ผู้เขียน | สถานีคิดเลขที่ 12 |
---|
ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ด ธปท.) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการประชุม ครั้งที่ 3
ในการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ แทน “ปรเมธี วิมลศิริ” อดีตประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ที่ครบวาระไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้สำเร็จ
หากเป็นไปตามกระแสข่าวที่ทุกสำนักรายงานตรงกัน ผลการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ คนที่ 5 คือ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ขั้นตอนหลังจากนี้ “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะนำรายชื่อว่าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
โดยประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย รวม 13 คน ประกอบด้วย ผู้ว่าการ ธปท. เป็นรองประธาน รองผู้ว่าการ ธปท. 3 คน
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 5 คน เป็นกรรมการ
ผู้ว่าการ ธปท. แต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ ทำงานผ่านรูปแบบของคณะกรรมการ ตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 มาตรา 25 กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้
อาทิ ให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณ และประเมินผลการดำเนินกิจการและการดำเนินการของ ธปท. รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของผู้ว่าการ ธปท.
กำกับดูแลการจัดทำงบการเงิน รายงานประจำปี และ
รายงานอื่นๆ ของ ธปท. กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการมอบอำนาจ การรักษาการแทน การบริหารงานและดำเนินกิจการอื่น
แต่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการและการดำเนินการที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน
แม้ตามอำนาจหน้าที่ของประธานและบอร์ดแบงก์ชาติ ตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ กำหนดไว้ แทบจะไม่สามารถไปแทรกแซง การบริหารงานของ ธปท. และ กนง.ได้ง่ายนัก
แต่ด้วยข้อกังวลของกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ไม่ต้องการให้ “กิตติรัตน์” ที่ถูกมองว่าส่งมาจากฝ่ายการเมืองและมีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคเพื่อไทย (พท.) เข้ามาทำหน้าที่ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
ด้วยเกรงว่าจะเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของ ธปท. จนขาดความเป็นอิสระ เข้ามาล้วงลูกนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาให้รัฐบาลใช้ ส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายการเงินของประเทศ
เมื่อทุกคนล้วนมีภูมิหลัง มีประวัติ และบทบาทการทำงานที่เชื่อมโยงกับฝ่ายการเมือง ภาคธุรกิจ ข้าราชการ ที่ไม่สามารถลบภาพจำในอดีตได้
แต่เมื่อได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่ ประธานและบอร์ดแบงก์ชาติ ด้วยต้นทุนชีวิตที่แต่ละคนได้สั่งสมมา ย่อมต้องทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด
ข้อกังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นว่า ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ จะรับคำสั่งของฝ่ายการเมืองมาแทรกแซง ธปท. จึงเป็นเรื่องที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ พึงต้องรับฟังไว้ด้วยเช่นกัน
เหนือสิ่งอื่นใด “ผลงาน” ผ่านการทำหน้าที่ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ คนที่ 5 จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่าจะลบล้างหรือเป็นไปตามข้อครหาข้างต้น ได้หรือไม่