‘บะหมี่-ประภาวี เหมทัศน์’ ผุดแคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม-ฟาดรัฐเยียวยาไม่สมเหตุสมผล

‘บะหมี่-ประภาวี เหมทัศน์’ ผุดแคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม-ฟาดรัฐเยียวยาไม่สมเหตุสมผล

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เมื่อโลกออนไลน์เกิดแฮชแท็ก #กูจะเปิดมึงจะทำไม แคมเปญนี้ผุดขึ้นหลังจาก ศบค.ประกาศห้ามร้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงและเข้มงวด ซึ่งเป็นมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ของรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน

แคมเปญเกิดขึ้นจากเฟซบุ๊กของหญิงสาวรายหนึ่ง ที่เขียนข้อความเชิญชวนร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของ ศบค. และต้องการแสดงออกแบบอารยะขัดขืนต่อคำสั่งกล่าว

มติชนออนไลน์ ได้สัมภาษณ์ ‘บะหมี่-ประภาวี เหมทัศน์’ นักเคลื่อนไหวเรื่องธุรกิจแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นผู้ผุดแคมเปญนี้ ถึงที่มาไป แคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม

เริ่มเต้นของแคมเปญดังกล่าวมาจากไหน

“บะหมี่-ประภาวี บอกว่า มันเริ่มต้นมาจากความโกรธและโมโห สิ่งที่รัฐบาลออกมาตรการกระทบกับกลุ่มร้านอาหาร ผู้ประกอบการธุรกิจนี้แบบเหมารวม และไม่เคยได้รับการเยียวยาที่สมเหตุสมผล

Advertisement

แวบแรกเลยนะเรารู้สึกว่าไม่มีทางไหนที่ร้านอาหารจะรอดเลย ที่ผ่านมาร้านพยายามเสนอมาตรการทุกอย่างที่จะทำให้ร้านรอดได้ แต่ภาครัฐไม่เคยสนใจเลยตอนที่ออกคำสั่งก็ออกเลย ไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่าร้านไหนมีคนที่ติดเท่าไหร่ คลัสเตอร์นั้นๆ อยู่ดีๆ ก็สั่งเลย รู้สึกว่าทำไมไม่สนใจเราเลย เมื่อไม่สนใจเรา ทำไมเราต้องสนใจด้วย ก็เลยโมโหแล้วก็บอกว่าไม่ต้องไปฟังแล้ว เปิดเลยดีกว่า

จากนั้นก็นอนคิดว่าถ้าเปิดจริงเราต้องทำยังไง ก็เขียนลงในเฟซบุ๊ก จากนั้นตื่นเช้ามาก็คนแชร์ ก็เลยคิดว่าถ้าคนแชร์เยอะ มันก็ต้องมีคนเห็นด้วยกับเรา มีแนวร่วม ก็ถามคนที่รู้จักร้านต่างๆ ซึ่งก็มีคนบอกว่าถ้าทำจริงๆ มันอันตรายกับร้าน อาจจะได้รับผลกระทบ เลยมีไอเดีย มีแนวคิดทำเป็นสัญลักษณ์ เป็นแบบดาวกระจายตามร้านไหม คืออาจจะเป็นสัญลักษณ์ ไปจัดกิจกรรมเพื่อให้คนมาซื้อของ

Advertisement

ร้านที่เขาเป็นแนวร่วมในเครือข่ายเราที่มาลงชื่อกับเรา เราก็จะได้รู้จัก มีคนมาสนับสนุน แต่เมื่อทำไปแล้วรัฐยังไม่สนใจเยียวยา เราก็จะต้องทำต่อ อาจจะเป็นการจัดให้คนขายกับคนซื้อมาเจอกัน หรือถ้ามีร้านไหนอยากขายจริงๆ ทุกวันนี้มีคนแอบขายอยู่แล้วเพื่อให้ร้านอยู่รอด

ยอมแลกกับการจ่ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งกลายเป็นว่าคนที่ทำผิดกฎหมายอยู่ได้ ที่ผ่านมา เรายื่นหนังสือเรียกร้องให้กับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตลอดตั้งแต่ปีที่แล้ว มีการพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผับบาร์ นักดนตรี หรือสมาคมภัตตาคารก็ออกมายื่นหนังสือ คือทำกันเยอะมาก ปรากฏว่าภาครัฐก็ยังคงไม่ฟังเรา

ทำไมถึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับแวดวงร้านอาหาร

ด้วยอาชีพที่ต้องทำงานเกี่ยวกับร้านอาหาร เพราะเป็นตัวแทนขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลุุ่มคราฟต์เบียร์ จากการพูดคุยในกลุ่มก็จะรับรู้ปัญหาความเดือดร้อนของคนกลุุ่มนี้มาตลอด กลุ่มร้านค้าร้านอาหาร ร้านกาแฟร้านเบียร์ เหล่านี้ได้รับผลกระทบอะไรยังไงบ้าง

ยอดขายลดลง 70% ร้านชาบู หมูกระทะ แทบจะไม่มีแบบ Order ดิลิเวอรีเลย หลายร้านก็ปิดไปแล้ว ปิดไปตั้งแต่โควิดปีที่แล้ว เพราะปีที่ผ่านมาก็สั่งปิดติดต่อกันหลายเดือน ไม่ให้นั่งในร้านมันก็เหมือนร้านต้องปิด

และสิ่งหนึ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ก็คือ ห้ามนั่งกินข้าวในร้านอาหารมันไม่ได้ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลง และจำนวนผู้ติดโควิดมันก็ไม่ได้ลดลง แต่เวลาสั่งปิด ห้ามขาย ห้ามนั่งกิน สั่งทุกร้าน มันควรจะเป็นร้านๆ หรือร้านไหนไม่ทำตามมาตรการก็ปิด ไม่ใช่ปิดทุกร้าน พอปิดแล้วก็ไม่มีมาตรการเยียวยาที่สมเหตุสมผล ไม่ได้มีมาตรการมาช่วยจ่ายเงินเดือนลูกน้อง หรือค่าเช่าให้ผู้ประกอบการเลย

เมื่อก่อนร้านอาหารเหล่านี้ยังมีช่องทางบ้าง จะมีรายได้จากการขายเครื่องดื่ม เบียร์คราฟต์ ให้คนซื้อกลับไปกินที่บ้านได้ แต่ตอนนี้ก็ทำไม่ได้แล้ว ที่ผ่านมาร้านเหล้าเบียร์ ที่เป็นรูปแบบร้านอาหารพยายามปรับตัวให้เป็นร้านอาหารเพื่อจะทำให้ร้านอยู่ได้ บางร้านอยู่ได้ บางร้านอยู่ไม่ได้

และที่สำคัญ กลุ่มผู้ขายคราฟต์เบียร์ก็จะต้องบอกลูกค้าในเฟซบุ๊ก หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ ให้ลูกค้ารับทราบว่ามีเบียร์อะไรเข้ามาใหม่ เพราะคราฟต์เบียร์มันไม่ได้มีแค่ 2 ยี่ห้อ มันหลากหลายมาก ลูกค้าหรือผู้บริโภคก็มีสิทธิที่จะรับรู้ ก่อนที่จะเดินทางไปซื้อกลับบ้าน แต่ตอนนี้ทำไม่ได้แล้วเพราะมีประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์

ไล่จับ ปรับกลุ่มผู้ค้าหนักมาก เครื่องมือการขายออนไลน์ เราที่มีอยู่ช่องทางเดียวมันทำไม่ได้แล้ว ที่ผ่านมาเราก็พยายามลงชื่อแก้กฎหมาย ตอนนี้อยู่สภา กำลังรับฟังความคิดเห็น แต่จู่ๆ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค ร่าง พ.ร.บ.อีกฉบับหนึ่งมาประกบ ซึ่งมีการแก้ไขที่แบบเพิ่มโทษทุกอย่างให้มากกว่าเดิม เพิ่มอัตราส่วนของ NGO รณรงค์เครือข่ายในการทำงานให้มากขึ้น เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาบุกจับยึดของกลางได้เลย อีกทั้งยังมีเรื่องการห้ามสนับสนุนส่งเสริมให้ดื่ม เมื่อถามมันถูกตีความเป็นแบบไหนได้บ้าง เพราะเพียงแต่คุณโพสต์หรืออธิบายสินค้ามันก็จะถูกตีความได้ว่าคุณสนับสนุนส่งเสริมให้บริโภค

และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือร่างกฎหมายฉบับ สคอ.นั้นมันเพิ่มโทษจากที่เคยเห็นค่าปรับหากเห็นว่าเป็นการโฆษณา ถูกปรับ 500,000 บาท ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาอาจจะลดให้เหลือ 50,000 บาท แต่กฎหมายใหม่ คนธรรมดาโดน 500,000 บาท ผู้ผลิตและผู้นำเข้าโดน 1 ล้านบาท โทษมันเว่อร์มาก ไม่ยุติธรรมเลย

-จากแคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม เริ่มกลัวผลกระทบมั้ย?

ไม่นะ ไม่กลัว เพราะเรายังไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย เราแค่ส่งเสียง พูดสิ่งที่เราคิด ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่ามันจะกลายเป็นประเด็นที่หลายคนคิด สนใจ กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ และมีสื่อหยิบยกไปถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

เราเพียงแต่คิดแล้วไปตรงใจกับหลายๆ คน ว่ารัฐบาลสั่งเราแบบนี้ไม่มีเหตุผล และไม่มีการเยียวยาอะไร ทำไมเราต้องฟัง พอเราเขียนออกไป ทุกคนก็คิดว่า เออใช่ แบบนี้เอาด้วย เลยมีการแชร์ข้อความออกไป เราไม่ได้บอกให้ร้านเปิด เราได้แค่เชียร์แล้วเขาจะเปิด มันเป็นสิทธิของร้าน เราไม่ได้เป็นรัฐบาลไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งอะไรใครอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราทำได้แค่อยากให้ร้านพวกนี้สู้

-มีเจ้าหน้าที่รัฐติดต่อมาบ้างหรือยัง

…ยัง ตอนนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ หรือภาครัฐ แต่สิ่งที่เห็นคือเราเห็นว่ามีสื่อไปสัมภาษณ์ร้านอาหาร และหลายร้านบอกว่ามันจะเสี่ยงโรค หรือไม่ถ้าเปิด แต่รวมแล้ว ร้านไม่พอใจกับการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ ส่วนตัวคิดว่าอย่างน้อยสิ่งที่เราคิดแคมเปญมันทำให้ร้านอาหารหลายๆ แห่งเป็นที่พูดถึงและมีคนเริ่ม มีคนสนใจว่าพวกเขาเหล่านั้นได้รับผลกระทบ

-จะเริ่มแคมเปญนี้เมื่อไหร่

น่าจะคิกออฟสัปดาห์หน้า ตอนนี้คิดว่าจะทำเป็นเขตๆ ในพื้นที่ กทม. มีร้านที่เข้าร่วมแคมเปญแล้วกว่า 400 ร้าน มีการจัดดนตรีเแบบอันปลั๊ก แล้วให้คนเข้าไปซื้อของในร้านไม่เกิน 20 คน ล่าสุดมีคนโทรมาบอกว่าอยากซื้อของร้านที่ได้รับผลกระทบไปช่วยคนในพื้นที่ เราคิดว่าเป็นแนวคิดที่ดีเลยหาร้านที่ได้รับผลกระทบ แล้วให้คนที่อยากทำบุญไปซื้อของไปแจกในพื้นที่ เราจะเป็นคนกลางคอยประสานให้

-มีบางกลุ่มไม่เห็นด้วย

ใช่ เห็นคนเข้าไปคอมเมนต์ แสดงความคิดว่าเราเป็นพวกเห็นแก่ตัว ไม่กลัวโควิดแพร่ระบาดเหรอ เป็นพวก 3 กีบ มีการโยงกลุ่มการเมือง ซึ่งมันไม่เกี่ยวกันเลย และสามารถอธิายได้หมด ก่อนหน้านี้เราไปร่วมแฟลชม็อบเพื่อพูด เรียกร้องในเรื่องสุราปลดแอก

เรื่องจตุพร พ่วงทอง

ภาพ-พนิดา รัตนูปการ

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image