ผู้เขียน | สถานีคิดเลขที่ 12 |
---|
การเลือกตั้ง อบจ. (นายก อบจ. และ ส.อบจ.) ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ มี “บทพิสูจน์” หลายบทที่กำลังรอคอยการพิสูจน์
เริ่มต้นกันด้วยเรื่อง “แนวคิด” หรือ “คอนเซ็ปต์” ใหญ่ๆ
เรื่องแรก คือ แนวคิดที่มองว่า “การเมืองท้องถิ่น” คาดเดาทำนายผลกันได้ง่าย เพราะ “ไม่ค่อยเปลี่ยน” เนื่องจาก “ถูกยึดกุม-ปิดผนึก” แน่นหนาไว้ด้วยพลังของกลุ่ม “บ้านใหญ่” ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งประสานประโยชน์กับพรรคการเมืองใหญ่ๆ ที่ส่วนกลาง ได้อย่างลงตัว
เรื่องที่สอง คือ สมมุติฐานที่ว่า พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนต่างจังหวัดใน “การเลือกตั้ง ส.ส.ระดับชาติ” และ “การเลือกตั้งท้องถิ่น” นั้นมีลักษณะแตกต่างกัน
กล่าวคือ การเลือกตั้งอย่างแรก นั้นเลือกเพื่อตอบสนองต่ออุดมการณ์ในภาพใหญ่ เพื่อสะท้อนความใฝ่ฝันที่ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงจำนวนมากมีต่อสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคต
ขณะที่การเลือกตั้งอย่างหลัง เป็นการเลือกคนเอาไว้ใช้สอยใกล้ตัวในพื้นที่ คนที่ใจถึงพึ่งได้ คนที่เข้าถึงได้ง่าย คนที่ทำงานแก้ไขปัญหาท้องถิ่น (แม้จะยิบย่อยเล็กน้อย) ได้จริง
น่าจับตาว่า แนวคิดสองประการนี้จะถูกทบทวน-ปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงไหน? ภายหลังผลการเลือกตั้งต้นเดือนหน้า
ในเชิงรายละเอียด แต่ละพรรค แต่ละกลุ่มการเมือง ก็เผชิญหน้ากับ “บทพิสูจน์เฉพาะ” ที่ผิดแผกกัน
แน่นอน ที่ถูกจับตา ถูกสบประมาทล่วงหน้าเยอะหน่อยคือ พรรคสีส้ม “ประชาชน” ซึ่งยังไม่เคยประสบชัยชนะใหญ่ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ยังไม่เคยชนะศึกเลือกตั้งนายก อบจ. แม้เพียงสนามเดียว
บทพิสูจน์สำคัญสำหรับพวกเขา คือ ต้องชนะในสนามนี้ให้ได้อย่างน้อยสักหนึ่งจังหวัด และถ้าชนะแล้วได้เข้าไปทำงาน ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบ-ประสิทธิภาพในการบริหารงานท้องถิ่นได้อย่างเห็นภาพชัดเจนจริงๆ
ทาง “เพื่อไทย” เอง ก็ได้โอกาสพิสูจน์ชัดๆ เต็มๆ ว่าผู้นำอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ยังมีบารมีทางการเมืองอยู่อย่างเต็มเปี่ยมจริงหรือไม่?
ถ้าในทุกจังหวัดที่ทักษิณเดินทางไปทำหน้าที่ “ผู้ช่วยหาเสียง” ผู้สมัครฝั่ง “สีแดง” สามารถเก็บชัยชนะได้หมดนั่นก็แสดงว่า อดีตนายกฯ ยัง “เก๋า” อยู่
นั่นย่อมส่งผลต่อสถานภาพในการเป็นแกนนำรัฐบาลที่จะมั่นคงแข็งแกร่งขึ้น
ส่งผลต่ออำนาจ-อิทธิพลของทักษิณและเครือข่ายตระกูลชินวัตร ที่คงทำอะไรได้ง่ายขึ้น มีอุปสรรคขัดขวางน้อยลง
ปิดท้ายด้วย “กลุ่มสีน้ำเงิน” ที่แม้ไม่ได้ประกาศชัดเจนว่าส่งคนลงแข่งในสนามนี้ แต่ก็เป็นที่รับทราบโดยทั่วกันว่าผู้สมัคร และนายก อบจ. (ที่ชนะไปเรียบร้อยแล้วในบางจังหวัด) คนไหนบ้าง ซึ่งถือเป็น “คนการเมืองในเครือข่ายสีน้ำเงิน”
ทั้งยังกล่าวได้ว่าหลังการเลือกตั้งใหญ่ 2566 เป็นต้นมา พรรค/กลุ่มการนี้ ยังเป็น “ผู้ประสบความสำเร็จ” ใน “ระบบการเมืองไทยร่วมสมัย” อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าวัดจากการได้ครอบครองเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาชุดใหม่
ดังนั้น การเลือกตั้ง อบจ. จึงจะเป็นบทพิสูจน์อีกหนว่า “เครือข่ายสีน้ำเงิน” เข้าใจการเมืองไทยได้กระจ่างสุดเล่นการเมืองกระดานปัจจุบันได้เก่งสุด จริงหรือไม่?
หนังสือพิมพ์มติชนเองก็เกาะติดการเลือกตั้งท้องถิ่นรอบนี้อย่างละเอียดใกล้ชิด ผ่านแคมเปญ “เลือกตั้ง อบจ. ชี้ชะตาอนาคตประเทศไทย”
ไฮไลต์อยู่ที่วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งทีมข่าวเครือมติชนจะรายงานสดผลการเลือกตั้งทันทีหลังปิดหีบบัตรลงคะแนน ไปจนกระทั่งถึงช่วงที่ได้ทราบภาพรวมผลคะแนนทั้งหมด ผ่านช่องทาง “มติชนทีวี” ในโซเชียลมีเดียต่างๆ
ถือเป็น “บทพิสูจน์” ว่าพวกเราจริงจังกับเรื่องนี้เช่นกัน
ปราปต์ บุนปาน