สัมภาษณ์พิเศษ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ วิเคราะห์การเมืองปี 61 “ศึก 3 ก๊ก”

หมายเหตุ – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะคณะทำงานยุทธศาสตร์พรรค ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงทิศทางการเมืองในปี 2561 ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับ

ภาพ : จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์

ประเมินสถานการณ์การเมืองในปี 2561 ?

ผมคิดว่ามันก็ยังไม่มีความชัดเจนเต็มร้อย ที่บอกว่ายังไม่ชัดเจนก็เพราะว่ามันมีแค่องค์ประกอบบางส่วนที่จะนำไปสู่การคืนอำนาจ เช่น รัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) บางฉบับ โรดแมปการเลือกตั้ง เป็นต้น สถานการณ์ที่จะเดินไปสู่การคืนอำนาจให้ประชาชนในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้ไปแล้วบางส่วน รวมทั้งมีโรดแมปที่ได้ประกาศไปแล้วก็ตาม ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าความไม่นิ่งขององคาพยพต่างๆ ที่อยู่รอบตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นับตั้งแต่ตัวของ คสช.เอง ไปจนแม่น้ำสายอื่นๆ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนล่าสุดคือ แม้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 จะเขียนเสร็จแล้ว และมีผลบังคับใช้แล้วก็ยังจะถูกแก้ นอกจากนั้นก็ยังอาจมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเข้ามาคั่นก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.อีกด้วย

หากต้องแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะกระทบโรดแมปการเลือกตั้งในปีพฤศจิกายน 2561 ตามที่รัฐบาลประกาศไว้หรือไม่ อย่างไร ?

Advertisement

เรื่องโรดแมปที่ว่ามันจะเป็นไปตามที่ คสช.หรือรัฐบาลประกาศไว้ คือเดือนพฤศจิกายน 2561 หรือไม่นั้น ผมตอบไม่ได้ และไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบ คนที่จะตอบก็คือ คสช.ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในขณะนี้ คสช.ต้องตอบว่า ลึกๆ จริงๆ แล้วมีความประสงค์ มีความตั้งใจที่จะให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 จริงหรือไม่ เพราะอาจจะมีเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีก จึงเป็นสิ่งผมไม่สามารถจะทราบได้ แต่คนที่จะต้องตอบ คือ คสช. ทั้งหมดขึ้นอยู่กับ คสช.ว่าจะกำหนดให้ประเทศไปในทิศทางไหน อย่างไร

ถ้าการเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 จะเกิดผลกระทบอะไรขึ้นกับ คสช. ?

อย่างน้อยที่สุดก็จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ คสช. เพราะว่า คสช.เป็นผู้ประกาศออกไปเอง โรดแมปทั้งหมด คสช.เป็นประกาศ ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่คนอื่นที่มาประกาศ ถ้าไม่มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ก็แปลว่า คสช.ไม่ได้ทำสิ่งที่ตนเองประกาศไว้ เพราะฉะนั้นผลกระทบก็จะต้องเกิดกับ คสช.เองเป็นเบื้องต้น ส่วนผลกระทบจะรุนแรงขนาดไหนนั้นคงต้องติดตาม

หากไม่มีการเลือกตั้งตามโรดแมป คสช.ต้องชี้แจงอย่างไร ?

หากถึงวันนั้นจริงๆ ผมก็ไม่สามารถตอบได้เหมือนกันนะว่า คสช.จะเอาเหตุผลอะไรมาชี้แจงต่อประชาชน เขาจะชี้แจงว่าอย่างไรเราก็ต้องรอดูต่อไป ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่ทราบว่าเขาจะมีการแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับอื่นอีกหรือไม่ หรือจะแก้กฎหมายฉบับเดิม คือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งอาจจะมีการแก้ในกรรมวิธีอื่นอีกหรือไม่ก็ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าสำหรับคนที่ติดตามการเมืองก็คงจะเฝ้ารอดูผลของมันอยู่ว่าจะเป็นอย่างไร และหากมีการแก้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองเกิดขึ้นอีกครั้งจริงๆ ประเด็นที่แก้อาจจะมีผลกระทบไปจนถึง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ด้วยหรือไม่ ตรงนี้น่าเป็นห่วง ดังนั้นเมื่อถึงเวลานั้นหากเกิดขึ้นจริง ผมจะตอบได้ว่าควรจะเป็นอย่างไร

ดังนั้นต้องถามก่อนว่า ถ้ารัฐบาลจะเลื่อนโรดแมป ออกไป ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากขึ้นกว่าการที่จะให้มีการเลือกตั้งตามโรดแมปหรือไม่ ซึ่ง คสช.ก็ต้องมีคำตอบว่าระหว่างที่รัฐบาลชุดนี้บริหารราชการแผ่นดินต่อไป แล้วต้องแลกกับการเลื่อนโรดแมป ออกไป ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร และได้ประโยชน์กว่าการไม่มีเลือกตั้งอย่างไร รัฐบาลควรจะมีคำตอบลักษณะนี้ออกมาให้ชัดเจน เช่น ถ้าเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้งออกไป รัฐบาลนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนรากหญ้าได้หรือไม่ จะทำได้ดีกว่ารัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งในอนาคตได้อย่างไร และรัฐบาลจะมีการปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรมจะเกิดผลได้ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่ารัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งในอนาคตได้อย่างไร สิ่งสำคัญ คือ ถ้า คสช.อยู่ต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นจะหมดไปได้หรือไม่

ในส่วนของพรรค ปชป.มีการเตรียมตัวเข้าสู่กฎเกณฑ์ในความเป็นประชาธิปไตย หรือการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไรบ้าง ?

ความจริงต้องยอมรับว่ากว่า 3 ปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองไม่สามารถทำกิจกรรมที่เป็นทางการได้ เพราะว่ามีคำสั่ง คสช.กำกับคือ “ห้าม” อยู่ อย่างไรก็ดี หากดูตามโรดแมปที่ คสช.ประกาศไว้ ว่าจะให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ช่วงระยะเวลาที่พรรคการเมืองจะสามารถทำกิจกรรมที่เป็นทางการได้ก็จะมีเวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

ซึ่งภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนนี้พรรคการเมืองก็จะต้องทำกิจกรรมหลายอย่างที่ควบคู่กันไปในเวลาที่จำกัดมากๆ อาทิ การยืนยันฐานสมาชิกเก่า การหาสมาชิกใหม่ การจัดตั้งสาขาพรรค การเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ การทำข้อบังคับพรรคใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ การจัดตั้งตัวแทนจังหวัด และการเตรียมการเลือกตั้ง ตั้งแต่การหาตัวผู้สมัคร การจัดทำไพรมารีโหวต การจัดทำนโยบายพรรค ซึ่งจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนกระทั่งการเตรียมการในเรื่องอื่นๆ ที่เหลือ ซึ่งพรรค ปชป.ก็จะต้องทำให้เสร็จภายในระยะเวลาที่จำกัด

สำหรับการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่นั้น จะขึ้นอยู่กับข้อบังคับชุดใหม่เช่นกัน เพราะเราจะต้องแก้ไขข้อบังคับพรรคให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ โดยจะออกมาอย่างไรผมยังไม่สามารถตอบล่วงหน้าได้ เพราะข้อบังคับพรรคจะต้องได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคเสียก่อน ทั้งนี้ ข้อบังคับพรรคการเมืองจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการปลดล็อกให้พรรคการเมืองมีการประชุมพรรคก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอีกภารกิจใหญ่ที่จะต้องทำเพราะกฎหมายบังคับไว้

ในรัฐธรรมนูญใหม่มีข้อกำหนดหลายเรื่อง เช่น ยุทธศาสต์ชาติ 20 ปีเรื่องปฏิรูป การร่างข้อบังคับพรรคจะเป็นเรื่องยากหรือไม่ ?

ผมถึงบอกว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงนั้นจะอยู่ภายใต้บริบทที่กำกับไว้โดยรัฐธรรมนูญของ คสช. ที่มีเงื่อนไขหลายอย่างที่พรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติ รวมทั้งในเรื่องของนโยบายพรรคการเมืองด้วย ที่จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่บังคับไว้ เช่น ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะต้องแจ้งที่มาของเงินงบประมาณที่จะใช้ในนโยบายนั้นๆ เป็นต้น

รวมทั้งการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นขณะที่ คสช.ยังมีอำนาจ มีบทบาทอยู่ ในขณะที่พรรคการเมืองหาเสียง หรือแข่งขันกันทางนโยบายต่างๆ อยู่นั้น คสช.จะยังอยู่ไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามา ดังนั้นในเมื่อ คสช.ยังอยู่ มาตรา 44 ก็จะยังอยู่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่รองรับอำนาจตรงนี้ไว้ในบทเฉพาะกาลด้วย

ตอนนี้พรรค ปชป.มีการเตรียมการอะไรไว้บ้าง ?

ก็ทำได้เท่าที่ทำได้ในเรื่องที่ยังไม่เป็นทางการ อย่างงานธุรการ

เลือกตั้งครั้งหน้าจะเห็นส.ส.หน้าใหม่ หรือรุ่นใหม่ในพรรคปชป.หรือไม่?

คนหน้าใหม่ในพรรคผมคิดว่ามีนะ แต่จะเป็น ส.ส.หรือเป็นอะไร ผมไม่ขอลงรายละเอียด ส่วนที่จะออกจากพรรคไปผมก็คิดเองว่าไม่น่าจะมี

การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรค ปชป.มีแนวทางเร่งเครื่องเรียกคะแนนนิยม คะแนนเสียงจากประชาชนอย่างไร ?

ทุกวันนี้สมาชิกพรรคและอดีต ส.ส.พรรค รวมถึงหัวหน้าพรรคก็ยังเกาะติดพื้นที่ของแต่ละคนอยู่อย่างสม่ำเสมอ ในทุกพื้นที่ทุกภาค ตราบเท่าที่ไม่มีปัญหาในเรื่องข้อห้ามทางกฎหมายเราก็ปฏิบัติต่อเนื่อง ทุกคนติดตามสถานการณ์รวมถึงตัวผมเองด้วย การบริหารประเทศและการทำหน้าที่ของกลไกต่างๆ และการทำหน้าที่ต่อประชาชนทั่วประเทศอย่างสม่ำเสมอ ทั้งหมดนี้ทำไปก็เพื่อเมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องทำหน้าที่ใด หน้าที่หนึ่ง ก็จะได้สามารถเชื่อมต่อการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ยังค้างคาให้กับประชาชนได้ทันที

เท่าที่ผมไปพบปะกับประชาชนในภูมิภาคต่างๆ และรับฟังจากสมาชิกหลายท่านที่ได้ไปพบปะมาเช่นกันนั้น ก็ถือว่าได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีในทุกภาค เพียงแต่ว่าเมื่อถึงเวลาที่จะต้องเข้าสู่การแข่งขันในสนามเลือกตั้งนั้น ก็อาจจะมีปัจจัยอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น เรื่องของตัวบุคคล เรื่องของนโยบาย และเรื่องของสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น ที่จะเข้ามาเป็นปัจจัยเกี่ยวข้องด้วย

ในอนาคตอาจมีพรรคการเมืองใหม่ที่เป็นพรรคทหาร หรือพรรคนอมินี ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล มองอย่างไร ?

ส่วนตัวผมถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าหลังรัฐประหารทุกครั้งก็จะมีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้น แม้ครั้งนี้จะมีเกิดขึ้นอีก ก็ไม่คิดว่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่จะมันจะแปลก แต่การเลือกตั้งครั้งหน้านี้ผมมองภาพรวมว่าจะเป็นการแข่งขันทางการเมืองในลักษณะ นักรบ 3 ก๊ก คือ 1.พรรคเพื่อไทย (พท.) 2.พรรค ปชป. และ 3.พรรควุฒิสภา + X ซึ่งผมขอให้สมการการเทียบค่า X = พรรคการเมืองใหม่บางพรรค ซึ่งผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรในอนาคตเราก็จะได้รู้ไปพร้อมๆ กัน ภายใต้เหตุและปัจจัยทางการเมืองที่จะเริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image