‘ยุทธพร’ มองเกมแก้ระบบเลือกตั้ง ชี้ 5 อุปสรรค ทำรธน.ฉบับปชช. ยังเป็นแค่ฝัน 

‘ยุทธพร’ มองเกมแก้ระบบเลือกตั้ง ชี้ 5 อุปสรรค ทำรธน.ฉบับปชช. ยังเป็นแค่ฝัน   

ตามที่ที่การประชุมรัฐสภา มีมติ 552 ต่อ 24 งดออกเสียง 130 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 27 รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ร่างที่ 13” ในวาระแรกเพียงร่างเดียวจากทั้งหมด 13 ร่าง ซึ่งเป็นร่างที่ ส.ส. 3 พรรคร่วมรัฐบาล “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา” โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำเสนอนั้น

วันนี้ (29 มิ.ย.) รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์ “มติชนออนไลน์” ถึงทิศทางทางการเมือง จากกรณีรัฐสภามีรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ร่างที่ 13” ก่อนที่ในชั้นกมธ. จะเริ่มต้นพิจารณา ในวันที่ 29 มิถุนายนนี้

อ.ยุทธพร มองว่า ในวาระที่ 2 จะเป็นส่วนสำคัญ สำหรับการผ่านร่างที่ 13 ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพราะการแปรญัตติวาระที่ 2 ต้องพิจารณาว่า จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ เนื่องจากร่างของปชป. ไม่มีเนื้อหารายละเอียดมากนัก พูดเพียงกว้างๆ ว่าให้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ นอกจากนี้ คือการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นระบบคู่ขนานเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

  • เชื่อร่างที่ 13 ออกได้ทุกหน้า โอกาสผ่านมี-เสี่ยงถึงมือศาลก็สูง

คราวนี้ประเด็นที่เกิดขึ้นคือ ข้อความบางส่วนอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หลายส่วนยังพูดถึงบัตรเลือกตั้ง 1 ใบอยู่ เช่น มาตรา 84-90 ซึ่งส่งผลให้กระบวนการแปรญัตติเกินกรอบที่รัฐสภาได้รับหลักการในวาระที่ 1 ไม่ได้

Advertisement

ทั้งนี้ ถ้าไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ วาระที่ 3 ก็อาจจะมีการหยิบยกประเด็น “ขัดกับรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมา

แต่ในแง่คะแนนเสียง มีโอกาสผ่านร่างได้เช่นเดียวกัน ส.ส.จะลงมติสนับสนุน เนื่องด้วยร่างที่ 13 ไม่มีรายละเอียดมาก จึงเกิดการแสวงจุดร่วมได้ง่าย ทั้งจาก ส.ส., พรรคการเมือง หรือ ส.ว.ก็ตาม เพราะการแก้ไขระบบเลือกตั้งและบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นเรื่องที่หลายพรรคล้วนแล้วแต่ต้องการ ส่วน ส.ว.คงไม่ขวาง เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ส.ว.โดยตรง ก็คงได้รับความเห็นชอบในวาระ 3

ที่สำคัญ ร่างของประชาธิปัตย์ ไม่ได้กำหนดสัดส่วนขั้นต่ำ เหมือนร่างของเพื่อไทย และ พปชร. ว่าพรรคไหนที่ได้น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ จะไม่ถูกนำมาคิดบัญชีรายชื่อ แต่ร่างของประชาธิปัตย์นั้น ให้ทุกพรรค

ในขณะเดียวกัน คะแนนเสียงจากบรรดาพรรคการเมืองที่ไม่มีที่นั่งในส่วนของฝ่ายบริหาร หรือรองประธานสภา อีกร้อยละ 20 รวมแล้วประมาณ 40 กว่าที่เท่านั้น ก็คงจะหาได้ไม่ยาก คงจะผ่านไปได้ แต่สุดท้ายเมื่อร่างของประชาธิปัตย์ไม่ได้ลงรายละเอียดมาก อาจมีการไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า ร่างฉบับที่ 13 นี้ ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

  • ถ้าผ่านการเมืองยุค 40 กลับมา คว่ำกลางทางได้ส.ว.คุมสภา  

ดังนั้น สมมติว่าผ่านสภา มีการเลือกตั้ง รูปโฉมของการเมืองภายใต้กติกาที่ได้นี้ ก็จะออกมาในลักษณะการเมือง 2 พรรคใหญ่ เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ต่างกันตรงที่ จะประกอบไปด้วยพรรคเล็ก พรรคน้อย ส่วนรัฐบาลแบบพรรคเดียวนั้น คงจะเกิดขึ้นได้ยาก ถ้าไม่มีการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำเอาไว้

อย่างไรก็ดี หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปต่อไม่ได้ สิ่งที่เราจะได้เห็นคือ วาระที่ 3 จะมีการโหวตคว่ำ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น ถ้าลงมติต่อไปก็จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนี้มีหลายฝ่ายกังวลว่า จะมีกระบวนการไปสอดไส้อะไรกันหรือไม่ จึงเป็นเหตุให้เกิดการไม่โหวตในวาระ 3 ได้

ท้ายที่สุด หากรัฐธรรมนูญร่างที่ 13 ไม่ผ่าน จะทำให้กติกาทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ระบบการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ แต่ตัดคะแนน 2 ครั้ง ก็ยังอยู่เหมือนเดิม ฉะนั้น ถ้ามีการยุบสภา กติกาก็ไม่เปลี่ยน แต่หากผ่าน ก็ยังไม่สามารถใช้ได้อยู่ดี ต้องไปแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ และรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติที่ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในร่างที่ 13 ด้วย ฉะนั้น ยังมีขั้นตอนอีกมาก แต่ถ้าไม่ผ่านจริงๆ ทุกอย่างจะกลับสู่สภาพเดิม คือการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ถูกกำกับ โดย ส.ว.

  • ฉายภาพ ศึก “รื้อโครงสร้าง” ปะทะ “แก้เชิงเทคนิค” 

จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สะท้อนภาพ 2 มุม คือ 1.การต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังคงมีอยู่ อาจเรียกได้ว่า เป็นอุดมการณ์ที่สืบทอดมาจาก คสช. เช่น ส.ว. และ บรรดาพรรคพลังประชารัฐ 2.ฝ่ายอุดมการณ์การเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง คือพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน เพียงแต่โทนอาจจะเข้ม-อ่อนต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการปิดสวิตช์ ส.ว. ตามมาตรา 272, การยกเลิกไม่ให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ, การเสนอให้มีนายกฯ คนใน หรือมาจาก ส.ส., การเสนอให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, การเสนอให้ยกเลิกมาตรา 279 ที่ไปรับรองประกาศคำสั่ง คสช. ซึ่งประเด็นเหล่านี้ปรากฎว่า “ตกทุกร่าง” ซึ่งเหล่านี้ เป็นการแก้ไขใน “ประเด็นโครงสร้าง” ทั้งนั้น

ในขณะกลุ่มที่ 2 คือ “ประเด็นเชิงเทคนิค” เช่น เรื่องที่เป็นเป้าหมายของแต่ละพรรค ไม่ว่าบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่ถูกเสนอจากทุกพรรค หรือแม้กระทั่งมาตราที่เพิ่มความเข้มแข็งของพลังประชารัฐ อย่าง มาตรา 144 ตัดบทลงโทษ ส.ส. ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการแปรญัตติงบประมาณ และ 185 ตัดบทลงโทษ ส.ส. ที่เข้าไปแทรกแซงระบบราชการ ก็ไม่ผ่าน กระทั่งการสร้างฐานเสียงของพรรคการมือง, การกระจายอำนาจ, เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน, การมีหลักประกันรายได้ หรือแม้กระทั่ง การสร้างดุลอำนาจขององค์กรอิสระ อย่าง ป.ป.ช. ก็ไม่ผ่านทั้งสิ้น เมื่อผ่านเพียงประเด็นเชิงเทคนิค ถามว่าประชาชนจะได้อะไร ก็คงไม่ค่อยจะได้อะไรมากมายนัก

ดังนั้น ที่ต้องเกิดวันนี้ คือ “รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม” เข้าไปขีดเขียน แก้ไข และร่างใหม่ทั้งฉบับ โดยมีสะพานร่วมคือ ส.ส.ร.

  • มอง 5 อุปสรรค “รัฐธรรมนูญฉบับปชช.” ยังเป็นแค่ฝัน  

อย่างไรก็ดี มีปัจจัยที่เป็นอุปสรรค 5 ประการ ที่ทำให้ไปไม่ถึงฝัน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ คือ

1.การดำรงคงอยู่ของ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล และอำนาจพิเศษในการเป็น “สภาถ่วงดุล” กับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญตาม ม.256

2.คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตีกรอบกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับว่าต้องทำประชามติก่อนแก้ไข

3.พลังทางสังคมที่จะเป็นแรงผลักดันยังมีไม่มากเพียงพอ อันเนื่องมาจากการแบ่งขั้วทางสังคมการเมือง (Polarization) ยังคงมีอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างของสังคมไทย

4.อำนาจรัฐแทรกแซงกระบวนการสร้างประชาธิปไตย (Democratization) ในสังคมไทย

5.พ.ร.บ.ประชามติ แม้จะผ่านสภา แต่ใน ม.9 ช่องทางในการขอทำประชามติยังคงต้องผ่านคณะรัฐมนตรี ซึ่งอำนวยให้ฝ่ายบริหารมีความได้เปรียบ

ซึ่งการทำประชามติจากประชาชนเพื่อล้มรัฐธรรมนูญ 60 หรือไม่ว่าจะมาจากช่องทางใดก็ตาม สุดท้ายต้องผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งหมด เท่ากับว่า ครม. คือผู้ควบคุมกำกับการทำประชามติ ที่กฎหมายออกมาแบบนี้เพราะรัฐธรรมนูญได้เขียนกรอบใหญ่ไว้ว่า จะต้องริเริ่มโดย ครม.ตามมาตรา 9

คืออุปสรรคทั้ง 5 ประการที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเกิดขึ้นได้ยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image