‘สนธิรัตน์’ชูสร้างอนาคตไทย กู้วิกฤตศก.-ถอดสลักขัดแย้ง

‘สนธิรัตน์’ชูสร้างอนาคตไทย กู้วิกฤตศก.-ถอดสลักขัดแย้ง

‘สนธิรัตน์’ชูสร้างอนาคตไทย
กู้วิกฤตศก.-ถอดสลักขัดแย้ง

หมายเหตุ – นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงแนวทางการขับเคลื่อนพรรค สอท. ในการเตรียมความพร้อมรองรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป


⦁ในฐานะเลขาธิการพรรค สอท.มีแนวทางและกลยุทธ์ขับเคลื่อนพรรคอย่างไร คิดว่ามีความแตกต่างจากตอนที่อยู่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่

แนวคิดการขับเคลื่อนพรรค สอท. อาจจะมีส่วนต่างไปจากสมัยเป็นเลขาธิการพรรค พปชร. โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดก่อนที่จะพูดถึงการขับเคลื่อนพรรคอย่างไร คือ สภาวะและบริบทของการเมือง และสังคมในปัจจุบัน ที่เปลี่ยนไปมาก เมื่อเทียบกับสมัยตั้งพรรค พปชร. เมื่อปี 2561-2562 สถานการณ์บ้านเมืองและการเมืองเป็นคนละสถานการณ์กัน ปัจจุบันมีวิกฤตโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน และวิกฤตของโลกที่มีความขัดแย้งและสงครามต่างๆ

Advertisement

ดังนั้นบทบาทการนำพรรค สอท. จึงมีความแตกต่างจากสมัยพรรค พปชร. เพราะสมัยพรรค พปชร. เป็นการสานต่องานของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ความตั้งใจของผมสมัยเป็นเลขาธิการพรรค พปชร. คือ การสานต่อนโยบายหลังจากที่เกิดการรัฐประหารและหลังรัฐบาล คสช. อยากเห็นการบริหารบ้านเมืองแบบต่อเนื่อง ไม่เกิดความขัดแย้ง

มาถึงวันนี้ผมคิดว่าเป้าหมายเปลี่ยนแปลงไป ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันของประเทศถอยลงไปมาก ปัญหายากที่สุดคือ ปัญหาของพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าของชีพ ที่เกี่ยวกับปัญหาปากท้อง ยังไม่รวมปัญหาความไม่ยุติธรรมของสังคมไทย หรือความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนอยู่ ดังนั้นเป้าหมายสำคัญที่สุดของการขับเคลื่อนพรรค สอท.ในครั้งนี้ คือ การกอบกู้ประเทศและแก้ไขปัญหาความยากลำบากของประชาชนให้ได้ จึงสรรหาบุคลากรที่มีคุณภาพมาร่วมแก้ปัญหา โดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจ เพราะผมคิดว่าเศรษฐกิจ คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดของประเทศในขณะนี้ ถ้าพี่น้องประชาชนยากลำบาก และเป็นหนี้เป็นสินอยู่ ประเทศจะอยู่ไม่ได้

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ คือ การมุ่งทำพรรคการเมืองเพื่อแก้ปัญหาปากท้องและมีวิธีการทำงานที่เท่าทันปัญหา เพื่อให้ประชาชนมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนเดิมเร็วที่สุด เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ และไม่สามารถแก้ได้ภายใน 3-6 เดือน เพราะเป็นปัญหาที่จมลึก ต้องใช้เวลาและกำลังในการแก้ไขมาก จึงจำเป็นต้องดูว่าควรจะแก้ปัญหาล้อฟรี และหาวิธีออกจากหล่มให้ได้

Advertisement

⦁จุดขายของพรรคสอท.ที่จะใช้สู้เลือกตั้งครั้งหน้า

อย่างแรก คือ ทีมเศรษฐกิจ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันประเด็นเศรษฐกิจสำคัญที่สุด และผมภูมิใจในทีมเศรษฐกิจของพรรค ที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่พิสูจน์ได้ เพราะปัญหาปัจจุบันใหญ่เกินกว่าที่จะใช้วิธีการลองผิดลองถูก หรือใช้คนที่ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ อย่างที่สอง คือ ประสบการณ์ เพราะการบริหารประเทศมีความซับซ้อน ไม่เหมือนการบริหารบริษัท การมีประสบการณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ สถานการณ์ประเทศตอนนี้เหมือนคนไข้อาการหนักที่หมอจำเป็นต้องวินิจฉัยและจ่ายยาให้ถูก หากวินิจฉัยและจ่ายยาผิดก็จะทำให้คนไข้อาการทรุดหนักไปกว่าเดิม อย่างที่สาม คือ บุคลากรไม่มีประวัติด่างพร้อย และไม่แสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมประชาชน ทั้ง 3 อย่าง เป็นจุดยืนที่สำคัญของพรรค สอท. โดย กก.บห.เกินครึ่งเป็นคนใหม่ที่ไม่เคยเข้าสู่การเมือง เป็นการบอกกับสาธารณชนว่าไม่นิยมเล่นการเมืองในพรรค สอท. ตั้งใจมาทำงานการเมืองไม่ใช่ตั้งใจมาเล่นการเมือง พรรค สอท.ไม่พร้อมจะขัดแย้งกับใคร เพราะความขัดแย้งทางการเมืองไม่ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์

การจัดประชุมใหญ่ครั้งนี้มีพรรคการเมืองอื่นมาร่วมแสดงความยินดีมากพอสมควร หมายความว่าได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคนการเมือง ถือเป็นสัญญาณที่ดี นี่คือวิถีการเมืองที่ไม่ได้เป็นศัตรูทางการเมืองกัน ควรจะเป็นพรรคการเมืองที่พร้อมจะร่วมกันแข่งขันได้ แต่ไม่ใช่ศัตรูทางการเมือง

จุดยืนที่สำคัญของพรรคอีกอย่าง คือ ต้องการเป็นหนึ่งในตัวแปรที่จะเข้ามาสลายความขัดแย้งทางการเมือง และทำนโยบาย หรือแผนที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา

⦁กังวลถึงการใช้มาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงกับนักการเมืองตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

พรรค สอท. เน้นย้ำการคัดสรรบุคลากรค่อนข้างมาก ให้ความสำคัญกับบุคลากรที่มีจรรยาบรรณและจริยธรรมของนักการเมือง จึงไม่มีความกังวลเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ตั้งใจที่จะเป็นต้นแบบพรรคการเมืองที่ดี ดังนั้นบุคลากรภายในพรรคต้องมีความชัดเจนและโปร่งใส ซึ่งผมก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

⦁ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรค สอท.ตั้งเป้าจะได้ ส.ส.กี่ที่นั่ง

แน่นอนว่าเป้าหมายแรกของการเข้ามาทำงานการเมือง คือ การอยากได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน และเป็นพรรคแกนนำหลักเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน จึงยังเร็วเกินไปว่าจะได้ ส.ส.กี่ที่นั่ง แต่จะพยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อให้พี่น้องประชาชนเห็นว่าพรรค สอท.เป็นทางเลือกใหม่ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะให้ความไว้วางใจมากน้อยเพียงใด

⦁การร่วมมือกับพรรคที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล เช่น พรรคพลังประชารัฐที่อาจเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกครั้ง พรรค สอท.พร้อมสนับสนุนหรือไม่

ไม่ได้ตั้งเงื่อนไขในการตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองอื่น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องดูว่าพี่น้องประชาชนลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองต่างๆ อย่างไร เมื่อรู้ว่าพรรคต่างๆ ได้คะแนนเสียงเท่าไหร่เป็นฉันทามติของประชาชนแล้ว คงต้องดูว่าทำประโยชน์ได้มากเพียงใด หากได้รับความไว้วางใจมาก ก็เป็นพรรคแกนนำได้ หากได้รับความไว้วางใจน้อยลงมา และไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลคงจะต้องเลือกว่าจะทำอะไรต่อไป จะเป็นรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน ไม่ได้ตั้งใจบอกว่าจะเป็นรัฐบาลเสมอไป

ต้องก้าวข้ามว่าจะไปจับมือกับใครหรือไม่อย่างไร การเมืองที่ดี คือ การทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นให้ได้ คือ เป็นฝ่ายรัฐบาลที่เป็นประโยชน์ หรือฝ่ายค้านที่เป็นประโยชน์ก็ได้ ถ้าเราตั้งว่าตัวเองจะเป็นอะไรตั้งแต่วันแรก หมายความว่ากำลังทำเพื่อตัวเอง จึงไม่สามารถบอกว่าทำเพื่อประชาชนได้ ดังนั้นเราจะอยู่ในจุดที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

⦁จะมีบิ๊กเนม หรือผู้มีชื่อเสียงจากแวดวงต่างๆ เข้ามาร่วมงานกับพรรคอีกหรือไม่

ตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดชื่อผู้ร่วมอุดมการณ์ได้ทั้งหมด แต่ได้รับการติดต่อจากผู้ที่สนใจมาทำงานการเมืองจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งนักการเมืองที่ยังไม่ได้เปิดตัววันนี้ หรือนักวิชาการอื่นๆ เช่น นพ.จรุง เมืองชนะ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติคนแรกของไทย ที่ตัดสินใจทำงานร่วมกับพรรคและจะเข้ามาดูแลเรื่องวัคซีนและโรคระบาดในอนาคต จะเป็นปัจจัยสำคัญของโลกอย่างหนึ่ง และนางทิพย์พาพร ตันติสุนทร กก.บห. ก็เป็นความภูมิใจของพรรค เพราะเป็นนักวิชาการที่คร่ำหวอดในแวดวงวิชาการมากกว่า 30 ปี มีความเชี่ยวชาญนโยบายต่างๆ ทั้งนโยบายการเมือง นโยบายสังคม หรือนโยบายการศึกษา นอกจากนี้ ยังมีนายกำพล ปัญญาโกเมศ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) คงจะมีบุคลากรที่มีคุณภาพทยอยเข้ามาร่วมงานกับพรรค สอท. เพราะพรรคเปิดโอกาสให้คนเข้ามาร่วมคิดร่วมทำ จึงมีความไว้วางใจให้พรรคเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ ทั้งนี้ ภายในพรรค สอท. จะมีบุคลากร 2 ประเภท คือ บุคลากรที่พร้อมจะเปิดตัวกับบุคลากรที่ช่วยอยู่ข้างหลัง และไม่พร้อมจะเปิดตัว เพราะกลัวการเมือง

⦁จะสื่อสารกับกลุ่มนิวโหวตเตอร์ให้เลือกพรรค สอท.อย่างไร

แน่นอนว่าคนรุ่นใหม่ คือ คลื่นที่กำลังขึ้นมา ทั้งนิวโหวตเตอร์ หรือนิวเจน เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อยๆ พรรค สอท.จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์เพื่อให้นิวโหวตเตอร์เหล่านี้ เลือกพรรค สอท. ไว้พิจารณา โดยจะเสนอว่า พรรค สอท. มีประสบการณ์ความรู้ที่ผสมผสานแนวคิดใหม่ๆ และคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมงานกับพรรค เชื่อในหลักการความคิดใหม่ๆ ที่ต้องผสมผสานกับประสบการณ์ความรู้ความสามารถ ความฝันอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ พรรค สอท.จึงต้องแสดงให้เห็นว่า มีความพร้อมกับความฝันของคนรุ่นใหม่ นี่คือยุทธศาสตร์ที่จะใช้หาเสียงกับคนรุ่นใหม่ต่อไป

⦁นำบทเรียน และประสบการณ์การทำการเมืองมาปรับรูปแบบการบริหารพรรค สอท.ให้ต่างจากเดิมและเป็นต้นแบบของพรรคการเมืองอย่างไร

ชื่อพรรคก็บอกแล้วว่า พรรคสร้างอนาคตไทย หมายความว่าเป็นพรรคการเมืองที่มุ่งที่จะเป็นพรรคการเมืองที่ดีในอนาคตของประเทศไทย จึงมีวิธีการบริหารพรรคที่มีเป้าหมายชัดเจน คือ การสร้างพรรค สอท.ให้กลายเป็นสถาบันเพื่อลูกหลาน และอนาคตของประเทศ เพื่อให้ประเทศมีทางเลือก และมีสถาบันทางการเมืองที่ยอมรับได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นแนวทางการสร้างพรรคจึงไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่ให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่พร้อมให้คนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ได้ใช้พรรคการเมืองนี้ และตัดสินใจมาร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกัน

พวกผมเคยทำพรรคมาแล้ว แม้จะทำให้พรรคไม่สามารถเดินไปสู่ความฝันได้ แต่ความฝันนั้นยังไม่หมด เพราะครั้งที่แล้วมีความฝันว่าจะสร้างพรรคให้กลายเป็นสถาบันทางการเมือง แต่ไม่สามารถไปถึงความฝันนั้นได้ด้วยปัจจัยทางความคิดและอุดมการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างทาง โดยประสบการณ์เหล่านี้ คือ สิ่งที่จะนำมาปรับใช้กับการทำพรรค สอท. เพื่อสร้างพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมืองและประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

⦁ต้นตอของปัญหาที่ทำให้การเมืองไทยไม่เดินไปข้างหน้า

รากที่หนึ่ง คือ คืนความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย หากการแก้ไขปัญหานั้นขึ้นต้นด้วยพวกเขา หรือพวกเราก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ถ้ามีความเป็นธรรมให้ทุกคนเท่ากันจะเป็นจุดเริ่มที่สำคัญทำให้ความขัดแย้งนั้นค่อยๆ สลายไป ดังนั้นจึงต้องเริ่มจากการคืนความเป็นธรรมให้ทุกฝ่าย ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก นอกจากนี้ จำเป็นต้องมาพูดคุยกัน ให้เห็นว่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้จะมีความคิดต่างกัน โดยต้องเห็นประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้ง จะเป็นองค์ประกอบของการแก้ไขความขัดแย้งอย่างแท้จริง

⦁เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ และต้องการแก้ไขหรือไม่

ส่วนตัวผมคิดว่าการให้ ส.ว. 250 คน โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ควรจะขอให้ยกเว้นในข้อนี้ หากยกเว้นไม่ได้ต้องเป็นสปิริตของ ส.ว. 250 คน ที่จะขอยกเว้นการใช้ข้อบังคับนี้ สามารถทำได้เลยไม่จำเป็นต้องรอ ผมได้ฟังและเชื่อว่า ส.ว. ส่วนใหญ่ไม่อยากจะใช้สิทธิตัดสินใจเลือกนายกฯ ในครั้งต่อไป ถ้าเป็นแบบนี้จริง ก็เป็นสัญญาณที่ดีทางการเมือง ใครชนะก็ว่าไปตามนั้น ใครได้เสียงในสภาเท่าไหร่ก็ตัดสินใจไปตามนั้น อย่าไปเอาปัจจัย ส.ว. 250 คน มาเป็นเงื่อนไขเลย เพราะหากใช้ปัจจัยนี้ก็จะเป็นการเริ่มความขัดแย้งตั้งแต่วันแรกของรัฐบาลต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image