ปิยะภพ เอนกทวีกุล : มองบทบาทผู้นำกองทัพกับการเมืองปี 2564

“มติชนออนไลน์” พูดคุย กับ “ปิยะภพ เอนกทวีกุล” อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นักวิชาการที่สนใจด้านประวัติศาสตร์การทหาร ทหารกับการเมือง และการเมืองการปกครองไทย ถึงบทบาทของผู้นำเหล่าทัพ ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับการเมืองในปัจจุบันและทิศทางต่อปัญหาการเมืองในปี 2564

⦁ มองบทบาทผู้นำเหล่าทัพต่อสถานการณ์การเมืองอย่างไ

การที่กองบัญชาการกองทัพบกมี ผบ.ทบ.คนใหม่ คือ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ต่อจาก พล.อ.อภิรัชต์  คงสมพงษ์ การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดประเด็นแรก คือผู้บัญชาการกองทัพบกคนปัจจุบันไม่ได้ให้สัมภาษณ์ทางการเมืองมาก เปรียบเทียบกับผู้บัญชาการทหารบกท่านที่แล้ว จะเห็นว่านักข่าวพยายามสอบถามเช่นเรื่องรัฐประหาร ทหารคิดเห็นอย่างไรกับสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ มีการสอบถามเรื่องแนวคิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สอบถามเรื่องไอเดียเรื่องสาธารณรัฐ ถามเรื่องค้อนกับเคียวซึ่งเป็นไอเดียสังคมนิยม ความเห็นของท่านก็จะตอบเพียงว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาล จะต้องดำเนินการ ในส่วนกองทัพเองก็ยืนยันว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะทำรัฐประหาร ท่านเองก็บอกว่ารัฐประหารเป็นศูนย์ รัฐประหารติดลบ นี่คือประเด็นแรกที่ท่านพูดตลอด

ประเด็นที่สองคือท่านถูกถามเรื่องการเมืองมาก ในฐานะที่ ผบ.ทบ.มักถูกมองว่าต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ท่านก็ตอบกลับด้วยการไม่พยายามพูดเรื่องการเมืองเลย ยืนยันว่าท่านเป็นข้าราชการประจำ ท่านอยู่ในส่วนเฉพาะของกองทัพบก ข้อกฏหมายต่างๆนั้นท่านไม่รู้ จะไม่ขอพูด เป็นเรื่องของหน่วยงานอื่นส่วนอื่นที่รับผิดชอบไป อันนี้คือสองประเด็นที่ท่านพูดออกมา และหากเปรียบเทียบกับการขึ้นมาของผบ.ทบ.ในอดีต  ทำให้ผมเห็นภาพช่วงพฤษภาทมิฬ ปี 2535  ก็คือตอนที่พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี ถูกย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบกท่านใหม่ก็คือ พล.อ.วิมล วงศ์วานิช ก็เป็นอีกคนที่ให้สัมภาษณ์ด้านการเมืองน้อยมาก  ตอบเพียงว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล  ที่ต้องไปดำเนินการ  กองทัพบกมีหน้าที่เพียงทำตามนโยบายของรัฐบาล รัฐธรรมนูญ และแผนปฏิบัติของกองทัพบก ตรงนี้จะเห็นว่าผบ.ทบ.ท่านปัจจุบันพูดเรื่องการเมืองน้อยมาก ส่วนใหญ่จะพูดในเชิงภาพรวม ไม่ได้มุ่งเป็นศัตรูกับฝ่ายตรงข้ามหรือกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ ณ ขณะนี้

Advertisement

⦁ มองว่าเป็นความตั้งใจของผู้บัญชาการทหารบกหรือไม่ เมื่อเทียบกับ ผบ.ทบ.คนเดิม

ส่วนหนึ่งผมคิดว่าท่านพยายามจะหลีกเลี่ยงได้ก็พยายามหลีกเลี่ยง ไม่พูดเสียดีกว่า ต้องการเซฟกองทัพ กรณี ผบ.ทบ.คนเดิม มันเหมือนเป็นการสร้างศัตรูให้กับกองทัพโดยไม่รู้ตัว ต้องเข้าใจว่าความไม่พอใจกองทัพบกเกิดขึ้นมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 คนบางส่วนก็มองกองทัพในด้านลบ ยิ่งมีการพูดโจมตี พาดพิงบุคคลที่ 3 ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับกองทัพ ก็จะทำให้ภาพของกองทัพในสายตาบางคนติดลบ เช่นกรณีอดีต ผบ.ทบ. ออกมาพูดในปีแรกเรื่องซ้ายจัดดัดจริต การพูดว่ารัฐประหารอาจเกิดขึ้นก็ได้ถ้ามีสถานการณ์หรือมีเงื่อนไขเอื้อให้รัฐประหาร แต่อย่าง ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ก็พยายามพูดว่าจะไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ดังนั้น การพูดเรื่องการเมืองก็เสี่ยงที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากองทัพยุ่งกับการเมือง ทั้งที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก นี่คือมุมมองของ ผบ.ทบ.ท่านปัจจุบันที่ตั้งใจไว้

 

Advertisement
  • สอดรับกับปฏิบัติการทางทหารต่อการเมืองที่ลดน้อยลงไม่ เมื่อเทียบกับช่วงหลังปี 57 เป็นต้นมา 

 

มองว่า ถ้าเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา ทหารมักออกมาเป็นด่านหน้า นับตั้งแต่ปี 2553 ที่มีการสลายการชุมนุม ปี 2557 กองทัพก็คุมอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่สถานการณ์ปัจจุบัน ความขัดแย้งมันไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงรัฐประหาร อาจมีบ้างก็เป็นเรื่องประปราย ท้ายที่สุด รัฐบาลก็อาจจะประเมินว่า การใช้กำลังตำรวจอย่างเดียวน่าจะเพียงพอ เพราะหากใช้กำลังทหารมันจะมีการยกระดับไปมากกว่านี้ แล้วถ้าว่ากันตามกฎหมาย ทหารก็เป็นได้เพียงแค่ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ของตำรวจ ในสถานการณ์ปกติ หากไม่มีสถานการณ์ระดับรุนแรงทหารก็จะไม่ออก รัฐบาลก็ไม่ได้ให้ทหารออกมาเพราะถือว่าตำรวจทำแล้ว การชุมนุมเกิดขึ้นรายวันแต่ตำรวจก็คุมได้ ที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็ถือว่ากองทัพทำตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

⦁ แม้ ผบ.ทบ.เหมือนจะลดพูดเรื่องการเมือง ก็ยังถูกโจมตีเรื่องไอโอ

ปฏิบัติการจิตวิทยาหรือไอโอ เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่ากองทัพทำตลอด ในที่นี้คือการปลูกฝังผ่านโฆษณาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางสื่อ การโฆษณา คำสัมภาษณ์ของผู้บัญชาการทหารบกแต่ละครั้งก็จะแฝงคำว่าต้องการให้บ้านเมืองสงบ บ้านเมืองของเราดีที่สุดแล้ว ที่อื่นอาจจะวุ่นวายแต่ที่นี่สงบที่สุด ก็ถือเป็นการทำปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างหนึ่ง อย่างกรณีพรรคก้าวไกลหรือคณะก้าวหน้า วิจารณ์เรื่องปฏิบัติการดังกล่าวของกองทัพ จะเห็นว่ากองทัพก็พยายามเลี่ยงที่จะชี้แจงตอบโต้ ผู้บัญชาการทหารบกเลือกใช้ความนิ่ง เพื่อหวังลดแรงปะทะ จะโจมตีก็โจมตีไป กองทัพก็ขอทำหน้าที่แบบเดิม กองทัพพยายามที่จะไม่ลงมาเล่นการเมืองโดยตรง แต่มีความพยายามในการดึงมวลชน ให้กลับมาร่วมมือกับกองทัพ หรือรัฐบาล ตรงนี้กองทัพพยายามทำอยู่

แต่ผลจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่ว่ากองทัพจะทำได้มากน้อยเพียงใด ถ้าเทียบเป็น 100% ของการเล่นการเมืองของกองทัพ ตรงนี้ถือว่ากองทัพ อยู่ที่ 40 หรือ 50% ไม่เกินจากนี้ หากเกิน 50% ขึ้นไป กองทัพจะเริ่มถลำออกมาแล้ว มันจะไปถึงการพูดพาดพิง จะมีการบรรยายพิเศษ แบบที่เคยเกิดขึ้น

ต้องยอมรับว่า ผบ.ทบ.ท่านที่แล้วเข้ามาร่วมในวงการเมืองเยอะมาก ตั้งแต่ท่านเข้ามารับตำแหน่งจนกระทั่งก่อนที่จะเกษียณ ท่านจัดตลอด มีช่วงเดือนสุดท้ายที่จะเกษียณ และจะเข้าไปรับตำแหน่งใหม่ จึงเริ่มซอฟต์ลง

แต่สำหรับ ผบ.ทบ.คนปัจจุบันท่านซอฟต์ตั้งแต่แรก พยายามประคับประคองใน 3 ปี ให้ทำในสิ่งที่กองทัพควรกระทำ คือ ภารกิจทางการทหาร รักษาความสงบเรียบร้อย เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายต่างๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่ากองทัพยังเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่จะมากจะน้อยมันจะยังอยู่ที่สถานการณ์หรือเงื่อนไข ปัจจัยต่างๆ ที่จะผลักดันให้กองทัพออกมาหรือไม่ ตราบใดที่กองทัพยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ กองทัพจะไม่มีวันแยกออกจากการเมืองได้ นี่คือรูปธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

⦁ การเมืองแหลมคมขัดแย้งหนักขึ้น 2564 เป็นปีที่เราน่าจะกังวลบทบาทกองทัพหรือไม่

ถามว่าสังคมจะกลับไปขัดแย้งกันยาวนานแบบยุค กปปส. หรือ นปช. ในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าคงเป็นไปได้ยาก ในทางการเมืองก็มีความขัดแย้ง แต่ยังมีสถานการณ์ covid-19 ที่มารอบ 2 คิดว่าตอนนี้สังคมยังกลัวสถานการณ์บานปลายอยู่ คงไม่อยากให้เป็นเหมือนที่ผ่านมา ส่วนกองทัพเอง ก็ออกมาพูดตลอดว่ายังไงรัฐประหารก็ไม่เกิด และยังพูดขอให้เกิดความสามัคคีแม้แต่ละกลุ่มทางการเมืองจะมีความเห็นทางการเมือง อุดมการณ์ ทัศนคติ แตกต่างกัน คือพยายามประคับประคองไม่ให้สถานการณ์มันไปไกลมากกว่านี้ รัฐประหารที่เกิดขึ้นตอนนี้จะหมดความชอบธรรม มันไม่มีเหตุปัจจัยอะไรเลยที่กองทัพจะออกมายึดอำนาจอีกแล้ว การออกมาของกองทัพในแต่ละครั้งกองทัพก็กลัวถูกโจมตี สร้างศัตรูกับคนอื่นโดยไม่รู้ตัว

พูดในเรื่องทฤษฎี โอกาสหรือการเกิดปัจจัยในการทำรัฐประหาร อย่างที่ ซามูเอล ไฟเนอร์ (Samuel Finer) นักวิชาการที่โด่งดังในด้านการศึกษา บทบาทของทหารในทางการเมือง พูดโดยสรุปว่า กองทัพต้องการจะยึดอำนาจ ต้องมีแรงผลักดันจากสังคมภายนอก ที่ต้องการให้กองทัพออกมา กองทัพถึงจะออกมา แต่ถ้ากองทัพทำ แล้วคนไม่เอาด้วย ก็ไม่สำเร็จ ถ้ากองทัพไม่อยากทำ อยู่นิ่งเฉยเพื่อรักษาบทบาทตนเอง กลับมีคนมาเรียกร้องกองทัพก็อาจจะทำก็ได้ แต่ถ้าจะทำก็ต้องมีแรงผลักดันจากภายในกองทัพด้วย ทหารก็ต้องเอาด้วยกันหมด ประเมินจากบทบาท ผบ.ทบ.ตอนนี้ ยังไม่เห็นทีท่านั้น

⦁ ต้นทุนสังคมและประเทศชาติ ที่จะสูญเสีย หากปี 64 กองทัพเข้ามายุ่งกับการเมือง

1.เศรษฐกิจคือเรื่องหลัก ตอนนี้เศรษฐกิจทรุดอยู่ ถ้าตอนนี้มีรัฐประหารต่อเนื่องไปอีก มันเป็นการซ้ำเติมวิกฤตที่มันเกิดขึ้นอยู่แล้วในปัจจุบัน สิ่งที่ตามมาหลังการทำรัฐประหารคือการคว่ำบาตร มาตรการแซงก์ชั่นบางอย่าง

2.ศรัทธาของประชาชนต่อทหารและกองทัพก็จะยิ่งสูญเสีย ต้องยอมรับว่าตอนนี้ภาพลักษณ์ของกองทัพเริ่มดีขึ้นกว่าเดิมเมื่อเทียบกับอดีต เพิ่งอ่านบทสัมภาษณ์ของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ยังเอ่ยปากชมกองทัพ กรณี พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่พูดยืนยันว่าไม่มีรัฐประหาร ไม่ยอมให้ประเทศไทยกลับไปสู่จุดเดิม เป็นเรื่องดีที่ในอนาคตจะไม่มีการแทรกแซง

สุดท้าย หากนายกฯของประเทศจะมาจากการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง จะมีแรงต่อต้านจากนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล 4 ปีช่วงการเลือกตั้งเขาก็พยายามทำหน้าที่ให้เต็มที่ หากมีการรัฐประหารอีก แผนที่กลไกรัฐสภา กระบวนการสร้างการสมานฉันท์ปรองดองที่นายชวน หลีกภัย กำลังทำอยู่ รวมถึงกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ หากมีรัฐประหารทุกอย่างจะถอยกลับไปเริ่มต้นใหม่ มันจะเสียโอกาสหลายอย่างในการเดินหน้าการเมืองไทย อย่างวันนี้เราเดินหน้าได้ 1-2 ก้าว หลังจากปี 2562 ถ้ากลับไปนับหนึ่งใหม่มันก็เสียเวลาไปอีก ตอนนี้รัฐบาลคือตัวนายกฯก็เป็นทหาร จะว่าไปแล้ว ผบ.ทบ.ท่านปัจจุบันก็สามารถทำงานร่วมกับนายกฯท่านนี้ได้ การมีนายกฯเป็นทหาร มันให้ภาพความเป็นมิตรระดับหนึ่งต่อกองทัพ อย่างน้อยทหารก็ปกป้องผลประโยชน์ของทหารด้วยกัน ถ้าเป็นนายกฯพลเรือนความขัดแย้งก็อาจจะมี อาจจะมองว่ามีทัศนคติเชิงลบต่อทหาร ตรงนี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหารแต่มันเกี่ยวข้องกับการทำงานของรัฐบาลด้วย บางส่วนยอมรับการทำงานของรัฐบาล ที่เป็นมิตรกับทหาร

 

  • ประชาชนรู้สึกต่อทหารดีขึ้นหรือ?

 

ดีขึ้นระดับหนึ่งครับ แต่มีประเด็นแก้ไขก็คือ เรื่องการใช้งบประมาณ อย่างกรณีการใช้งบในปฏิบัติการไอโอ ที่มีคนไม่เห็นด้วย ในส่วนกองทัพจะมองว่าเขาทำตามหน้าที่ การสื่อสารเดี๋ยวนี้มันมีหลายอย่าง มันพัฒนาไปเรื่องการใช้สังคมออนไลน์ กองทัพเขาก็มองว่าเขาต้องทำ อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่กองทัพต้องปรับตัว ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ส่วนเรื่องการดำรงตำแหน่งส.ว.ของผู้นำเหล่าทัพ ซึ่งถูกฝ่ายส.ส.ต่อต้าน ถ้าจะเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ข้าราชการประจำก็ไม่ควรมายุ่งในตำแหน่งนี้ การควบ 2 ตำแหน่งมันทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ การสวมหมวก 2 ใบ ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยยอมรับ เมื่อเปรียบเทียบกับยุคพลเอกเปรมหรือก่อนหน้า  การต่อต้านมันไม่ได้มีมากเท่ายุคนี้ 

⦁ ปี 2564 ทหารควรวางตัวอย่างไรต่อสถานการณ์การเมือง

ภารกิจทางการทหาร การรักษาความสงบเรียบร้อย การป้องกันรักษาความมั่นคงภายใน การรักษาพรมแดน การป้องกันการเข้าเมืองผิดกฎหมาย กองทัพควรไปดูแลเรื่องนี้ ส่วนเรื่องการเมืองไม่ว่าจะมีสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างไรก็ตาม ในความคิดเห็นของผม กองทัพต้องอยู่ในบทบาท ไม่ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งกับมวลชนทั้งสองฝ่าย อย่าไปทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายประชาชนในสถานการณ์การชุมนุม ตอนนี้ยังอยู่ในระดับที่รัฐบาลเชื่อว่าตำรวจสามารถทำงานได้ ผมยังมองว่าบทบาทของกองทัพตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา กองทัพไม่ได้ออกไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากเช่นในอดีต เขาคงเห็นแล้วว่า การรักษาสถานะเช่นนี้ได้ มันจะเป็นสิ่งที่ดีกับกองทัพ

 

  • ถึงวันนี้ทหารไม่ควรยุ่งการเมือง แต่เมื่อไม่นานมานี้ก็ยังมีคนไปยื่นแถลงการณ์ขอทหารมาควบคุมการเมือง 

 

เพราะยังมีคนเชื่อว่าทหารจะเป็นผู้นำการ set zero ใหม่ได้  นับหนึ่งใหม่  วิธีคิดนี้ในปัจจุบันไม่ควรจะเกิดขึ้นแล้ว รัฐประหารไม่ว่าจะทั่วโลกหรือที่เกิดขึ้นในไทย มันไม่ควรจะเกิดขึ้นแล้ว ดูอย่างง่ายๆประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเราไม่มีแล้ว ที่อื่นเขาจบเดินหน้าต่อได้ ของเราปี 2534-35 2549 2557 ปัจจุบันก็ยังมีเครื่องหมายคำถามว่าจะมีอีกไหม ซึ่งถ้าว่ากันตอนนี้ คงเกิดขึ้นยาก ทหารควรอยู่ในระดับไหนในทางการเมือง อาจจะแสดงตนเป็นกลุ่มกดดัน กลุ่มผลประโยชน์ เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามไม่ทำอะไรขัดแย้งบานปลายไปมากกว่านี้ นี่คือบทบาทที่กองทัพบกทำได้อยู่  ส่วนตัวมองว่าถ้าจะไม่ให้ทหารยุ่งกับการเมืองเลย มันเป็นอุดมคติมาก ทหารก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์ มีการต่อรอง แสดงบทบาทในฐานะเป็นประชาชน เป็นตัวแสดงทางการเมืองที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศที่ยังคงแสดงออกมา บทบาทที่เป็นไปได้ในวันนี้ก็คงจะอยู่ประมาณนี้ หากจะเทียบกับระดับ1.ไม่สนใจอะไรเลย หรือระดับ 3 ที่เข้ามาเป็นผู้ปกครองหรือยึดอำนาจ ทหารจะอยู่กึ่งกลาง ที่ระดับ 2   รักษาบทบาทตรงนี้  แสดงบทบาททางการเมืองเท่าที่ตัวเองทำได้  ถ้ามากกว่านี้คือการรัฐประหาร  ซึ่งตอนนี้คงไม่กล้าเสี่ยง ที่จะทำแม้สถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นไปในรูปแบบไหนก็ตาม  

 

  • มองความเข้มแข็ง-ฐานอำนาจของ 3 ป. เปลี่ยนไปอย่างไร เข้มแข็งมากขึ้น หรือน้อยลง 

 

ที่เป็นทหารจากบูรพาพยัคฆ์ ร.21 รอ. จาก พล.ร.2 รอ. ก็ยังอยู่ ดำรงตำแหน่งสำคัญ  แต่ไม่ใช่ทหารอย่างเดียว วันนี้มีฐานทางการเมือง นักการเมือง ฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ยังเหนียวแน่น ยังพร้อมสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ในฐานะนายกฯ รมว.กลาโหม ในขณะที่ความเข้มแข็งของฝ่ายค้านก็ลดลงไปเยอะ เพื่อไทยก็มีปัญหาในพรรค มันลดทอนพลังการตรวจสอบรัฐบาล  ฐานอำนาจแบบนี้ ผมนึกถึงยุคพลเอกเปรม ในช่วงแรกๆประมาณ 3 ปี ที่ท่านอาศัยฐานทหารในกองทัพ แต่หลังเหตุการณ์เมษาฮาวาย ปี 2524 ถ้าเริ่มมองว่าใช้ฐานทหารอย่างเดียวไม่ได้ ต้องหาการเมืองด้วย ท่านก็ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมากขึ้นตั้งแต่ปี 2526 พรรคการเมืองก็พร้อมสนับสนุนท่านให้เป็นนายกฯ โดยกองทัพก็ยังคงอยู่กับท่าน ท่านทำแบบนี้ตั้งแต่ปี 2526 เรื่อยมา จนถึงประมาณปี 2529 ที่ยุบสภาเพราะว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหา แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ทิ้งไม่ได้เพราะฐานพรรคการเมืองคือฐานอำนาจสนับสนุนนอกจากกองทัพ กรณีรัฐบาลปัจจุบัน หากจะใช้ฐานอำนาจจากกองทัพอย่างเดียว แล้วไม่สนใจพรรคร่วม มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แล้วครับ ยังไงเสียงสนับสนุนในสภา ก็ยังสำคัญ โดยเฉพาะจากส.ส. การลงมติต่างๆก็ต้องฟัง ส.ส.ส่วนส.ว.ไม่ต้องพูดถึงเพราะเป็นฐานของพลเอกประยุทธ์อยู่แล้ว ไม่มีแตกแถว

 

  • ปี 2564 ห่วงความขัดแย้งหรือไม่จะหาทางออกอย่างไร     

 

ตอนนี้ทุกฝ่ายยอมรับความตั้งใจของคุณชวน ยกเว้นฝ่ายค้าน ต้องยอมรับว่า เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะสามารถหาทางออก คือความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตยมันปกติ การชุมนุมประท้วงมันปกติ ถ้าถามผมท้ายสุดมันต้องหาทางออกได้ แม้ต่างกลุ่มต่างฝ่ายจะเชื่อต่างกัน หากกลไกที่ประธานรัฐสภาผลักดันอยู่ เชิญคู่ขัดแย้ง มาพูดคุยเจรจาได้ อย่างน้อยมันจะสามารถหาทางออกให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ได้   

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image