สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ชู ‘พลังพลเมือง’ ลดขัดแย้ง

หมายเหตุ – นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงจุดยืนและทิศทางการจัดตั้งพรรคพลังพลเมืองไทย ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไป


พรรคพลังพลเมืองไทยมีที่มาอย่างไร

คนริเริ่มตั้งพรรคล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์ เพราะแต่ละคนผ่านการเป็น ส.ส.มาหลายสมัย บางคนผ่านการทำงานระดับบริหารมา ทั้งนี้ พรรคเราพร้อมมาตั้งแต่ปีཷ แล้ว เพราะผู้นำบอกว่าจะมีการเลือกตั้งประมาณปีཷ จนมา 60 จนขณะนี้ ซึ่งเราก็พร้อมมาตั้งแต่ปีཷ แล้ว แต่ที่เราเลือกมาเปิดตัวช่วงนี้ก็เนื่องจากกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ผ่านสภาแล้ว ทั้งนี้ หลายคนวิจารณ์ว่าทำไมส่วนใหญ่พรรคเรามีแต่คนมีอายุ ก็ต้องบอกว่า คนที่มีประสบการณ์ส่วนใหญ่ก็ต้องมีอายุถึงจะมีประสบการณ์ได้ แต่ที่เราหารือกัน 30 คนนี้ มีอดีต ส.ส.ที่อายุน้อยก็มี แต่สื่ออาจจะเน้นมาทางพวกผมที่เคยเห็นหน้าค่าตากันมา ดังนั้น พรรคเรามีคน 2 รุ่น คือรุ่นพวกเราที่มีประสบการณ์เป็นคนก่อตั้ง และเมื่อได้เวลาในจังหวะหนึ่ง คงจะได้ถอยให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาบริหารพรรคแทน

จุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคพลังพลเมืองไทย

ผมขอเรียกว่าแนวความคิดก็แล้วกัน เรามี 2 ข้อใหญ่ๆ คือ 1.ลดความขัดแย้ง ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา คนในชาติเราเริ่มมีการขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ ความจริงไม่ได้ขัดแย้งกันที่ความคิดหรอก แต่ขัดแย้งกันตรงเรื่องบริหารมากกว่า ปัญหาบ้านเมืองเราอยู่ที่การตรวจสอบที่ไม่สามารถตรวจสอบอย่างจริงจังได้ ดังนั้น หากการตรวจสอบดีความขัดแย้งจะไม่เกิด แต่ที่ความขัดแย้งเกิด เพราะผู้บริหารหาประโยชน์จากอำนาจ และการตรวจสอบมีปัญหาจึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และการรวมกลุ่มกัน เพราะผู้มีอำนาจตรวจสอบไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง และ 2.ลดความเหลื่อมล้ำของคนในชาติ ประเทศเราจริงๆ แล้วมีชนชั้นบนกับชนชั้นล่าง ชั้นกลางยังน้อย เพราะคนที่มีฐานะดีก็ดีไปเลย และคนที่หาเช้ากินค่ำ ใช้แรงงานก็ยังเป็นคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น ไม่มีที่ทำมาค้าขาย เสียค่าเช่าแพง แหล่งทุนที่ต้องเสียดอกเบี้ยสูง หรือที่เราเรียกว่าหนี้นอกระบบ มีดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน ขณะที่บริษัทใหญ่ๆ ที่มีกิจการใหญ่โตไปกู้ธนาคารดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อปี เป็นต้น นี่คือความเหลื่อมล้ำ

นอกจากนี้ การเข้าถึงระบบสาธารณสุขคนชนบทก็ยังเข้าไม่ถึง ไม่ได้ยาที่ดี ไม่ได้หมอที่มีเวลาดูแลเขาเท่าที่ควร ทั้งที่เขาเสียภาษีเท่ากับเรา หลายคนถามว่าทำไมเท่ากัน ก็เห็นบางคนเสียภาษีเป็นล้านๆ ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยก็ไม่ต้องเสียภาษี ความจริงไม่ใช่ เราเสียภาษีเท่ากันทุกคน เช่น เปิดไฟเราก็เสียภาษี ขับรถมาก็เสียค่าน้ำมันทั้งที่ไม่ได้ทำธุรกิจ สิ่งเหล่านี้เราเสียภาษีเท่ากัน ส่วนคนที่บอกเสียมาก ก็เพราะเขาได้เงินมาก ส่วนการใช้สาธารณูปโภคนั้นต้องเสียภาษีเท่ากัน แต่สิ่งที่เขาได้รับเป็นการตอบแทนไม่เท่ากัน อย่างเช่น เราได้ใช้ถนนที่ดี เพราะเรามีรถ แต่ชาวบ้านที่ไม่มีรถเขาก็ไม่ได้ใช้ถนนเลย แล้วเงินก่อสร้างถนนมาจากใคร ก็มาจากภาษีทุกคนที่เสียเท่ากัน ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้ พรรคเราจะได้นำมาขับเคลื่อน

Advertisement

จะไม่ใช้นโยบายของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ เรื่องเป็นโซ่ข้อกลาง

ไม่อยากไปพูดถึงผู้ใหญ่ แต่อยากให้รู้ว่า ที่ว่าเป็นกลาง คือเราไม่เลือกฝ่ายก่อน เพราะถ้าเลือกฝ่ายแล้วไปพูดคุยเขาก็จะบอกว่าเราเป็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ก็เหมือนในใจเลือกข้างอยู่ก่อนแล้วมันก็คุยกันไม่ได้ เราจึงเป็นกลาง แล้วเอาหลักการไปพูดคุย

แสดงว่าจุดยืนของพรรคพลังพลเมืองไทยคือคุยกับทุกฝ่ายได้

ใช่ เราคุยกับทุกฝ่ายได้ และขายความคิดให้เขา เพราะขณะนี้บ้านเมืองเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา จะมุ่งไปที่ผู้บริหารสูงสุดคนเดียว แต่ของเราเป็นระบอบรัฐสภาที่ 3 ฝ่าย มีความสำคัญเท่ากัน แต่วันนี้บ้านเราจะเห็นว่าประธานรัฐสภาแทบไม่ได้พูดอะไรเลย อะไรก็ไปหานายกฯ แล้วนายกฯก็แก้ไม่ได้ เพราะนายกฯไม่ได้เป็นคนออกกฎหมาย นายกฯก็บอกว่าไม่ใช่เรื่องของผม ผมไม่ได้เป็นคนออกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ผมมองว่ากฎหมายยิ่งเยอะ ชาวบ้านยิ่งเดือดร้อน เจ้าหน้าที่ยิ่งมีอำนาจ ถ้าเจ้าหน้าที่ดีก็ดีไป แต่ถ้าเจอเจ้าหน้าที่ไม่ดีก็เกิดการเรียกรับผลประโยชน์

เริ่มมีคนเข้ามาถามไถ่ไอเดียของพรรคพลังพลเมืองไทยหรือยัง

ก็มี การที่มีคนเข้ามาร่วมก็เพราะเมื่อเราพูดไอเดียออกไปคนมองว่าเป็นไปได้

Advertisement

พรรคที่เซตขึ้นมาในช่วงเวลานี้ก็ถูกจับตามองว่าหนุนกลุ่มผู้มีอำนาจ

ก็ตามโอกาสที่เราทำ หลายคนที่อยู่พรรคเราเคยอยู่ทั้งฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือนก็มี มีทั้ง 2 ฝ่าย ถามว่าเราหนุนพรรคไหนหรือเปล่า เราก็ตอบว่าเปล่า เราเป็นกลาง เพื่อที่จะรวมพลแล้วมาทำงาน เพราะถ้าเราไม่เป็นกลางอย่างแท้จริงความสำเร็จเกิดยาก

มีคนมาขายขนมจีบบ้างหรือยัง

ก็มีคนมาคุยบ้าง เพื่อนๆ ฝ่ายที่เคยเป็นทหารก็มาคุย อีกฝ่ายที่ผมเคยอยู่ เช่น พลังประชาชนก็มาถาม ผมก็บอกว่าเรื่องนี้ต้องพูดใกล้ๆ เลือกตั้ง ให้เห็นภาพชัดเจนก่อน ให้งานของเราใกล้สำเร็จก่อน แล้วเราจึงจะบอกได้ว่าเราอยู่ทางไหน อาจจะก่อนการกาบัตรก็ได้ เพราะระหว่างหาเสียงมีนโยบายทุกพรรค หลายฝ่ายว่าเราหนุน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ พอถึงเวลา พล.อ.ประยุทธ์เขาอาจจะไม่เอาแล้วก็ได้ เราก็ต้องดูทั้งตัวบุคคล และนโยบายว่าไปในแนวทางกับนโยบายที่เรามีในใจไหม ถ้าไปในแนวทางเดียวกันเราก็สนับสนุน เราตั้งใจแค่ว่าเอาคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม ทำงานเพื่อบ้านเมืองจริงๆ และสุจริต เพราะที่บ้านเมืองเรายังไปไม่ได้ เพราะหลายคนยังไม่ซื่อสัตย์เท่าที่ควร แล้วมาบริหารประเทศ

วันนี้ยังติดคำสั่งบางคำสั่งของ คสช.อยู่ แล้วพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่อย่างพลังพลเมืองไทยเดินหน้าอย่างไรบ้าง

ในการดำเนินการจดจัดตั้งพรรคไม่ติดขัด ติดขัดเพียงห้ามประชุม แต่ในคำสั่งห้ามก็ระบุว่า หลังจากเราไปแสดงเจตจำนงจัดตั้งพรรคแล้ว เราสามารถประชุมได้แต่ต้องขออนุญาต ผมก็เชื่อว่า คสช.เขาก็คงอนุญาต เพราะเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น วันที่ 1 มีนาคมนั้น ไม่มีใครมีสมาชิกไปหรอก เพราะยังไม่ได้ขออนุญาต คสช. ดังนั้นต้องผ่านกระบวนการวันที่ 1 มีนาคมก่อน แม้เราจะมีสมาชิก 500 คนที่รวบรวมไว้แล้วเราก็ยังประชุมไม่ได้

ระยะเวลาที่กระชั้นมากนี้จะส่งผลต่อการทำไพรมารีหรือการดำเนินการในส่วนของสมาชิกหรือไม่

เวลามันพอ อยู่ที่พรรคมีบุคลากรพอหรือไม่ ถ้ามีคนมาร่วมกันเยอะก็ทำทัน เวลาก็ไม่มากหรอก แต่ทำทันได้ อย่างพรรคใหญ่เขาได้เปรียบอยู่แล้ว แต่พรรคเก่าถ้าไม่มีบุคลากรก็ไม่ใช่ว่าจะได้เปรียบ

พลังพลเมืองไทยวางเป้าจะส่งครบทุกเขตไหม

มีความตั้งใจอยากส่งให้ครบทุกเขต แต่ก็ยาก เพราะบุคลากรอาจจะไม่พอ เนื่องจากพรรคตั้งใหม่ ผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกันอาจจะยังมาไม่ครบก็ได้ แต่ถ้าครบก็จะส่งเนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ทุกคะแนนเสียงมีความหมายในการนำมาคำนวณจำนวน ส.ส.

ตอนนี้วางโครงสร้างพรรคอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะคนที่จะมานำทัพ

หัวหน้าส่วนใหญ่เพื่อนๆ ก็อยากให้ผมเป็น แต่ก็คงยังพูดไม่ได้ ที่พูดไม่ได้เพราะต้องมีมติจากการประชุมก่อน เราจึงยังแสดงตัวว่าใครไม่ได้ เพราะผิดทั้งหลักการและความเป็นจริง บอกคร่าวๆ ได้เพียงว่าอาจเป็นคนหนึ่งที่เป็นกรรมการบริหารพรรค

ทราบข่าวว่าจะเชิญคนเก่าๆ เช่น อดีตนายกฯเข้ามาเป็นที่ปรึกษาพรรค

เคยไปหารือ เช่น พล.อ.ชวลิต ว่าเราจะทำพรรคลักษณะนี้ ท่านก็มีแนวคิดลักษณะนี้ เช่น เรื่องโซ่ข้อกลางอะไรแบบนั้น ทั้งนี้ ถ้าไปขอร้องท่าน ท่านอาจจะมาเป็นที่ปรึกษาให้เราก็ได้ แต่อันนี้ยังไม่ตายตัว เพราะยังไม่ได้ไปกราบเรียนท่าน

หลายคนบอกกติกาใหม่เอื้อพรรคเล็กและพรรคขนาดกลาง

พรรคพลังพลเมืองไทยมุ่งเป้าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนตัวบุคคลหรือ ส.ส.แบบแบ่งเขตนั้น พรรคเก่าเขาได้เปรียบอยู่แล้วในพื้นที่ ส่วนพรรคใหม่และพรรคกลางจะได้สัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองใหญ่จะส่งอดีต ส.ส.ระดับเกรดเอ หรือตัวจริง ลงชิง ส.ส.แบบเขตกันมากขึ้น เพราะต้องการคะแนนเสียงที่จะเลือก ส.ส.ให้ได้มากที่สุด

พลังพลเมืองไทยวางเป้าหมายไว้สักกี่เก้าอี้

ไม่กล้าวางเลย อยู่ที่ประชาชนเขาเห็นด้วยกับนโยบายของเราไหม แต่ในใจเราอยากได้เท่าที่จะสามารถเสนอกฎหมายในสภาได้ คือ ประมาณ 20 เสียงนี่คือความหวัง แต่ไม่ได้เจาะจงว่าต้องได้ เพราะการแก้ปัญหาให้ชนชั้นล่างได้นั้นเราต้องแก้กฎหมาย หรือออกกฎหมายได้ อย่างในใจผม มีความตั้งใจจะแก้ระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม

มองรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกอย่างไร

ไม่เป็นไร เพราะเป็นกฎหมายที่ตราไปแล้ว ถ้าเราไม่เห็นด้วยตรงนี้ก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญหลังจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้คนนอกในที่นี้หลายคนยังแปลไม่ถูก 1.คนนอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ หรือ 2.คนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ตรงนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่านายกฯคนนอกจะเกิดขึ้นในรูปแบบไหน

กติกาจะทำให้ ส.ส.หน้าใหม่ที่เข้ามาลำบากหรือไม่ จะสู้คนหน้าเดิมที่มีฐานเสียงอยู่แล้วอย่างไร

แน่นอน คนเก่าย่อมได้เปรียบอยู่แล้ว เรื่องธรรมดาอยู่แล้ว เป็นแบบนี้ทุกอาชีพ ลูกหลานเจ้าของธนาคารก็ขึ้นมาเป็นเจ้าของ นักการเมืองก็เหมือนกัน หากครอบครัวเป็นนักการเมืองย่อมมีพื้นฐานดีกว่า พรรคพลังพลเมืองไทยก็เช่นกัน หลังจากที่เราก่อตั้งพรรคขึ้นมาเสร็จก็จะให้ ส.ส.รุ่นลูกเข้ามาบริหารต่อ และได้แสดงความคิดเห็นต่อสื่อ ก็สลับกัน โดยเราปูพื้นให้

ในฐานะคนมีประสบการณ์ทางการเมือง มองว่าเป็นไปได้ไหมที่ 2 พรรคใหญ่จะมาจับมือกันเพื่อกันนายกฯคนนอก

อาจเป็นไปได้ หากอยากทำงานการเมืองให้ตรงกับแนวทางชาติที่เจริญแล้ว มีเปอร์เซ็นต์เป็นไปได้อยู่แล้ว อยู่ที่ผู้นำสองพรรคคุยกัน

หากการเลือกตั้งขยับออกไปอีกจะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษต่อพรรคที่เกิดใหม่

พรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ก็คงไม่ได้กระเทือนมากหรอก แต่ผลเสียจะเกิดคือความไม่มั่นใจของต่างชาติ การลงทุน ฯลฯ แต่สำหรับพรรคการเมือง เรารอมาได้ 3 ปีแล้ว รออีก 3 เดือนก็คงไม่เป็นไร ผมคิดว่ารัฐบาลคงไม่อยากลากไปเรื่อยๆ เพราะยิ่งลากไปเศรษฐกิจก็ยิ่งแย่ เขาคงรอจังหวะว่าจะประกาศวันไหน

หลายคนมองว่าพรรคแต่งตัวรอคนมาชวน

มีคนคิดแบบนี้เยอะ แต่ก็อย่างที่บอกไป เราแถลงไปตามความเป็นจริง ถ้าได้ผู้บริหารที่ตรงสเปกก็สนับสนุนเขา เพราะเรารู้ว่าพรรคพลังพลเมืองไทยไม่มีโอกาสได้เป็นนายกฯอยู่แล้ว เพราะเป็นพรรคใหม่และพรรคเล็ก แต่แค่อยากมีส่วนไปเลือกนายกฯ ไปชี้แนะ หรือพูดในสภาเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image