาลเอง เป็นโจทย์สำคัญอีกชุดที่น่าจับตา

 

ระเบิดเวลาลูกที่ 6 วิกฤตทหาร ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายจับตามอง ในปี 64 บทบาทของกองทัพกับการเมืองจะมีมากน้อยเพียงใด ผมคิดว่าดูจากการโยกย้ายทหาร แม้ว่าผู้นำทหารยุคปัจจุบันจะเพิ่งเข้ารับตำแหน่งหลังการโยกย้ายในปี 2563 แสดงท่าทีให้เห็นชัดว่ากองทัพพยายามไม่ยุ่งกับการเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเราเห็นชัดว่า กองทัพไม่สามารถแยกตัวเองออกจากการเมืองได้ ยังเป็นบทบาทที่กองทัพอยู่ในการเมือง และอยู่ในระดับที่เข้มข้นพอสมควร  ความเข้มข้นนี้เห็นได้จากปฏิบัติการจิตวิทยา หรือที่เราเรียกว่าปฏิบัติการไอโอ เราเห็นความพยายามของกองทัพ ในการสร้างกระแสหรือชุดความคิดทางการเมือง ในอีกมุมหนึ่งเรายังเห็นบทบาทขององค์กรความมั่นคงอย่าง กอ.รมน. ซึ่งมีกฎหมายรองรับ  หรือวิกฤตทหารส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ยังเป็นเรื่องปัญหาภายในกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ของการจัดซื้อ ผลประโยชน์ภายในกองทัพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจต่างๆก็ยังคงเป็นประเด็น ว่าในปี 64 ผลประโยชน์ของกองทัพจะปะทุขึ้นมาเป็นปัญหาขึ้นอีกหรือไม่ หรือที่ผมเรียกสิ่งนี้ว่า “ลัทธิเสนาพาณิชย์นิยม” ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ในกองทัพไทยไม่เคยจบ วิกฤตทหารยังเป็นระเบิดเวลาอีกลูกหนึ่งน่าจับตาดูว่าในปี 64 กองทัพจะยังแสดงท่าทีเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งว่าที่จริงแล้วรัฐบาลปัจจุบันก็เป็นที่รับรู้กันว่า เป็นรัฐบาลที่สืบทอดมาจากการรัฐประหาร หรือที่ผมเรียกเสมอว่ารัฐบาลกึ่งอำนาจนิยม เพราะยังคงนโยบายทหารและนโยบายต่างๆ ไว้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลที่ขึ้นสู่อำนาจในปี 2557 คำถามคือผู้นำกองทัพจะยังแสดงบทบาทเป็นฐานรองรับอำนาจของรัฐบาลกึ่งอำนาจนิยม หรือรัฐบาลทหารที่มาจากการเลือกตั้ง ได้อย่างไร

ระเบิดเวลาลูกที่ 7 เป็นวิกฤตความเชื่อในสังคมไทย ระเบิดลูกนี้คือสงครามความคิดในสังคมไทย เป็นประเด็นที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน ที่เราเห็นชัดในปี 2563 ที่ผ่านมา สงครามความคิดเป็นการต่อสู้ระหว่างแนวคิดเสรีนิยม กับจารีตนิยม หรืออาจจะพูดได้ว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายหนึ่งคือเสรีนิยม กับฝ่ายหนึ่งเป็นการผนวกกันของอนุรักษนิยมกับจารีตนิยม ซึ่งคงต้องยอมรับว่ากระแสการเมืองไทยในปีกอนุรักษนิยมนั้น มีความเข้มข้น และมีทิศทางไปในความเป็นจารีตนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจจะต้องกล่าวว่า ในช่วงหลังกลุ่มอนุรักษนิยมไทย มีลักษณะที่จะเป็นจารีตมากกว่าเป็นอนุรักษ์ ฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นสงครามความคิดจากปี 2563 ผมคิดว่าสงครามความคิดชุดนี้จะไม่ไปไหนในปี 2564 และจะยังเป็นระเบิดเวลาลูกสำคัญในสังคมไทย ในขณะเดียวกันสงครามความคิดจะเป็นโจทย์ใหญ่ในการเมืองไทย เพราะจะเป็นการแบ่งขั้วอีกครั้งหนึ่งของสังคมไทย ผมคิดว่าสิ่งที่เราเห็นการแบ่งขั้วที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยในปี 2563 มันไม่ต่างกับอาการที่เกิดขึ้นในปี 2518 ถึง 2519 การเมืองในปี 64 เราจะเห็นสภาวะสงครามความคิด แบ่งฝักแบ่งฝ่ายในการเมืองไทย แล้วเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ทั้งหมดนี้ในบริบทของสงครามความคิด ที่ต่างฝ่ายต่างมองอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วในกระแสระหว่างเสรีนิยมกับจารีตนิยม ในปี 64 จะมีความเข้มข้นมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็อาจต้องยอมรับว่า ในความเข้มข้นครั้งนี้อาจจะทำให้สังคมไทยมีลักษณะของการแบ่งฝักฝ่ายมากขึ้นด้วยในปี 64

ระเบิดเวลาลูกที่ 8 เป็นระเบิดรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าปี 64 น่าจะยังเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเสียงเรียกร้องที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากคนรุ่นใหม่ แล้วมาจากหลายฝ่ายในสังคมไทย เป็นที่น่าเสียดายว่ามันไม่มีความชัดเจนในกระบวนการรัฐสภาในปี 2563 แต่ผมคิดว่าปี 64 โจทย์แก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นโจทย์สำคัญ ไม่ว่า covid จะระบาดหรือไม่ระบาด ปัญหาคือโจทย์ชุดนี้เป็นที่รับทราบกันว่ารัฐธรรมนูญถูกออกแบบไม่ให้แก้ไข เมื่อมันถูกออกแบบเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นมันมีหลายประเด็นหลายปัญหาที่ไม่เคยถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไทย เช่นการอนุญาตให้ ส.ว.ออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นต้น ฉะนั้นในสภาวะแบบนี้ผมคิดว่าเสียงเรียกร้องจากสังคม คงอยากเห็นรัฐธรรมนูญไทยมีลักษณะที่เป็นสากลมากขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่จะเป็นประเด็นในปี 2564 ก็คือ เสียงเรียกร้องเหล่านี้จะมีมากขึ้นแน่นอน สิ่งที่น่าสนใจในปี 64 ก็คือ กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญจะสามารถขับเคลื่อนได้มากน้อยเพียงใด

ระเบิดเวลาลูกที่ 9 คือ วิกฤตจากต่างประเทศ หากย้อนกลับไปดูข่าวต่างประเทศในยุครัฐบาลทหารของ
เมียนมายึดอำนาจ แล้วปิดตัวเอง มีข้อแก้ตัวที่จะไม่รับกระแสแรงกดดันที่เป็นเสรีนิยม หรือประชาธิปไตยจากภายนอก เสียงตอบในวันนั้น ไม่ต่างกับกลุ่มอนุรักษนิยมไทยพยายามตอบ ก็คือบอกว่าเรื่องการเมืองไทยเป็นเรื่องภายในประเทศ จะไม่ให้รัฐภายนอกแทรกแซง หรือการเมืองไทยจะต้องคิดแบบไทยๆ ดำเนินการแบบไทยๆ ผมคิดว่ากระแสสิ่งที่เราอาจจะต้องยอมรับคือ การเปลี่ยนผู้นำของทำเนียบขาว หลังการสาบานตนในปี 2564 ผมเชื่อว่าหลังจากนั้นในส่วนหนึ่งหลายฝ่ายจับตามองว่าผู้นำใหม่ของสหรัฐ จะขับเคลื่อนกระแสประชาธิปไตยในเวทีโลกอย่างไร เนื่องจาก 4 ปีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความชัดเจนคือผู้นำสหรัฐตัดสินใจทิ้งประชาธิปไตย หันไปสนใจแต่เรื่องธุรกิจสนใจแต่เรื่องผลประโยชน์สหรัฐในมุมแคบ ฉะนั้นสิ่งที่น่าจับตามองก็คือว่าการขึ้นสู่อำนาจของพรรคเดโมแครตที่ทำเนียบขาว ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะสามารถสร้างกระแสประชาธิปไตยให้ขึ้นมาเป็นกระแสอีกครั้งหนึ่งในการเมืองโลกได้เพียงใด แล้วกระแสเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการเมืองไทยอย่างไร

รวมถึงระเบิดอีกลูกจากสถานการณ์ต่างประเทศ คงหนีไม่พ้นการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีน การขึ้นสู่อำนาจของโจ ไบเดนไม่ได้บอกว่าการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนจบลงพร้อมกับการจากไปของทรัมป์ แต่ผมคิดว่าในปี 64 อาจจะเห็นมิติการต่อสู้และแข่งขัน ระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีมิติใหม่มากขึ้น คำถามที่สำคัญก็คือรัฐบาลจะสามารถพาประเทศไทยที่อยู่ในระหว่างการแข่งขันของ 2 รัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างไร หรือในขณะเดียวกันทำอย่างไรที่รัฐบาลไทยจะลดความใกล้ชิดกับรัฐบาลปักกิ่งลง

ระเบิดเวลาลูกที่ 10 เป็นปัญหาความเปลี่ยนแปลงของอากาศ ผมคิดว่าถอยไป 3-4 ปีที่ผ่านมา หรืออย่างน้อยถอยไปตั้งแต่วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 54 มันเป็นคำตอบที่ชัดว่าไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล โจทย์ชุดหนึ่งบนเวทีโลกคือปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ วันนี้เราเห็นชัดว่าวิกฤตอากาศเป็นโจทย์ชุดสำคัญ และสังคมไทยไม่สามารถหลีกหนีจากโจทย์ชุดนี้ได้ ไม่ว่าผู้นำจะปฏิเสธหรือไม่ปฏิเสธ วันนี้เห็นชัดเรื่องฝุ่น PM 2.5 ปัญหาไฟป่า ปัญหาความแห้งแล้ง  ปัญหาความผันผวนของอากาศ ในปี 2563 เราได้เห็นแล้ว ต้นปี 2564 เราก็จะได้เห็นกับปัญหาไฟป่าซ้ำแบบที่เห็นในปีที่แล้ว เหล่านี้คือระเบิดเวลาลูกใหญ่ในปี 64 รัฐบาลอาจจะต้องคิดมากขึ้นเพราะตรงนี้คือโจทย์ชุดใหม่ด้านความมั่นคงของอากาศ

ระเบิดเวลาลูกที่ 11 เป็นวิกฤตภาพลักษณ์ ผมคิดว่าสิ่งที่เราเห็นจากช่วงปี 63 เป็นต้นมา เราเห็นการขยายตัวของการประท้วง แต่ในขณะเดียวกันเราเห็นสภาวะความเป็นรัฐตำรวจ ผมอยากจะขอเรียกรัฐไทยในปัจจุบันว่าเป็นรัฐตำรวจ มันเป็นการเปลี่ยนจากรัฐทหารเป็นรัฐตำรวจหลังการเลือกตั้ง เนื่องจากรัฐบาลมีลักษณะของการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด แล้วมีลักษณะการจับกุมอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นประเด็นในเวทีโลก วันนี้ต้องยอมรับว่าการจับกุมที่เกิดขึ้นขยายตัวลงไปถึงสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนคือรัฐบาลตัดสินใจจับกุมคนที่เป็นนักเรียน วันนี้สถานะของคนที่ถูกจับไม่ใช่นิสิตนักศึกษาแล้ว วันนี้ลงไปถึงนักเรียนในโรงเรียนแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นรัฐบาลอาจจะเชื่อว่าการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดการจับกุมอย่างกว้างขวาง จะเป็นการสร้างความกลัวให้กับผู้ชุมนุมแต่ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นผลกระทบใหญ่ มันเป็นภาพลักษณ์ด้านลบอย่างสำคัญ ต้องย้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทยในเวทีระหว่างประเทศอย่างมาก จนวันนี้สภาวะของรัฐบาลที่เป็นรัฐตำรวจ ที่ใช้วิธีเอาตำรวจไปจัดการกับผู้เห็นต่าง ในปี 64 รัฐบาลจะต้องคิดมากขึ้น ว่าจะดำรงสถานะความเป็นรัฐตำรวจด้วยการใช้กฎหมายเข้มงวดและจับกุมไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายมันอาจจะกลายเป็นวิกฤตระหว่างประเทศจริงๆ เพราะหลายฝ่ายเริ่มรู้สึกว่าการดำเนินการของรัฐบาลไทย กำลังทำลายสิทธิเสรีภาพของคนภายในบ้าน กำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน

ระเบิดเวลาลูกที่ 12 เป็นวิกฤตศรัทธา ประเด็นทั้งหมดมันขมวดปมอยู่กับขีดความสามารถของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงการจัดการการเมืองในระดับมหภาค สิ่งที่จะถูกท้าทายอย่างมากในปี 64 ก็คือรัฐบาลหรือตัวนายกฯมีขีดความสามารถมากน้อยเพียงใด ในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น อีกมุมคือการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ปี 64 ประเด็นสมานฉันท์จะเป็นการช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง หรือจะเป็นเพียงละครการเมืองชุดหนึ่ง ผมเชื่อว่าความตั้งใจของประธานรัฐสภาคงต้องการผลักดันให้กระบวนการที่สภารับมา ให้สามารถขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทย แต่ขณะเดียวกันก็คงต้องยอมรับว่ากระบวนการอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้ารัฐบาลในฐานะผู้มีอำนาจไม่ลงมามีท่าทีที่ชัดเจน หรือตอบรับกับกระบวนการสมานฉันท์ การสมานฉันท์จะเกิดไม่ได้เลยถ้ารัฐบาลยังใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด แล้วจับกุมอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ ปัญหาใหญ่ในปี 64 สำหรับตัวผู้นำรัฐบาลคือทำอย่างไรให้ประชาชนเห็นว่าผู้นำมีความสามารถในด้านต่างๆ แต่ถ้ายังเชื่อว่าผู้นำสามารถลอยตัวต่อปัญหา แล้วไม่มีท่าทีที่ชัดเจน ปล่อยให้กลไกรัฐจัดการกับปัญหาในรูปแบบเก่าๆ เช่นการจับกุมอย่างที่เราเห็น ในปี 63 ตำรวจใช้วิธีฉีดน้ำผสมสารเคมีเมื่อเผชิญกับฝูงชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดพลาด สิ่งเหล่านี้ในด้านหนึ่งจะเป็นวิกฤตศรัทธา แม้ในอีกมุมหนึ่งผู้นำรัฐอาจจะเชื่อว่าการทำโครงการประชานิยมแบบคนละครึ่งสามารถช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ สามารถดึงความน่าเชื่อถือรัฐบาลให้กลับคืนมา แต่ย้อนกลับไประเบิดเวลาลูกแรก ถ้าระเบิด covid ยังมีความใหญ่และรุนแรง สิ่งที่น่ากลัวก็คือโครงการคนละครึ่งอาจจะไม่ตอบโจทย์

จึงอยากชวนให้ผู้อ่านคิดตามว่า ระเบิดเวลาทั้ง 12 ลูก มันเหมือนกับพวกเราทั้งหมดนั่งอยู่บนระเบิดเวลาลูกนี้ แต่ขณะเดียวกันคนที่จะถอดระเบิดเวลาคนสำคัญ ก็คือรัฐบาลและผู้นำรัฐบาล ฉะนั้นสิ่งที่จะเห็นอีกมุมหนึ่งคือปัญหาทางออก ที่ผมเรียกว่าปัญหา 3 ป. (ไม่ใช่ 3 ป.ที่เป็นผู้นำรัฐบาล)

คือ 1.เปลี่ยนผู้นำ 2.เปลี่ยนยุทธศาสตร์และนโยบาย และ 3.เปลี่ยนกติกาการเมือง

ป.ที่ 1 วันนี้ผู้นำรัฐบาลอาจจะต้องคิดเนื่องจากหลายฝ่ายมองว่า ผู้นำรัฐบาลขึ้นสู่อำนาจด้วยกระบวนการที่ไม่ถูกต้องและชอบธรรม ผมคิดว่าผู้นำรัฐบาลอาจจะต้องยอมรับว่าการออกมาพูดว่าผมมาจากการเลือกตั้งคงไม่ตอบโจทย์ เพราะกระบวนการเลือกตั้งบางอย่างไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการเลือกนายกฯ เป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากในปี 63 ผมคิดว่าข้อเรียกร้องหลายฝ่ายมีความชัดเจนคือ อยากเห็นการเมืองไทยเปลี่ยนตัวผู้นำ ความน่าสนใจหากจะเปรียบเทียบ ปี 64 จะเป็นปีที่ 8 ของพลเอกประยุทธ์ ผมอยากจะเปรียบเทียบว่าในปีที่ 8 ของพลเอกเปรม ปีนี้พลเอกเปรมเจอกับสถานการณ์การเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวผู้นำ คิดอย่างคนเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทย 8 ปีของพลเอกเปรมจะเป็นบทเรียนให้พลเอกประยุทธ์ ได้มากน้อยเพียงใด เพราะสิ่งที่สังคมอยากเห็นก็คือผู้นำที่เป็นคนใหม่ สังคมอาจจะอยากเห็นการเปลี่ยนผู้นำคนเดิมซึ่งอยู่ในอำนาจมานานเกินไป วันนี้ต้องยอมรับว่าพลเอกประยุทธ์เก่ง ที่สามารถประคองตัวอยู่ในอำนาจได้นับตั้งแต่รัฐประหารปี 57 แต่ต้องยอมรับว่าพอถึงปี 64 ก็เป็นช่วงเดียวกับที่พลเอกเปรมตัดสินใจลงจากอำนาจ เพราะรู้ว่ากระแสสังคมไม่ตอบรับ หรือที่ชัดเจนคือพอครบ 8 ปี  กระแสสังคมเบื่อผู้นำคนเก่า

ป.ที่ 2 วันนี้ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์และนโยบาย ยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ร่างออกมา ผมคิดว่าเราเห็น covid ในปี 63 และ covid ในปี 64 อาจจะมีขนาดใหญ่ ผมคิดว่ายุทธศาสตร์ 20 ปีที่รัฐบาลทหารสร้างออกมานั้นจะเป็นสิ่งที่ไร้ค่าทันที เท่ากับไม่ตอบโจทย์อนาคตของสังคมไทย วันนี้นอกจากเปลี่ยนผู้นำแล้วสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนตามมาคือการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ การเปลี่ยนนโยบายก็ต้องเกิดขึ้นตามมา ลักษณะการกู้แล้วแจกไปเรื่อยๆ อาจจะไม่ตอบโจทย์

ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สังคมไทยอาจจะต้องคิดถึงนโยบาย สมมุติหากจะเป็นประชานิยม อาจจะต้องเป็นประชานิยมในรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่นโยบายที่ตอบคำถามว่าเพดานเงินกู้ของรัฐไทยยังมีฉะนั้นไทยยังกู้ได้ แล้วก็กู้มาแจก แต่คำถามคือการแจกจะทำอย่างไรให้ผลพวงที่เกิดขึ้นถึงคนระดับล่าง อย่างที่บอกเรามีระเบิดลูกของคนตกงาน กับลูกของคนจน ที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ ฉะนั้นกระบวนการคิดเศรษฐกิจมหภาคยังเป็นเรื่องสำคัญ ที่มีความคาดหวังเราอาจจะไม่สามารถดำเนินนโยบายแบบที่พลเอกประยุทธ์ดำเนินมา

ป.ที่ 3 คือการเปลี่ยนกติกาทางการเมือง วันนี้ชัดเจนว่าไม่เพียงแต่ต้องเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเท่านั้น ผมคิดว่าองค์กรอิสระที่เกิดจากรัฐธรรมนูญและมีบทบาททางการเมือง ก็ได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าองค์กรอิสระไม่สามารถที่จะเป็นผู้ช่วยเหลือประคับประคองให้ทางการเมืองของสังคมไทยเดินไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนกติกาทางการเมืองรอบนี้ อาจจะตีความไปถึงการเปลี่ยนองค์กรอิสระทั้งชุด ทำอย่างไรที่องค์กรอิสระจะเป็นอิสระ ไม่ใช่องค์กรไม่อิสระในรัฐธรรมนูญไทย ฉะนั้นแล้วปัญหาความเป็นองค์กรไม่อิสระจะกลายเป็นหนึ่งชนวนใหญ่ของปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทย ข้อเสนอผมใน  ปี 64 คือ 3 เปลี่ยน เปลี่ยนผู้นำเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนกติกาทางการเมืองและองค์กรอิสระที่พ่วงอยู่กับรัฐธรรมนูญ

สภาวะทั้งหมดตอบได้อย่างเดียวว่า ปี 64 คงไม่ใช่ปีวัวเชื่องๆ ที่เดินมาให้รัฐบาลรีดนมได้สบายๆ แต่ผมคิดว่าระเบิดเวลา 12 ลูก 64 จะเป็นปีวัวดุ หรืออาจจะเรียกว่าปี 64 เป็นปีกระทิงดุมากกว่า แล้วอาจจะขวิดการเมืองไทยได้อีกหลายรอบ แล้ววันนี้รัฐบาลอาจจะเชื่อว่าผู้เห็นต่างในการชุมนุมประท้วงอ่อนแรงแล้ว พรรคฝ่ายค้านเองก็ไม่เป็นเอกภาพ แต่ในขณะเดียวกันโจทย์ใหญ่ไม่ใช่ปัญหาการประท้วง ไม่ใช่ความอ่อนแอของพรรคฝ่ายค้าน แต่โจทย์ใหญ่คือรัฐจะบริหารระเบิดเวลาทั้ง 12 ลูกที่กล่าวมาอย่างไร

  • ปัญหาของการใช้รัฐตำรวจนำ ในสถานการณ์ความขัดแย้ง   

ผมคิดว่ากลางปี 63 หลังการประท้วงเริ่มขึ้น เราเห็นชัดเจนอย่างหนึ่งคือรัฐบาลไม่ได้ใช้กำลังทหารเหมือนในอดีต ที่เราเห็นทหารออกมากำกับการชุมนุม ดูแลการชุมนุม หรือในบางครั้งเราเห็นภาพเหมือนทหารกำกับตำรวจ แต่ในสภาวะที่เราเห็นกลางปี 63 เป็นต้นมา ความชัดเจนคือรัฐบาลไม่ได้ใช้ทหารแต่รัฐบาลใช้ตำรวจ จนมีข้อสังเกตว่าตำรวจกลายเป็นหนังหน้าไฟให้กับรัฐบาลในการปะทะกับข้อเรียกร้องของผู้เห็นต่างบนถนน สิ่งที่ตามมาในรัฐตำรวจคือรัฐบาลใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ในการสร้างความกลัว ใช้ดำเนินการกับผู้ประท้วงบนถนน แล้วในการใช้กฎหมายจัดการ ผมคิดว่ามีความชัดเจนคือมีลักษณะของการเหวี่ยงแห และกฎหมายที่ใช้หลายอย่างกลายเป็นข้อถกเถียง เราอาจจะต้องยอมรับแม้กระทั่งกฎหมายมาตรา 112 ที่ต้องใช้คำว่าถูกนำมาใช้อย่าง พร่ำเพรื่อ ก็กลายเป็นปัญหาในตัวเอง เป็นสภาวะของรัฐตำรวจ ตำรวจกลายเป็นกลไกในการปราบม็อบ ตำรวจกลายเป็นกลไกในการสู้กับผู้เห็นต่าง วันนี้น่าสนใจทหารเขาไปอยู่ด้านหลัง แต่ก็ไม่ได้บอกว่าทหารจะไม่มีบทบาททางการเมือง เพราะทั้งหมดแล้วเรายังได้เห็นทหารที่ไม่ได้ใส่เครื่องแบบแต่ยังมีอำนาจ แล้วยังมีความสัมพันธ์กับกองทัพอยู่ แต่ความชัดเจนวันนี้ถ้าเรามองโลกตะวันตก มันจะมีคำอยู่คำหนึ่งคือความรุนแรงจากตำรวจ หรือ Police brutality ถ้าเราดูการเมืองอเมริกัน การเมืองยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองฝรั่งเศส จะเห็นคำนี้ถูกใช้ในสื่อมาก เป็นจุดหนึ่งในการเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจ ผมเชื่อว่าผลจากการสลายการชุมนุม ตั้งแต่สยามสแควร์ไปจนถึงรัฐสภา แล้วก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง ตำรวจกลายเป็นองค์กรทางการเมืองที่ถูกเกลียดชังโดยคนรุ่นใหม่ ความน่าสนใจอีกอันนึงคือตำรวจที่ถูกนำมาใช้ในการสลายการชุมนุม กลับกลายเป็นตำรวจตระเวนชายแดน ทั้งๆที่ตำรวจเหล่านี้ มีภารกิจอยู่ในงานชายแดนของประเทศ มีคนตั้งข้อสังเกตในหลายเวทีว่าการเอาตำรวจตระเวนชายแดนมาสู้กับม็อบ ทำให้ชายแดนมีรูรั่ว กลายเป็นปัญหาทำให้คนจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาในไทยจริงหรือไม่ เนื่องจากสิ่งที่เราเห็นชัดคือวันนี้ ตชด.ไม่ได้อยู่ที่ชายแดน  วันนี้ตชด.มาอยู่บนถนนในกรุงเทพฯ  มุมหนึ่งก็ต้องถามว่าตกลงตำรวจจะเปลี่ยน ตชด.เป็นชุดควบคุมฝูงชนแล้วหรือไม่  โจทย์แบบนี้ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยหลายส่วนเห็นพ้องต้องกันคือ การปฏิรูปตำรวจจะเป็นโจทย์ใหญ่พร้อมกับการปฏิรูปทหาร ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยสามารถขับเคลื่อนได้ในการเมืองไทย การปฏิรูปตำรวจจะไม่ใช่เพียงเรื่องพนักงานสอบสวนอีกต่อไป แต่จะรวมถึงการสร้างตำรวจให้มีจิตสำนึกประชาธิปไตย และเคารพในสิทธิมนุษยชน ซึ่งอันนี้เป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นในเวทีโลกเป็นเรื่องปกติ 

 

  • พลังของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในปี 2564?

ผมคิดว่าสิ่งที่จะทำให้มอบในปี 2564 อ่อนแรง  ของจริงมีเรื่องเดียวคือการระบาดของ covid  เพราะถ้า covid มาการชุมนุมคงเกิดไม่ได้  อาการคล้ายกันกับช่วงต้นในปี 2563  แต่ในขณะเดียวกันผมยอมรับว่าเอกภาพของคนรุ่นใหม่ที่มีปัญหา  เอกภาพของพรรคฝ่ายค้านที่มีปัญหา  แต่สิ่งที่ผมนั่งเฝ้ามอง และถูกตั้งคำถามจากสื่อต่างประเทศก็คือ ทำไมการประท้วงในไทยไม่มีการเข้าร่วมของคนงาน ทางที่ไหนๆมีคนตกงานมาก อันนี้จะเป็นความท้าทายในปี 2564  โจทย์ของปี 2564 ถ้าไม่พูดเฉพาะแค่คนรุ่นใหม่  จะมีโจทย์ของคนงานและคนหิว  คนงานกับคนหิวจะเป็นโจทย์ใหญ่  วันนี้ไม่ใช่แค่คนระดับล่างแล้ว  อาจรวมถึงคนชั้นกลาง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งCovid รอบ 2 หลังปีใหม่   

 

  • ต้นปีที่แล้วอาจารย์เคยประเมินว่ารัฐบาลอาจอยู่ไม่ครบ 12 ยก?  

ผมไปที่ไหนก็มีแต่คนถามเรื่องนี้ วันนี้ชัดเจนว่ารัฐบาลอยู่เกิน 12 ยก แม้จะมี 12 เดือนก็อยู่เกิน 12 ยก เพราะกรรมการขึ้นมาช่วยไล่ต่อยนักมวยอีกฝั่งนึงด้วย ปี 63 นี่เห็นชัดมาก เมื่อกรรมการร่วมกับนักมวยอีกฝั่งหนึ่ง ไล่ต่อยนักมวยอีกฝั่งหนึ่ง วันนี้เราไม่มีกรรมการบนเวทีนะครับ ฉะนั้นข้อสังเกตว่ารัฐบาลจะอยู่ครบ 12 ยกหรือไม่ มันไม่มีผลแล้ว เพราะกรรมการไล่ชกนักมวยอีกฝั่งนึงด้วย ผมถึงเสนอว่าหนึ่งในทางออกวันนี้ ไม่แต่เพียงต้องปรับแก้รัฐธรรมนูญ แต่อาจจะรวมถึงการเปลี่ยนองค์กรอิสระทั้งหมด องค์กรอิสระต้องเป็นกรรมการบนเวที ไม่ใช่องค์กรอิสระที่เป็นกรรมการยืนเคียงข้างนักมวยแล้วไล่ชกอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้ายังเป็นแบบนี้ ปี 64 ก็ไม่สามารถตั้งข้อสังเกตได้ เพราะผมเชื่อว่ากรรมการก็ยังแสดงบทบาทแบบเดิม 

  • ความรุนแรงทางการเมืองในปี 64   

คือผมคิดว่าทุกคนกังวลเรื่องความรุนแรง แต่ถ้าวันนี้ลองนั่งดูสถานการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ปี 63  ผมเชื่อว่าความรุนแรงของปัญหาตั้งแต่ปี 63  พอเข้าปี 64 จะหนักขึ้น ในความหนักขึ้น การเรียกร้องในปี 64 ก็จะมากขึ้น เชื่อว่าการเรียกร้องในปี 64 อาจจะไม่ใช่ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ แต่สิ่งที่ผมกังวลปี 64 โจทย์ใหญ่จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เป็นโจทย์คนตกงาน เป็นโจทย์คนยากจน ที่ทวีจำนวนมากขึ้น หรือจำนวนคนตกงานที่วันนี้แทบไม่มีแนวโน้มการกลับมาจ้างงานอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีอย่างนี้โครงการคนละครึ่งก็ไม่ช่วย สิ่งที่เป็นความกังวลก็คือถ้าสถานการณ์ไปถึงจุดหนึ่ง จะมีการสู้กันมากกว่าเพียงสงครามความคิดบนถนน แต่มันจะนำไปสู่การเผชิญหน้าจริงๆ แล้วในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าทฤษฎีของฝั่งรัฐบาลคือการเป็นรัฐตำรวจ ถ้าผู้ชุมนุมมาก็เอารถฉีดน้ำ เชื่อว่ารถฉีดน้ำที่ซื้อจากเกาหลีเป็นอะไรที่ทรงอานุภาพในการไล่ม็อบ แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่รัฐบาลทำในปี 63 กำลังถูกจับตามองในปี 64 ผมเชื่อว่าการชุมนุมจุดหนึ่งในปี 64 จะเป็นการชุมนุมแบบ 3 ประสาน  คือคนเรียน คนงาน และคนจน แล้วถ้าถึงอย่างนั้นผมคิดว่ามันไม่ใช่โจทย์ของความรุนแรง แต่มันคือความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะตามมา 

  • บทบาทของผู้นำเหล่าทัพ มีคนมองว่าวางตัวดีขึ้น ? 

ผมคิดว่าถ้าผู้นำทหารตัดสินใจที่จะไม่มีบทบาททางการเมือง  สิ่งหนึ่งที่เราพอเริ่มเห็นเช่นวันนี้ผู้นำเหล่าทัพ พยายามที่จะไม่ให้สัมภาษณ์  หรือปิดปากทางการเมือง  แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า  กองทัพยังอยู่ในสถานะของการเป็นฐานอำนาจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะปฏิเสธว่ากองทัพไม่ใช่ฐานอำนาจของรัฐบาลประยุทธ์ ผมคิดว่าไม่มีใครเชื่อ รวมถึงมันไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐบาลประยุทธ์ ต้องเรียกว่ารัฐบาลประยุทธ์ ประวิตร และอนุพงษ์  หรือที่ผมเรียกบ่อยๆว่ารัฐบาลสามทหาร  ฉะนั้นรัฐบาลสามทหารมีความชัดเจน เป็นความชัดเจนที่รัฐบาลขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร ใช้กำลังทหารเป็นเครื่องมือ แม้ว่าวันนี้ผู้นำกองทัพพยายามที่จะรูดซิปปากไม่พูดเรื่องการเมือง แต่ถ้ากองทัพตัดสินใจจะมีการลดบทบาททางการเมืองด้วยการกลับเข้ากรมกองจริงๆ ผมคิดว่าสิ่งที่ต้องทำจริงๆคือการยุติบทบาทการโฆษณาชวนเชื่อ ผมคิดว่านี่คือสัญญาณใหญ่ แต่ถ้ากองทัพพูดในเวทีสาธารณะว่าจะไม่มีบทบาททางการเมือง แต่ในทางกลับกันกองทัพยังทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนในการเผยแพร่ข่าวสารที่ให้การสนับสนุนต่อรัฐบาลอย่างต่อเนื่องอย่างที่เราเห็น ผมคิดว่านั่นเป็นคำตอบว่าทหารอาจจะอยู่ในเวทีการเมืองไทยแต่อยู่ในลักษณะที่หลังโรงละคร 

  • อาจารย์ไม่เชื่อเรื่องทหารไทยถอยจากการเมืองแล้ว

ทหารไทยจะยังไม่ถอยออกจากการเมืองไม่ว่าอะไรจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม เราแค่เห็นข่าวน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำทหารในอดีต สื่ออาจจะชอบเพราะมีพาดหัวข่าวหลายครั้ง แต่ปัจจุบันเราไม่ค่อยได้เห็นท่าที แต่ปฏิบัติการหลายอย่างไม่ได้หายไป 

  • สถานะของรัฐบาลในปี 2564?  

ถ้าปี 64 เป็นปีกระทิงดุ พลเอกประยุทธ์จะเป็นมาทาดอร์แบบที่เราเห็นในสเปนหรือไม่  แต่ก็ต้องยอมรับว่าวัวนี้ดุ  แล้วมาทาดอร์คนนี้ก็ล้าในหลายครั้ง ฉะนั้นนักสู้วัวกระทิงที่เจอวัวดุ แล้วตัวเองมีความอ่อนล้า ความน่ากลัวมีอย่างเดียวนะครับ วัวจะขวิดแล้วก็ขวิดแรง ผมว่าปี 64 จะล้ามากขึ้น ถ้าปี 63 เป็นปีโควิด ปี 64 จะเป็นปีโคขวิด นักสู้วัวกระทิงจะเผชิญกับวัวดุแน่นอน 

  • มองข้างหน้าดูมืดมน กรรมการสมานฉันท์คือทางออก?

ผมให้เครดิตท่านประธานชวน ผมยังพูดเสมอว่าหลายส่วนที่พยายามผลักดันมีความจริงใจ แต่ทั้งหลายทั้งปวงขึ้นอยู่กับรัฐบาลเป็นหลัก ผมเปรียบเทียบเสมอว่า ตอนคำสั่ง 66/23 ออก หลายคนอาจจะคิดแต่คำสั่ง 66/23 แต่หลายคนลืมไปว่าจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างสมานฉันท์ในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ คือการนิรโทษกรรมคดี 6 ตุลา และเป็นการนิรโทษแบบเหมาเข่ง เพราะฉะนั้นคำว่านิรโทษเหมาเข่งของจริงคือการเหมาเข่งในยุคผม คือนิรโทษทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ทั้งหมด แม้ว่าในขณะนั้นหลายฝ่ายไม่พึงพอใจ แต่ผลพวงของการทำเช่นนั้น มันทำให้การเมืองเริ่มคลายออก แล้วในการคลายออกมันทำให้คำสั่ง 66/23 ขับเคลื่อนได้ ผมไม่ได้บอกว่าผมสิ้นหวังกับกระบวนการที่ประธานชวนทำ แต่ผมผิดหวังกับท่าทีของรัฐบาล และสิ้นหวังกับคนบางคนในพรรครัฐบาล ที่แสดงท่าทีคัดค้าน ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะผลักดันกระบวนการสมานฉันท์ สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือปิดปากส.ส.บางคน ในพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้กระบวนการนี้เดินหน้าได้ แล้วถ้าเดินไปสู่ความสำเร็จ ปฏิเสธไม่ได้นะครับเครดิตก็จะเป็นของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  แต่ถ้ารัฐบาลจะเป็นคนไหนก็แล้วแต่ ผลักดันตัวละครบางตัว ว่าใครพูดสมานฉันท์เมื่อไหร่ก็จะมีคนออกมาด่าเมื่อนั้น หรือแม้กระทั่งออกมาขู่ฟ้องร้อง ถ้าเป็นอย่างนี้ผมว่าคนหลายส่วนไม่อยากเข้าไปร่วม พูดง่ายๆ สิ่งที่เราเห็นจากปลายปี 63 รัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐกลายเป็นผู้เจาะยางของรถสมานฉันท์ที่กำลังจะขับเคลื่อน โดยมีประธานชวนเป็นคนขับ แต่ก็มีส.ส.พลังประชารัฐบางคนนั่นแหละ แอบเจาะยางและปล่อยลมตั้งแต่ต้นแล้ว ผมไม่ได้บอกว่าผมไม่ศรัทธา แต่ผมคิดว่าไปต่อลำบากถ้ารัฐบาลยังมีท่าทีอย่างนี้ ผมพูดเสมอว่าให้หวนกลับไปพิจารณาคำสั่งที่ผูกโยงกับคดี 6 ตุลา ทั้งหมด หรือพูดง่ายๆถ้าจะสมานฉันท์ได้ ชนชั้นนำปีกอนุรักษ์นิยม ชนชั้นนำในสายทหาร ต้องใจกว้างกว่านี้ ถ้ายังเล่นการเมืองด้วยจิตใจที่คับแคบ ท่านประธานชวนจะเป็นเพียงคนขับรถสมานฉันท์ ที่ยางทั้ง 4 เส้นถูกปล่อยและเจาะยาง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image