ปริญญา สงสัย ‘ต้องเชื่อมจิตได้’ ซัดระเบียบชิง ส.ว. แนะนำตัวแค่ 2 หน้า ความโปร่งใสก็ยังไม่เคลียร์ 

ปริญญา สงสัย ‘ต้องเชื่อมจิตได้’ ซัดระเบียบชิง ส.ว. แนะนำตัวแค่ 2 หน้า ความโปร่งใสก็ยังไม่เคลียร์ 

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 17 พฤษภาคม ที่ ห้องประชุม 211 (ห้องศาลจำลอง) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนารำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535 ในหัวข้อ ‘การเลือก ส.ว. และประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับอนาคตประชาธิปไตยไทย’

ในตอนหนึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เวลาผ่านไป 32 ปี แต่ประชาธิปไตยของไทยไม่ได้ก้าวหน้ามากนัก หลังเหตุการณ์ พฤษภาประชาธรรม ปี 2535 จบลงไป สังคมไทยก็มีฉันทามติร่วมกันว่าการรัฐประหารต้องหมดไป เพราะว่าจบด้วยวิธีการนองเลือด

ADVERTISMENT

“ในรอบ 32 ปีที่ผ่านมา เกิดรัฐประหาร 2 ครั้ง รัฐธรรมนูญก็ฉีกทิ้งร่าง 2 ครั้ง เกิดเหตุการณ์นองเลือดหลายครั้ง รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีที่มาจากการ รัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประธานร่างเป็นคนเดียวกัน ส่วนคณะยึดอำนาจ คือ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) คณะยึดอำนาจ ซึ่งเกิดในเดือนพฤษภาคม ปี 2557 ชื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชื่อใกล้เคียงกัน และทำในขั้นตอนที่เหมือนกันทุกอย่าง นั่นคือ การสืบทอดอำนาจด้วย ส.ว. ที่ตัวเองเป็นคนเลือก” ผศ.ดร. ปริญญากล่าว

ผศ.ดร. ปริญญา กล่าวด้วยว่า สิ่งหนึ่งเมื่อ 32 ปีที่แล้ว เขาทำไม่สำเร็จ ซึ่งปรารถนาที่จะให้ ส.ว ที่ตนเองเลือกมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะประชาชนในขณะนั้นไม่ยอมในการสืบทอดอำนาจ แต่มาสำเร็จในคราวรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ด้วยการเอาเรื่องของอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ออกไปจากร่างรัฐธรรมนูญ และกลยุทธ์เช่นนี้ ทำให้สิ่งที่เป็นความฝันอันล้มเหลว เมื่อ 32 ปีที่แล้ว กลับมาสำเร็จอีกครั้ง

ADVERTISMENT

“10 ปีแล้ว เรายังอยู่กับสิ่งที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร และสิ่งที่ร้ายแรงกว่าเดิม ก็คือ ปี 2534 เรายังไม่มีองค์กรอิสระ ส.ว.เลือกนายกฯยาก อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ต่างๆ ก็ยังไม่มี
โดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้มาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งนำแนวคิดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา คือการให้ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เป็นคนเลือกองค์กรอิสระ แต่พอเปลี่ยนที่มาจาก ส.ว. เป็นคสช.เลือก องค์กรอิสระก็มีหน้าที่ตรวจสอบคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คสช. สิ่งนี้คือบทเรียนของเราที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่กับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว” ผศ.ดร. ปริญญากล่าว

ผศ.ดร. ปริญญา กล่าวต่อไปว่า ตอนนั้นรัฐธรรมนูญ ปี 2534 จบลงด้วยการแก้ทันที ให้นายกฯ เป็นสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้ ส.ส. เป็นประธานรัฐสภา และตัดอำนาจ ส.ว. ทิ้งไป ในปี 2538 เกิดการแก้ไขใหญ่ เรียกว่าแก้ทั้งฉบับ พอในปี 2539 ก็แก้อีกครั้งหนึ่ง คือการแก้มาตราเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นที่มาของการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) และรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ในคราวนี้ 10 ปีแล้ว เรายังไม่ไปถึงไหน และสิ่งที่ตั้งหลักในคราวนี้ ดูเหมือนจะมีปัญหาอยู่มาก เพราะความเห็นที่ไม่เหมือนกันของทางรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ในเรื่องของประชามติในการที่จะตั้งคำถาม

“สิ่งที่ผมอยากจะชี้ชวนให้ท่านทั้งหลายได้ช่วยกันหาคำตอบ คือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่เราทุกคนจะเสนอกันตั้งรัฐธรรมนูญ เป็นเครื่องมือในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความเห็นต่าง เราเลือกพรรคการเมืองต่างกัน แต่จบด้วยบัตรเลือกตั้ง เราต้องนำประเทศไทยกลับมาสู่ประชาธิปไตยในแบบที่จบด้วยการเลือกตั้ง หรือจบลงด้วยการลงประชามติ

ดังนั้นความเห็นต่าง ต้องจบลงได้ภายใต้กติการัฐธรรมนูญ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นกลไกที่สืบทอดด้วยอำนาจ และกลไกของประชาธิปไตยที่ไม่เป็นประชาธิปไตยตามที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นอยากจะชวนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ช่วยนำประเทศไทยกลับมาสู่ประชาธิปไตยแบบที่ควรจะเป็นอีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งจะเริ่มต้นได้ ต้องให้กระบวนในการจัดทำ ให้เห็นพ้องต้องกัน ลำพังมัดมือชกทำประชาธิปไตยที่ปลายทาง ไม่มีทางได้รัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับ เมื่อทำให้รัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับเกิดขึ้นมาได้ ในการปฏิวัติ รัฐประหารก็จะหมดไป

รวมไปถึงเรื่องของ ส.ว. ที่จะมีการเลือกในปัจจุบัน ส.ว.เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญโดยตรง เนื่องจากเป็นบทเรียนของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2534 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ใส่กลไกไว้ และกลไกที่ใส่ไว้คือต้องมีเสียง ส.ว เห็นชอบ 1 ใน 3 ถึงจะแก้รัฐธรรมนูญได้

ซึ่งก่อนหน้านั้น ส.ว. กับ ส.ส.รวมกันเกินครึ่งก็สามารถแก้ได้เลย โดยมีเรื่องห้ามแก้ 2 เรื่อง คือ ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรูปแบบของรัฐที่เป็นราชอาณาจักร” ผศ.ดร. ปริญญากล่าว

ผศ.ดร. ปริญญา กล่าวต่อไปว่า 10 ปีที่ผ่านมาเราแก้ได้เรื่องเดียว คือ ระบบเลือกตั้ง ส.ส. เพราะเรื่องอื่น ส.ว. ไม่เห็นชอบด้วย

“คราวนี้การเลือก ส.ว.ที่เกิดขึ้น มันจึงเป็นบันไดไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยการคืนประชาธิปไตยที่ถูกรวบไป ให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง และกลับโดยไม่วนเวียนให้กลับไปหาเรื่องเดิม ๆ จึงต้องทำให้มีความยั่งยืน

ดังนั้น เรื่องแรก คือเรื่องของ ส.ว. แต่ก็น่าเป็นห่วง เนื่องจากการเลือก ส.ว.ที่จะเกิดขึ้น โดยตัวระบบก็มีปัญหาเรื่องการเลือกกันเอง และปัญหาหนักขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งเมื่อ กกต.ออกระเบียบมาในทางที่ไม่เอื้อให้คนทั่วไปที่ไม่มีพรรคพวก ไม่มีประโยชน์ไปจูงใจคนอื่น ให้มีโอกาสเป็น ส.ว. ได้ เพราะฉะนั้น ที่มาของ ส.ว.ยังคงมีปัญหา เราคงแก้รัฐธรรมนูญไม่ทัน แต่ที่จะแก้ไขได้คือระเบียบของ กกต.” ผศ.ดร. ปริญญากล่าว

ผศ.ดร. ปริญญา ชี้ว่า ถ้าจะให้คนของเราไปดูแลในเรื่องขององค์กรอิสระ ก็ต้องให้ ส.ว. ถ้าเป็นเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็น 1 ใน 3 ซึ่งก็คือ 67 คน ที่จะเข้ามาแก้ รัฐธรรมนูญก็จะได้รับการพิทักษ์ไว้ตลอดกาล เพราะฉะนั้นการเลือก ส.ว. ในคราวนี้ คือ บันไดในขั้นแรกนำไปสู่การทำให้เป็นประชาธิปไตย

“ปัญหาของเรื่องคือ สถานการณ์ 32 ปีที่แล้ว ดีกว่าตอนนี้ เพราะในตอนนั้นมีเสียงข้างมากของสองสภารวมกัน ทำให้นำร่างเดิมกลับมาสู่ประชาธิปไตย ซึ่งตอนนี้ต่อให้มีเสียงข้างมากของสองสภารวมกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 26 ครั้ง ความพยายามในการแก้มี 4 ครั้ง ที่เป็นเสียงเกินครึ่งของสองสภา แต่แก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นวิธีการคือต้องทำให้มีบันไดขั้นแรกให้ได้ แต่ในคราวนี้ต้องมี ส.ว. ที่อิสระให้มากที่สุด” ผศ.ดร. ปริญญาชี้

ผศ.ดร. ปริญญา กล่าวอีกว่า ถ้าหากว่าเงิน 2,500 บาท ไม่เป็นภาระนั้นแก่ท่าน ก็เชิญชวนให้สมัครเพื่อเป็นผู้สมัครที่อิสระ เลือก ส.ว. ที่อิสระ ได้ ส.ว. อิสระ และได้องค์กรอิสระอย่างแท้จริง รวมไปถึงการได้รัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

“แต่ปัญหา คือ กระบวนการที่จะทำในขณะนี้ เรื่องของการเลือกกันเองปัญหามันมีมาก ซึ่งจะไม่มีปัญหา ถ้าหากว่าช่องทางการเข้าไปเลือกมันเปิดกว้าง แต่กระบวนการการเลือกกันเอง ไม่เปิดกว้างเพราะต้องเสียค่าสมัคร 2,500 บาท เมื่อประกอบกับกลุ่มอาชีพที่มีเหตุผลในการแบ่งทำให้มันมีปัญหาโดยตรง” ผศ.ดร. ปริญญากล่าว

ผศ.ดร. ปริญญา ชี้ว่า สิ่งที่จะแก้ได้ทางเดียวคือระเบียบการแนะนำตัวของ กกต. ถึงแม้จะมีการผ่อนคลายให้สามารถหาเสียงและแนะนำตัวทางโซเชียลมีเดียได้ แต่ก็ทำได้เพียงแค่ A4 ไม่เกิน 2 หน้า ดังนั้น คนที่จะได้รับเรื่องต้องเป็นพวกที่เชื่อมจิตได้ ด้วยวิธีการใดๆ

“เพราะฉะนั้นการทำให้ กกต.มีระเบียบออกมา คือ ประการแรก การปิดกั้นการแนะนำตัว A4 2 หน้าทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น คนที่ไม่รู้จักกันจะรู้จักกันได้อย่างไร

กกต. ต้องมีระเบียบให้คนที่ไม่รู้จักกัน จะมีการแนะนำตัวได้อย่างไรให้ประชาชนอิสระมีโอกาสเสมอกันกับคนที่เชื่อมจิตได้

ประการที่สอง ความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นทาง กกต. ยังไม่มีประกาศออกมาว่าจะให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปสังเกตการณ์ได้ เรื่องใดก็ตามที่ไม่มีสื่อมวลชนเข้าไปดูความโปร่งใสก็เหมือนกับอาชญากรรมทั้งหลายในโลกนี้
ซึ่งข้อนี้สำคัญมาก คือต้องทำให้การเลือกมีความเปิดเผยและโปร่งใส” ผศ.ดร. ปริญญาชี้

ผศ.ดร. ปริญญา กล่าวว่า ส.ว. เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ในการนำความคิดที่บอกว่า ‘ห้ามหาเสียง’ แต่สามารถทำได้แค่ 2 หน้ากระดาษ A4 โดยบอกว่าเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกา

“ผมต้องเรียนว่า การแนะนำตัวสามารถจะพูดได้มากกว่าการที่ตัวเองทำอาชีพอะไร และการแนะนำตัวเป็นเสรีภาพด้วย ผู้สมัครนั้นยังเป็นประชาชนและตราบใดที่ไม่ใช่ ส.ว. ก็ย่อมได้รับสิทธิและความคุ้มครองที่จะถูกตัดสิทธิ์เกินกว่าเหตุ ตามมาตรา 26 แต่การแนะนำตัวได้แค่ 2 หน้ากระดาษ A4 ทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนเกินกว่าเหตุ และทำให้คนที่มีแผนป้องกันไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญได้จะสามารถเข้าไปได้มากกว่าประชาชนอิสระ
พวกเราก็อยากจะขอให้ กกต. ทำให้เปิดเผยและโปร่งใส

ทั้งนี้อย่าลืมว่า ส.ว.คือผู้แทนของปวงชนชาวไทย ผู้ที่จะเลือกได้ต้องสมัคร ส.ว. คือต้องอายุ 40 ปี ถึงจะมีสิทธิ์เลือก แต่ ส.ว.ไม่ใช่ผู้แทนของคนที่อายุ 40 ปี เท่านั้น แต่คือผู้แทนของทุกคน เพราะฉะนั้นวิธีการต้องโปร่งใสให้ประชาชนมีส่วนร่วม” ผศ.ดร. ปริญญากล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image