สิริพรรณ นกสวน สวัสดี : สลัดทิ้งการเมืองแบบแช่นิ่ง หยุดระเบิดเวลาประเทศไทย

สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงฉากทัศน์การเมืองไทยในปี 2565 พลวัตรและการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น วิเคราะห์ตัวแปรปัจจัยทางการเมืองต่างๆ ที่ดำรงอยู่ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังคุกรุ่นอยู่ ทั้งการเมืองในสภา สถานะของนายกรัฐมนตรี พลังของฝ่ายค้าน 
รศ.ดร.สิริพรรณ ยังได้บอกเล่างานวิจัยที่ได้ทำมา โดยเฉพาะความคิดทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่อาจจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในปี2565 อย่างน่าจับตา เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัยต่างๆ

 

  • ฉากทัศน์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในปี2565

ถ้ามองภาพกว้างความขัดแย้งที่เป็นมามันสืบเนื่องมาตั้งแต่รัฐประหาร 2557 บางคนอาจจะมองยาวกว่านั้นตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เลยก็ได้ ผลของการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง จะส่งผลต่อการเมืองในปี 2565 อย่างไร จะพบความไม่แน่นอนของ 3 เรื่องก็คือ 1.คือกติกา รัฐธรรมนูญ 2.คือเรื่องตัวบุคคล 3.คือเรื่องโครงสร้าง เหล่านี้คือปัญหาที่ดำเนินมาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 จนถึงหลังเลือกตั้งปี 2562 2564 และในปี 2565 ยังไม่นับตัวแปรใหม่ๆ อย่างเรื่องโควิด หรือปัญหาชายแดนพม่า

ถามว่าปัญหาของการที่กติกาประเทศไทยไม่นิ่งส่งผลอย่างไร ตัวอย่างง่ายๆเรื่องกติกาการเลือกตั้งที่เพิ่งแก้กันไป พอแก้ปุ๊บเราจะเห็นความระส่ำระสาย ในพรรคการเมืองรวมถึงตัวแสดงทางการเมืองด้วย เราเห็นปรากฏการณ์เลือดเก่าไหลกลับ เลือดใหม่ย้ายออกไปอยู่พรรคอื่นบ้าง กรณีนายสิระ เจนจาคะ ก็เป็นผลจากกติกาที่ส่งผลและกำหนด ว่าจะต้องคืนเงิน ถึง 8 ล้าน เพราะขาดคุณสมบัติตั้งแต่ต้นอย่างนี้เป็นต้น นี่คือกติกาที่ส่งผลต่อตัวบุคคล แต่ที่ส่งผลต่อตัวบุคคลมากที่สุดคือ กรณีนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี ถ้านับตามกำหนดของนายกฯปัจจุบันก็จะครบในเดือนสิงหาคมปี 2565 ตรงนี้ก็อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ส่วนตัวมองว่าถ้านายกรัฐมนตรีผ่านช่วงเดือนสิงหาคมปี 2565 ไปได้ ก็คงจะเห็นการเลือกตั้งในปี 2566 แต่ถ้าไม่ผ่านอาจเพราะตัวแปรอื่นๆ เราอาจได้เห็นการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม 2565 ได้เช่นกัน

ที่พูดแบบนี้เพราะมีตัวแปร 3 ประการที่อาจจะเกิดขึ้น 1.สถานการณ์ในสภา แม้แต่สื่อมวลชนรัฐสภายังให้ฉายาสภาอับปาง เพราะมันล่มบ่อย สะท้อนว่า การประชุมสภามันถูกใช้เป็นเกมการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเองด้วย ฉะนั้นความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐมันก็อาจส่งผลต่อการผ่านกฎหมายสำคัญได้ พอเปิดสมัยประชุมปีหน้ามันจะเกิดอะไรขึ้น ก็จะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯอีกรอบหนึ่ง ถ้านับเสียงของฝ่ายรัฐบาลตอนนี้ ฝ่ายรัฐบาลอาจกุมเสียงอยู่เดิมประมาณ 270 เสียง แต่ตอนนี้ก็หายไปพอสมควร จากกรณีกดบัตรแทนกัน หรือกรณีของนายสิระ ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ตอนนี้น่าจะประมาณ 260 เสียง ถ้าไม่มีความแตกแยกในพรรครัฐบาลเชื่อว่ายังกุมเสียงข้างมากได้ ศึกอภิปรายก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาคือเราไม่แน่ใจว่าความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐจะบานปลายหรือเปล่า

Advertisement

ถัดมาช่วงเดือนสิงหาคม ก็มั่นใจว่าจะมีคนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ทั้งหมดมันเหมือนกับเป็นไทม์ไลน์ที่ตรงไปตรงมา แต่การเมืองจริงๆคงไม่เกิดขึ้นตามไทม์ไลน์แบบนี้ มันอาจจะมีตัวแปรที่มาขัดจังหวะ ขั้นกลาง มาเป็นปมให้สะดุดได้ ซึ่งจากตอนนี้ถึงกลางปี 2565 ส่วนตัวมองว่าจะมีปมให้สะดุดอีกหลายปม

  • ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกปมหนึ่งที่น่าสนใจ

ศาลรัฐธรรมนูญคงต้องทำงานหนักมากหลังจากนี้ มีการยื่นคำร้องหลายเรื่อง ยุบพรรคก้าวไกล ยุบพรรคเพื่อไทย แต่จุดที่น่าสนใจคือประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ส่วนตัวมองว่า ปี 2565 การเมืองอาจจะที่ไปได้ใน 3 ทาง

หนึ่งคือพลเอกประยุทธ์อยู่ครบเทอม ผ่านทุกอย่าง สามารถจัดการประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายนได้ เราจะเห็นท่าทีของพลเอกประยุทธ์ไม่ยุบสภา แนวทางที่สองคือ พออยู่นานแล้ว คุณค่าของพลเอกประยุทธ์ถดถอย ไม่ใช่เฉพาะในสายตาของฝ่ายค้านรวมถึงประชาชนที่ออกมาต่อต้าน แต่ถดถอยในสายตาของชนชั้นนำด้วยกันเอง ความถดถอยอันนี้เกิดจากอะไร อยากจะเรียกการเมืองช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นการเมืองแช่นิ่ง มันไม่ใช่เป็นผลจาก covid เท่านั้น พอเกิด covid สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้คือการวางแผนในอนาคต เตรียมความพร้อมเปิดประเทศในหลายๆ ด้าน แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลย คือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเมืองแบบแช่นิ่ง การแช่นิ่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายที่ผ่านสภาน้อยมาก เช่นปัญหาการไม่สามารถเชิญธงชาติในการแข่งขันกีฬาระดับโลกได้ นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล แต่ยังเป็นปัญหาของการเมืองที่ไม่ได้ให้ความหวัง ไม่ได้ให้ให้ความเชื่อมั่นใดๆ การเมืองแช่นิ่ง ความไม่ไว้วางใจ ความไร้ประสิทธิภาพ การขาดความเชื่อมั่น อาจจะเป็นสาเหตุที่ชนชั้นนำนั่นแหละ ใช้มาตรการปลดพลเอกประยุทธ์ลงจากนายกฯผ่านคำวินิจฉัยเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่ทั้งหมดก็ต้องมีแรงกดดันทางสังคมด้วย ที่นี้ก็ต้องประเมินพลังทางสังคมว่ามีไหม

Advertisement

ถ้าให้มองในปี 2565 พลังทางสังคมอาจไม่ได้มาในรูปแบบของการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ เหมือนใน 2 ปีที่ผ่านมา อาจเป็นลักษณะแบบ hunger strike ความไม่พอใจในการจัดการเรื่องต่างๆ ของรัฐบาล การเมืองที่ไม่ได้ให้ความหวัง เกิดจากปัญหาการกระจายทรัพยากรแบบกระจุกตัว

แนวทางที่ 3 นั้น เป็นการกดดันจากพลังทางสังคมที่มันมากขึ้นไปอีก เช่นการประท้วงซึ่งอาจจะไม่ใช่การประท้วงเรื่องการเมืองอย่างเดียวล้วนๆ แต่มันจะเป็นการเมืองผสมกับเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งถ้าเกิดตรงนี้ขึ้นมันจะเป็นแรงกดดันไปสู่แนวทางที่ 2 ว่าชนชั้นนำจะปรับอุณหภูมิทางการเมืองลงมาเช่นการถอด พล.อ.ประยุทธ์ลงจากตำแหน่งไหม เพราะมันจะลดอุณหภูมิทางการเมืองลงได้ และก็อาจจะให้มีการจัดเลือกตั้งโดยเร็ว หรือหากชนชั้นนำไม่สนใจจะปรับอุณหภูมิหรือข้อเรียกร้องทางการเมืองของประชาชนเลย มันก็อยู่ที่ว่าพลังเรียกร้องนี้มันจะพุ่ง หรือรุนแรง ระเบิดขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน นี่คือ 3 ทางที่เป็นไปได้ สามารถออกได้ทุกทาง

หากมองในระยะยาวไม่ใช่แค่ปี 2565 จากงานวิจัยที่ทำสิ่งที่สัมผัสได้ จากการสัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ อายุ 14 ถึง 36 ปีที่ผ่านมา พบข้อสังเกตที่น่าสนใจ พบว่าสถาบันทางการเมืองของประเทศทั้งหมด ไม่มีสถาบันทางการเมืองใดเลยที่ได้รับความเชื่อมั่นหรือไว้วางใจเกินครึ่ง พูดง่ายๆ ว่าทุกสถาบันทางการเมืองสอบตกหมด หมายความว่าสังคมไทยในระยะต่อจากนี้ มันจะเดินหน้าไปได้ยาก นอกเหนือจากการเมืองที่แช่นิ่ง พอสังคมมันไม่มีความไว้วางใจ จะทำให้การร่วมมือมันลดลง เกิดแรงต่อต้านมาก ไม่อยู่ว่ารัฐบาลจะเสนอนโยบายอะไรก็จะเกิดความไม่ไว้วางใจ ความไม่เชื่อมั่น ตัวสถาบันทางการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุดคือศาสนา ก็ยังตกอยู่ดีได้แค่ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ อันดับ 2 คือศาล อันดับ 3 คือผู้นำประท้วง อันดับ 4 คือฝ่ายค้าน อันดับต่ำสุดคือนายกรัฐมนตรี ได้คะแนน 3% ถัดมาเป็วุฒิสภาและพรรคร่วมรัฐบาล เหล่านี้มันทำให้เห็นว่า ในระยะใกล้และระยะกลางการขับเคลื่อนทางการเมืองที่ไม่ได้รับความไว้วางใจจาก generation ใหม่ จะสูงขึ้น

ในประเด็นความขัดแย้งทางครอบครัวหรือปัญหาที่มักพูดกันเรื่อง generation gap เอาเข้าจริงๆ จากงานวิจัยของเราพบว่า เด็กจำนวนมากบอกว่าเขามีความคิดเห็นคล้ายกับครอบครัวค่อนข้างมาก เขาไม่ได้มีความขัดแย้งทางครอบครัวสูงอย่างที่เราเข้าใจกัน 20% บอกว่าเห็นตรงกันด้วย 50% บอกว่าเห็นตรงกันบ้าง แต่ที่เราเห็นชัดก็คือความขัดแย้งของคนรุ่นใหม่กับชนชั้นนำอนุรักษนิยม

มันไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่าง generation เท่านั้น คือความขัดแย้งระหว่างวัยมันเกิดขึ้นอยู่แล้ว เรากับพ่อหรือกับคุณยายอาจจะเห็นไม่ตรงกัน อันนี้มันเรื่องธรรมดา มีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่าเห็นไม่ตรงกันเลย คือมันไม่ใช่แค่สงครามช่วงวัย ความต่างของช่วงวัยมันเรื่องปกติ มีความขัดแย้งกันอยู่แล้วแต่มันไม่ได้รุนแรงสาหัส แต่ที่หลายคนพยายามจะบอกคือความขัดแย้งของคนวัยนี้กับชนชั้นนำ กับการเมืองที่ไม่ได้ให้ความหวังกับคนรุ่นใหม่ มันไม่ได้ทำให้เขามองเห็นอนาคตว่าเขาจะไปทางไหน มันมีความแตกต่างของคนวัยหนุ่มสาวที่มีโอกาสกับคนวัยหนุ่มสาวที่อยู่ในชนบทห่างไกล การจัดการทางการเมืองที่ผ่านมาของรัฐบาล การใช้กติกาเพื่อรักษาอำนาจ เมื่อมองลึกลงไปจะเห็นว่าการรักษาอำนาจทั้งปวง เป็นไปเพื่อการครอบครองทรัพยากร และจัดสรรทรัพยากรให้กับกลุ่มทุนและกลุ่มชนชั้นนำด้วยกันเอง ดังนั้นทรัพยากรที่ผ่านมามันถึงไม่กระจายลงไปเลย

ปีนี้เด็กรุ่นใหม่มองเห็นเรื่องนี้ได้ชัด เขาเป็นคนที่ต้องแบกรับภาระกับหนี้สินของรัฐบาลที่เอามาใช้ในโครงการแจกต่างๆ มองเห็นว่าเขาเป็นเจเนอเรชั่นที่ต้องแบกภาระในอนาคตของประเทศ เขาจึงมองว่าชนชั้นนำกับการบริหารประเทศในลักษณะนี้มีปัญหา แม้แต่เรื่องอย่างการควบรวม dtac กับ true ที่อาจมีปัญหาการครอบงำตลาดได้มากขึ้น การประท้วงของจะนะหรือนาบอน รัฐบาลใช้สโลแกนมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน เขาเห็นว่าความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนมันกระจุกตัวกับชนชั้นนำด้วยกันเอง คนรุ่นใหม่เขามองไม่เห็นอนาคตของเขา ความขัดแย้งที่ใหญ่ที่สุดมันไม่ใช่เรื่องของ generation ที่เป็นแบบภายในครอบครัว แต่มันเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่กับชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม

  • มันผสมทั้งเรื่องเศรษฐกิจการเมืองสังคม

การเมืองมันเป็นเรื่องกำหนดกติกา ตัวบุคคล แล้วก็กำหนดโครงสร้างองคาพยพของประเทศ ที่ผ่านมามันแช่นิ่ง มันไม่ให้ความหวัง ไม่สร้างความมั่นใจ มันเหมือนการบ่มเพาะเป็นระเบิดเวลามา พอปี 2565 มันเหมือนเป็นเวลาที่รอการปะทุออกมา หากมันไม่ปะทุแล้วปล่อยให้พลเอกประยุทธ์อยู่ครบเทอมในปี 66 ก็เป็นแนวทางหนึ่ง หากเป็นแนวทางนี้สังคมไทยก็จะนิ่งไปเรื่อยๆ มันสะท้อนว่าสังคมนี้ไม่มีพลังจริงๆ ด้านที่สองก็คือมันมีพลังของสังคมที่ออกมากดดันเรียกร้อง ชนชั้นนำอาจตัดสินใจถอดตัวบุคคล ด้วยวิธีที่นุ่มนวล แต่หากไม่ปรับโลกทัศน์ตามกลุ่มคนรุ่นใหม่เลย ถ้าคนรุ่นใหม่มีพลังไปผนวกกับคนรุ่นก่อนหน้านี้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ มันก็จะปะทุเป็นความไม่สงบหรือความรุนแรงบางอย่างได้

  • ที่ผ่านมาเห็นสัญญาณที่ชนชั้นนำพยายามปรับลดอุณหภูมิการเมืองบ้างไหม

ยังไม่เห็นค่ะ ยังไม่เห็นสัญญาณ อย่าประมาทเพราะชนชั้นนำมีวิธีสอยกลุ่มผู้นำประท้วงไปทีละคน แล้วก็ทำให้เรื่องมันเงียบ วันนี้น้อยมากที่คนจะพูดถึงผู้นำการประท้วงทั้งหลายที่ยังติดคุกกันอยู่ แม้จะมีการยืนปล่อยเพื่อนเราอยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่ในข่าวกระแสหลักแต่ประการใด มีใครออกมาประท้วงอีกก็จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกันได้ง่ายๆ พลังที่ออกมาก็จะต้องปรับยุทธศาสตร์ จะไม่เหมือนกับปี 2562-63 ได้ เพราะไม่มีผลอะไร แต่ตัวอย่างการชุมนุมที่รัฐบาลตอบสนอง 2 ครั้งหลังคือเรื่องจะนะและนาบอน ที่รัฐบาลยอมเจรจาปรับท่าที อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม เพราะนี่คือความเดือดร้อนของประชาชนจริงๆ ถึงใช้คำว่า hunger strike มันเป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากร เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมเข้าใจได้ เป็นความไม่เป็นธรรม และเป็นอนาคต

แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าในปี 2565 มันจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้คนจำนวนมากออกมาชุมนุมและเรียกร้องเพราะความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน ความเดือดร้อนจากการทำมาหากิน ความเดือดร้อนจากการไม่มีจะกิน เหลือความเดือดร้อนจากภัยพิบัติอะไรที่มันจะเกิดขึ้นหรือเปล่า แต่ถ้าไม่มีตรงนี้ก็ต้องทำใจว่ารัฐบาลอาจอยู่ครบเทอมไปถึงปี 2566

การระบาดของโควิด โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน ก็เป็นปัจจัยหลักว่าคนจะออกหรือไม่ออก ถ้าโอมิครอนจางลงก็เชื่อว่าม็อบใหญ่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่อาจจะไม่ใช่ข้อเรียกร้องแบบที่เกิดขึ้นในปี 62-63 แต่ความเดือดร้อนที่มันฝังอยู่นั้นเยอะมาก คน 90% ในสังคมไทยเป็นหนี้ คนชั้นกลางและชนชั้นกลางล่างมีเรื่องกระทบกระทั่งทุกวัน เพราะมันมีแรงกดดัน ความอัดอั้นตันใจ จากภาวะทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนกระทบกระทั่งกันได้ อันนี้คือสัญญาณบอกทางสังคม จึงมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าหากโอมิครอน ลดลง การออกมากดดันให้เปลี่ยนตัวบุคคลหรือเปลี่ยนกติกาก็จะเยอะขึ้น

หรืออย่างน้อยหากกฎหมายประกอบว่าด้วยเรื่องการเลือกตั้งและพรรคการเมืองออกมา ก็คงจะมีการจุดประเด็นเรื่องควรยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพราะหากมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญออกมา โดยมารยาททางการเมืองควรจะมีการยุบสภา หากมองด้วยสัญชาตญาณตอนนี้นักการเมืองก็อยากเลือกตั้งแย่แล้ว ถ้ามีการเลือกตั้งอุณหภูมิหลายอย่างก็คงจะลดลงได้บ้าง หากไม่มีเลือกตั้งแล้วยื้อไปตลอดมันก็เป็นความสุ่มเสี่ยง หากจะเอาแบบนั้นจริงๆก็ต้องส่งสัญญาณบอกรัฐบาลด้วยว่า หากถึงปี 2566 คนรุ่นใหม่ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น พลังประชารัฐความขัดแย้งภายในก็จะมากขึ้น พอถึงตอนนั้นแทนที่พลังประชารัฐ พรรคสนับสนุนอนุรักษ์นิยม และทหาร แทนที่จะค่อยๆ ปรับตัวในการเลือกตั้งปี 65 พอถึงตอนนั้นพรรคอาจจะกลายเป็นพรรคขนาดเล็กไปเลย

  • สภาจะเป็นที่พึ่งได้มากน้อยแค่ไหน ในฉากทัศน์การเมืองไทยปี 2565

ถ้าวิปรัฐบาลแข็ง ฝ่ายรัฐบาลมีวินัย สภาไม่มีทางล่มหรอก เพราะคุณมีเสียงในสภาเกินครึ่งหนึ่ง ไม่ได้ปริ่มน้ำเหมือนตอนจัดตั้งรัฐบาลในปี 62 ด้วย จากงูเห่าเอยอะไรเอย กล้วยคุณก็ยังมีเต็มสวน สภาล่มมันบอกอะไร หนึ่ง ความไม่มีวินัยของฝั่งรัฐบาลเอง สอง ฝ่ายค้านก็จะสั่งสอนและจะเล่นเกมการเมือง สาม สำคัญที่สุดคือมันสะท้อนความขัดแย้งภายในฝั่งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์กับพลังประชารัฐ ที่สำคัญที่สุดคือภายในพลังประชารัฐเองด้วย ตรงนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญว่าพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะเลือกตั้งปี 65 หรือ 66 พลังประชารัฐยังจะเป็นพรรคใหญ่แบบนี้อยู่หรือเปล่า ถ้าให้ประเมิน เชื่อว่าจะไม่เป็นพรรคพลังประชารัฐที่ใหญ่แบบนี้ จะเล็กลง

จุดนี้น่าสนใจ หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่การเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 ช่วงเวลานั้น สองพรรคใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นไทยรักไทย พลังประชาชน กับประชาธิปัตย์รวมกัน ได้ 80% พอมาการเลือกตั้งปี 2562 ต้องใช้ถึง 5 พรรคใหญ่ถึงได้ 80% ภูมิทัศน์ทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรมันเปลี่ยนไปเยอะ พอต้องใช้ถึง 5 พรรคการเมืองกว่าจะได้ 80% แล้วมีพรรคในรัฐบาลผสม 19 พรรค มันก็ทำให้กุมเสียงในสภายากแบบนี้แหละ อันนี้คือเหตุผลที่ทำให้พลังประชารัฐแก้ระบบเลือกตั้ง แม้เป็นร่างของประชาธิปัตย์ หากมองประเด็นนี้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า หลายคนมองว่ามันจะกลับไปเป็นแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 คือ 2 หรือ 3 พรรคใหญ่ได้ 80% แต่ส่วนตัวไม่คิดว่าจะเป็นแบบนั้น คิดว่าคงจะเป็นประมาณ 5 พรรคใหญ่ ที่ได้ 80% อยู่ แต่สัดส่วนคะแนนแต่ละพรรคจะเปลี่ยนไป

ประเด็นรัฐสภา จากงานวิจัยพบว่า จริงๆคนรุ่นใหม่ให้ความไว้วางใจพรรคฝ่ายค้านมากกว่ารัฐบาลเยอะเลย แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือคนรุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการผู้นำทางการเมืองที่เป็นแบบคนเดียวเข้มแข็ง เป็นพระเอกขี่ม้าขาว ไม่ใช่นะ เขาเห็นความสำคัญของการตรวจสอบถ่วงดุลมาก เขาเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันของพรรคฝ่ายค้าน ที่ผ่านมารัฐสภาแสดงบทบาทน้อยมาก ไม่ต้องพูดถึงการผ่านกฎหมายได้น้อย ปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ที่ไประบุว่ากฎหมายจะต้องทำประชาพิจารณ์ถามความคิดเห็นที่ทำได้ยาก คือเป็นการตีความมาตรา 77 ที่เข้มงวดเกินไป จริงๆไม่ควรจะเป็นแบบนั้น สำคัญกว่านั้นในรัฐบาลชุดนี้มีการตีความว่ากฎหมายทั้งหลายทั้งปวงเป็นกฎหมายการเงิน ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีก่อน ซึ่งมันไม่ใช่ ไปตีความแบบนั้นไม่ได้ ประการที่สองคือการไปตีความกฎหมายหลายตัวว่าเป็นกฎหมายปฏิรูป ทำให้ต้องไปเอา ส.ว.มาร่วมพิจารณาด้วย ทั้งนี้ อาจจะกลัวไม่ผ่านเลยกลัวคุมเสียงข้างมากไม่ได้ อันนี้มันเป็นภาพสะท้อนของความแช่นิ่งทางการเมือง ที่ทำให้การเมืองมันขยับไม่ได้เลย เพราะเป็นเรื่องของการตีความ ร้ายไปกว่านั้นที่อยากจะบอกก็คือว่า จากงานวิจัยที่ทำ พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่คนรุ่นใหม่ไว้วางใจมาก แต่ประเด็นหลักก็คือพรรคการเมืองยังทำหน้าที่ในสภาหรือกรรมาธิการน้อยเกินไป หลายเรื่องกรรมาธิการควรแสดงบทบาทเช่นการควบรวม true กับ dtac สภาควรออกกฎหมายเรื่องนี้ ดูเรื่องการห้ามการผูกขาดทรัพยากรที่มันมีผลกับชีวิตประจำวันของประชาชน อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องแค่ของกสทช. บทบาทของสภาในการทำหน้าที่แทนประชาชนต้องเข้มข้นกว่านี้ ชัดเจนกว่านี้

สำคัญที่สุดคือฝ่ายค้านต้องทำงานร่วมกัน ที่ผ่านมาต่างคนต่างเล่นในฐานะปัจเจกของพรรคมาก พรรคฝ่ายค้านต้องมานั่งคิดร่วมกันว่ายุทธศาสตร์ใหญ่คืออะไร คืออยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อยากเห็นประชาชนโดยรวมได้ประโยชน์จากระบบการเมืองมากขึ้น ไม่ใช่อยากเห็นแค่ขอให้พรรคเราชนะ เพื่อที่จะเห็นว่าให้เราเข้าไปเปลี่ยนแปลงแต่มันเปลี่ยนไม่ได้ พรรคการเมืองเดียวมันเปลี่ยนไม่ได้ คุณก็เห็นว่ามันต้องร่วมมือกันขนาดไหนที่จะต่อสู้กับโครงสร้าง กติกาของคสช.ที่เขาวางเอาไว้ ถ้าฝ่ายค้านทะเลาะกันเองแบบนี้มันก็กลับมาอย่างที่บอกปี 2565 เราจะเห็นพลังของประชาชนออกมาชุมนุมไหม ขนาดฝ่ายค้านอย่างทะเลาะกันเองอย่างนี้ เราจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีพลัง อย่างมากก็เป็นการเปลี่ยนแปลงนิดๆหน่อยๆแค่ลดอุณหภูมิ แค่นั้น จริงๆ แล้วคนรุ่นใหม่ให้ความคาดหวังกับพรรคการเมืองมาก ถ้ายังไม่ปรับตัวก็หวังได้น้อยมากทั้งที่เป็นความหวัง

การเมืองนอกสภาก็ยังสามารถเดินต่อไปได้ แต่ขอให้มองการเมืองในระบบควบคู่กันไปด้วย เคยใช้การเมืองนอกระบบเพื่อกดดันการเมืองในสภาให้เดินหน้าต่อไปได้ ในทิศทางที่ประชาชนช่วยกันกำกับ มันเป็นลูกโซ่ต่อกันไปหมด พอกติกามันไม่นิ่ง พรรคการเมืองก็กลัวถูกยุบพรรค บทบาทในสภามันก็เลยอ่อนแอ พรรคที่ต่อต้านการครอบงำของทหารก็แย่งคะแนนกันเอง มันก็เป็นการถดถอยของพลัง ขอพูดแบบหลักการ พูดแบบ พูดยังไงก็ถูกคือ มันก็ยังจำเป็นต้องมาสร้างหลักการร่วมกัน คุยกัน ที่ผ่านมาของฝั่งอนุรักษ์นิยมถึงแม้เขาจะทะเลาะกันบ้าง แต่พอถึงจุดหนึ่งเขาเดินไปในทางเดียวกัน

ถ้ามองภาพใหญ่ในอนาคตถ้าต้องการออกจากการผูกขาดของชนชั้นนำที่สนับสนุนทหาร ชนชั้นนำที่สนับสนุนกลุ่มทุน พลังฝ่ายค้านไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมือง แต่คือพลังฝ่ายค้านทั้งหมดจะต้องมียุทธศาสตร์ร่วมกัน ต้องชัดเจน

  • พลังฝ่ายค้านถือเป็นตัวแปรสำคัญในการเมืองไทย

พลังฝ่ายค้านเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด ที่จะเปลี่ยนการเมืองได้ ทุกวันนี้พลังนี้มีลักษณะแปลกแยกกันเอง การวิพากษ์วิจารณ์กันเองเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราไม่เห็นการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน ไม่เห็นการวางแผนร่วมกัน เราเห็นการแก่งแย่งชิงกันเองของกลุ่มภายในของพลังฝ่ายค้าน เราไม่เห็นรูปธรรมของการขับเคลื่อนทางการเมืองร่วมกัน เช่นการกำหนดยุทธศาสตร์เลือกตั้งซ่อม การกำหนดยุทธศาสตร์ผ่านร่างกฎหมายสำคัญ เราเห็นแต่ต่างฝ่ายต่างโหวต เราไม่ได้บอกว่าเป็นการฮั้วกันทางการเมือง แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าไม่มีตรงนี้ เราก็จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับยุทธศาสตร์สำคัญ ถ้าไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นก็เพียงเพราะความเมตตากรุณาของชนชั้นนำทางการเมือง หรือถูกกดดันบางอย่างแล้วค่อยๆเปลี่ยน

คนรุ่นใหม่ 70% เอาเสรีประชาธิปไตย รวมถึงประชาธิปไตยที่มีสวัสดิการ อาจจะไม่ใช่รัฐสวัสดิการ สวัสดิการ ส่วนฝั่งคนรุ่นใหม่มีประมาณ 15 % ที่อยากได้ผู้นำเข้มแข็งเด็ดขาด ตัวเลขนี้มันบอกทิศทางในอนาคตของการเมืองไทย โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งถัดไปจากครั้งหน้า เชื่อว่ามันจะเปลี่ยนโฉมการเมืองไทย โลกทัศน์คนรุ่นใหม่มันปฏิเสธอำนาจนิยม ปฏิเสธเผด็จการทหาร ปฏิเสธแนวคิดอนุรักษ์แบบดั้งเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงจะยังไม่เห็นชัดในการเลือกตั้งครั้งหน้า มันจะเป็นครั้งหลังจากครั้งหน้า

  • ปี2565 ช่วงท้ายของรัฐบาลประยุทธ์

เหนื่อยหนักกว่าเดิม ทุกคนจะเหนื่อยหนักกว่าเดิม แย่กว่าเดิม ถ้าโควิดหายไปคนจะตั้งคำถามกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้เตรียมความพร้อมในการฟื้นฟูเลย การใช้เงินผ่าน application ทั้งหลาย ถามว่าประชาชนชอบไหม ก็ชอบ เป็นการเสพติดนโยบายที่ถอยไม่ได้แล้ว การใช้งบประมาณแสนๆ ล้านลงไป มันช่วยวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับการขับเคลื่อนในอนาคตหรือไม่ ไม่ได้ทำเลย ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นเลย เงินมันหายไป มันไม่ได้ช่วยให้เด็กรุ่นใหม่จบมาจะมีงานทำไหม เด็กมัธยมเด็กประถมจะกลายเป็น lost generation การเรียนรู้ของเขาหายไป SME ทั้งหลายถามว่ามีศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดโลกไหม เวียดนามไปไกลมากแล้ว เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพากับท่องเที่ยวและส่งออก ถามว่าท่องเที่ยวคนจะกลับมาเมื่อไหร่ ปี 2565 ถ้าโควิดยังอยู่ก็หนักอีก การเมืองมันก็จะกลับมา ชุมนุมบนท้องถนนจะกลับมาแน่นอน ถ้าประเด็นเศรษฐกิจไม่ได้แก้

อีกด้านคือความขัดแย้งในพลังประชารัฐ ที่พลเอกประยุทธ์ขาลอยอยู่ตอนนี้ จริงๆ แล้ว มองว่าพลเอกประยุทธ์เอาไม่อยู่นะ ไม่มีทักษะทางการเมือง ไม่มีตำแหน่งในพรรคที่จะมากำกับคนในพรรคได้ สิ่งที่พลเอกประยุทธ์มีและคุมได้อยู่บ้าง คือ องคาพยพของระบบราชการ และทหาร ที่ผ่านมาพลังประชารัฐไม่ได้ใช้บ้านใหญ่อย่างเดียว แต่ใช้ กอ.รมน. ใช้ทหาร ตำรวจ ใช้ อสม. ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นจุดแข็งที่พลังประชารัฐคุมได้อยู่ แต่คนเหล่านี้ไม่ได้ช่วยคลี่คลายปัญหาความอดอยากปากแห้งของประชาชนได้ ถ้ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีวิสัยทัศน์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดป่านนี้มันต้องแพลมออกมาให้เห็นแล้ว แต่วันนี้เรายังไม่เห็น เราเห็นแต่คนละครึ่งเฟส 4 เดี๋ยวจะมาเดือนมีนาคม ยิ่งใช้ยิ่งได้เดี๋ยวมา อันนี้คือการผลิตซ้ำนโยบายประชานิยมที่กระตุ้นเม็ดเงินในระบบไม่ใช่การปรับโครงสร้างเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน

  • ปี2565 มีโอกาสยุบสภาไหม

มีโอกาสแน่ แต่จะยุบหรือเปล่าไม่รู้ ถ้าจะยุบน่าจะก่อนเดือนพฤษภาคม ก็คือก่อนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เดี๋ยวพอเปิดสภาเราจะได้เห็นแล้วว่าความขัดแย้งในพลังประชารัฐจะเป็นแบบไหน ล่าสุดก็เห็นข่าวคุณธรรมนัสไปทานข้าวกับเพื่อไทย แต่นักการเมืองเขาก็ทานข้าวกันปกติ ไม่ได้อยากจะคิดว่าเขาจะย้ายมาเพื่อไทย อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์กับคุณธรรมนัสไม่น่าจะอยู่ร่วมพรรคการเมืองเดียวกันได้ ถ้ามีความขัดแย้งตรงนี้อยู่โอกาสที่จะยุบสภาก็มีสูง เพราะอาจจะคุมเสียงในพลังประชารัฐไม่ได้ แต่ถ้าให้ประเมิน 3 ป. ก็คงอยู่ด้วยกัน พลังประชารัฐก็ยังคงอยู่ใต้ พล.อ.ประวิตร แต่ว่ามันจะไม่เหมือนเดิม ความเข้าใจอุณหภูมิทางการเมืองของนักเลือกตั้งกับข้าราชการไม่เหมือนกัน ตัวนี้อาจเป็นตัวแปรให้เกิดการยุบสภาก่อน

ตัวแปรที่สองก็คือ วาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ส่วนปัจจัยที่ สาม คือ พลังกดดันจากภายนอก ตัวนี้มองได้ยากมาก ณ ตอนนี้ยังไม่เห็นพลังของการชุมนุม ยกเว้นมีปัจจัยอื่นที่แทรกเข้ามาทำให้เกิดความคับข้องใจอย่างรุนแรง

  • คาดหวังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกติกา ระบบเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญในปี 2565

ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ผิดหวัง เพราะไม่ได้หวัง เคยไปพูดไว้แล้วว่าในที่สุดเขาจะแก้แค่ระบบเลือกตั้ง แต่ถ้าจะให้หวัง ก็อยากจะให้แก้มากกว่านี้ เช่นเรื่องปิดสวิตช์สว. คือไม่ได้มองว่าจะต้องถอด ส.ว.ออกไปเลยเหลือสภาเดียว แบบนั้นมันเป็นความหวังที่ยังเป็นไปได้ยาก อย่างน้อยก็อยากเห็นแรงกดดันจากสังคมว่าตัดอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปเสีย แต่เราก็จะเห็นว่าพลังในสังคมเรื่องนี้ก็น้อยมาก รัฐธรรมนูญจึงแก้ได้แค่ระบบเลือกตั้ง

ถ้าเราไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้อีก ประเทศไทยไปไม่ได้นะ มันจะเกิดอาการแช่นิ่งแบบนี้ มันจะนำไปสู่ทางตันทางการเมือง กฎหมายผ่านสภาได้น้อย ปัญหาใหม่ๆจะยิ่งมากขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้เข้มงวดเกินไปและไม่สมเหตุสมผล สภาก็ตีความเกินเลยเช่นมาตรา 77 ร่างพระราชบัญญัติขั้นตอนมากมายกว่าจะผ่านได้เป็นปี ที่จริงมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เอาจริงๆอย่าไปหวงรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากเลย จะแก้ทั้งฉบับ หรือจะแก้รายมาตรา ก็ต้องแก้เพื่อให้ประเทศเดินไปได้ สิ่งที่อยากจะขอร้องชนชั้นนำทางการเมืองทุกฝ่ายก็คือ ประเทศไทยบอบช้ำมามาก เด็กรุ่นนี้เรียกได้ว่าเป็น lost generation ขอให้เห็นแก่ประเทศเถอะ คลี่คลายปมหลายๆปมที่ท่านได้ผูกเอาไว้เพื่อให้ประเทศมันเดินไปได้ อย่ายึดติดกับศักดิ์ศรีเฉพาะตัว หรือเฉพาะพรรคกันเกินไป ช่วยกันวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างฝ่ายค้านเอง ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล ว่ารัฐธรรมนูญมาตราไหนที่ควรจะแก้ เป็นอุปสรรคมากๆ ถ้าจะแก้ทั้งฉบับเลยมันก็ไม่ใช่เรื่องของการเสียหน้าหรืออะไรหรอก มันช่วยทำให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้ เราเจอโควิด มา 2 ปี เราไม่ควรที่จะมาหยุดอยู่กับความคับแคบเฉพาะตัวเพื่อผลประโยชน์หรืออำนาจอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image