‘อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ’ โชว์วิชั่นหน.ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. ต้องเป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่

มรสุมลูกใหญ่พัดเข้าใส่ ประชาธิปัตย์ จากกรณีฉาว ทำให้พรรคต้องหา “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย” คนใหม่ แทนคนเดิมที่ได้ลาออกไปเพื่อขอพิสูจน์ตัวเองในคดีความที่ถูกกล่าวหา

“อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ” หรือ “ดร.บิล” เป็นชื่อที่มติกรรมการบริหารพรรคเลือกให้ขึ้นมารับไม้ต่อ

ถือเป็นอีกครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ปฏิเสธกระแสคนรุ่นใหม่ เลือกคนหนุ่ม ส.ส.สมัยแรก มาทำหน้าที่ในตำแหน่ง อันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของพรรค

“มติชนออนไลน์” จึงไม่พลาด ชวน “ดร.อิสระ” มาสนทนา หลังได้รับตำแหน่งนี้

Advertisement
  • หนักใจไหมมารับไม้ในวันที่พรรคเจอวิกฤตศรัทธาขนาดนี้ ? 

ผมไม่เคยมองเลยว่า เป็นการรับไม้ต่อในช่วงที่พรรคมีวิกฤตหรืออะไร เพราะไม่ว่าจะมีเหตุการณ์นี้ที่เกิดขึ้นหรือไม่มี มันปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยมีเรื่องที่ใหญ่กว่า เพราะเรากำลังประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนกับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ถ้าเราไม่ยอมรับในจุดนี้ก็ไปต่อไม่ได้  ฉะนั้น นโยบายของพรรคต้องถูกเอามาปฏิบัติอย่างเข้มข้น

ถามว่าหนักใจไหม เอาจริงๆ หลังจากได้รับมอบหมายในตำแหน่งนี้ ผมอาจคิดเกินเรื่องนี้ไปแล้วว่า เราจะทำอะไรบ้าง ทำแล้วมันจะดีที่สุดอย่างไร โดยไม่ได้ย้อนกลับมาถามตัวเองเลยว่า หนักใจหรือเปล่า

  • มองการรับตำแหน่งที่เปรียบเสมือนหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคอย่างไร ?  

ต้องเรียนว่า ที่พรรคเราทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งมีทั้งหมดถึง 15 คณะ แต่ละคณะก็มีผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถตรงตามสายงานต่างๆ เดิมทีผมเป็นเลขานุการคณะกรรมการต่างประเทศอยู่ ซึ่งถือว่า ตรงกับสิ่งที่ตัวเองถนัด แม้คณะนี้จะเป็นมิติด้านการต่างประเทศ แต่ก็ถือว่าเป็นทีมเศรษฐกิจทีมหนึ่ง เช่นเดียวกับ คณะกรรมการเศรษฐกิจทันสมัย ที่ผมเพิ่งได้รับตำแหน่ง ถือเป็น 1 ใน 3 -4 คณะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจเหมือนกัน ฉะนั้น ผมถึงพูดเสมอว่า ผมไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค แต่ถ้าจะมีใครซักคนที่จะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ผมคิดว่าคนๆนั้นต้องเป็นหัวหน้าพรรค เพราะเรื่องปากท้อง เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆสำหรับนโยบายพรรคเลย

Advertisement
  • ในมุมของดร.อะไรคือเศรษฐกิจทันสมัย ? 

แน่นอน เราไม่สามารถปฏิเสธเรื่องของเศรษฐกิจดิจิตอล ฟินเทค บิทคอยน์ หรือคริปโทเคอร์เรนซีได้ เพราะทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของคำว่าเศรษฐกิจทันสมัย แต่ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญเลยวันนี้ เราต้องให้ความสนใจกับคนตัวเล็ก เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้

เรื่องนี้ถ้าจะพูดให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น ผมคิดว่า เศรษฐกิจทันสมัยจะมีอยู่ 4 องค์ประกอบ 1.ต้องเป็นเศรษฐกิจที่หมุนทันโลก 2.ต้องเป็นเศรษฐกิจที่ทำให้คนลืมตาอ้างปากได้ 3.ต้องเป็นเศรษฐกิจที่คำว่า หาเช้ากินค่ำต้องหมดไปจากสังคมไทย และ 4.ต้องเป็นเศรษฐกิจที่เมื่อไหร่ก็ตาม เมื่อโลกไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับเรา อย่างเช่นทุกวันนี้ แล้วเราสามารถมีภูมิต้านทานทางเศรษฐกิจ มีวัคซีนทางเศรษฐกิจพอที่จะทำให้เราเอาตัวรอดไปได้

นี่คือภาพใหญ่ๆ 4 ข้อ ที่ผมกำลังจะแปลงออกมาเป็นนโยบาย และภาคปฏิบัติต่อไป

  • คิดว่า 4 ข้อนี้จะแปลงไปสู่การนโยบายหรือการปฏิบัติอะไรได้บ้าง ?     

ก่อนอื่นต้องบอกว่า ผมเพิ่งรับตำแหน่งนี้ มาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ถ้าให้ผมคิดไวๆ เร็วๆ ผมคิดออกโดยแบ่งเป็นความรู้ 3 เรื่อง รู้หลบ รู้หลีก แล้วก็ต้องรู้หลัก

เรื่องแรก รู้หลบ เป็นปีก ทำอย่างไรเราถึงจะเอาตัวออกมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศในภาพรวม ขอยกตัวอย่างเรื่องสินค้าเกษตรให้เห็นชัดๆ อย่างวันนี้ แม้ว่าราคาผลผลิตทางการเกษตรจะสูง โดยเฉพาะ ราคาปาล์ม 12 บาทถือสูงที่สุดในรอบหลายสิบปี ราคายาง 60 กว่าบาท ผมเพิ่งไปใต้กลับมา พี่น้องเกษตรกรชาวใต้ดีใจ นโยบายประกันรายได้เอาไปช่วยในผลิตผลเกษตรอื่นๆ ที่ราคาไม่ถึง

แต่เราปฏิเสธความจริงอีกเรื่องไม่ได้ คือสิ่งที่เกษตรกร กำลังเจออยู่ด้วยคือเรื่องปุ๋ยแพง วันนี้ปุ๋ยแพงมาก ดังนั้น การรู้หลบเป็นปีกที่ว่านี่คือ เราจะทำยังไงถึงจะไม่เอาตัวเองไปอยู่ในความขัดแย้ง ดังนั้น ผู้บริหารประเทศ ต้องเข้าใจก่อนว่า ปุ๋ยมันแพงเพราะอะไร ถ้าเราไม่เข้าใจ เราจะไม่มีทางทำให้มันถูกลงมาได้เลย

แน่นอนที่ปุ๋ยแพง เพราะประเทศที่ส่งออกปุ๋ยอันดับ 1 และ 2 ของโลกคือจีนกับรัสเซียไม่สามารถส่งออกได้ รัสเซียไม่ต้องพูดถึงเลย เขากำลังมีปัญหาสงคราม ส่วนจีนก็มีปัญหากับอินเดีย ไม่อยากขายให้อินเดีย แต่ด้วยข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ทำให้เขาไม่สามารถประกาศว่า จะไม่ส่งปุ๋ยไปขายอินเดียได้ วิธีการของเขาจึงประกาศเลยว่า จะงดการส่งปุ๋ยออกนอกประเทศ ดังนั้นเมื่อเราซื้อจาก 2 ประเทศนี้ปัญหาก็เกิด ราคาขึ้น เพราะปริมาณของที่ส่งมามันไม่มี

วันนี้รู้หลบเป็นปีกเรื่องนี้ทำอย่างไร ส่วนตัวผมคิดว่า ผู้บริหารประเทศก็ต้องไวพอในการหาแหล่งนำเข้ามา อย่างเช่นอีกประเทศที่ส่งออกปุ๋ยได้มาก แล้วเราเพิ่งจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกันใหม่ นั่นคือ ซาอุดีอาระเบีย ผมคิดว่า โจทย์หลักของ รัฐบาลต้องไปเร่งเจรจากับซาอุฯว่า ทำอย่างไรถึงจะนำเข้าปุ๋ยมาเพื่อลดปัญหานี้

รู้ที่สอง คือต้องรู้หลีก รู้หลีกจากผลกระทบที่หนักๆ อย่างวันนี้เรื่องใหญ่ที่เราต้องรู้หลีกเลยคือเรื่องของน้ำมัน ใครบอกน้ำมันไม่แพง ถ้าไม่โกหกก็คงไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นเมื่อน้ำมันแพง แล้วเราจะทำอย่างไรกับน้ำมันแพงได้ ในเมื่อเรานำเข้าน้ำมันเกือบ 70% เมื่อเรากำหนดราคาเองไม่ได้ คนขายน้ำมันแพง เราก็ต้องซื้อมาใช้ในราคาแพง ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ มีบางคนเสนอให้ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ตัดอะไรที่ไม่จำเป็นเพื่อให้ราคาน้ำมันถูกลง แต่ถามว่า ทำแบบนั้นอาจจะดีจริง แต่ถ้าดีแล้วน้ำมันถูกลงมาเยอะๆแล้ว คนที่ได้ประโยชน์คือใคร

แน่นอนสรุปเลย มันคงไม่ใช่ชาวบ้านที่ซื้อน้ำมันวันละ 5 ลิตร 10 ลิตรหรอก แต่เป็นคนที่ซื้อน้ำมันวันละ 1 แสนหรือ 2 แสนลิตรต่างหากที่จะได้ประโยชน์

นี่คือสิ่งที่ผมพยายามจะพูดว่า เวลาจะทำอะไร ต้องมองถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ ต้องทำให้คนฐานราก คนตัวเล็กได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

พอพูดถึงเรื่องน้ำมันวันนี้เรื่องรถไฟฟ้าคนก็พูดกันเยอะ แม้รัฐบาลจะพยายามทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีสรรพสามิต ลดภาษีศุลกากร เพื่อให้รถไฟฟ้ามันถูกลงมา แต่ปัญหาอันหนึ่งที่รถไฟฟ้าจะไม่เกิดขึ้นได้จริงนั่นคือที่ชาร์จไฟ ซึ่งวันนี้มีอยู่ไม่ถึง 700 จุดทั่วประเทศ คิดง่ายๆ ประเทศไทยมีพื้นที่ 5 แสนกว่าตารางกิโลเมตร เอา 700 หาร แปลว่า ทุก 700 ตารางกิโลเมตร มีที่ชาร์ต 1 จุด 700 ตารางกิโลเมตร กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ถึงจะมีที่ชาร์ต 1 จุด ถามว่า แล้วใครจะใช้ แม้จะมีแผนว่า บอกว่าจะเพิ่มเป็น 1,700 จุดในปีนี้ แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำนั่นคือ การขอร้องแกมบังคับให้กับบริษัทน้ำมันรายใหญ่ ที่ต่างประกาศกำไรปีที่แล้ว ให้ยอมขาดทุนกำไรแล้วนำมาทำที่ชาร์จ

ประเทศไทยมีปั๊มน้ำมันอยู่ 6-7 พันแห่ง อย่างน้อยๆถ้าบังคับให้ทุกปั๊มน้ำมัน ต้องมีที่ชาร์ต ผมว่า อันนี้ก็เป็น 1 ในสิ่งที่เราสามารถรู้หลีกจากผลกระทบต่างๆได้

รู้สุดท้าย คือรู้หลัก หลักอะไร ต้องเป็นหลักทันโลกด้วย ถ้าตรงกับภารกิจทันสมัยก็คือรู้หลักของเศรษฐกิจ รู้แบบใหม่ ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอล คริปโทเคอร์เรนซี บิทคอยน์ ต้องรู้ หลักที่ว่า มีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรก ต้องรู้กลไกว่ามันทำงานอย่างไร จะได้ศึกษาดูโอกาสจะร่วมหรือลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ได้ อย่างที่สองที่ผมคิดว่าสำคัญ แต่เราชอบละเลย นั่นคือ หลักในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมาเราพยายามถ่ายทอดกันว่า มันดียังไง แต่สิ่งที่เราไม่ค่อยถ่ายทอดกันเลยก็คือมันจะเป็นความเสี่ยงยังไง ซึ่งอันนี้ผมคิดว่า เป็นสองอย่างที่อยากจะทำในส่วนนี้

ทั้งหมดเป็นภาพรวม 3 เรื่อง รู้ 3 เรื่อง เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจจะทำที่ว่าจะเปลี่ยนจากนิยามมาเป็นแนวทาง และที่สำคัญจะต้องออกมาเป็นนโยบายของพรรคที่ต้องใช้ในการเข้าสู่การเลือกตั้งในไม่เกิน 1 ปีที่จะถึงนี้

  • มองความเตรียมพร้อมเพื่อเข้าไปสู่การเลือกตั้งของพรรคยังไง ?   

ก็เป็นการนับถอยหลังแล้ว เหลือเวลาอีกไม่ถึงปี เพราะว่าวาระของสภาชุดนี้จะหมดวันที่ 24 มีนาคม 2566 ฉะนั้น 10 เดือนที่เหลือ ผมคิดว่าในส่วนของพรรคเอง แม้ที่ผ่านมา จะมีการทำมาโดยตลอด แต่วันนี้เราก็ต้องทำแบบเข้มข้นมากขึ้น เพื่อทำให้เกิดเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรม ที่จับต้องได้ผ่านกระบวนการต่างๆ

ส่วนตัวแม้จะเพิ่งมารับตำแหน่งนี้ในเวลาที่เหลือน้อย แต่ผมคิดว่า ด้วยระบบของพรรค ด้วยบุคคลกรที่พรรคมี ประกอบกับความตั้งใจของผม ผมคิดว่า พรรคจะสามารถผลิตนโยบายออกมาเพื่อเป็นตัวเลือกให้กับพี่น้องประชาชนในเวลาที่เหลืออยู่ได้แน่นอน

  • รู้สึกอย่างไรกับคำพูดที่ว่าประชาธิปัตย์ เดี๋ยวก็ไม่พ้นประกันรายได้อีก ?  

เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเรายังเป็นประเทศที่ยึดโยงอยู่กับเกษตร การท่องเที่ยว แล้วก็อุตสาหกรรม เมื่อพื้นฐานของเรายึดกับสิ่งนี้ ยึดโยงอยู่กับอุตสาหกรรม สินค้าและการบริการ ดังนั้น นโยบายของพรรคจะไม่โฟกัสเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร โจทย์คือ เราจะนำเอาเรื่องเศรษฐกิจทันสมัย เศรษฐกิจดิจิตอลเข้ามาอย่างไรต่างหาก เพื่อทำให้พื้นฐานเหล่านี้ มันเข้มแข็งยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของความแม่นยำของการผลิต สมาร์ทฟาร์มมิ่ง เป็นต้น

ล่าสุด ผมได้คุยกับท่านหัวหน้า รวมถึงผู้ใหญ่ที่กรุณาให้คำแนะนำ เราพูดกันถึงเศรษฐกิจทันสมัยที่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องทางการเงินทันสมัยเท่านั้น แต่เราพูดไปถึงเกษตรทันสมัย วัฒนธรรมทันสมัย มองในมิติการท่องเที่ยว ซึ่งอย่างที่รู้ การท่องเที่ยวเคยทำรายได้สูงถึง 15-20 % ของจีดีพีของประเทศ วันนี้มันตกลงมา 6-7 เท่า เรื่องพวกนี้เศรษฐกิจทันสมัย คงต้องผูกรวมเรื่องทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน เพราะคนไทย 60 ล้านคนเวลานี้ คงไม่รวยได้ด้วยบิตคอยน์หรอก ถูกไหม

  • หมายความว่า เศรษฐกิจทันสมัยต้องเป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่ด้วย ?  

ใช่ นอกจากสิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องการแล้ว เราต้องมองว่า โครงสร้างของเศรษฐกิจเราขึ้นอยู่กับอะไรเป็นสำคัญด้วย แม้เราจะใช้จีดีพีเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับผมต้องไม่ใช่ทั้งหมด ผมพูดเสมอว่า นโยบายเศรษฐกิจทันสมัยไม่ใช่แค่ทำให้จีดีพีสูงขึ้น เพราะถ้าจะเอาแค่ตัวเลขจีดีพีสูง เอาเงินลงไปในกลุ่มทุนใหญ่สัก 5-10 เจ้า จีดีพีก็ขึ้นแล้ว แต่เราต้องทำอย่างไรให้จีดีพีสูง โดยที่คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ดังนั้น วันนี้เราจึงจำเป็นต้องหันไปดูแลเอสเอ็มอีอย่างเข้มข้น

เอสเอ็มอีไทย มีอยู่ 35% หรือ 1 ใน 3 ของจีดีพีประเทศ เลยทีเดียว ถือว่าเป็นกระดูนสันหลังทางเศรษฐกิจของประเทศเลยก็ว่าได้ ผมว่า อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำเลย และต้องเร่งที่จะไปโฟกัส ผมเองไม่ได้พูดเรื่องนี้เมื่อมารับตำแหน่งนี้ ตั้งแต่วันแรกที่เป็น ส.ส. ผมก็อภิปรายในสภาพูดถึงคนตัวเล็ก หรือเศรษฐกิจฐานรากทุกครั้งที่มีโอกาส ทั้งการพิจารณางบประมาณรายจ่าย การรับทราบวาระของธนาคาร รวมไปถึงการหารือด้วย

  • ประเมินกันไว้ไหมว่า เลือกตั้งรอบหน้า ประชาธิปัตย์จะได้ส.ส.กี่คน ?

ทุกพรรคการเมืองต้องคาดหวัง กับจำนวนส.ส.เป็นเรื่องธรรมดา ที่ผ่านมาหลายพรรคก็ประกาศเป้าหมายของตัวเองออกมาแล้ว แต่ถ้าเราลองเอาจำนวนที่ทุกพรรค พูดว่าจะได้มาบวกกัน ผมว่าได้ประมาณ 800-900 คนไปแล้ว ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรค ที่เราไม่ค่อยเน้นที่จะออกมาประกาศว่า เราจะต้องได้กี่คน ส่วนตัวผมคิดว่า การประกาศว่าจะได้กี่คน ได้ตรงไหนบ้าง คงไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จของพรรค ความนิยมของนโยบายต่างหากที่จะเป็นตัววัดว่า เราจะได้ส.ส.กี่คน

  • มองปัญหาคนเก่าๆไหลจากพรรคยังไง ?  

ผมเป็นวิศวกร ผมมองอะไรเป็นตัวเลข มองอะไรเป็นกราฟเสมอ กราฟทุกชนิดมันมีกราฟขึ้น ก็ต้องมีกราฟลง ก็เหมือนกัน พรรคการเมืองก็เหมือนกัน ปัญหากับประเทศ กับพรรคการเมืองก็เป็นของคู่กัน ปัญหาก็มีเอาไว้แก้ เป็นเรื่องปกติ อับราฮัม ลินคอล์น เคยพูดเอาไว้ว่า บ้านไหนก็ตามที่คนในบ้าน ต่อต้านกันขัดแย้งกันรบราฆ่าฟันกัน บ้านนั้นจะไม่สามารถจะยืนหยัดได้ ผมคิดว่าอย่างน้อยเรื่องนี้ ก็เป็นคติสอนใจผมมาโดยตลอดว่า วิธีการในการทำงานของคนในองค์กรเดียวกันก็คงต้องยึดหลักนี้

  • วางอนาคตไว้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร ?

คนทุกอาชีพ รวมถึงนักการเมืองก็คงต้องการความก้าวหน้าทั้งนั้น ส่วนตัวผมไม่ปฏิเสธสิ่งนี้ เมื่อเข้ามาเป็นนักการเมืองก็ธรรมดาที่อยากจะก้าวหน้า ในแต่ความก้าวหน้า มันยังมีเส้นบางๆระหว่างความทะเยอทะยานกับความโลภด้วย เพราะฉะนั้น ผมจะพยายามขีดเส้นให้ตัวเองจบที่ความต้องการจะก้าวหน้าเท่านั้น จะไม่ให้ก้าวข้ามไปอยู่ในความทะเยอทะยานกับความโลภมากเกินไป เพราะผมรู้ดีว่า เมื่อไหร่ที่ผมก้าวข้ามเส้นนี้ไป นอกจากจะไม่ได้รับแรงสนับสนุนแล้ว คนในพรรคยังรู้สึกกับผมไปอีกแบบหนึ่งทันทีด้วย

ใครถามผมเรื่องอนาคตผมก็ตอบแบบนี้ แต่การไปสู่จุดที่มันก้าวหน้าหรือไม่ มันยังขึ้นอยู่กับหลายเหตุปัจจัย ทั้งที่เราควบคุมได้แล้วก็ที่เราควบคุมไม่ได้ มีผู้ใหญ่คนหนึ่งสอนผมไว้ว่า การเมืองอย่าพูดว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกเรื่องมันมีโอกาสเกิดขึ้นในทุกมิติ เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่เคยพยากรณ์อะไรไปล่วงหน้า ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือจะมองตัวเองอีก 5-10 ปีข้างหน้า เพียงแต่ในทุกนาทีที่ทำงานก็ทำเต็มที่ ทำเต็มความสามารถเท่านั้นพอ

  • ทำไมคนชอบมองว่า ดร.เป็นเด็กท่านชวน ?

ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่านชวนมีส่วนที่ทำให้ผมมีวันนี้ มีส่วนที่ว่านั้น มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือโอกาส ถ้าท่านไม่เปิดโอกาสให้ทั้งหมดที่ผมพูดมา หรือบทบาทในการอภิปรายในสภา บทบาทในการทำหน้าที่ต่างๆ คงไม่เกิดขึ้น ส่วนที่สอง คือส่วนที่เรียกว่าเป็นแบบอย่าง คือผมได้รับแบบอย่างจากท่านมาโดยตลอด

มีคนถามผมเรื่องนี้หลายครั้งว่า ท่านมีส่วนไหมที่ทำให้ผมมาอยู่ตรงนี้ ผมก็บอกว่า มีครับ ไม่ปฏิเสธครับ (หัวเราะ)

  • เล่าได้ไหมว่า รู้จักกับท่านชวนได้อย่างไร ?

ต้องเท้าความว่า การเมืองเป็นงานในความฝันของผมตั้งแต่เด็ก ยิ่งการค้าของที่บ้านเติบโตก้าวหน้า ผมก็มีโอกาสได้ไปเรียน และทำงานอยู่ต่างประเทศ กะไว้เลยว่า มีประสบการณ์จนได้เวลาที่เหมาะสมก็อยากเอาความรู้เอาประสบการณ์มาอยู่ในการเมือง

แต่มันมีเหตุการณ์ไม่คาดคิด คุณพ่อผมป่วยหนัก ได้รับวินิจฉัยโรคว่า จะอยู่ได้อีกไม่นาน คุณพ่อขอให้ผมมาสานต่อธุรกิจครอบครัว แม้ใจอยากจะเป็นนักการเมือง แต่ไม่ลังเลที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบต่อครอบครัว เพราะคิดเสมอว่า ก่อนอาสาดูแลคนทั้งประเทศ ถ้าความรับผิดชอบต่อครอบครัวไม่มีก็คงดูแลใครไม่ได้

ผมตั้งใจเอาไว้ในวันที่มารับผิดชอบต่อจากคุณพ่อว่า ผมจะขอทำกิจการของครอบครัวประมาณ 10 ปี ถ้าทุกอย่างมันเป็นไปตามแผน ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ผมจะขอมาทำสิ่งที่ตัวเองฝันไว้ เมื่อพอถึงปี 2560-2561 นาฬิกาตีที่ประมาณ 10 ปีถึงจุดที่ผมวางไว้ ผมก็เริ่มเดินหา

ต้องยอมรับในเวลานั้น การเมืองมีพรรคการเมืองหลักอยู่ 2 พรรค เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐยังไม่มีด้วยซ้ำ ผมไม่ลังเลเลยที่จะเดินมาขอทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยที่ไม่ได้นัดหมายใครไว้ด้วย เพราะผมไม่รู้จักใครแม้แต่คนเดียว เดินเข้ามาที่พรรค เจออดีตส.ส.ท่านหนึ่ง ท่านก็กรุณาบอก ถ้าจะมาทำงาน สมัครเป็นผู้แทนต้องไปหาท่านเลขาฯ ตอนนั้นก็ท่านจุติ ไกรฤกษ์ ท่านก็ชี้ไปที่ห้อง พอดีท่านไม่อยู่ ก็ประสานนัดหมายไว้

ทีนี้ระหว่างเดินออก ก็เห็นรถตู้คันหนึ่งจอดอยู่ ผู้ใหญ่ท่านนั้นก็บอกว่า รถท่านชวน ท่านนั่งอยู่ชั้น 3 อยากสวัสดีไหม ขึ้นไปสิ ท่านก็แค่ชี้ทาง ผมก็เดินขึ้นไปขอพบเอง และสวัสดีท่าน ที่เล่ามาทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นเลยที่ได้พูดคุยกับท่าน ถามว่า ก่อนหน้านี้เคยเจอไหม ก็เคยเจอตามงาน แต่ท่านจำผมไม่ได้หรอก

  • จำได้ไหมว่า คุยอะไร ท่านชวนได้บอกอะไร  ?

ท่านเป็นผู้ใหญ่ แน่นอนเมื่อท่านได้ฟังที่ผมเล่าไป ท่านก็ให้กำลังใจ พร้อมพูดให้ฟังว่า หากมีความตั้งใจจริง ก็มาลองช่วยงานพรรคตามช่องทางต่างๆ ผมก็รับแนวทางท่าน เข้ามาช่วยงาน

แต่มันมีจุดหักเห คือท่านกำลังจะเดินทางไปต่างประเทศอีกประมาณ 10 วันจากนั้น โดยได้รับเชิญมาจากมูลนิธิที่ชื่อว่า Asia Foundation ซึ่งเชิญนักการเมืองไทยหลายๆคน ไปร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ใหญ่ระดับสูงของทางสหรัฐ มีผู้ใหญ่จากหลายพรรคร่วมคณะด้วย แต่ท่านชวนได้รับเลือกจากมูลนิธินี้ให้เป็นหัวหน้าคณะนี้จะไป ที่วอชิงตันดีซี

พอผมทราบหลังจากวันที่เจอท่านครั้งแรก ไม่กี่วันผมก็เรียนขอท่านว่า ผมขออนุญาตติดตามไป ผมอยากถือโอกาสนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งในการใช้ความรู้ความสามารถช่วยงาน ทำประโยชน์ให้กับท่าน ทำประโยชน์ให้กับประเทศ ด้วยความกรุณา ท่านอนุญาต ได้เจอผู้ใหญ่หลายคนตั้งแต่สมัยที่ท่านชวยเป็นนายกฯ ไม่ว่าเป็นท่านอดีตรัฐมนนตรีแมเดอลีน ออลไบรท์ อดีตรัฐมนตรีวิลเลียม โคเฮน และอีกหลายๆท่าน ตรงนี้แหละน่า จะเป็นจุดเริ่มที่ได้มีโอกาสทำงานให้ท่านได้เห็น

  • จากวันนั้นมาถึงวันนี้ คิดว่ามันรวดเร็วไปไหม กับพรรคที่ขึ้นชื่อว่า ชอบยึดระบบอาวุโส ?

ด้วยความสัตย์จริงทั้งหมด ผมเองไม่ได้มีต้นทุนทางการเมืองอะไร ลูกส.ส.ก็ไม่ได้เป็น ลูกหลานนักการเมืองก็ไม่ใช่ ผมไม่ได้มีความสัมพันธ์พิเศษกับใคร ไม่ว่ากับท่านชวน หรือใครมาก่อนหน้า ที่ไปมาที่มา ผมเล่ากี่ครั้งผมก็เล่าแบบนี้ว่า ผมเดินเข้ามาที่พรรคโดยไม่รู้จักใคร สิ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นเครื่องยืนยันข้อเท็จจริงนี้ ถึงแม้ว่าใครจะว่ายังไง ผมก็ยังยืนยันข้อเท็จจริงนี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เปิดโอกาสจริงๆ ไม่เช่นนั้นคนอย่างผม ที่มาโดยไม่ได้มีญาติอยู่ที่พรรค ถ้าพรรคไม่ได้เปิดโอกาส ถ้าพรรคไม่ได้มองด้วยความสามารถ ผมก็ไม่มีวันนี้ แม้ว่า มันจะดูรวดเร็ว แต่มันเป็นกระบวนการที่ผ่านขั้นตอน ผ่านมติที่ประชุม มันไม่ใช่ว่า จะมีใครคนใดคนหนึ่งกดปุ่มแล้วผมขึ้นมาได้

แต่แน่นอนผมไม่อาจปฏิเสธว่า ที่ผมมีโอกาสนี้ ก็มาจากผู้ใหญ่ในพรรคที่เปิดโอกาสให้ผมได้แสดงความสามารถด้วย ถึงได้มายืนอยู่ในจุดนี้

  • ในฐานะคนรุ่นใหม่ มองการทำงานกับพรรคเก่าแก่ ที่มีขั้นมีตอน มีผู้อาวุโส ปรับตัวได้ช้า ?

แน่นอน มันอาจไม่รวดเร็วปูดปาดทันใจ จะไปให้ยกเว้นหรือช่องโหว่อะไรมันคงเกิดขึ้นได้ยาก เมื่อยึดระบบ ยึดกับระเบียบที่ค่อนเคร่งครัดมันจึงทำให้มีความคล่องตัวน้อย แต่มันมีข้อดี เพราะกว่า 70 ปีเราเจอวิบากกรรมมาเยอะแยะ ถึงขั้นขอให้ยุบพรรค แต่ที่สุดเราก็สามารถใช้กระบวนการทางศาลต่อสู้พิสูจน์ภายใต้กระบวนการยุติธรรม จึงทำให้เรารอดพ้นมาได้

ผมไม่ปฏิเสธว่า มันอาจไม่รวดเร็วทันใจในบางเรื่อง แต่ยืนยันว่า มันมีข้อดี ถามว่าต้องปรับไหม ก็ต้องพยายามทำให้มันดีขึ้นภายใต้หลักที่พวกเรายึดถือกันมา

  • คิดว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคของคำว่า ทันสมัยหรือเปล่า ?

ไม่หรอก อย่างที่บอก ตั้งแต่ทำงานมาก็ไม่เคยอึดอัดอะไร คำว่าทันสมัย มันก็สามารถทันสมัยแบบถูกต้องได้ ทันสมัยไม่จำเป็นต้องทุจริต ทันสมัยแล้วไม่จำเป็นต้องทำผิด หรือทันสมัยแล้ว จะดูกันแค่ผลแพ้ชนะในการเลือกตั้งเท่านั้น

เพราะผมคิดว่า ทันสมัยสามารถทำได้ภายใต้ระเบียบ และภายใต้หลักการที่ถูกต้องได้ 

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image