ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ถอดบทเรียน-ชำแหละการเมืองไทย ‘วิธีการผิด ไม่มีทางได้ผลลัพธ์ที่ถูก’

ปฎิเสธไม่ได้ว่าคนเสื้อแดง หรือกลุ่ม นปช. คืออีกหนึ่งกลุ่มพลังทางการเมืองสำคัญในการเมืองไทย รอบทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าคนจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย แต่ถึงวันนี้ พลังของกลุ่มคนเสื้อแดงก็ยังคงอยู่ และยังเห็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวผ่านสื่ออยู่บ่อยๆ คำถามสำคัญคือว่า ทำไมคนเสื้อแดงยังอยู่ และรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คนระดับแกนนำเรียนรู้อะไรจากบทเรียนความขัดแย้ง รวมถึงเข้าใจและมีกรอบคิดที่มองการเมืองไทยอย่างไร และเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

เรานำเรื่องนี้มาคุยกับ หนึ่งในแกนนำที่มีบทบาทสำคัญ คือ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็น แกนนำนปช. ในโอกาสว่างเว้นจากการเมืองมา 3 ปีกว่าแล้ว ให้ช่วยถอดบทเรียนดังกล่าวของตัวเอง

 

-ความขัดแย้งทางการเมืองไทยยาวนานมากกว่า1 ทศวรรษ คุณมีมุมมองอย่างไร และเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้างไหม

Advertisement

ถ้าพูดถึงความขัดแย้งทางการเมือง ผมคิดว่ามันต่อเนื่องว่า 85 ปีแล้ว และมันก็ยังเป็นเรื่องเดิมอยู่ นั่นคือความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม มันจะมีบางช่วงบางเวลาที่แหลมคมเข้มข้น บางช่วงที่ดูเหมือนจะคลี่คลายในระดับหนึ่ง นี่คือภาพใหญ่ที่ผมมอง แต่ถ้าตัดให้เหลือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมพบว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีพัฒนาการของตัวเอง แล้วก็รับรู้กันอย่างเปิดเผยว่านี่คือการต่อสู้กันระหว่างสองแนวความคิดทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องของพรรค ไม่ใช่เรื่องของสีเสื้อ เป็นแต่เพียงว่าการอธิบายแบบนั้นจะเป็นเรื่องที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเขาพยายามหลีกเลี่ยง เพราะถ้าพูดอย่างนั้นเท่ากับการยอมรับว่าเขาเป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตย ดังนั้นเขาจึงเลือกที่จะพูดว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างเสื้อแดง เสื้อเหลือง ระหว่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ โดยที่ขุมกำลังหลักของอนุรักษ์นิยมจัดวางตัวเองในฐานะผู้แก้ปัญหา นี่คือการวางตำแหน่งของแต่ละฝ่าย ซึ่งก็มีผลให้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์มันดูเหมือนว่าถ้าเอาเสื้อแดงกับเสื้อเหลืองมาคุยกันได้ ทุกอย่างก็จบ เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จับมือกันตั้งรัฐบาลทุกอย่างก็จบ ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่ จะเห็นว่ากลุ่มที่เรียกว่าพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมเขาต้องการออกแบบและควบคุมสิ่งแวดล้อมทางการเมืองให้เป็นไปตามที่ต้องการ และถ้าได้ตามที่ต้องการ ก็ไม่มีหลักประกันว่าผลประโยชน์จะเป็นของคนส่วนใหญ่ แต่ผลประโยชน์จะเป็นของพวกเขาแน่ๆ ส่วนประชาชนจะได้อะไรเป็นเรื่องซึ่งต้องตามดู

-หมายความว่าถ้าให้แกนนำทุกฝ่ายและทุกพรรคมาทำสัญญาประชาคม แบบที่ คสช. กำลังทำอยู่ตอนนี้ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ

นั่นไม่ใช่คำตอบเลย เพราะเหล่านี้ไม่ใช่คู่ขัดแย้งที่แท้จริง คนบอกว่าเสื้อแดง เสื้อเหลือง เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง ผมยืนยันมาตลอดว่าเราไม่ใช่เหตุแต่เราคือผลของความขัดแย้งระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมในสังคมไทยต่างหาก คือเมื่อสังคมหนึ่งมีความขัดแย้งของสองแนวคิดมาอย่างยาวนาน พัฒนาการทางสังคมการเรียนรู้ ทางข้อมูลข่าวสารของประชาชนมันก็ทำให้เกิดกลุ่มมวลชนหรือกลุ่มพลังต่างๆในสังคมออกมาเผชิญหน้ากัน นี่คือผลของมัน ความเห็นผมคือ ถ้าจะสร้างความปรองดอง ต้องมีกลไก กติกา และมีกระบวนการที่ทำให้กลุ่มพลังทั้งเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมอยู่ร่วมกันได้ ภายใต้กติกาที่มีความเป็นสากล ไม่มีสังคมไหนจะทำให้สองแนวคิดนี้สูญสลายไปได้ 100% หรือดำรงอยู่ได้เพียงข้างเดียว ไม่มีใครทำได้ แต่ที่เขาทำกัน คือเขามีกติกา มีรูปแบบมีระบอบการปกครองที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับกันได้ และการแพ้การชนะในแต่ละสังคม เขาจบกันด้วยกระบวนการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นในหลายๆประเทศที่เป็นแม่แบบประชาธิปไตย เราจะเห็นว่าบางช่วง อยู่ในช่วงที่อนุรักษ์นิยมเป็นฝ่ายชนะ บางทีก็อยู่ในช่วงเสรีนิยมเป็นฝ่ายชนะ คือเขาจบกันตรงนั้น แต่ของเราอย่างที่บอก พลังที่แท้จริงของอนุรักษ์นิยมเขาเลือกจะวางตัวเองในแบบยุทธศาสตร์นอกวงของความขัดแย้ง ปล่อยให้ตัวผลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเหลือง แดง เพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ สู้กัน สู้กันจนได้จังหวะที่เขาเข้ามาในฐานะผู้แก้ปัญหา ซึ่งดูเหมือนว่าลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ทั้งๆที่แท้จริงแล้ว ต้องยอมรับว่าแนวความคิดหรือกลุ่มพลังนั้นเป็นส่วนสำคัญของปัญหาไม่ต่างกับกลุ่มพลังอื่นๆเหมือนกัน

Advertisement

-อธิบายกลุ่มคนเสื้อแดง และการเปลี่ยนแปลงของคนเสื้อแดง ในมุมมองของตัวเองยังไง

ผมคิดว่า 10 ปีที่ผ่านมาพลังของคนที่รักประชาธิปไตยไม่ได้ด้อยลง ตรงกันข้ามผมมีความรู้สึกว่ามันกว้างขวางมากขึ้น เป็นแต่เพียงว่าการหลอมรวมกันทางอุดมการณ์ยังไม่ชัดเจนนัก มีลักษณะกระจัดกระจายในเรื่องแนวทางการต่อสู้และการเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันมีคนจำนวนหนึ่งเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตยแต่ไม่พร้อมที่จะแสดงออกในขบวนการต่อสู้ใดๆก็ตาม เขาพร้อมที่จะรอคอยและแสดงออกในการเลือกตั้ง ถ้าให้ประเมินพลังของฝ่ายประชาธิปไตยวันนี้ ผมว่ายังมีแต่มีลักษณะกระจัดกระจายและยังไม่สามารถรวมกันเป็นพลังใหญ่เพื่อกดดันหรือแม้กระทั่งต่อรองกับฝ่ายผู้กุมอำนาจได้ ต้องมีการใช้เวลาอีกสักระยะ คือก่อนหน้านี้ มันเคยมีเอกภาพมากกว่านี้ เคยแสดงพลังให้เป็นที่ปรากฏแต่เราต้องยอมรับว่าเราอยู่ในสถานการณ์การต่อสู้ ซึ่งฝ่ายตรงข้าม เขามีการสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง แล้วก็ย่อยสลายหรือทำให้อีกฝ่ายอ่อนแอลง แล้วต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเขาทำได้ผลพอสมควร

-เคยถูกกล่าวหาในการเคลื่อนไหวมาหลายครั้ง ถึงตอนนี้รู้สึกอย่างไร

ผมคิดว่าเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เราคือขบวนการภาคประชาชนที่รวมตัวและขับเคลื่อนยืนหยัดอยู่ยาวนานที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทยมา ผมกล้าพูดอย่างนั้น อย่างพันธมิตรเริ่มปลายปี ’48 วันนี้พันธมิตรประกาศยุติบทบาทตัวเอง กปปส.เริ่มปลายปี’56 วันนี้แม้จะยังดำรงอยู่ แต่ก็ไม่มีอะไรพิสูจน์ว่าถ้าหากเกิดสถานการณ์ต่อสู้สภาพของ กปปส.จะเป็นอย่างไร เพราะผมเชื่อว่าคุณสุเทพจะไม่สามารถนำพาผู้คนในจำนวนเท่าเดิมได้ ผมเชื่อว่ามันถูกย่อยสลายไปมากแล้ว ทั้งด้วยสถานการณ์ที่คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าสิ่งที่เดินมามันไม่ใช่ หรือว่าการเข้ามาและเกิดการขัดกันของประโยชน์ การไม่ลงรอยกันในการจัดสรรสิ่งที่หลายฝ่ายคิดว่าควรจะได้ แต่ว่าคนเสื้อแดง รวมตัวกันมาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 จนถึงปัจจุบันก็ยังมีอยู่ และภายใต้ข้อจำกัดมากมายก็ยังพอมีกิจกรรมและความเคลื่อนไหวให้เห็นอยู่บ้าง คำว่าคนเสื้อแดงที่ผมพูดถึงไม่ได้หมายถึงองค์กร นปช.อย่างเดียว มันหมายถึงองค์กรอื่นใดก็ตามที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยโดยยึดหลักสันติวิธี เราก็ถือว่าเป็นแนวร่วม นี่คือการยืนยันโดยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ไม่ว่าเขาจะบอกว่าเป็นพวกรับจ้าง เป็นพวกถูกล้างสมอง เป็นกระบวนการจัดตั้งเป็นชาวไร่ชาวนาไม่รู้ตาสีตาสา มาชุมนุมแล้วก็กลับไปเอามันไปวันๆ แล้วก็ไม่รู้เรื่องอะไร ถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆเราไม่อยู่มาถึงทุกวันนี้ หรือถ้าเรายืนมาถึงวันนี้เราก็พ่ายแพ้สูญสลายไปแล้ว เพราะพลังของอีกฝ่ายยิ่งใหญ่แข็งแรง มีระบบการจัดตั้งผ่านกลไกรัฐที่เข้มแข็งมาก ถ้าถามว่าวันนี้รู้แพ้รู้ชนะหรือยัง ผมตอบว่ายัง แล้วเอาเข้าจริงๆไม่มีใครพยากรณ์ได้ด้วยว่าสุดทางแล้วฝ่ายไหนจะชนะหรือจะแพ้

-ดูจากสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมาดูเหมือนจะแพ้

มันคล้ายๆจะเป็นอย่างนั้น แต่บางช่วงบางเวลาก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่าเรากำลังชนะ เช่นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง แนวทางที่เราเชื่อมั่นก็เป็นฝ่ายชนะตลอดมา สิ่งเหล่านี้มันอยู่ที่ใครจะอธิบายความเรื่องแพ้ชนะอย่างไร

-ถ้าถามว่าทำไมคนยังชอบทักษิณ แนวทางของพรรคเพื่อไทย ส่วนตัวอธิบายยังไง

ผมคิดว่า สิ่งที่ทำให้ทักษิณหรือพรรคเพื่อไทยยังยืนหยัดอยู่ได้ ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นตัวทักษิณหรือสมาชิกคนใดก็ตาม แต่หัวใจของเรื่องนี้มันอยู่ที่นโยบาย การบริหารจัดการทรัพยากรของรัฐให้เกิดกับประชาชนได้จริง ซึ่งเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น และประชาชนก็พบว่าหากเลือกถูกต้อง ก็จะสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้ ถ้าทักษิณไม่ได้ทำ 30 บาทรักษาทุกโรค ถ้าทักษิณไม่ได้ทำกองทุนหมู่บ้าน ทำกองทุนSML และอีกหลายๆนโยบาย ต่อให้แน่แค่ไหนก็คงไม่แข็งแรงอยู่ได้จนทุกวันนี้ เพราะคนเห็นความแตกต่าง

-นโยบายของรัฐบาลนี้ก็มีหลายเรื่องคล้ายกับยุคทักษิณ เน้นการกระจายงบลงสู่ประชาชน บางเรื่องคนวิจารณ์ว่าดีกว่าด้วย

ผมไม่เคยรู้สึกกังวลเลย เพราะนอกจากเรื่องนโยบาย ยังเป็นเรื่องความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรของรัฐที่ให้ประโยชน์ได้จริงกับประชาชน ผมคิดว่ารัฐบาลปัจจุบันก็มีคำถามเรื่องความสามารถนี้อยู่ ประการต่อมาคือ การเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีการไม่ชอบธรรม วันนึงมันจะเป็นกับดักของพวกเขาเอง ที่ทำให้เขาไม่สามารถเดินไปต่อด้วยรูปลักษณ์นี้ จะเห็นว่าตัวร่างรัฐธรรมนูญ กติกา การเลือกตั้ง ที่กำลังทำอยู่ส่อเจตนา ที่พยายามจะแปลงร่างของคณะนี้ ไปสู่การยึดกุมอำนาจอีกแบบหนึ่ง นั่นก็คือรัฐบาลผ่านการเลือกตั้ง พอถึงจุดนั้น ก็ยังน่าห่วงว่าการยอมรับของประชาชนจะมีมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นภายใต้ความไม่ชอบธรรมนี้จึงไม่กังวลว่าเขาจะอยู่ยาวเป็น 9 หรือ 10 ปี ผมอยากจะดูเหมือนกันว่าเขาจะอยู่ได้ขนาดนั้นหรือเปล่า

-บทเรียนทางการเมืองจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากจุดเริ่มต้นชีวิตทางการเมืองจนถึงปัจจุบัน

ผมเริ่มต้นทางการเมืองด้วยความรู้สึกของเด็กบ้านนอกธรรมดาที่อยากเป็นสส. เพราะครอบครัวผมต่างก็เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ ตากับปู ก็เป็นผู้ใหญ่บ้าน น้าก็เป็นกำนัน น้าอีกคนเป็น สจ. ผมขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงให้น้าชายตั้งแต่อายุ 16 ผมโตมาแบบนี้เลยอยากเป็นสส. อยากเข้าไปทำงานเข้าไปแก้ปัญหาและยืนพูดในสภา เพราะอายุครบ 25 ในปี 2544 กติกาใหม่เขาก็ให้ลงเลือกตั้งได้ ผมก็ลงเลย ไม่ได้รับเลือกตั้ง ปี 2548 ลองอีกที ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง ก็ไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นแกนนำในการต่อสู้อะไรแบบนี้ แต่ว่าสถานการณ์ยึดอำนาจ เดือนกันยายนปี 2549 พาผมมา ผมเริ่มต้นเวทีต่อสู้ทางการเมืองในสถานการณ์นั้น และผมแน่ใจว่าคนเสื้อแดงจำนวนมากเหลือเกิน เริ่มต้นพร้อมผม

-หมายความว่าไอเดีย หรือกรอบคิดทางการเมืองเรื่องหลักประชาธิปไตย ต่างๆในช่วงเริ่มชีวิตการเมือง ก็ไม่ได้มีมากเหมือนในปัจจุบัน

ถูกต้อง ผมมีแค่ความอยากเป็นส.ส. ผมอ่านหนังสือเรื่องราวขบวนการต่อสู้ทั้งหลายในหลายๆประเทศ เขามักจะพูดกันว่าคนในขบวนการต่อสู้ที่เป็นแกนนำหรือคนที่มีบทบาทสำคัญ ส่วนใหญ่จะโตมาพร้อมกับอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ มีจิตวิญญาณของการต่อสู้ตั้งแต่เยาว์วัย แต่ผมยอมรับเลยว่าผมไม่ได้โตมาแบบนั้น ผมโตมากับความรู้สึกแค่อยากเป็นผู้แทน แล้วผมทำมาหากินส่งเสียตัวเองเรียน ใช้วิชาชีพหารายได้รอจังหวะที่จะสมัคร ผมเริ่มต้นทางการเมืองพร้อมกับประชาชนจำนวนมาก แล้วจากการเริ่มต้นตรงนั้นทำให้ผมต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าและรับฟังผู้คน ต้องพัฒนาตัวเองให้เท่าทันกับขบวนการที่ขับเคลื่อนไป จนวันหนึ่งผมก็พบว่าผมต้องทำสิ่งนี้ ถึงขณะนี้ผมพูดได้อย่างเต็มปากว่า เป็นผู้แทนหรือรัฐมนตรีสำหรับผมไม่ใช่เรื่องใหญ่ เป็นหรือจะไม่ให้เป็นก็ได้ แต่จะไม่ให้ผมเป็นผมอย่างทุกวันนี้ไม่ได้ ผมจะเป็นคนเสื้อแดง ผมจะเป็นคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย อย่างนี้ เงื่อนไขของสถานการณ์อาจทำให้ผมขยับไม่ได้มาก แต่ให้มั่นใจเลยว่าผมก็ยังเป็นผม ถึงเวลาเรียกร้องประชาธิปไตยผมไม่ลังเลเลยที่จะยืนอยู่ข้างประชาชน และผมไม่เคยคิดว่าจะต้องอยู่ในฐานะแกนนำเสมอไป ต้องอยู่ในฐานะคนปราศรัยอยู่ในฐานะหัวขบวน ผมพร้อมจะเป็นมวลชนคนหนึ่งและนั่งฟังเขาพูด พร้อมเดินไปกับขบวนการที่มีแนวทางถูกต้องตลอด

-จุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองทำให้เป็นณัฐวุฒิอย่างทุกวันนี้

ผมขึ้นเวที ผมเดินขบวน ตั้งแต่ปี 2550 ผ่านเหตุการณ์มากมาย ผมสังเกตสีหน้าแววตาอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่เขาเดินร่วมทางกับผม เขาเป็นประชาชนทั่วๆไป ฐานะทางสังคมเศรษฐกิจแตกต่างกัน แต่พอมาอยู่ตรงนั้นมันใกล้ชิดมันร่วมเป็นร่วมตายจนรู้สึกผูกพัน สิ่งเหล่านี้บอกผมว่า ความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองมันมีอยู่จริง แล้วมันสามารถทำให้คนยืนหยัด ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อได้จริง ตอนเด็กๆผมไม่เคยเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ ผมถึงพูดมาตลอดว่าผมโตมากับคนเสื้อแดง ถ้าคนเสื้อแดงอายุ 10 ขวบผมก็ประมาณกัน เราเรียนรู้กันและกันมา ผมพูดอยู่เสมอว่าตัวเองไม่ได้มีอุดมการณ์ยิ่งใหญ่จิตวิญญาณสูงส่งอะไร ผมก็เหมือนๆกับประชาชนที่เขาออกมาสู้ แต่ว่าเขาไว้ใจและเชื่อในสิ่งที่ผมพยายามสื่อสารเท่านั้น

-รู้สึกยังไง เวลามีคนมองคนเสื้อแดงมีภาพของความรุนแรง แล้วเป็นนักการเมือง ไม่ห่วงภาพลักษณ์ว่าจะถูกมองเหมารวมไปด้วย

ผมยืนยันมาตลอดว่าผมเป็นคนเสื้อแดง จะให้ผมออกจากตัวเองได้อย่างไร ความเป็นคนเสื้อแดงมันไม่ได้เข้าสิงร่างผม มันเป็นมาจากข้างใน เพราะฉะนั้นผมไม่สามารถเดินออกจากความเป็นตัวเองได้ ส่วนเรื่องความรุนแรงภาพลักษณ์ใดๆที่เสียหาย ผมเชื่อว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ส่วนเรื่องข้อเท็จจริงต่างๆข้อมูลหลักฐานทั้งหลายปัจจุบันถูกสื่อสารออกไปสู่สังคมแล้วมีคนจำนวนมากที่เข้าใจ ทั้งนี้ความเสียหายจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากขบวนการคนเสื้อแดงแต่เกิดจากการจัดขึ้นของฝ่ายตรงข้าม

-ถ้าลองเสิร์ช Google ชื่อณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จะขึ้นประโยคต่อท้ายว่า “เผาเลยครับผมรับผิดชอบเอง” ทันที ดูเหมือนเป็นประโยคติดตัวไปแล้ว

นี่เป็นการดำเนินการของฝ่ายตรงข้ามที่ใช้เทคนิคการตัดต่อข้อความเพื่อทำลายผมในทางการเมือง ประโยคนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการปราศรัยเมื่อเดือนมกราคม 2553 เขาสอยดาวจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีการนัดชุมนุมใหญ่ที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์เลย เราแถลงข่าวชุมนุมในเดือนกุมภาพันธ์ 2.ในคืนที่ผมปราศรัยมันมีกระแสข่าวลือมาหลังเวทีว่ากรุงเทพจะมีการยึดอำนาจ ผมก็บอกว่าไม่มีแล้วถ้ามีการยึดอำนาจก็ให้ดำเนินการอย่างนั้น 3. ถ้าคนมีใจเป็นกลางเลื่อนคลิปนั้นไปข้างหน้าไม่เกิน 2 นาทีก็จะเข้าใจว่ามันไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ราชประสงค์เลย แต่ว่า ศอฉ.เลือกที่จะตัดท่อนนั้นแล้วนำเสนอซ้ำแล้วซ้ำเล่าในวันที่ผมอยู่ในเรือนจำเพื่อตอกย้ำว่าผมเป็นคนสั่งการทั้งหมดทั้งๆที่บริบทไม่เกี่ยวกัน ตอนคุณถวิล เปลี่ยนศรี ขึ้นเบิกความในฐานะพยานโจทก์ ฝ่ายอัยการเอาคลิปนี้ เปิดให้คุณถวิลดู แล้วคุณถวิลก็ให้การว่าคนพูดคือนายณัฐวุฒิ จำเลยที่สาม พูดเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่แยกราชประสงค์ ผมนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีเมื่อถึงรอบที่ทนายผมถามค้านผมก็ให้ทนายผมเอาคลิปที่เดินไปข้างหน้าอีก 2 นาทีเปิดให้ดูใหม่ แล้วถามคุณถวิลว่าพยานยืนยันไหมว่าที่พยานพูดให้การเป็นความจริง คุณถวิลก็ตอบว่าไม่ใช่แล้วครับ เขาเข้าใจผิด เพราะมันเป็นเหตุการณ์คนละกรรมคนละวาระ จริงๆผมอธิบายเรื่องนี้มาหลายรอบ แต่ผมคิดว่ามีคนส่วนหนึ่งพร้อมที่จะปิดตาอยากจะเชื่ออย่างนั้น

 

-เมื่อไม่นานมานี้มีนักวิชาการ (ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีรัฐศาสตร์ มธ.) ปาฐกถาวิเคราะห์ ว่าพลังของชนชั้นนำภาครัฐจะอยู่ในอำนาจการเมือง 9 ถึง 10 ปี เชื่อไหม

พลังอำนาจนี้น่าจะอยู่ต่อนานกว่านั้น แต่จะอยู่ในสภาพไหน จะอยู่ในสภาพผู้กุมอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จ หรืออยู่ในสภาพที่ถูกพลังประชาธิปไตยจัดวางไปอยู่ในที่ที่สมควรอยู่ อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างที่ผมบอก พลังแบบนี้ไม่มีทางหายไป การจะบอกว่าพลังประชาธิปไตยจะสู้จนพลังชนชั้นนำภาครัฐหายไป เป็นไปไม่ได้ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เสกสรรค์ว่าอำนาจแบบนี้ยังอยู่แน่ แต่จะอยู่ในสภาพไหน

-หมายความว่าไม่ได้น่ารังเกียจถึงขนาดต้องออกไปจากสังคมไทยแต่ควรจะอยู่ให้ได้กับอำนาจอื่นๆ

ถูกต้องครับ

-แล้วจะทำอย่างไร

ก็พลังของฝ่ายประชาธิปไตยนี่แหละครับ วันหนึ่งต้องเข้มแข็งขึ้นมาและนำไปสู่การสร้างกติกากันใหม่ มีการตกลงพูดคุยกันใหม่ ต้องมีการต่อรองทางอำนาจกัน มีการถ่วงดุลทางอำนาจ สิ่งเหล่านี้ วันนึงจะเกิดขึ้น ผมไม่เคยเชื่อว่าอำนาจนี้จะยั่งยืนยาวนานแข็งแรงอย่างนี้ไปเป็น 10 ปี ถ้าผมเชื่ออย่างนั้น เท่ากับผมกำลังดูแคลนพลังฝ่ายประชาธิปไตย มันคงไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน ต้องใช้เวลาหน่อย

-ผลกระทบจากรัฐธรรมนูญและโครงสร้างทางการเมืองแบบนี้กับคนเสื้อแดง หรือฝ่ายที่เรียกว่าฝ่ายประชาธิปไตย

คุณเชื่อไหมว่า ผมกำลังคิดว่ารัฐธรรมนูญแบบนี้โครงสร้างทางการเมือง กติกาแบบนี้นี่แหละ จะเป็นตัวเร่งหรือเครื่องมือ ที่ทำให้อำนาจของชนชั้นนำภาครัฐ อ่อนแอลงโดยเร็ว เพราะนี่จะเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อไปในอนาคต และความขัดแย้งอันเกิดขึ้นจากการกระทำโดยอำนาจรัฐราชการ อำนาจเผด็จการ มันจะเร่งพลังของฝ่ายประชาธิปไตยให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ คือหลายคนกำลังคิดว่ารัฐธรรมนูญยุทธศาสตร์ชาติแบบนี้ จะทำให้รัฐบาลเลือกตั้งอ่อนแอ จะทำให้ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถทำอะไรได้ ต้องอยู่ในกรอบนับสิบปี แต่มุมผม ไอ้กติกาที่กำลังทำกันอยู่นี้ มันกำลังฝืนต่อกระแสหลักของสังคมโลก มันกำลังฝืนต่อพัฒนาการของสังคมไทย ซึ่งในที่สุดมันก็ต้องเดินไปสู่ประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นแทนที่กติกาแบบนี้จะทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยอ่อนแอลง มันไม่ใช่ วันนึงมันจะทำให้พลังของฝ่ายประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นต่างหาก และเมื่อพลังของฝ่ายประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้น มันก็มีโอกาสที่จะทำให้พลังของชนชั้นนำภาครัฐต้องอ่อนแอลง เพราะฉะนั้นส่วนตัวผม เขาไม่ได้กำลังวางระเบิดเวลาให้ฝ่ายประชาธิปไตยเพราะฝ่ายประชาธิปไตยโดนระเบิดมาหลายลูก จนไม่มีอะไรต้องเสียแล้ว แต่ผมคิดว่าเขากำลังวางระเบิดเวลาให้ตัวเอง ไม่เชื่อคุณลองดูแล้วกัน กติกาแบบนี้ พอถึงบทของความขัดแย้ง แม้แต่ตัวเขาเองเขาก็จะรู้สึกว่าไม่อยากอยู่ในกติกาแบบนี้

-ยังอยากเป็นนักการเมืองอยู่ไหม ในสภาวะที่นักการเมืองเป็นถูกมองแง่ลบ ถูกมองว่าเป็นปัญหาของสังคม

ส่วนตัวผมยืนยันมาตลอดว่าผมคือผมแบบนี้ ถ้าผมประกาศตัวว่าผมเป็นคนเสื้อแดงก็จะเป็นคนเสื้อแดงไปตลอด และผมก็ประกาศตัวว่าผมเป็นนักการเมืองด้วย ผมคิดว่าในเวลาที่นักการเมืองถูกดูถูกดูแคลนแบบนี้ มันยิ่งต้องมีคนแสดงตัวว่าเป็นนักการเมืองและต้องพิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นว่ามันเป็นแบบที่เขาว่าเสียทั้งหมดหรือไม่ มันมีบ้างไหมที่จะเป็นที่พึ่งที่หวังให้กับประชาชนได้ ในขณะเดียวกัน คนพวกนั้นดูเหมือนว่าเขาไม่ตระหนักเลยว่า มือนิ้วหนึ่งที่เขาชี้นักการเมืองว่าเป็นพวกไม่เข้าท่า ถ่วงชาติ ถ่วงบ้าน ถ่วงเมือง อีกสี่นิ้วก็กำลังชี้กลับไปหาเขาเหมือนกัน พวกเขาก็เป็นนักการเมือง แล้ววันนึงมันต้องทำให้ประชาชนรู้ให้ได้ว่าระหว่างนักการเมืองที่เลือกตั้งมาเอง กับนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้งแต่ถูกแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจแล้วตรวจสอบไม่ได้ คุณอยากจะได้สังคมแบบไหน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นักการเมืองจากการเลือกตั้งก็ต้องปฏิรูปตัวเอง พยายามที่จะสร้างคุณภาพใหม่ขึ้นมาให้ได้ด้วย

-สร้างอย่างไร

อย่างแรกเลยพื้นฐานต้องการที่จะยืนยันหลักการประชาธิปไตยและต้องแสดงออกด้วยว่าพร้อมที่จะยืนเคียงข้างประชาชนในเรื่องที่มันถูกต้อง ถ้านักการเมืองเลือกที่จะเก็บตัวอยู่ในที่ตั้งตลอด รอที่จะเลือกตั้งแล้วคิดแต่ว่าจะเป็นรัฐบาล ฝ่ายผู้มีอำนาจให้เดินไปหาแล้วจะให้เป็นโน้นเป็นนี่ มันก็จบ มันก็เท่ากับว่าท่านยอมรับคำปรามาสทั้งหมดที่มี ผมคิดว่าวันนึงคำว่านักการเมือง ใครต่อใครก็สามารถยืดอกว่าเป็นนักการเมืองได้ ส่วนตัวผมผมยืดอกมาตลอดว่าผมคือนักการเมือง ใครจะว่าอะไรผมไม่สนใจเพราะผมถือว่านักการเมืองต้องอยู่ในสายตาของประชาชนแล้วต้องพิสูจน์ตัวเองต่อประชาชนอยู่แล้ว

-แต่โครงสร้างกฎหมาย การเมือง มีกลไกที่จำกัดและควบคุม นักการเมือง มากพอสมควร

คำว่านักการเมืองของผม ไม่ได้จำกัดแค่ว่าจะได้ลงเลือกตั้งหรือไม่ เลือกตั้งแล้วจะได้รับเลือกตั้งหรือเปล่า ได้รับเลือกตั้งแล้วจะได้เป็นรัฐบาลมีตำแหน่งกับเขาไหม มันไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น คำว่านักการเมืองของผมคือคนที่มองเห็นปัญหาในสังคมมองเห็นความไม่เท่าเทียม มองเห็นความเอารัดเอาเปรียบแล้วอาสาตัว ว่าภายใต้ปัญหาเหล่านี้ พร้อมที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนเข้าไปจัดสรรทรัพยากรของรัฐเพื่อความเป็นธรรม เพื่อความเท่าเทียมและเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ได้ เพราะฉะนั้นภายใต้นิยามแบบนี้คุณอยู่ตรงไหนคุณก็เป็นนักการเมืองได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเลือกหรือไม่เลือกตั้ง มีหรือไม่มีตำแหน่ง เพียงแต่ว่าที่ผ่านมานักการเมืองส่วนหนึ่งก็ไปทำให้สังคมให้คำนิยามได้ว่าพวกนี้คือพวกวิ่งหาตำแหน่งหาผลประโยชน์ถามว่ามีจริงไหมก็ตอบว่ามีแต่ไม่ใช่ทั้งหมดหรอกครับ เหมารวมกันไม่ได้

นอกจากนี้ฝ่ายที่อยู่ในอำนาจในปัจจุบัน คุณปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่าคุณก็คือนักการเมือง ในรอบ 10 ปี มีการยึดอำนาจสองครั้ง มีการตั้งสภานิติบัญญัติ มีการตั้งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ไปดูรายชื่อคนที่นั่งในสภาของการยึดอำนาจทั้งสองครั้งก็เป็นคนกลุ่มเดิมๆทั้งนั้น ทั้งนักเคลื่อนไหว นักวิชาการที่มีบทบาทขับเคลื่อนทางการเมือง พูดให้เห็นภาพก็คือถ้าเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง คุณก็รู้ใช่ไหมว่าใครจะเป็นผู้นำ ใครจะมีอำนาจ เช่นเดียวกัน ถ้าประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งคุณก็รู้ว่าใครจะเป็นผู้นำ ใครจะมีตำแหน่งทางการเมือง และก็เช่นเดียวกันอีก ถ้ามีการรัฐประหารคุณก็พอจะรู้ว่าใครจะเข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง ผมนึกชื่อออกหมดว่าจะเป็นใคร คนพวกนี้คือพรรคๆนึง เพียงแต่ว่าเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์เราใช้กลไกทางการเมืองประชาธิปไตยในการขับเคลื่อน แต่ว่าพรรคของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เขาใช้กลไกและทรัพยากรของรัฐเป็นตัวขับเคลื่อน โดยมีอำนาจกองทัพเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนเหล่านี้ ไม่เชื่อลองเปรียบเทียบรายชื่อจากการปฏิวัติทั้งสองครั้งดู มันมีคนชื่อเดียวกันซ้ำกันเยอะไปหมด

-รธน.ฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกง มีกลไกสร้างนักการเมืองดี เชื่อว่าจะสำเร็จไหม

ผมเชื่อว่ากติกาที่ไม่ดี ก็จะได้ระบบการเมืองที่ไม่ดี กติกานี้มันเป็นกติกาที่มีปัญหา

-เขาเชื่อว่าปราบโกงสำเร็จ

นั่นเป็นความเชื่อของเขา และเขาต้องการให้ประชาชนเชื่อด้วย แต่ผมมีสิทธิ์ที่จะไม่เชื่อ ก็ขนาดว่ามีอำนาจเบ็ดเสร็จยกร่างกติกากันเอง สามปีที่ผ่านมาก็ยังมีกระแสข่าวทุจริตคอร์รัปชั่นเต็มไปหมด เรื่องเปอร์เซ็นต์หัวคิวก็ยังมีข่าวอยู่ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่ากติกาที่ไม่ดี ไม่สามารถสร้างระบบที่ดีได้

-มีคนหลายคนประกาศว่ายังไม่ต้องมีเลือกตั้งก็ได้ หรือแม้แต่คนเชื่อว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องมีเสรีภาพเต็มที่ เป็นแบบที่เป็นอยู่นี้ก็อยู่ได้

ผมเชื่อว่าคนที่คิดอย่างนั้น ส่วนใหญ่กำลังอยู่ในสถานะได้เปรียบ กำลังอยู่ในฐานะที่เข้าถึงอำนาจ เข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงในผลประโยชน์ แล้วกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง ว่าถ้ามีการเลือกตั้ง หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจ ตัวเองก็อาจจะสูญเสียสถานะหรือสูญเสียประโยชน์อะไรก็ตามที่ตัวเองกำลังเข้าถึงอยู่ได้ ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้ มองให้เห็นเป็นความจริง แต่อย่าเอามากังวล ผมกำลังพูดถึงการพาประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง ส่วนใครจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์อย่างไรบ้างเป็นเรื่องหลัง เพราะถ้าประเทศไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องคนส่วนใหญ่ต้องได้ประโยชน์แน่ๆ ส่วนคนส่วนน้อยที่เสียประโยชน์ ก็ต้องสร้างกระบวนการที่ทำให้อยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่ว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วฝ่ายประชาธิปไตยไปไล่บี้ ไล่เหยียบ หรือไล่ฆ่า เมื่อบ้านเมืองไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว ถึงวันนั้นกติกาที่ถูกต้องก็จะค่อยๆจัดสรรของมันเอง น่าเสียใจที่เราไม่เคยไปถึงจุดนั้นเลย จุดเป็นประชาธิปไตยกันจริงๆ เพราะเมื่อทำท่าจะถึงจุดนั้น ฝ่ายที่เขามีความรู้สึกหวั่นไหวต่อความเปลี่ยนแปลง ฝ่ายที่เขามีความรู้สึกว่าอย่างเดิมมีความมั่นคงอยู่แล้ว เขาเลยรวมตัวกันล้มพัฒนาการทางการเมืองไปเสีย นี่มันเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาตลอด

-สามปีว่างงานการเมือง ทำอะไรอยู่

จัดรายการอยู่ Peace TV มีกิจกรรมกับลูกๆใช้เวลาในครอบครัวมากขึ้น จากแต่ก่อนที่ไม่ค่อยมีเวลาให้ที่บ้านเลย นอกจากนี้ก็ยังมีการทำกิจกรรมกับเพื่อนฝูงบ้าง มีการทำธุรกิจเล็กๆน้อยๆเพื่อหารายได้ เพื่อให้พอมีค่าใช้จ่าย แต่ชีวิตปัจจุบันก็ไม่ได้มีอะไรหวือหวาอยู่แล้ว ก็เดินดินกินข้าวแกงไม่ได้มีอะไรพิเศษ พยายามประคองสถานการณ์ รักษาแนวทางของตัวเองว่าที่เดินมาเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

-ทำไมถึงจัดโครงการช่วยเหลือทุนการศึกษาเด็ก จนมีการจัดคอนเสิร์ตระดมทุนใหญ่โต

ผมโตมาก็ด้วยการต่อสู้ชีวิต ผมหาเงินเรียนเองตั้งแต่จบม.6 แล้วก็ต่อสู้ชีวิตมาสารพัดมา ผมรู้ดีถึงความยากลำบากในชีวิต ที่สำคัญที่สุดคือคุณค่าของโอกาสที่มันผ่านเข้ามา สำหรับชีวิตคนโอกาสกับความซวย มันต่างกันนะ โอกาสบางทีมันมาเคาะประตูเราครั้งเดียว ถ้าเราไม่เปิดประตูรับมันหรือคว้ามันไว้ไม่ได้ มันก็จะไม่กลับมาหาเราอีก แต่ถ้ามันเป็นความซวย เคาะแล้วเราไม่เปิด มันก็จะเคาะอยู่อย่างนั้น ถ้าเราไม่เปิด มันก็จะถีบประตูเข้ามาหาเราจนได้ เพราะมันคือความซวย ผมคิดว่าการหยิบยื่นโอกาสให้กับคนที่กำลังรอ หรือที่กำลังขาดเป็นเรื่องสำคัญ ประกอบกับมันว่างเว้นภารกิจหลักทางการเมืองก็อยากจะใช้ความเป็นตัวเองที่พอมีคนรู้จัก ระดมทุนช่วยเหลือลูกหลานที่ขาดแคลน สิ่งที่ผมทำอยู่ไม่ใช่การเอาทุนไปให้เด็กผมพูดกับทีมงานเสมอว่าเรากำลังปลูกต้นไม้แห่งการแบ่งปันลงไปในหัวใจของเด็กเหล่านี้ ผมเชื่อว่าเราปลูกอะไรมันก็จะขึ้นและเติบโตมาเป็นแบบนั้น มันจะเป็นดอกผลแห่งการแบ่งปัน ผมมั่นใจว่าจะมีส่วนหนึ่งในนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งและมีคุณภาพ และเมื่อมีมากพอก็จะแบ่งปันคนอื่นต่อได้

สมัยก่อนผมเป็นเด็กเกเรมากในสมัยมัธยม แต่พอช่อง3 จัดโต้คารมมัธยมศึกษา ครูก็พาผมมาแข่งขัน ทั้งที่ผมนั้นเกเรเป็นที่เลื่องลือรับรู้ไปทั่ว แต่ครูก็ไม่รังเกียจและไม่ปิดกั้นโอกาส ครูบอกผมว่าไม่รู้ว่าพฤติกรรมเธอจะเป็นอย่างไร แต่เธอมีความสามารถทางนี้ ก็ต้องได้ไป นี่คือความหมายของโอกาสที่ผมยังจะจำมาจนทุกวันนี้

-นอกจากเรื่องการเมือง มีความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้อย่างไรบ้าง

ผมก็มีหลายๆเรื่องนะ แต่ผมคิดว่าหลายๆเรื่องที่ผมคิดนั้นยังเป็นเรื่องเล็กอยู่ถ้าเทียบกับปัญหาใหญ่ก็คือประเทศไทยกำลังมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วถ้ามันแก้เรื่องนี้ไม่จบเรื่องอื่นมันก็จะยุ่ง ฉะนั้นสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ผมถือว่ากำลังทำเรื่องใหญ่ คือการแก้ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศร่วมกับคนจำนวนมาก ผมตั้งเป้าสู้เรื่องนี้ก่อน เราแก้เรื่องเล็กโดยที่ภาพใหญ่ยังเป็นปัญหาอยู่ มันก็ทำกันไม่จบ

-พักจากการเมืองมานาน เวลาว่าง ชอบอ่านหนังสืออะไร เพราะสังเกตจากคำพูดในข่าวหลายครั้งมีคำศัพท์ทางรัฐศาสตร์หรือสังคมศาสตร์บ่อยๆ

ผมอ่านหนังสือเยอะนะ ถ้าให้จัดประเภทก็จะเป็นหนังสือการเมือง ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะสามสี่ปีที่ผ่านมาค่อนข้างว่าง ถ้าให้ยกตัวอย่างนักเขียนที่ชอบก็จะเป็นงานของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และนักวิชาการอีกหลายคน โดยเฉพาะงานวิชาการที่สนับสนุนประชาธิปไตย เวลาผมไปเจอท่านอาจารย์ที่ผมชอบก็จะไปบอกกับท่าน ว่าผมเรียนรู้จากสิ่งที่อาจารย์คิด นอกจากนั้นผมยังเข้าไปในโลกออนไลน์ ผมก็เรียนรู้จากประชาชนคนเล็กคนน้อย โดยเฉพาะเวลาเขาโพสต์หรือแสดงความคิดเห็น ไปอ่านคอมเม้นต์ใต้ข่าว ผมคิดว่าการที่เรารู้หรือได้ยินสิ่งที่คนเล็กคนน้อยเขาพูด หรือเขาคิด มันจะทำให้เราเห็นสังคมที่เป็นจริงได้มากขึ้น และทำให้ผมรู้สึกตลอดเวลาว่าผมก็เป็นคนเล็กคนน้อยที่จะต้องเรียนรู้และอ่านหนังสือ เวลารับฟังผู้คนมาเยอะ ผมมีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันเขา บางครั้งประหลาดใจเขาคิดได้ยังไง คือสามถึงสี่ปีที่ผ่านมา ไม่ได้คิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่สูญเปล่าสำหรับตัวเอง แต่ผมคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่สูญเปล่ากับประเทศไทยและต้องใช้เวลาอย่างมากในการแก้ปัญหาจากสิ่งที่เกิดขึ้น อาจมากกว่าช่วงเวลาที่เขาอยู่ในตำแหน่งด้วยซ้ำ เอาหล่ะ ผมพยายามเข้าใจว่ามันเป็นต้นทุนร่วมกันที่สังคมไทยต้องจ่าย เพราะเราไม่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อเหมือนกันได้ว่าการรัฐประหาร ไม่ใช่การแก้ปัญหา ยึดอำนาจไม่ใช่วิธียุติความขัดแย้งทางการเมือง เพราะจริงๆกระบวนการประชาธิปไตยมันไม่มีทางตันมันแก้ปัญหาด้วยตัวของมันเองได้ แต่ของเรามันมีการปิดช่องทางให้ตัน แล้วใช้วิธีการนอกระบบแก้ปัญหา

-ถามตรงๆ ถ้ามีอำนาจ เคยคิดจะแก้แค้นไหม

ไม่มีทาง เพราะว่าถ้าผมจะมีอำนาจ อำนาจนั้นมันต้องมาจากประชาชน และอำนาจจากประชาชนต้องใช้อย่างชอบธรรม จะใช้ตามอำเภอใจไม่ได้ ถ้าหากจะมีการดำเนินกระบวนการอย่างไรในทางกฎหมายหรือการเมืองก็ต้องถูกต้องและได้รับการยอมรับ เราไม่สามารถไปจัดการกับสิ่งที่เราบอกว่าผิดด้วยวิธีการที่ไม่ถูกได้ เมื่อไหร่ที่เราจะไปจัดการกับสิ่งที่ผิด ด้วยวิธีการที่ไม่ถูก ผลลัพธ์มันก็จะไม่ถูก ฉะนั้นเราต้องจัดการกับสิ่งที่ผิดด้วยวิธีการที่ถูก ผลลัพธ์สุดท้ายมันจึงจะถูกต้อง

“80 กว่าปีที่ผ่านมาเราจัดการกับสิ่งที่เราชี้ว่าผิด ด้วยวิธีการที่ไม่ถูก มันจึงเกิดการยึดอำนาจเรื่อยมา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image