‘สุชัชวีร์’ปลุกคน‘กทม.’ ‘เราทำได้’เปลี่ยนกรุงเทพฯ

‘สุชัชวีร์’ปลุกคน‘กทม.’ ‘เราทำได้’เปลี่ยนกรุงเทพฯ

‘สุชัชวีร์’ปลุกคน‘กทม.’
‘เราทำได้’เปลี่ยนกรุงเทพฯ

หมายเหตุ – นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์“มติชน” ภายหลังเปิดตัวลงรับสมัครผู้ว่าฯกทม. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 และลงพื้นที่พบปะประชาชน

⦁กระแสตอบรับหลังจากเปิดตัวลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

ไม่น่าเชื่อว่าจะดีกว่าที่คิดไว้เยอะ เพราะก่อนที่จะประกาศตัวเชื่อว่าคนรู้จักตนแค่บางกลุ่มเท่านั้น เช่น คนที่ทำงานด้านการศึกษา ด้านวิศวกรรม และอาจจะมีเห็นตนลงพื้นที่ตอนที่ฝนตก น้ำท่วม แผ่นดินไหว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราเน้นไปลงชุมชน โรงเรียน ก็ว่ามีวัยรุ่น พ่อแม่ และปู่ย่า ตายายมาขอถ่ายรูปด้วย และเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ที่ชุมชนตึกแดง เขตบางซื่อ มีคนนำเงินมาให้ 100 บาท บอกว่าช่วยตนสร้างโรงพยาบาล เนื่องจากรู้ว่าสร้างโรงพยาบาล ซึ่งรู้สึกตื่นเต้น

Advertisement

ส่วนเรื่องนโยบายที่จะเสนอต่อประชาชน ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ที่มีการเปิดตัว คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ว่าสุชัชวีร์เป็นใคร วันนั้นจึงเล่าชีวิตให้ฟังว่าเป็นใคร ผ่านอะไรมาบ้าง หลังจากนั้นก็มาเรื่องวิสัยทัศน์ ซึ่งก่อนจะมีนโยบาย ว่าที่ผู้สมัครต้องบอกก่อนว่าวิสัยทัศน์คืออะไร และวันนั้นตนก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่ากรุงเทพฯต้องเป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย ต้นแบบของอาเซียน อย่างไรก็ตาม อาสาที่จะดูแลเด็กเล็กๆ ตั้งแต่คุณแม่เขาตั้งครรภ์รวมถึงผู้ใหญ่ในด้านสาธารณสุข เรื่องการเดินทาง ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฝุ่นพิษ ซึ่งต้องทันสมัย ซึ่งกรุงเทพฯจะใช้ระบบโบราณไม่ได้แล้ว เราต้องเรียนรู้การทำงานแบบใหม่ ใช้เทคโนโลยี และนอกจากผู้ว่าฯกทม. จะดูเรื่องการบริการประชาชนแล้วต้องพัฒนาเมืองไปสู่อนาคต ไม่เช่นนั้นจะย่ำถอยหลัง ทั้งนี้ การจะไปอยู่อนาคตได้เราต้องมีเป้าหมายขององค์กร ของเมือง ต้องเป็นต้นแบบของอาเซียน ไม่เช่นนั้นเราจะสู้สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ไม่ได้ ทั้งที่ทุกอย่างของกรุงเทพฯมีความพร้อมมากกว่า

ในการหาเสียงต้องมีศัพท์ที่บ่งบอกถึงตัวเราหรือทีมเรา ซึ่งต้องบอกเลยว่า “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” เรานำเสนอเช่นนี้แล้วบุคลิกเป็นคนเอาจริงเอาจัง ทำงานลุย เรียกว่าหนักกับปัญหาเต็มที่ เราก็ต้องมาเปลี่ยนกรุงเทพฯให้ดีขึ้นและต้องตอกย้ำว่าเราทำได้ แต่หากเราไม่เชื่อว่าเราทำได้ ในขณะที่เมืองอื่นทำได้หมดแล้ว เราก็จะย่ำอยู่กับที่หรือย่ำถอยหลัง โดยในช่วง 3 สัปดาห์แรกจะเป็นช่วงที่เราต้องส่งสัญญาณไป หลังจากนั้นนโยบายก็ค่อยๆ ออกมาว่าสวัสดิการคืออะไรบ้าง ทันสมัยคืออะไร ต้นแบบอาเซียนควรจะทำอะไรเพื่อให้เป็นต้นแบบ และจะมีการเพิ่มนโยบายให้มีการจับต้องได้มากขึ้น โดยจะมาจากวิสัยทัศน์ที่ต้องชัด ซึ่งวิสัยทัศน์ของตนก็ชัดเจนคือ จะต้องเปลี่ยนกรุงเทพฯให้เป็นเมืองสวัสดิการ การทำงานบริการต้องทันสมัย ต้นแบบของอาเซียน โดยเราต้องเปรียบเทียบกับคนที่ดีกว่าและนโยบายก็มีพร้อมอยู่แล้ว เพราะต้องมาพร้อมกับวิสัยทัศน์

ช่วงนี้การลงพื้นที่ไม่ได้มีเจตนาเรื่องหาเสียง แต่มีเจตนาเพื่อทดสอบนโยบายต่างๆ ทั้งเรื่องของสวัสดิการว่าเรามาถูกทางหรือไม่ ซึ่งการจะรู้ได้ว่ามาถูกทางหรือไม่คือต้องลงพื้นที่ ปรากฏว่าไปถูกยิ่งกว่าถูกอีกเพราะเมื่อวานนี้ไปลงพื้นที่ที่ชุมชนตึกแดง เขตบางซื่อ ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กทม.ดูแลหัวละ 20 บาทเท่านั้น แต่ต้องซื้อทั้งนม อาหารหลักห้าหมู่ ขนม ขณะนี้หมูก็กิโลกรัมละ 200 บาทแล้ว ซึ่งเมื่อเห็นแล้วแสดงว่าเรามาถูกทาง โดยเราจะต้องดูเรื่องสวัสดิการในส่วนนี้ให้ดีขึ้น และนี่เป็นการทดสอบนโยบาย ไม่ใช่คิดขึ้นมาจากประสบการณ์ของเราแต่ไม่มีการทดสอบ สุดท้ายแล้วแม้จะสามารถทำได้ แต่ก็ทำได้ไม่โดนใจ หรือไม่ได้ตอบโจทย์จริงๆ

Advertisement

ต้นแบบของอาเซียน เมื่อไปคุยกับหลายๆ คนเขาก็บอกว่าเราควรให้คะแนนของเด็ก กทม.ได้เปรียบเทียบกับมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่เมืองหลวงของเวียดนาม จะได้รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน แต่หากเราไม่ตั้งเป้า ไม่กล้าที่คิด พูด ทำ สุดท้ายเราก็แข่งกับตัวและมันก็ย่ำอยู่แบบนี้ ยืนยันว่าการแข่งกับคนเก่งในเรื่องของความดีเป็นประโยชน์ต่อตัวและลูกหลานเรา ปรากฏว่าเมื่อลงพื้นที่แล้วก็ใช่ แสดงว่าวิสัยทัศน์ นโยบายของเรามาถูกทางแล้ว จะทำอย่างไรให้มีความละเอียดขึ้นและสื่อสารไปเขาเข้าใจเรา และอย่าคิดว่าคนจะเข้าใจนโยบายเราได้ทุกคน เพราะมันยาก แต่ถ้าเรามีโอกาสรับฟังมากขึ้น เราจะมีวิธีพูดให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น การลงพื้นที่อันดับแรกต้องการตรงนี้ ไม่ใช่เรื่องของการหาเสียงแต่อย่างใด

⦁การเตรียมความพร้อมที่จะแข่งกับผู้สมัครคนอื่นที่มีปรากฏชื่อมาแล้ว

เราสละทุกอย่างในชีวิต เพื่ออาสามาทำตรงนี้เราก็ต้องมีความพร้อมทั้งในเรื่องของครอบครัวที่สนับสนุน ความรู้ประสบการณ์ที่เราสะสมมา และความพร้อมในด้านจิตใจ เพราะต้องเจอทุกรูปแบบ ซึ่งคำขวัญของเราคือ เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้ ก็จะต้องเริ่มจากเราต้องทนให้ได้ก่อน และเคยพูดบนเวทีแล้วว่าต้องทนให้ได้

บอกกับเพื่อนที่โทรมาให้กำลังใจว่าต้องเจอทุกรูปแบบในยุคโซเชียลมีเดีย หากคิดถึงแต่ตัวเอง คงกลับบ้านไปแล้ว เพราะลูกก็น่ารัก ครอบครัวก็อบอุ่น แต่ที่ยังเดินหน้าต่อไปทั้งที่เจอทุกรูปแบบ แสดงว่าไม่ได้คิดถึงตัวเองแล้ว อยากจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ เปลี่ยนประเทศจริงๆ และต้องเดินต่อและทนให้ได้ ซึ่งตนไม่โกรธใครเลย ตนมีหน้าที่ที่ต้องเดิน มีหน้าที่ที่จะต้องอธิบาย ทั้งนี้หากจะสอนเด็กไทยว่าเด็กไทยไม่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่เขาบอกเขาจะเป็นนักบินอวกาศ คุณก็กดเขาแล้ว เขาอยากเป็นนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก ก็บอกโอกาสน้อย ทำแบบนี้ได้อย่างไร ก็อยากแสดงตัวอย่างว่าจากเด็กบ้านนอกมาตรงนี้ก็อยากคงไว้ซึ่งความกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำให้สำเร็จ และต้องอดทนเดินหน้าต่อไป

⦁การตัดสินใจมาลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามของพรรค ปชป. ถือเป็นตัวชี้วัดความเชื่อมั่นของพรรค ปชป.จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562

คิดว่าการที่ต้องยอมสละทุกอย่างในชีวิต เราต้องคิดละเอียด และพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคการเมืองที่มีประวัติศาสตร์นานๆ ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ มันก็จะมีขึ้นมีลง ฉะนั้น ปัจจัยในอดีตคงจะไม่มาทำให้คิดว่าในอนาคตต้องเป็นเหมือนเดิม เหมือนคนที่ไม่ได้จะโชคดีเสมอไป วันนี้โชคดี พรุ่งนี้อาจจะสะดุด วันหน้าเดินต่ออาจจะมีโชคอีก ซึ่งในส่วนนี้ไม่ใช่ปัจจัยที่นำมาคิด ส่วนที่มาอยู่กับพรรค ปชป.คือเห็นพลังเปลี่ยนแปลงในพรรคการเมือง รวมถึงมีการให้โอกาสคนรุ่นใหม่ซึ่งไม่ใช่แค่ตนคนเดียว และตนก็ไม่ได้เติบโตหรือไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาก่อน ถือเป็นคนนอกแต่ก็ได้โอกาสเข้ามา

อีกประการคือยิ่งลงพื้นที่ยิ่งรู้ว่าการมาเดี่ยวๆ ไม่ใช่ เช่น หากไปบางซื่อเราก็ไม่รู้เลยว่าเราต้องไปสวัสดีใคร หรือไปบางกอกน้อยก็ไม่รู้เลยว่าเราต้องไปถามใครถึงจะให้คำตอบปัญหาตรงนั้นได้ดีที่สุด ทั้งนี้ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีระบบรัฐสภา พรรคการเมืองใหญ่ การเมืองในท้องถิ่นอย่าง กทม.เขามีการเช็กแอนด์บาลานซ์ ในขณะเดียวกันเขาก็ทำงานเป็นทีม หากนายกรัฐมนตรีไม่มี ส.ส. วิสัยทัศน์ดีอย่างไร งบประมาณก็ไม่ผ่าน ทั้งนี้ วันแรกที่ลงพื้นที่เราไม่มี ส.ก.ไปกับเราเลย วันนั้นเขาบอกเขาทำตามผู้ว่าฯไม่ได้ เพราะเขาหาเสียงอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นในการลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ยิ่งเดินยิ่งรู้เลยว่าต้องไปเป็นทีมและต้องไปด้วยวิสัยทัศน์เดียวกัน เราสัญญาพร้อมกัน เมื่อได้ไปแล้วก็ต้องทำให้มันเกิดขึ้น ที่สำคัญคือเขาก็อยู่ในพื้นที่ด้วย เขารู้ปัญหา เขารู้ว่าเราควรจะคุยกับใคร และระบอบประชาธิปไตยแบบเราถูกออกแบบมาว่า ผู้ว่าฯหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรียังต้องทำงานเป็นทีม จึงตัดสินใจว่าอย่างไรก็ต้องสังกัดพรรคการเมือง

⦁มองว่ากระแสนิวโหวตเตอร์เป็นปัจจัยชี้ขาดผลแพ้-ชนะ มีวิธีการสื่อสารกับคนกลุ่มนี้อย่างไร

แน่นอน อยากบอกว่า ให้คนรุ่นใหม่ต้องมีความเชื่อและความหวัง และต้องเห็นใจคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เพราะเขาไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง เขาเกิดมาก็ต้องกินข้าวเช้าในรถ ต้องเรียนโรงเรียนไกลบ้าน เกิดมาก็รถติด หรือบางคนเกิดมาซอยบ้านที่เมื่อมีฝนตกน้ำก็ท่วม เห็นฝุ่นพิษ PM2.5 เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่ซ้ำซากจนบางครั้งเขาอาจคิดว่าไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้แล้ว โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เขายังไม่มีโอกาสได้เดินทางไปเรียนที่อื่นหรือท่องเที่ยวเหมือนผู้ใหญ่

อันดับแรกอยากบอกว่า เขาจะเลือกใครไม่สำคัญ แต่เขาอย่าทิ้งความเชื่อและความหวังว่ากรุงเทพฯ มันเปลี่ยนได้ ผมยกตัวอย่างสิ่งที่ผมเคยทำมาหรือสิ่งที่ผมเห็นในเมืองอื่นๆ และอยากจะบอกเขาว่าเมืองที่เขาเจอปัญหาหนักกว่าเรา เช่น โตเกียว ฝนตกหนักกว่าเราเยอะ ฝนตกน้ำก็ไม่ท่วม เขามีรถมากมาย รถเขาก็ไม่ติด เขาก็ไม่มีฝุ่น PM2.5 คุณภาพการศึกษาเขาก็เรียนฟรีเหมือนกับเรา เขาก็ได้คะแนนติดระดับโลกได้ คุณพ่อคุณแม่เขาอายุเป็นร้อยปีได้ แสดงว่าการสาธารณสุขเขา การดูแลนั้นสามารถทำได้

รวมถึงอยากบอกคนรุ่นใหม่อีกครั้งว่าจะเลือกใครไม่สำคัญ แต่อยากจะให้เขามีความหวัง มีความเชื่อว่ากรุงเทพฯ มันเปลี่ยนได้ ผมในฐานะเป็นพี่คนหนึ่งขอเป็นตัวแทนเขา และผมก็ไม่อยากให้ลูกคนเล็กต้องมาเจอแบบเขา ก็เลยอาสามาเป็นตัวแทนเขา อยากให้เขาสนับสนุนให้พี่เอ้ มีโอกาสเป็นตัวแทนเขามาเปลี่ยนกรุงเทพฯ แก้ปัญหา และมั่นใจว่าเราทำได้จริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image