‘นิกร’ แจง 7ด่านหินแก้รธน. เผชิญเส้นทางสุดวิบาก ลุ้น ‘เติมไฟ’ หรือ ‘ถอนฟืน’

หมายเหตุ – นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ก่อนรัฐสภาจะลงมติในวาระ 3 ช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้

⦁ ย้อนเส้นทางร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนโหวตวาระ 3

จากวันเริ่มต้นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาจนวันนี้ ถือเป็นเส้นทางวิบากมาก มีด่านหินอยู่หลายด่าน กว่าจะเป็นร่างแก้ไขต้องผ่านด่านแรก คณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก่อนว่ามีปัญหาต้องแก้หรือไม่ ผมร่วมเป็น กมธ. ได้เป็นเลขานุการอนุ กมธ.ศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ผลสรุปชัดว่ามีปัญหามากเพียงพอให้ยื่นร่างแก้ไข

ระหว่างนั้นได้มีการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็น 1 ในข้อเรียกร้อง โดยฝ่ายค้านแยกตัวไปทำร่างที่ 1 จากนั้นพรรคร่วมรัฐบาลก็ยื่นเป็นร่างที่ 2 มีลักษณะคล้ายกัน ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นหลักการสำคัญ ถือเป็นความสำเร็จในด่านแรก โดยมีการชุมนุมเป็นแรงส่งสำคัญ

Advertisement

แต่พอเข้ารัฐสภาต้องมาเจอด่านหินที่ 2 ซึ่งเป็นเสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน ในการผ่านวาระแรก ซึ่งวันนั้นถ้าเดินหน้าต่อไปไม่ได้แน่ จึงถูกมองว่าเป็นการยื้อ มีการตั้ง กมธ.พิจารณาก่อนรับหลักการเพื่อประคองไว้สำหรับการทำความเข้าใจ สถานการณ์ลำบากเพราะฝ่ายค้านบอยคอต เมื่อได้มีการพูดคุยกับ ส.ว.จบก็นำมาสู่การผ่านด่านที่ 2 ได้เสียง ส.ว.เกิน 84 เสียง รับหลักการสู่ชั้น กมธ. 45 คน

⦁ เบื้องหลัง 200 ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

ด่านหินที่ 3 คราวนี้เป็นเวที 3 เส้า กมธ. 45 คน มีฝ่ายค้านเข้าร่วม เดิมคิดว่ายาก มีความแตกต่างกันเยอะแต่ก็ผ่านมาได้ เพราะ ส.ว.ก็ยอมตัดเสียง 1 ใน 3 ออกให้ เช่นเดียวกับที่มา ส.ส.ร.จากที่แตกต่างกันมาก ร่างฝ่ายค้านให้เลือกตั้งทางตรง 200 คน แต่ร่างรัฐบาลให้เลือกตั้งโดยตรง 150 และตั้งจากสัดส่วนต่างๆ ที่คิดว่าจำเป็น อาทิ ผู้มีความรู้ สัดส่วนของนักศึกษา ตัวแทนรัฐสภา 50 คน แต่ด้วยเห็นว่าการกำหนด 50 คน จะทำให้ติดเชื้อ คนจะคิดว่ามีการแทรกแซง สืบทอดอำนาจ จะทำให้เสียของ ซึ่งซีกรัฐบาลก็ยอมตรงนี้ คุยกันจนเข้าใจ สุดท้ายเห็นกันเกือบเอกฉันท์ว่าให้มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน นอกจากนี้ยังให้ ส.ส.ร.ตั้ง กมธ.วิสามัญฯเองอีก 45 คน เปิดทางให้นำผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาช่วยเสริมได้เต็มที่

Advertisement

ขณะที่เรื่องกรอบการทำงานของ ส.ส.ร.ก็จบที่ภายใน 240 วันตามร่างรัฐบาล จะเห็นว่าทุกฝ่ายยอมกันไปมา เอาเหตุผลของแต่ละฝ่ายมาตัดสินใจด้วยกัน กระทั่งยอมกันไปมาในขั้นตอนสุดท้าย เมื่อ ส.ส.ร.ร่างเสร็จนำเข้าพิจารณาในรัฐสภาโดยไม่มีมติ ซึ่งการอภิปรายในรัฐสภา เพื่อชี้ประเด็น ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ก่อนทำประชามติ ตรงนี้เป็นข้อสรุปที่เป็นความสมานฉันท์ เกิดจาก ส.ว.ริเริ่มเสนอทำให้ผ่านด่านหินมาได้โดยไม่มีข้อข้องใจกัน

⦁ โหวตเปลี่ยนเขตจังหวัด เป็นแบบเขตเลือกตั้ง ส.ส.

พอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาในวาระ 2/2 ซึ่งเป็นด่านหินที่ 4 ปรากฏว่ามีการหักไม่เอาตาม กมธ.เสียงข้างมาก 2 หัก โดยหักแรกคือ จำนวนเสียงผ่านในวาระแรกกับวาระสาม กมธ.เสนอให้ใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 500 เสียง แต่เรื่องนี้มันมีปัญหาซ้อนกัน เพราะใน กมธ.แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกรัฐบาลยืนตามร่าง 3 ใน 5 หรือ 450 เสียง ส.ว.ต้องการใช้เสียงให้มาก ฝ่ายค้านเห็นว่าควรใช้เสียงแต่น้อยคือเกินกึ่งหนึ่ง

พอต้องลงมติ ถามว่าจะเอาตามร่างเดิม 3 ใน 5 หรือเปล่า ทั้งต้องการมากขึ้นกับต้องการน้อยลง คะแนนจึงไปรวมกันเพื่อต้องการจะเปลี่ยน 3 ใน 5 จึงตกไป ทำให้ที่สุดร่างของ กมธ.ออกมา 2 ใน 3 ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยกัน ผมได้สารภาพไปว่าเกิดจากปัญหาเทคนิค ไม่ใช่เกิดจากเจตนารมณ์ สุดท้ายจึงมีการโหวตในรัฐสภาไม่เอาตาม กมธ. กลับไปตรงกลาง 3 ใน 5 ที่เดิม ไม่มากไปไม่น้อยไป

หักที่สองคือ เขตเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่ผ่านมา กมธ.ใช้เขตจังหวัดตามร่างของทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่พอตอนหลังเห็นว่าเขตจังหวัดกว้างไป อย่าง กทม.มี ส.ส.ร. 17 คน ลงคะแนน 1 เสียง เลือกได้ 1 คน แล้วเอาตามลำดับ ซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่มีข้อโต้แย้งว่าถ้าเป็นเช่นนี้ แม้จะห้ามหาเสียง แต่คนที่มีชื่อเสียง มีตังค์มากได้เปรียบ จึงเสนอให้แบ่งเขตเท่าๆ กัน ถ้า กทม.มี 17 คน ก็แบ่ง 17 เขต จะได้ใกล้ชิดกับ ส.ส.ร.มากขึ้น ที่สุดผมก็แพ้โหวต น่าเสียดาย แต่ก็เคารพเสียงข้างมาก

หักสองหักนี้ หักแรกมีเหตุผล กลับไปที่เดิม ส่วนหักที่สองเป็นความเห็นก้ำกึ่งตั้งแต่ในชั้น กมธ.มติ 20 ต่อ 16 ต่างกัน 4 เสียง มาหักในรัฐสภาใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นความเห็นตามเสียงส่วนใหญ่

⦁ 38 มาตราพระราชอำนาจ เงื่อนไขส.ว.โหวตล้ม

แต่มีปัญหาในด่านนี้คือ ส.ว.ขอเพิ่มมาตราพระราชอำนาจถือเป็นความแตกต่างในเรื่องที่ละเอียดอ่อน โดยมีฝ่ายค้านส่วนหนึ่งเห็นว่าให้ตัดการห้ามไม่ให้ ส.ส.ร.แก้หมวด 1-2 ออก ซึ่งตามร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้านล็อกไว้ไม่ให้แก้ ขณะที่ ส.ว.ส่วนใหญ่ยังกังวลพระราชอำนาจในหมวดอื่นๆ อีก 38 มาตรา จึงเสนอให้เขียนห้ามไม่ให้ ส.ส.ร.ยุ่งเพิ่มเติมไปอีก

เรื่องนี้อนุ กมธ.ศึกษาปัญหาประเด็นข้อกฎหมายที่มี ส.ว.ร่วมได้ยกประเด็นนี้มาพิจารณาจนได้ข้อสรุปว่า ใน 38 มาตรานี้เป็นพระราชอำนาจที่แสดงความเป็นประมุขของประเทศ เช่น การประกาศสงคราม อำนาจการเปิดประชุมสภา ต่างจากในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนพระองค์ที่ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว แต่พระราชอำนาจดังกล่าวนั้นเป็นอำนาจที่เชื่อมโยงกับหมวด 1 การเข้าไปแก้ จึงเป็นเรื่องที่กระทำไม่ได้ โดยมาตรา 255 เขียนห้ามไว้ชัดอยู่แล้ว ซึ่ง ส.ว.ยังยืนยันให้บรรจุไว้ แต่ฝ่ายค้านไม่ยอม ทำให้ซีก ส.ว.รู้สึกว่าขอเพิ่มแค่นี้ก็ไม่ได้

มีความพยายามประนีประนอม พักประชุม 15 นาที แต่ความเห็นต่างตรงนี้ขั้วมันไกลกันเกินไปที่จะประนีประนอม จึงต้องโหวตกัน สุดท้ายออกกลางยึดตามร่างเดิม ยืนไว้ไม่ให้แก้หมวด 1-2 ขณะที่ 38 มาตราตามที่ ส.ว.ร้องขอก็ตกไป ตรงนี้เป็นที่น่ากังวลที่สุดว่าจะเป็นเงื่อนไขใช้อ้างในการโหวตไม่รับวาระ 3 ซึ่งทำได้ง่ายมาก แค่ไม่ให้เสียงสนับสนุน 1 ใน 3 จากฟาก ส.ว.

⦁ จับตาด่านหินศาลรัฐธรรมนูญ ตีความอำนาจรัฐสภา

แม้จะมีความกังวลในด่านที่ 4 แต่ก็ถือว่าผ่านแล้วรอ 15 วันโหวตวาระ 3 แต่ก่อนจะถึงด่านใหม่กลับดันมีด่านที่ซ้อนเข้ามา เป็นด่านที่ 5 โดยไม่ได้คิดไว้ก่อนจากหน่วยงานภายนอก เพราะสมาชิกพรรคแกนนำรัฐบาลกับ ส.ว.กังวลในอำนาจของตัวเองว่าสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ จึงลงชื่อเสนอและรัฐสภามีมติ 366 ต่อ 316 ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยมีการขอความเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง 4 คน คืออาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อาจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ และอาจารย์อุดม รัฐอมฤต ภายในวันที่ 3 มีนาคม และจะประชุมวันที่ 4 มีนาคม ซึ่งไม่รู้ว่าจะตัดสินเลยหรือไม่

ได้แต่ตั้งหวังกับอาจารย์ทั้ง 4 คนตามภาษาคนมองโลกในแง่ดี โดยคิดว่าศาลอาจจะสอบถามเรื่องเจตนารมณ์ ซึ่ง 2 ใน 4 คนนี้เราทราบจากการเชิญเข้ามาในอนุ กมธ.ว่ามีความเห็นอย่างไร โดยอาจารย์สมคิดท่านให้ความเห็นว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แม้จะแก้หมวด 1-2 ก็ทำได้ แต่ต้องทำประชามติเพราะถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ประชาชนสถาปนามา ขณะที่อาจารย์อุดมฟันธงว่าทำไม่ได้ ต้องแก้เป็นรายมาตรา แก้ทั้งฉบับไม่มีประเทศไหนทำกัน ดังนั้น 2 คนนี้เท่ากับหักล้างกันไป

⦁ วัดใจ ‘มีชัย-บวรศักดิ์’ ยึดประชามติ ชี้เจตนารมณ์

ส่วนอาจารย์บวรศักดิ์ แม้จะเป็นผู้ที่มีภาพส่วนอื่นอยู่ตามที่สังคมบางส่วนมอง แต่ถือว่าเป็นนักประชาธิปไตย และมีส่วนในรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงเชื่อว่าในมุมอาจารย์บวรศักดิ์น่าจะเป็นบวก ส่วนสุดท้ายอาจารย์มีชัยถือว่ามีความสำคัญมากของเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะเป็นประธาน กรธ. แม้จะกำหนดค่ายกลเจ็ดดาว แต่ในค่ายสุดท้ายในหมวด 1 ความเป็นรัฐ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ และองค์กรอิสระ หากผ่านประชามติก็ยังสามารถแก้ไขได้ ดังนั้น ในเมื่อความเป็นรัฐยังแก้ได้โดยประชามติแล้วรัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือของรัฐทำไมจะแก้ไม่ได้จากการทำประชามติ

การทำประชามติถือเป็นเงื่อนไขที่อาจารย์มีชัยใส่ไว้อย่างมีนัยสำคัญ แม้ที่ผ่านมาจะมีคนไม่พอใจอาจารย์มีชัย แต่ผมชื่นชมท่านในการเขียนมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญให้การออกกฎหมายต้องถามประชาชน ถือเป็นเรื่องใหม่ ท่านมองออกว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะให้ประชาชนมีอำนาจ ดังนั้น ผมจึงเชื่อว่าความเห็นอาจารย์มีชัยน่าจะเป็นบวกต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะท่านผูกไว้ให้ประชาชน แม้ความเป็นรัฐ ถ้าทำประชามติก็แก้ไขได้ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เอาด้วย

แต่ต้องยอมรับนี่คือด่านหินที่ประเมินไม่ถูก แต่ก็ยังมีความหวังอยู่จาก 3 ใน 4 คน เพื่อผ่านด่านนี้ไป ถ้าศาลพิจารณาแล้วไม่ให้ผ่านก็จบ ล้มเริ่มใหม่กลับไปตั้งความหวังกันครั้งใหม่

⦁ โหวตผ่านลดแรงเสียดทาน-ล้มกระดานหกเป็นระเบิดเวลา

แต่ถ้าศาลผ่านให้ก็เข้าสู่ด่านหินที่ 6 โหวตวาระ 3 ต้องผ่าน ส.ว. 84 คน ไปให้ได้ ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าศาลผ่านให้ก็จะมีน้ำหนักผ่านวาระ 3 เพราะจุดที่เป็นกังวลเรื่องรัฐธรรมนูญได้จบลงแล้ว เหลือเพียงข้ออ้างเรื่องพระราชอำนาจ 38 มาตรา ซึ่งผมยังมองว่าเหตุการณ์ในสภาเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก พอเวลาผ่านไปอาจจะเย็นลงก็ได้

จึงตั้งความหวังไว้ว่า ถ้าผ่านด่านที่ 5 แล้ว ด่านที่ 6 คงลดความรุนแรงลงมากพอสมควร แต่อีกครึ่งหนึ่งก็ยังห่วงการเมืองภายในประเทศ ขณะนี้รัฐบาลมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพมาก เป็นผลจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประกอบคำพิพากษาของศาล เมื่อเสริมฤทธิ์กับปัญหารัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็อาจนำไปสู่จุดแตกจากภายในรัฐบาลได้

ขณะที่ ปัญหาโควิด แม้จะได้วัคซีนมาแล้ว แต่ก็ยังเป็นปัญหาหนักอยู่ บวกกับการชุมนุมประท้วง ซึ่งสถานการณ์ในพม่า แม้จะภายนอกประเทศ แต่ต้องยอมรับว่า เขาเดินตามการชุมนุมในไทย ขณะเดียวกันเหตุการณ์ในพม่ายังอาจย้อนกลับมาส่งเสริมผู้เคลื่อนไหวในไทยด้วย ดังนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน บวกกับ 3 ประสานที่มีอยู่เดิมจะเป็นเงื่อนไขรอระเบิดได้เลย แล้วจะนำไปสู่อะไรที่คาดไม่ถึงได้ด้วย

⦁ ยกบทเรียนก่อนพฤษภาทมิฬ เตือนผู้มีอำนาจตัดสินใจ

ผมเคยมีประสบการณ์ในช่วงวิกฤตพฤษภาทมิฬ ช่วงนั้นก็มีแรงกดดันให้นายกฯมาจากการเลือกตั้งจนมีความเห็นว่าจะแก้เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ ม็อบก็อ่อนกำลังลง แต่ภายหลังผู้มีอำนาจกลับลำไม่ยอมแก้ เหมือนตอนนี้ที่จบวาระ 2 แล้วม็อบอาจจะน้อยลง ผมจึงกลัวว่าจะมีการตัดสินใจผิดแบบเมื่อปี 2534 ที่ตั้งใจว่าจะแก้แต่ไม่แก้ กลายเป็นสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงของประเทศได้

ตอนนี้ม็อบอาจจะไม่มาก แต่ความคาดหวังจากประชาชนในเรื่องเศรษฐกิจ และความไม่เห็นด้วยรัฐธรรมนูญมีมาอย่างยาวนาน เสมือนเป็นไฟสุมขอนอยู่ จึงหวังแต่ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายจะตัดสินใจกันให้ถูก ถ้าเราตัดสินใจผิดเราจะเสียใจไปตลอด

ดังนั้น การถอดสลักเรื่องรัฐธรรมนูญให้ผ่านไป สถานการณ์ทางการเมืองจะเย็นลง เมื่อเงื่อนไขใหญ่ปมรัฐธรรมนูญถูกคลี่คลาย รัฐบาลก็มีเวลาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จากสถานการณ์ตรงนี้จะเป็นแรงส่งให้เราผ่านด่านที่ 6 ได้ และนำไปสู่การผ่านด่านที่ 7 ประชามติได้อย่างไม่ยากนัก

เป็นเสมือนด่านสุดท้ายที่ผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว. จะเข้าไปพร้อมกัน โดยมีประชาชน พร้อมกระเช้าดอกไม้รอปรบมือให้อยู่ที่หมุดหมายของรัฐธรรมนูญของประชาชนฉบับใหม่ที่รอคอย

ขจรศักดิ์ สิริพัฒนกรชัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image