สัมภาษณ์พิเศษ : ‘ไอติม’ พริษฐ์ วัชรสินธุ กางโรดแมป ‘ปชป.’ ยุคใหม่

หมายเหตุ – นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม หลานชายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เสนอแนวคิดการสร้างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยุคใหม่ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงแนวทางการปฏิรูปพรรค ปชป. ในแนวทางเสรีนิยมประชาธิปไตย เพื่อเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป


การขับเคลื่อน ปชป.ยุคใหม่ สมาชิกพรรคที่อยู่มาก่อนอาจตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมาฉันทำพรรคได้ไม่ดีหรือ

ผมมองว่าพรรคการเมืองใดก็ตาม ถ้าจะอยู่ได้ต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอ เพราะปัญหาที่คนไทยเจอนั้นเปลี่ยนไปเสมอ การที่พรรค ปชป.อยู่มาได้ 70 กว่าปี แสดงว่าเขาต้องปรับตัวอยู่เรื่อยๆ หรือถ้าพรรคยึดมั่นแค่ตัวบุคคลบางคน มองว่าคนพวกนี้อยู่มานานแล้ว ยังไงก็ต้องทำตามคนพวกนี้ พรรคคงอยู่ไม่ได้จนถึงทุกวันนี้ ผู้ก่อตั้งพรรคแต่ละคนก็ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว จึงมองว่าการที่พรรคอยู่มานาน หรือดูเก่าแก่ ยิ่งแสดงว่าพรรคมีการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป มี 2 เงื่อนไขที่ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าเป็นไปได้ คือ 1.มีคนหน้าใหม่หลายคน อาจไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค หรือเคยฝักใฝ่พรรคแต่อาจข้องใจกับบางอย่างของพรรคในช่วงที่ผ่านมา แล้วอยากปรับพรรคให้เป็น ปชป.ยุคใหม่ด้วยกัน และ 2.มีคนในพรรคที่ทำงานมานานแล้วให้การสนับสนุนทิศทางใหม่ของพรรค ทั้ง 2 เงื่อนไขนี้ทำให้ผมมั่นใจพอแล้ว

ปชป.ยุคใหม่จะมี 3 อย่างที่ใหม่ คือ 1.กลับมายึดมั่นในอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย 2.การมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการตัดสินใจในวิธีการบริหารพรรค ตอนนี้มีตัวช่วยแล้วคือเทคโนโลยี จึงมองว่าถ้ามีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคโดยตรงโดยให้สมาชิกโหวตผ่านออนไลน์ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เปรียบเสมือนประชาธิปไตยในตัว+เทคโนโลยี จะนำไปสู่ประสิทธิภาพในการตัดสินใจ 3.เรื่องนโยบาย รู้สึกอึดอัดพอสมควร เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่ปลดล็อก ทำให้ยังพูดได้ไม่เต็มที่ว่านโยบายที่ชัดเจนคืออะไร แต่หากพูดแนวทางรวมๆ มองว่าไม่เพียงพอแล้วหากแค่ต่อยอดนโยบายที่เคยเป็นมา เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก การตอบปัญหาในโลกสมัยนี้ต้องหาอะไรนอกกรอบ

เปรียบเทียบก่อนและหลังเข้ามาทำงานทางการเมือง มองการเมืองไทยเปลี่ยนไปบ้างหรือไม่

แม้ผมเป็นคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยมาโดยตลอด และไม่เคยเห็นว่าทางออกของประเทศคือการรัฐประหาร แต่ต้องยอมรับว่ามีคนกลุ่มหนึ่งเหมือนกันที่มองว่ามีเหตุและผล เพราะประชาธิปไตยที่เรามีอยู่นั้นแตกแยกมาก สิ่งหนึ่งที่ทำให้มีหวังขึ้นมา หลังจากที่ได้ไปเสวนากับพรรคการเมืองอื่นที่ออกตัวว่าสนับสนุนประชาธิปไตยเหมือนพรรค ปชป. รู้สึกว่าเราสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งนั้นไปได้ในวันที่ได้ประชาธิปไตยคืนมาด้วยมาตรฐานการเมืองใหม่

Advertisement

อย่างแรกคือ แม้แต่ละพรรคจะแตกต่างกัน แต่เมื่อมีจุดยืนที่เห็นด้วยเหมือนกันก็ไม่จำเป็นต้องถกเถียงกัน ผมพยายามพูดเสมอในเวทีเสวนาว่า พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย หรือพรรคชาติไทยพัฒนา ถ้าทุกคนเห็นด้วยถึงระบอบประชาธิปไตยว่าต้องมีการเลือกตั้งที่เสรี ยุติธรรม ก็ไม่จำเป็นต้องมาพูดเรื่องนี้แล้ว ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าจะสนับสนุนเรื่องนี้ไปด้วยกัน

มีคนจำนวนมากที่มองนักการเมืองในแง่ลบ และไม่เห็นความสำคัญของนักการเมืองด้วยซ้ำ

ในทุกอาชีพมีทั้งคนที่คนชอบและคนที่คนไม่ชอบ ที่ผ่านมาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาหลักที่ทำให้คนขาดความเชื่อมั่นในนักการเมือง จะเห็นว่ารัฐบาลไม่ว่ามาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการรัฐประหารก็มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นหมด จะพบว่าอัตราดัชนีคอรัปชั่นของประเทศไทยนั้นคงที่ แต่ประเทศอินโดนีเซียกลับดีขึ้นเรื่อยๆ นี่คือข่าวร้ายที่ผมมองว่าทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจต่อนักการเมือง หรือทหารที่มาเป็นนักการเมือง

เพราะฉะนั้นจะก้าวข้ามตรงนี้ไปอย่างไร ทำอย่างไรให้คนเชื่อมั่นในนักการเมืองได้ เรื่องคอร์รัปชั่นไม่ใช่แค่เรื่องจริยธรรม ดังนั้นต้องสร้างกลไกที่กำจัดหรือกีดกันไม่ให้คนพวกนี้เข้ามาได้ ไม่ให้มีช่องทางที่สามารถ ทุจริตได้

เรื่องสำคัญ 2 เรื่อง เป็น 2 ใน 4 ขาของอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ขาหนึ่งคือการกระจายอำนาจ ถ้าต้องการลดปัญหาทุจริตคอรัปชั่น อย่าให้อำนาจไปกระจุกอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่ควรกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ให้แต่ละจังหวัดมีโอกาสได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการเพื่อบริหารจัดการจังหวัดของตัวเอง

ขาที่สองคือการถ่วงดุลอำนาจ ในอนาคต ผมมองว่ามีตัวช่วยที่สำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คือภาคประชาสังคม

เชื่อว่าประชาธิปไตยจะช่วยแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นได้

เห็นได้ชัดแล้วว่าไม่ว่าระบอบใดก็ตามล้วนมีการคอร์รัปชั่น ระบอบประชาธิปไตยตามหลักการแล้วควรเป็นระบอบที่ปกป้องหรือป้องกันการคอร์รัปชั่นได้ดีที่สุด เพราะถ้ากฎหมายทำงานไม่ได้ แล้วเราเห็นรัฐบาลหรือนักการเมืองโกง เรามีสิทธิที่จะเอาเขาออกได้ ในขณะที่เราไม่มีทางทำอะไรอย่างนั้นได้เลยในระบอบรัฐประหาร แต่แค่การเลือกตั้งนั้นไม่พอ ต้องมีการกระจายอำนาจด้วย

มีคนกลัวว่าการกระจายอำนาจทำให้ประชาชนเลือกเครือญาติของนักการเมืองท้องถิ่น ทำให้เกิดการทุจริตในท้องถิ่นขึ้นอีก

ถ้ามองอย่างนั้นแสดงว่าคุณไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นคุณจะไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้งใหญ่เหมือนกัน การกระจายอำนาจหรือการมีการเลือกตั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น จะทำให้คนคนหนึ่งที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามีโอกาสมีอำนาจครองตำแหน่งได้น้อยลง ดังนั้น ถ้าคุณตัดสินใจแล้วว่าไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้ง เพราะกลัวว่าเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีการโกงกิน คุณอาจจะต้องสนับสนุนรัฐประหาร เพราะคุณไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะมีได้โดยไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น

ผมไม่เชื่ออย่างนั้น เพราะการมีการเลือกตั้งทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นนั้นดีที่สุด อำนาจจะถูกกระจายออกไป สมมุติว่าในการเลือกตั้งกลางเกิดการเลือกตั้งนักการเมืองที่ใช้อำนาจโดยไม่ชอบขึ้นมา อย่างน้อยอำนาจของเขาก็จะถูกจำกัด เพราะเขาไม่สามารถคุมอำนาจในท้องถิ่นได้เช่นในสมัยนี้ที่ยังมีการกระจายอำนาจไม่เต็มที่

พูดถึงเสรีนิยมประชาธิปไตยบ่อยครั้ง คุณได้เห็นจุดบกพร่องบ้างหรือไม่

ความความท้าทายคือการต้องมีการตรวจสอบเยอะ เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวังในการตัดสินใจ ไม่ให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบ อย่างรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขามีอำนาจเยอะมาก สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ทำอะไรก็ได้ ถามว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยสามารถทำได้แบบนั้นไหม ทำไม่ได้ เพราะถ้าคุณจะทำอะไรคุณต้องแน่ใจก่อนว่า 1.คุณมีเสียงในสภา 2.คุณต้องได้รับการเลือกตั้งเข้ามา 3.คุณต้องได้รับการตรวจสอบว่าไม่ได้ใช้อำนาจโดยมิชอบ ถ้ามีใครร้องเรียนก็ต้องรับฟังผ่านกระบวนการยุติธรรม มีกระบวนการบางอย่างที่ทำให้เปลี่ยนแปลงอะไรได้ล่าช้ากว่ามาตรา 44

แต่ผมมองว่าเป็นอะไรที่ยั่งยืนที่สุด เพราะแม้จะไม่รวดเร็วแต่ก็เป็นการตัดสินใจสะท้อนความเท่าเทียมกันของประชาชน ผมมองว่าบางทีต้องยอมเสียความทันควันของมาตรา 44 ไปบ้าง เพื่อจะได้หลักการที่ให้เกียรติกับประชาชนทุกคน พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นอะไรที่จำเป็นต้องล่าช้า แต่แน่นอนว่ามันไม่รวดเร็วเหมือนเผด็จการ

มีมุมมองทางการเมืองเป็นเสรีนิยม แล้วมีมุมมองทางเศรษฐกิจอย่างไร

ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่ต้องแยกให้ออกระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองกับนโยบายทางเศรษฐกิจ ผมมองเป็นวงกลม 3 วงกลม วงกลมแรกคือมีการเลือกตั้ง ถือว่าเริ่มต้นได้ดีแล้วแต่ยังไม่พอ วงกลมที่สองคือได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบมาแล้ว แต่ก็ยังไม่พอจะทำให้ประชาชนทุกคนกินดีอยู่ดี เพราะอาจมี 2 พรรคการเมืองสนับสนุนเสรีนิยมประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่มีนโยบายทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน ผมจึงอยากมากที่จะหยุดพูดคำว่าเสรีนิยมประชาธิปไตย แล้วพูดถึงเรื่องนโยบาย

การประกาศหรือไม่ประกาศอุดมการณ์ของพรรคการเมือง มีความสำคัญอย่างไร

สำคัญอย่างใหญ่หลวง ผมไม่รู้ว่าคนมองว่าพรรคการเมืองในประเทศไทยเป็นตัวแทนของอะไรหรือของใคร แต่ตามหลักการแล้ว พรรคการเมืองควรเป็นที่รวมตัวของคนที่มีความหลากหลายทางความคิดแต่มีอุดมการณ์เหมือนกัน และพรรคควรเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ไม่ใช่ตัวแทนของบุคคล

ในสากลการมีพรรคอนุรักษนิยมก็เป็นเรื่องปกติ พรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมามีภาพลักษณ์ความเป็นพรรคอนุรักษนิยม ได้ประกาศตัวเป็นพรรคเสรีนิยมแล้ว แล้วต่อไปใครจะเป็นพรรคอนุรักษนิยมของประเทศไทย

ต้องไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

การประกาศว่าเป็นพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย เหมือนจะมีจุดยืนเดียว พรรคเพื่อไทย (พท.) อาจต้องแย่งฐานเสียงเดียวกัน

ถ้าอย่างนี้ผมไม่เห็นด้วย ที่ผ่านมาผมไม่เห็นว่ามีท่าทีอะไรจาก พท.ที่จะมีความเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยเลย ทั้งการต่อสู้กับยาเสพติด การไม่นับถือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การไม่กระจายอำนาจอย่างเต็มที่ การทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งหมดนี้ผมมองจากข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ถ้าเขาจะมองข้อเท็จจริงเรื่อง กปปส. ผมคิดว่าที่ผมพูดมานี้ชัดเจนกว่าเสียอีก

แต่ตอนนี้ พท.อาจเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยแล้ว เพราะประกาศปกป้องระบอบประชาธิปไตย

ผมไม่เห็นเขาพูดคำพูดนี้สักครั้งในการเสวนาที่ผมไปร่วม คงต้องรอดู ถ้าเขาเปลี่ยนอุดมการณ์ตรงนี้ได้จริงๆ ก็เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะใครที่มีอุดมการณ์ตรงกันกับผม ผมก็ร่วมงานได้ แต่ต้องถามว่าถ้า ปชป.ชัดเจนแล้วว่า ปชป.เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย แล้ว พท.ยังไม่ชัดเจน เกิดมีคนหนึ่งใน พท.ที่สนับสนุนเสรีนิยมประชาธิปไตย ทำไมเขาถึงยังอยู่ใน พท. ทำไมเขาไม่มาร่วมกับเรา

ทีมคนรุ่นใหม่ของ ปชป.ยุคใหม่ มีพื้นฐานครอบครัวที่ใกล้เคียงกัน คือ ฐานะดี มีต้นทุนทางสังคม เป็นลูกหลานนักการเมือง ทำให้ถูกมองว่าเป็นลูกคุณหนู-ไม่เข้าใจชาวบ้าน มีแนวทางในการพิสูจน์ตนเองและทีมงานในเรื่องนี้อย่างไร

อันนี้ไม่จริง ขอเล่าถึงวันที่ผมเข้าไปยื่นข้อเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. และนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรค รวมถึงผู้นำพรรค ผมบอกเขาว่าถ้าเราจะมีคนรุ่นใหม่ในพรรค ผมมี 3 เงื่อนไข ถ้าผู้นำพรรคไม่โอเคกับ 3 เงื่อนไขนี้ผมก็จะไม่เข้าร่วม

เงื่อนไขที่หนึ่ง คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาต้องไม่ได้เข้ามาเพียงเพราะเขาเป็นเด็ก แต่ต้องมีนโยบายใหม่ๆ ด้านใดด้านหนึ่งที่ต้องการจะผลักดัน เช่น ผมเข้ามาด้วยความมุ่งมั่นในเรื่องเสรีนิยมประชาธิปไตย เรื่องคอร์รัปชั่น ผมทำงานกับโซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ (Social Enterprise) หรือวิสาหกิจสังคมที่ทำงานกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น และมุ่งมั่นที่จะทำให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้

เงื่อนไขที่สอง เมื่อเข้าสู่พรรคแล้ว คนรุ่นใหม่ต้องมีสิทธิมีเสียงเท่ากับคนรุ่นก่อน คนรุ่นก่อนอาจมีประสบการณ์มากกว่า วิธีการที่ดีที่สุดที่ทำให้เขาอยากรับฟังเราคือเราต้องรับฟังเขา เราไม่ควรเข้ามาแล้วทำเหมือนว่ารู้ทุกอย่าง การที่คนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่จะทำงานด้วยกันได้ ทั้งสองฝ่ายต้องมีสิทธิและเสียงเท่าเทียมกัน สมมุติเมื่อมีการปลดล็อกและมีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค ควรเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีตำแหน่งภายในพรรคได้เท่ากับคนรุ่นก่อน

เงื่อนไขที่สาม ค่อนข้างละเอียดอ่อน คือ คนรุ่นใหม่ต้องห้ามมีแค่ทายาทนักการเมือง ผมเห็นนายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่าบางทีเขาก็เป็นภาระผมเยอะเหมือนกัน แต่ผมเลือกเกิดไม่ได้ ผมมาตรงนี้แล้ว และมองว่าถ้าเป็นแค่ทายาทก็อาจไม่ใช่อะไรที่ใหม่ พรรคการเมืองไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว ผมไม่รู้ว่าคนอื่นคิดอย่างนั้นหรือเปล่า

มั่นใจว่าเมื่อเผยโฉมคนรุ่นใหม่แล้วจะเห็นความหลากหลาย

ใช่ ความหลากหลายแรกคือ หลากหลายในเชิงประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญ เช่น ผมมีประสบการณ์การทำงานด้านต่อต้านคอร์รัปชั่น นอกจากนี้ก็มีคุณหมอที่มีประสบการณ์ด้านสาธารณสุข มีคนที่เคยทำงานเรื่องนโยบายพลังงาน มีคนที่มีประสบการณ์การเมืองท้องถิ่น ความหลากหลายที่สอง คือ ความหลากหลายในเชิงสังคม ต้องมีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เพศที่สาม และคนรุ่นใหม่ก็สามารถมีได้หลายอายุ

ความหลากหลายที่สาม คือ ความหลากหลายเชิงประสบการณ์ชีวิต ถ้าคนรุ่นใหม่ทุกคนในพรรคประชาธิปัตย์เรียนจบด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเหมือนกันหมด คงไม่ดึงดูดสักเท่าไร ควรมีคนที่มีประสบการณ์จากต่างประเทศเพื่อมาเสริมคนที่มีประสบการณ์การเมืองท้องถิ่น เราเป็นคนหน้าใหม่ เมื่อเข้ามาแล้ว ก็ไม่ได้ทำงานกับคนหน้าใหม่อย่างเดียว แต่ต้องทำงานกับคนรุ่นก่อนด้วย เพราะฉะนั้น ความหลากหลายจึงสำคัญมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image