สถานีคิดเลขที่ 12 : ขายฝัน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ขายฝัน

เริ่มต้นปีใหม่ 2568 มา ดูเหมือนรัฐบาลจะมีนโยบายใหญ่ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่สองเรื่อง

เรื่องแรก คือ “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ซึ่งถ้าหากตัดคำถาม-ช่องโหว่ทางกฎหมายที่ยังมีอยู่มากพอสมควร หรือตัด “ความเป็นไปได้เชิงลบ” ต่างๆ นานา ออกไปก่อน

ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นนโยบายทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

ADVERTISMENT

รวมทั้งยังเป็นการนำ “เงินที่หมุนเวียนอยู่ใต้ดิน” ขึ้นมาเป็น “เงินบนดิน” หรือแปร “ธุรกิจสีเทา” ให้กลายเป็น “ธุรกิจถูกกฎหมาย” ซึ่งสร้างรายได้เข้ารัฐอย่างเป็นระบบ

อีกเรื่องคือโครงการ “บ้านเพื่อคนไทย” ซึ่งตอบโจทย์เรื่องที่อยู่อาศัยของราษฎร ความมั่นคงของมนุษย์ และสวัสดิการที่ประชาชนผู้ขาดโอกาสพึงได้รับจากรัฐ

ADVERTISMENT

แน่นอน ถ้าพิจารณาจากโจทย์และมุมมองข้างต้น นี่ก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายทางสังคมที่น่าสนับสนุน

แต่ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า โครงการแนวนี้อาจมิใช่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงเสียทีเดียว

เห็นได้จากบางประเทศในสังคมตะวันตก ซึ่งมีสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยอย่างเป็นระบบและค่อนข้างถ้วนทั่ว แต่สุดท้าย ก็ยังหลีกหนีปัญหาความเหลื่อมล้ำไปไม่พ้น

มีอีกหนึ่งเรื่อง ที่ทีแรกฟังเหมือนเป็น “เรื่องเล็กๆ ยิบๆ ย่อยๆ” แต่พอท่านผู้นำนอกทำเนียบ-สภา อย่างอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” พูดซ้ำๆ อยู่หลายครั้งหลายหน นี่ก็อาจเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเล็กสักเท่าไหร่

นั่นคือ แนวคิดการผลักดันผู้หญิงไทยให้เป็นนางแบบระดับนานาชาติ ด้วยความสวยในแบบท้องถิ่น ไม่ปรุงแต่งผ่านการทำศัลยกรรม

หรืออาจอธิบายให้ฟังดูหรูหราได้ว่า เป็นการผลักดัน “ความสวยแบบไทยๆ-ความสวยแบบไทยแลนด์สแตนดาร์ด” ให้ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

ผลลัพธ์ต่อเนื่อง คือ มาตรฐานความสวยงามเช่นนั้นอาจกลายเป็น “สปริงบอร์ดทางสังคม-เศรษฐกิจ” ที่ช่วยให้ผู้คนธรรมดาๆ ซึ่งมีความฝันใหญ่ๆ สามารถกระโดดออกไปสู่สังคมนานาชาติได้ในอนาคต

พูดง่ายๆ ได้ว่า นี่เป็นไอเดียที่พยายามสร้าง “ความฝันใหม่ๆ” ให้กับผู้คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในสังคมที่แล้งไร้ความฝันมานานนับทศวรรษ

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามน่าสนใจพ่วงท้ายอยู่อีกมากมายหลายข้อ อาทิ อดีตผู้นำประเทศในทศวรรษ 2540 นั้นเข้าใจความฝันของคนสาว-คนหนุ่มยุคปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน?

นอกจากเรื่อง “มาตรฐานความสวยความงามเฉพาะแบบไทยๆ” แล้ว เอาเข้าจริง มาตรฐานเรื่องความสวยความงามของคนวัย 60-70 ปี กับวัยรุ่นนั้นเหมือนกันหรือไม่? ถ้าแตกต่าง ต่างกันอย่างไร?

ไม่รวมถึงมุมมองต่อเรื่อง “วัฒนธรรมดารา-วัฒนธรรมเซเลบริตี้” ของคนสองยุค

พูดอีกแบบ คือ มีคนรุ่นใหม่ๆ (ทั้งในเขตเมืองและพื้นที่ชนบท) ที่ฝันอยากเป็น “ซุปเปอร์โมเดล” มากน้อยเพียงไหน? หรือจริงๆ แล้ว วัยรุ่นเหล่านี้ฝันอยากเป็น “ไอดอล” อยากเป็น “เกิร์ลกรุ๊ป” ในวัฒนธรรม “เค-ป๊อป” ตามแบบ “ลิซ่า” มากกว่า

กระนั้นก็ดี ไม่อาจปฏิเสธว่า แนวคิดเรื่อง “การชูนางแบบไทย”โดยอดีตนายกฯ นั้นเป็นไอเดีย “ขายฝัน” ทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือซอฟต์พาวเวอร์ (เหมือนคนระดับนำๆ ในรัฐบาลจะลืมเลือนคำนี้กันไปแล้ว) ที่มีสีสันชวนฉุกคิด

แต่ก่อนอื่น คงต้องปรับจูน “ความฝันของผู้ใหญ่ฝ่ายรัฐบาล” กับ “ความฝันของกลุ่มเป้าหมาย” ที่รัฐบาลอยากจะนำฝันนี้ไปขาย ให้ต้องตรงกันก่อน

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image