“การเกณฑ์ทหาร” ในมุมมอง “พริษฐ์ วัชรสินธุ”

หมายเหตุ – นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม หลานชายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เสนอแนวคิดการสร้างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยุคใหม่ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ก่อนเข้ารายงานตัวเป็นทหารกองประจำการผลัดที่ 1 ปี 2561 ที่มณฑลทหารบกที่ 11 ก่อนจะเข้ารับการฝึกและประจำการเป็นเวลา 6 เดือน

-สมัครทหารเกณฑ์ เพราะอยากรู้อะไร ?

ผมมีหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย ไปเกณฑ์ทหารเพราะเป็นกฎหมาย และพูดเสมอว่าไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหาร ผมเรียนที่ต่างประเทศ จึงไม่ได้เรียนรักษาดินแดน(รด.) แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ 75% ของชายไทยไม่ได้เรียน รด. และส่วนมาก คนที่ไม่ได้เรียนรด.คือคนที่ไม่ได้อยู่ในจังหวัดขนาดใหญ่ เพราะศูนย์เรียนรด.จะอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคนจากจังหวัดเล็กๆที่จะเรียนรด.ได้ คุณต้องจ่ายค่าเดินทางทุกอาทิตย์ซึ่งแพงมาก กลายเป็นว่าเกิดความเหลื่อมล้ำในโอกาสที่จะได้เรียน รด. ดังนั้น ผมจึงเป็น 1 ใน 75 % ที่ไม่ได้เรียน รด.และต้องมาเกณฑ์ทหาร ทีนี้ผมก็เลือกได้ว่าจะจับใบดำ ใบแดงหรือว่าสมัครไปเลย ผมก็เลือกสมัครไปเลยเพราะรู้สึกว่ามันชัดเจนที่สุด ก็ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า ถ้าผมจับได้ใบดำ คนจะคิดว่าอย่างไร เพราะคนก็รู้ว่าใบดำไม่ได้เป็นเพราะโชคอย่างเดียว บางทีมันมีปัจจัยอื่นด้วย

-เข้าไปอยู่ในค่ายทหาร กลัวอะไรมากที่สุด?

ถามว่าผมกลัวไหม พ่อแม่ผมน่าจะกลัวกว่า การเกณฑ์ทหารตามหลักการแล้วไม่จำเป็นต้องควบคู่ไปด้วยกับความรุนแรงเกินเหตุและการเสียชีวิตที่ไม่จำเป็น ซึ่งก็ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นในประเทศไทย และถ้ามันเกิดขึ้นกับผม ผมก็หวังว่ามันจะนำไปสู่ 2 อย่างคือ 1.ต้องหาคนที่แสดงความรับผิดชอบให้ได้ คือ คนที่ทำผิดกฎหมายต้องโดนดำเนินคดี ไม่ว่าทำกับผมหรือทำกับคนอื่นก็ตาม 2.เมื่อเกิดข่าวขึ้นบ่อย แสดงว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องคิดว่าเราควรเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารไหม หรือต้องมีกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น หรือต้องปรับหลักสูตรอะไรไหม ซึ่งไหนๆผมก็ต้องไปเกณฑ์แล้ว คิดว่าความรู้เรื่องนี้ของผมคงไม่น้อยลง ระยะเวลา 6 เดือนน่าจะทำให้เพิ่มขึ้น ดังนั้น ผมมาพูดในรายละเอียดหลังจากที่ผมได้เห็นทุกอย่างชัดเจนแล้วจะดีกว่า

Advertisement

-เสียดายเวลาไหม?

รู้มานานแล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ ผมได้เห็นคนที่ร้องไห้เพราะจับได้ใบแดง แล้วรู้สึกสะเทือนใจมาก เพราะยอมรับว่าตัวเองโชคดีมากในเชิงที่ผมสามารถเสีย 6 เดือนไปกับชีวิตได้โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของครอบครัว ผมเคยคิดด้วยซ้ำว่าจะเอาเงินเดือนที่ได้จากการเกณฑ์ทหาร 6 เดือนไปให้คนอื่นที่โดนใบแดง เพราะผมรู้สึกว่าอาจมีหลายคนที่ได้ใบแดงแล้วทำให้รายได้เขาหายไป จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องถามเรื่องนี้เหมือนกัน

-ได้รับการศึกษาจากประเทศอังกฤษ เห็นโมเดลการพัฒนาทหารของต่างประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับไทยแล้ว เห็นปัญหาอะไรไหมที่ไทยต้องปรับปรุง?

อย่างแรกคือผมไม่เห็นทหารมาเป็นนักการเมืองที่อังกฤษ ถ้ามาเป็นก็เพราะไม่ได้เป็นทหารแล้วค่อยมาลงสู่สนามเลือกตั้งตามปกติ

-แต่เรื่องนี้ง่าย เพราะทหารก็น่าจะยุติบทบาทและหายไปหลังการเลือกตั้ง

คุณแน่ใจหรือ ซึ่งผมหมายถึง 2 อย่างเลยนะ คือ คุณแน่ใจหรือว่ามีการเลือกตั้งในปีหน้า และคุณแน่ใจหรือว่าทหารจะหายไป แต่ผมว่าประเทศไทยสับสนนิดหนึ่งระหว่างทหารอาชีพกับทหารที่ทำงานทางการเมือง คนที่ผมสงสารที่สุดเวลาคสช.โดนวิจารณ์คือทหารอาชีพ เพราะผมมองว่าทหารอาชีพเป็นอาชีพที่น่ายกย่อง เขาเสียสละความปลอดภัยของตัวเองเพื่อความปลอดภัยของชาติ ดังนั้น อย่างแรกเลยที่แตกต่างคือ ทำให้คนเริ่มเบลอว่าตกลงแล้วอาชีพทหารมีเพื่ออะไร

อย่างที่สองคือ ถ้าดูเรื่องทหารอาชีพ สิ่งที่น่าสนใจคือ ทุกปีจะมีประกาศตัวเลขจำนวนทหารที่ต้องการซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น ปีนี้ต้องการ 104,734 คน แต่ผมกลับรู้สึกว่าภัยคุกคามเปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว ตัวเลขมาจากไหน ตอนนี้สงครามไม่ได้สู้กันในสนามรบ แต่สู้กันในการค้า เศรษฐกิจ เช่น อาลีบาบา หรือสู้กันในโลกไซเบอร์ แต่ไม่ว่าภัยคุกคามจะเปลี่ยนไปอย่างไร ดูไม่ค่อยออกว่าทำไมถึงต้องการกำลังทหารมากขึ้น แต่แน่นอน ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหม ก็ไม่อยากตอบอย่างชัดเจนว่ามันไม่มีความจำเป็น แต่คิดว่าสิ่งที่เราในฐานะประชาชนต้องการเห็นคือความโปร่งใส เช่น ได้รู้ว่าตัวเลขพวกนี้มันขึ้นมายังไง ซึ่งหลังจากออกมาจากกรม ผมจะพูดได้เต็มที่ แต่ตอนนี้ก็ขอให้เข้าใจในข้อจำกัดของผมนิดนึงแล้วกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image