“สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ชู ‘โน พรอบเบลม’ การเมืองสูตร ‘น้าชาติ’ (คลิป)

หมายเหตุ – นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” สะท้อนภาพการเมืองในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี กับการเมืองในปัจจุบันภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญ 2560

ในฐานะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเห็นการเมืองไทยในยุคหลังๆ นี้อย่างไร

ก็ต้องยอมรับว่า หลายสิ่งหลายอย่างมันต่างไปจากอดีตเยอะ มองการเมืองทุกวันนี้แล้วผมคิดถึงการเมืองในสมัยน้าชาติ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ผมว่าหลังๆ ที่การเมืองมันขัดแย้งกันมาก เพราะบางครั้งเราขาดศาลพระภูมิหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นตัวละครที่เป็นผู้ใหญ่ทางการเมืองไป สมัยก่อนเรายังมีคนอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ป๋าบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ คุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ซึ่งแต่ละคนล้วนมีบุคลิกที่จะสร้างความไม่เครียด อาจจะด้วยคำพูด หรือแม้แต่การเอื้อมมือไปโอบไหล่คนกลุ่มต่างๆ ที่มีความขัดแย้งทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้ ซึ่ง พล.อ.ชาติชายก็ถือได้ว่าเป็นคนที่มีบุคลิกแบบนั้น อาจจะด้วยความที่ผ่านประสบการณ์มาเยอะ จึงมีหลายสิ่งหลายอย่างอยู่ในตัวเอง ทั้งความเป็นนักการเมือง นักการทหาร นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม นักการทูต ซึ่งยังไม่รวมถึงชีวิตส่วนตัวที่มีความเป็นหนุ่มอยู่ตลอดเวลา

ผมอยู่กับ พล.อ.ชาติชาย รับใช้ใกล้ชิด 7-8 ปี ตั้งแต่เป็น ส.ส.โคราชสมัยแรก พรรคปวงชนชาวไทย ก็ได้รับโอกาสเข้าร่วมรัฐบาล เป็นรัฐมนตรีตั้งแต่อายุ 34 ปี หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 พล.อ.ชาติชายตั้งพรรคชาติพัฒนาก็ย้ายมาอยู่ด้วย อยู่กับท่านมาโดยตลอดจนท่านถึงแก่อสัญกรรมในปี 2541 ได้เห็นวิธีคิด วิธีพูด วิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ รวมไปถึงวิธีการปฏิบัติตนเองในฐานะนักการเมืองจากการเลือกตั้ง มีสปิริต มีน้ำใจทางการเมือง แล้วรักษาคำพูด อีกทั้งยังมีบุคลิก โดยเฉพาะการสร้างแนวร่วมในการแก้ปัญหาด้วยประโยคที่ว่า โน พรอบเบลม (No problem) ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ โน พรอบเบลม ไม่มีปัญหาเสมอๆ เพื่อสร้างความสบายใจให้กับประชาชนว่าเราสามารถจัดการมันได้

Advertisement

อีกอย่าง ผมมองว่า พล.อ.ชาติชาย มีหัวใจเป็นนักประชาธิปไตยสูง เข้าใจพื้นฐานของการเมืองไทย มักพูดเสมอว่าการเมืองจบเป็นยกๆ การเมืองมีปัญหา แต่เมื่อยุบสภาแล้ว เลือกตั้งใหม่ให้ประชาชนตัดสินแล้ว เรื่องเก่าก็ลบเทป ไม่ใช่หยิบมาคาอกคาใจ แล้วมาสร้างเดดล็อกทางการเมือง คำว่าประชาธิปไตยชนะเสียงเดียวก็พอแล้ว เป็นสิ่งที่ผมเห็นว่าท่านเข้าใจสมดุลทางการเมืองเป็นอย่างดี เพราะคนแพ้จะได้ไม่ช้ำใจ คนชนะก็ไม่ย่ามใจ เสียงเยอะๆ สำหรับท่านมันไม่จำเป็น เพราะการเมืองแบบ พล.อ.ชาติชาย เอาชนะกันแค่พอสมควร เพื่อรักษามิตรภาพเอาไว้ เพราะถ้าการเมืองไม่สมดุล ประชาธิปไตยก็ไม่สมบูรณ์

และที่สำคัญที่สุด ท่านเป็นคนที่มีสปิริตทางการเมืองสูงมาก ถ้าจำกันได้หลังจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออก ด้วยวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 พรรคร่วมรัฐบาลได้เสนอชื่อ พล.อ.ชาติชาย เป็นนายกฯ แต่ทางประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลแข่ง โดยเสนอนายชวน หลีกภัย เป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งการเลือกนายกฯคราวนั้น ได้มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่างูเห่าเกิดขึ้น ตอนนั้นเสียงก้ำกึ่งกันมาก ก่อนโหวตระหว่างไปสภาก็มีผู้ใหญ่ของประชาธิปัตย์โทรหาผม บอก สุวัจน์ ไปเรียนน้าชาติเถอะว่า เสียงท่านคงแพ้ท่านชวน ดังนั้น อย่าแข่งกันเลย ชาติพัฒนามาร่วมรัฐบาลโดยให้นายชวนเป็นดีกว่า ถ้าไม่เช่นนั้น คงได้เป็นฝ่านค้าน ผมก็เรียนท่านตามนั้น ท่านก็ตอบผมว่า ไม่ได้ๆ ผมรับปากจิ๋วไว้แล้ว เดี๋ยวผิดคำพูดกับจิ๋ว

ผมจำได้แม่น หลังจากสภาโหวตเสร็จ ก็กลับมานั่งติดตามข่าวอยู่ที่บ้านราชครูกับท่าน เพราะไม่มีใครทราบว่า ผลจะออกอย่างไร แต่พอมีพระบรมราชโองการ แต่งตั้งท่านชวน เป็นนายกฯ พล.อ.ชาติชาย ก็ให้ผมโทรหาท่านชวนทันที แล้วท่านก็หยิบโทรศัพท์ไปพูดว่า ยินดีด้วยนะ ถ้าประชาธิปัตย์มีอะไรให้ชาติพัฒนาสนับสนุนก็ด้วยความยินดี เป็นคำพูดที่ผมได้ยินแล้วก็รู้สึกว่า ในใจท่านก็คงผิดหวัง เพราะมีโอกาสจะกลับมาเป็นนายกฯครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกถูกยึดอำนาจ แต่ด้วยสปิริต ท่านไม่ได้แสดงอาการอะไร แต่ยังหยิบโทรศัพท์ให้ผมต่อไปถึงนายชวนด้วย ถือเป็นแบบอย่างที่ดีที่ผมไม่ค่อยจะได้เห็นจากใคร

Advertisement

มองการเมืองในสมัย พล.อ.ชาติชายแล้ว อยากเห็นอะไรในวันที่การเมืองปลดล็อกแล้ว

อยากเห็นการลืมอดีตแห่งความขัดแย้ง เพราะด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจโลก และด้วยภูมิศาสตร์ของไทย เรายังมีโอกาสดีๆ ทางเศรษฐกิจอยู่อีกมาก และด้วยโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่รัฐบาลนี้ได้ริเริ่มไว้จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ ไทยเป็นประเทศที่มีอนาคตซึ่งทุกคนมองเห็น ถ้าไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองที่เรามีอยู่ ใครประเทศใดในภูมิภาคนี้ก็ต่อกรกับเรายาก ดังนั้น หลังการปลดล็อก หรือการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เราต้องทำให้โลกเห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะไม่ใช่เรื่องที่ใครต่อใครจะไม่เชื่อมั่นเราอีก ถ้าเราทำให้โลกเห็นได้ว่าการเมืองไทยจะเป็นมาตรฐานสากล มีการเลือกตั้งที่ได้รับการยอมรับ ได้รัฐบาลที่เป็นที่ยอมรับ มีคนดีๆ ที่เข้าสู่ระบบการเมือง ทำการเมืองไม่มีความขัดแย้ง พรรคการเมืองเล่นกันตามกติกา แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีปัญหาก็ใช้กลไกตามกติกาของระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเป็นทางออก

ส่วนตัวผมอยากเห็นทุกพรรคการเมืองร่วมมือกัน เล่นการเมืองกันอย่างสร้างสรรค์ เล่นการเมืองแบบที่ พล.อ.ชาติชายเคยพูดไว้ว่า หันหน้าเข้าหากัน สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย หมายถึงลืมอดีตแห่งความขัดแย้ง พยายามทำการเมืองกันด้วยกฎด้วยกติกา เลือกตั้งใครจะแพ้ใครจะชนะก็ไม่เป็นไร แต่ทุกอย่างขอให้เป็นไปตามกติกา เราต้องไม่ไปสร้างเดดล็อกให้การเมืองเดินไปถึงทางตันอีก ถ้าทำได้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจก็จะกลับคืนมา

ดูเหมือนว่าวันนี้กติกาตามกฎหมายลูกจะยังเปลี่ยนแปลงตามผู้มีอำนาจได้อยู่ตลอดเวลา

ก็ต้องรอดูกันให้ชัดเจนว่าเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อใด ทุกอย่างอยู่ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เพียงแต่มีบางประเด็นที่ต้องรอการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญ แต่เท่าที่ฟังดูจากหลายฝ่ายก็ค่อนข้างมั่นใจถึงโรดแมป.ของการเลือกตั้งในเวลาใกล้เคียงกรอบเดือนกุมภาพันธ์ 2562

รู้สึกว่ากระบวนการต่างๆ ก่อนนำไปสู่การเลือกตั้งมันยากลำบากสำหรับพรรคการเมืองหรือไม่

ทุกพรรคก็เล่นตามกติกาเหมือนกัน (play by rule) ไม่มีใครได้รับข้อยกเว้น เมื่อกติกาออกมาแบบนี้ ถ้าอยากจะชนะทุกพรรคก็คงต้องปรับกลยุทธ์ หรือหาแผนว่าจะเล่นกับเกมนี้ได้อย่างไร เหมือนกับเล่นฟุตบอลก็จะต้องไปวางแผนตามกติกาว่าถ้าเจอคู่แข่งแบบนี้ แล้วจะวางตัวผู้เล่นกันอย่างไร แม้ว่าวันนี้กติกาที่เห็นจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ทุกคนก็ต้องเล่นด้วยกติกาเดียวกัน การเมืองเป็นเรื่องของการอาสาตัวเอง ไม่มีใครบังคับ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ หากไม่ชอบกติกาก็ไม่ควรลงไปเล่น ถ้าจะเสนอตัวเองเข้ามาเล่น ก็ต้องควรจะต้องเล่นตามกติกา แต่เมื่อเล่นกันแล้วเห็นกติกาไหนมันยากไป ไม่เหมาะก็หารือกันหลังจากมีการเลือกตั้งได้ว่าควรจะปรับอะไรไหมเพื่อให้เกมมันสนุกมากขึ้น มีความยากลำบากน้อยลง และเป็นประโยชน์ต่อผู้ชม

วันนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าผู้กำหนดกติกากำลังเตรียมตัวเพื่อลงสนามการเมืองด้วย

เมื่อมีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นใหม่ กฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญว่าอย่างไร ทั้งพรรคการเมืองเก่าและใหม่ หรือใครก็ตามที่อยากจะเล่นการเมืองก็ควรอยู่ในวิถีทางของกติกานี้ เพราะถือว่าเป็นกติกาที่เกิดขึ้น โดยที่พี่น้องประชาชนได้ตอบรับด้วยผลของการทำประชามติไปแล้ว

แต่กติกาที่จะเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีเสียง ส.ว. 250 คนเข้ามาร่วมกำหนดตัวนายกฯ

ก็เป็นไปตามบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ใน 5 ปีแรก ถือเป็นกติกาไปแล้ว แต่ผมคิดว่า ถ้าดูเจตนารมณ์ผู้เขียนก็ยังให้ความสำคัญกับ ส.ส.อยู่ แต่อาจจะมองว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของประเทศ จึงให้มีอีกองค์กรหนึ่งขึ้นมาเพื่อมาช่วยกันดูแลให้เกิดความเข้มแข็ง

มองอย่างไรกับประเด็นเรื่องนายกฯคนนอก เพราะวันนี้ผ่านมา 30 ปีแล้วนับตั้งแต่ลง ส.ส.สมัยแรก กลับมาเป็นประเด็นอีกรอบ

จะเป็นนายกฯคนในหรือคนนอก ส่วนตัวผมรับได้ เพราะถ้าดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้อยู่แล้วว่า กว่าจะถึงนายกฯคนนอกได้จะต้องมีเหตุการณ์ต่างๆ ตามเงื่อนไขของบทเฉพาะกาลก่อน ซึ่งก็กำหนดแค่เฉพาะ 5 ปีแรกเท่านั้นที่จะต้องใช้เสียง 750 คน โดยจะมีเสียง ส.ว. 250 คน เข้ามาร่วมกับ ส.ส. 500 คนโหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้ใช้ตลอดไป ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ 750 คนต้องเลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อนายกฯ 3 คนของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.เสียงเกิน 25 เสียงขึ้นไปด้วย พรรคไหนได้เสียง ส.ส.ไม่ถึง 25 คน บัญชีรายชื่อนายกฯของพรรคนั้นก็จะไม่มีสิทธิเข้าแข่งขันในที่ประชุมรัฐสภาได้ ถือเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับคนจากพรรคการเมืองก่อน

เมื่อประชาชนรับรู้ตั้งแต่ต้นประชาชนก็ตัดสินใจตั้งแต่ต้นเช่นกันว่า จะเลือกใครเป็น ส.ส. แล้วจะได้ใครมาเป็นนายกฯ ดังนั้น ผมจึงคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่การตัดสินใจของพี่น้องประชาชนไม่ได้ตัดสินใจจากนโยบายหรือตัวผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเท่านั้น แต่จะตัดสินใจจากบัญชีรายชื่อนายกฯเพิ่มเติมด้วย ถือเป็นองค์ประกอบใหม่ที่จะเป็นตัวแปรใหม่ในการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน อีกทั้งแคนดิเดตนายกฯที่พรรคการเมืองเสนอยังเปลี่ยนแปลงไม่ได้ด้วย เมื่อก่อนยังเปลี่ยนได้ คนที่เป็นหัวหน้าพรรคอาจจะไม่ได้เป็นนายกฯ แต่ครั้งนี้จะล็อกตั้งแต่ต้นด้วยบัญชีที่เสนอก่อนการเลือกตั้ง

แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเขียนต่อไปอีกว่า หากเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อนายกฯไม่ได้สมาชิกเข้าชื่อเลือกคนนอกได้

ถือเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญเผื่อไว้ไม่ให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง เพราะหากเกิดชุลมุนไม่สามารถหาเสียงเกิน 376 เสียงโหวตคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อได้ ก็ยังเปิดช่องให้เข้าชื่อเพื่อปลดล็อกเลือกบุคคลนอกบัญชีรายชื่อได้ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการกำหนดว่าคนเป็นนายกฯต้องเป็น ส.ส.บางครั้งทำให้เรามีเดดล็อก อย่างในระหว่างการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็มีเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤตเกิดขึ้นในปี 2557 แม้จะอยากแก้ไขวิกฤตร่วมกันรู้เลยว่าต้องการอะไร แล้วจะทำอย่างไรจึงจะแก้ได้ แต่รัฐธรรมนูญไม่เปิดช่องเอาไว้

ถามว่า เปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกหรือไม่ ผมมองว่าเป็นบันไดหนีไฟในระบอบประชาธิปไตยมากกว่า เวลาไฟไหม้ลงลิฟต์ไม่ได้ก็ค่อยมาลงบันไดหนีไฟ ไม่ได้หมายความว่าเริ่มต้นก็จะใช้บันไดหนีไฟเลย ลองใช้ลิฟต์ก่อน แต่ถ้าลิฟต์เสียก็มาออกบันไดหนีไฟเอา ดังนั้น ถ้าเลือกตั้งแล้ว ยังหา 375 เลือกนายกฯในบัญชีไม่ได้ ก็ยังไม่ตัน เพราะยังมีอีกทาง โดยใช้เสียง 2 ใน 3 เพื่อปลดล็อกเลือกคนนอกบัญชีได้ ถือเป็นเจตนารมณ์ที่ดีของผู้ร่างที่นำวิกฤตของบ้านเมืองที่ผ่านมา มาเขียนเปิดช่องให้มีหนทางในการคลี่คลายวิกฤต แต่ก็ไม่ได้ลืมสาระสำคัญที่ว่า คนในที่มาจากการเลือกตั้งต้องมาก่อน

กติกาแบบนี้ถูกมองว่าเป็นการสร้างความได้เปรียบให้กับผู้มีอำนาจปัจจุบัน

ผมเชื่อว่าพรรคที่จัดตั้งใหม่ถ้าเสนอชื่อนายกฯที่สมาร์ทๆ ขึ้นมาสู้แล้วโดนใจประชาชนขึ้นมาก็อาจเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่เกิดขึ้น อาจจะได้คะแนนเสียงอย่างที่ตัวเขาเองก็ไม่ได้คิด ด้วยกติกาใหม่ ผมจึงเห็นว่าไฮไลต์ของการหาเสียงเลือกตั้ง จะอยู่ที่ประเด็นที่ว่านายกฯที่แต่ละพรรคเสนอเพิ่มเติมจากเรื่องของนโยบาย เป็นของใหม่ที่มีนัยสำคัญ เพราะพรรคเล็กอาจจะเสียเปรียบพรรคใหญ่ในเรื่องนโยบาย แต่การนำเสนอตัวนายกฯที่โดนใจประชาชน ผมว่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่พรรคเล็กสามารถทำงานได้แบบไม่เสียเปรียบใคร

แสดงว่าแคนดิเดตนายกฯจะเป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งได้เหมือนกัน

สมมุติพรรคใหญ่นำเสนอนโยบายดีมาก แต่เสนอแคนดิเดตนายกฯไม่มีที่มาที่ไป เพราะคิดว่ามีเสียงข้างมาก บางทีก็ฝืนๆ ความรู้สึกประชาชนเหมือนกัน การมีเสียงข้างมากจะต้องมีแคนดิเดตนายกฯที่ประชาชนเอาด้วย

มองปรากฏการณ์ของพลังดูดอดีต ส.ส.อย่างไร

การดูดก็คือการย้ายพรรค ผมมอง 2 มุม ย้ายเพราะอยากไป กับย้ายเพราะพรรคอยากได้ เพราะพรรคที่จัดตั้งขึ้นใหม่อาจจะยังไม่มีบุคลากร จึงอยากได้คนที่มีโอกาสเป็น ส.ส.มากที่สุด ถือเป็นเรื่องปกติ ส.ส.ย้ายพรรคไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่มันเกิดขึ้นอยู่ตลอด โดยเฉพาะในช่วงการเว้นวรรคประชาธิปไตย หรือทุกครั้งที่มีการยุบสภา ทุกคนก็ต้องคิดใหม่ แต่คนที่จะบอกว่าการย้ายนั้นถูกต้องหรือไม่อยู่ที่ประชาชน ทุกอย่างต้องผ่านการเลือกตั้ง ถ้าคุณไม่มีความชอบธรรม หรือขาดเหตุผลเพียงพอในการย้ายพรรค หรือไปอยู่กับพรรคที่ประชาชนไม่ชอบ ประวัติศาสตร์ทางการเมืองบอกมาตลอด หลายคนสอบตกอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดกันมาแล้วก็มีเยอะ การย้ายพรรคไม่ได้หมายความว่าความเป็น ส.ส.จะตามไปโดยอัตโนมัติ

แน่นอน การเรียนลัดทำพรรคการเมืองก็จะต้องใช้คนที่มีโอกาสเป็น ส.ส.มากที่สุด นั่นก็คืออดีต ส.ส.เก่า แต่ในการทำการเมืองให้ยั่งยืนก็เหมือนกับการทำทีมสโมสรฟุตบอล เมื่อยังไม่มีเลือดเนื้อเชื้อไข หรืออคาเดมีก็ต้องดึงตัวผู้เล่นอื่นมาอยู่ทีมเรา แต่วันนี้ทุกสโมสรมีอคาเดมี สร้างเลือดเนื้อเชื้อไขขึ้นมา คนเหล่านี้จะเรียนรู้ประเพณี วิธีคิด วิธีการเล่นของทีม และข้อดีที่สำคัญของคนเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขก็คือ ค่าตัวไม่แพง การเมืองก็เหมือนฟุตบอล เราต้องให้เวลาเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเอง สร้างคนที่เติบโตมากับวัฒนธรรมทางการเมืองของพรรค ผสมผสานกับคนรุ่นเก่าถึงจะเป็นสูตรการเมืองค็อกเทลที่ลงตัว

มองกระแสคนรุ่นใหม่ขณะนี้อย่างไร เป็นความหวังของการเมืองไทยได้หรือไม่

สมัยผมเล่นการเมืองแรกๆ เป็น ส.ส. โคราชเขตเดียวกับ พล.อ.ชาติชาย เวลามีงานท่านก็มักให้คนไปตามให้มานั่งข้างๆ บอกให้ผมฝึกงานไว้ ด้วยการทำหน้าที่แทนเวลาต้องมอบสิ่งของให้กับประชาชน วันที่พรรคปวงชนชาวไทยที่ผมสังกัดอยู่ ได้ร่วมรัฐบาลกับท่าน ท่านก็ได้เน้นย้ำกับ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก หัวหน้าพรรคว่า การเมืองต้องมีคนรุ่นใหม่มาทดแทน วันที่ผมได้เป็นรัฐมนตรีโควต้าพรรคปวงชนชาวไทยในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ท่านก็บอกกับผม ขณะที่ไปกราบท่านที่บ้านราชครูในวันที่ผมได้รับตำแหน่งอยู่ 2 ประโยคว่า ท่านอายุ 70 กว่าแล้ว บ้านเมืองต้องมีคนรุ่นใหม่ ต้องมีคนรุ่นที่สอง เราต้องเตรียมตัวกัน ท่านบอกว่าผมเป็นคนรุ่นที่สอง จึงให้ผมมาเตรียมตัว ผมก็รู้สึกว่าเราเป็นคู่ต่อสู้กันมาในเขตเดียวกัน ท่านก็ว่า เฮ้ย ก่อนเลือกตั้งคือการเมือง แต่หลังเลือกตั้งคือบ้านเมือง ไม่ใช่เรื่องที่จะมาแข่งขันกันแล้ว เป็นเรื่องที่จะต้องช่วยกันทำงาน

ถามว่านักการเมืองรุ่นใหม่จำเป็นหรือไม่ ผมตอบเลยว่าจำเป็น จำเป็นแบบมากๆด้วย วันนี้ทุกพรรคต้องช่วยกันสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ ให้เข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนเพื่อวางหลักเกณฑ์ในการบริหารประเทศ ยิ่งวันนี้สังคมโลกอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ท่ามกลางการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ที่มีเทคโนโลยีเป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงที่มีความรุนแรง รวดเร็วและมีขนาดมหึมา ความท้าทายของไทยที่อยู่ท่ามกลางเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ จึงยิ่งมีความจำเป็นมากที่จะต้องได้คนรุ่นใหม่ที่ทันยุค ทันสมัย ทันกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของโลกเข้ามาสู่การเมือง โดยที่คนรุ่นเก่าต้องไม่ทิ้งเขา ต้องเป็นพี่เลี้ยง เป็นหลังบ้านคอยระวังไม่ให้กลไกทางการเมืองที่มีหลายมิติ สลับซับซ้อนไปได้ไม่กระทบงานของคนรุ่นใหม่เขา

ผมอยากเห็นทุกพรรคสร้างคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งให้โอกาสคนรุ่นใหม่จริงๆ ไม่ใช่เอาคนรุ่นใหม่มาใช้หาเสียงทางการเมือง เพื่อให้เกิดชัยชนะเท่านั้น แต่ต้องสร้างค็อกเทลผสมทั้งคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ให้ได้ โดยที่คนรุ่นเก่าต้องมอบหมายภารกิจให้คนรุ่นใหม่มากๆ โดยเฉพาะภารกิจในการบริหารจัดการ วางนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ถ้าทำได้ถือได้ว่า นี่คือเป็นการปฏิรูปการเมืองจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image