ผู้เขียน | สถานีคิดเลขที่ 12 |
---|
สถานีคิดเลขที่ 12 : บุคคลแห่งปี
ถ้าจะหา “บุคคลแห่งปี” ของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมการเมืองไทยในปี 2567
ผู้ที่เหมาะสมที่สุดเห็นจะไม่มีใครเกินอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร”
ความสำคัญข้อแรกสุดของอดีตนายกฯ คือ ทักษิณได้กลับเข้ามาเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองไทย จากยุค “มีลุงไม่มีเรา” หรือยุคที่มีความขัดแย้งชัดเจนระหว่างฝ่ายสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารกับฝ่ายประชาธิปไตย มาสู่ยุคหลังเลือกตั้ง 2566
ที่บางคนอาจนิยามว่าเป็น “ประชาธิปไตยที่พอเป็นไปได้ในโลกความจริง” แต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็จะบอกว่าเป็น “การตระบัดสัตย์ทางการเมือง”
กระนั้นก็ดี ปฏิเสธได้ยากว่าทักษิณนั้นก้าวเข้ามานำเสนอตัวเองเป็น “ทางเลือกอื่นๆ” ให้แก่สังคมการเมืองไทยที่ติดอยู่ใน “เดดล็อก”
ในความหมายแรก ภายหลังการสิ้นสุดลงในเชิงนิตินัยของ “ระบอบประยุทธ์-3 ป.” ผู้นำมากประสบการณ์เช่นทักษิณก็อาจถือเป็น “ทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด” ซึ่งจะมารับหน้าที่นำพาประเทศ ด้วยส่วนผสมอันกลมกลืนกันระหว่างพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และ “ระบอบประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์แบบไทยๆ”
ความหมายถัดมาที่เกี่ยวเนื่องกัน ก็คือ ทักษิณคงพยายามหวนมาทวงคืนสถานะความเป็น “ตัวเลือกหลัก” ของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่ทางเพื่อไทยสูญเสียคะแนนนิยมไปอย่างมหาศาล ภายหลังการเกิดขึ้นของ “ทางเลือกใหม่กว่า” อย่าง “อนาคตใหม่-ก้าวไกล-ประชาชน”
จุดที่น่าสนใจอีกประการ ก็คือ ทักษิณในบริบทการเมืองไทยครึ่งหลังทศวรรษ 2560 นั้นมีอยู่สองบทบาทหลักๆ
ด้านหนึ่ง เขาก็เป็น “ผู้กระทำการ” ที่ออกมาแอ๊กชั่น นำเสนอแนวคิดนโยบาย และตัดสินใจทางการเมืองหลายเรื่อง ด้วยความคิดวิจารณญาณแท้จริงของตนเอง
แต่อีกด้าน เขาก็เป็น “ตัวแสดงทางการเมือง” ที่เริ่มออกมาโลดแล่นตรงหน้าฉากชัดเจนและบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ตรงหลังฉาก ยังซ่อนแฝงไว้ด้วยเงื่อนปม ข้อตกลง และความปรารถนาอะไรอีกมากมาย ซึ่งแผงชนชั้นนำทางการเมืองไทยยุคปัจจุบันได้ร่วมกันถักสานเอาไว้อย่างแน่นหนา
นี่คือ “ปัจจัยเชิงลึก” ที่ทั้งคอยหนุนเสริมพลัง-ปัดเป่าชำระล้างมลทินให้แก่ทักษิณในบางครั้ง และเป็นกลไกที่คอยกำกับควบคุมเขาไว้ในบางคราว
อธิบายให้เห็นภาพอีกแบบได้ว่า แม้ในการกลับมารอบนี้ ทักษิณจะดูคึกคักเหมือนเดิม หรืออาจจะกระตือรือร้นเกินกว่าอายุจริงด้วยซ้ำ
แต่อำนาจในมือเขาไม่ได้มีเท่าเดิม อันเนื่องมาจากผลคะแนนเลือกตั้งที่ลดน้อยถอยลงของพรรคเพื่อไทย
หากให้ประเมิน ณ ขณะนี้ จุดท้าทาย “อำนาจนำ” ของทักษิณและคณะ ดูจะมีอยู่อย่างน้อยๆ สองประการ
ข้อแรก คือ พรรคร่วมรัฐบาลยังสามารถเล่นเกมอำนาจต่อรองกับแกนนำรัฐบาลอย่างเพื่อไทยได้ในหลายๆ เรื่อง ต่อหน้าสาธารณชน โดยไม่ครั่นคร้าม ดังกรณีของพรรคภูมิใจไทย
ไม่มีผู้ใดแน่ใจว่า สายสัมพันธ์ “กึ่งมิตรกึ่งคู่แข่งขัน” ลักษณะนี้จะดำเนินไปเรื่อยๆ จนครบวาระของรัฐบาล แล้วค่อยไปฟาดฟันกันหนักๆ ช่วงเลือกตั้งใหญ่ หรือจะมีอาการ “วงแตก” กระจัดกระจายก่อนเวลากันเมื่อใด
ข้อสอง ขณะที่รัฐบาลไทยรักไทยสามารถปรับจูนวิสัยทัศน์และการทำงานเข้ากับระบบราชการไทยกลางทศวรรษ 2540 ได้อย่างรวดเร็วเห็นผลทันตา รัฐบาลเพื่อไทยกลับดูจะยังประสานงานกับระบบราชการไทยครึ่งหลังทศวรรษ 2560 ที่ได้รับการกล่อมเกลามาโดย “ระบอบประยุทธ์” ได้ไม่ดีนัก
ดังนั้น ต่อให้ผู้นำทั้งนอกและในรัฐบาลมีศักยภาพที่จะคิด-สร้างสรรค์นโยบายใหม่ๆ ออกมาอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าคนทำงานหลักคือบรรดาข้าราชการ ไม่ขานรับ ไม่ช่วยทำให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติ ความสำเร็จก็ย่อมไม่บังเกิดขึ้น
นี่อาจเป็น “ภารกิจด่วน” ที่บุคคลทางการเมืองแห่งปี 2567 อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ต้องเร่งสะสางในปี 2568
ปราปต์ บุนปาน