ผู้เขียน | สถานีคิดเลขที่ 12 |
---|
สัปดาห์ที่ผ่านมาปัญหา PM2.5 หรือที่เรียกว่าฝุ่นจิ๋ว และภายหลังเริ่มเรียกเป็นฝุ่นพิษกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ
กรุงเทพมหานครตกอยู่ท่ามกลางฝุ่นมาตลอดสัปดาห์
จากระดับปกติสีเขียว กลายเป็นสีเหลือง สีส้ม สีแดง และบางวันเป็นสีม่วง ซึ่งถือว่ารุนแรงมากๆ
ฝุ่นจิ๋วหรือฝุ่นพิษนี้ยืนยันทางการแพทย์กันแล้วว่า ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น
ปรากฏอยู่ในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ แต่สำหรับกรุงเทพฯ เมื่อเผชิญหน้ากับฝุ่นพิษเช่นนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ก็มีอนาคตไม่แตกต่างกัน
ฝุ่นพิษเมื่อเกิดขึ้นนานๆ นอกจากจะทำร้ายสุขภาพคนไทยแล้ว ยังทำให้นักท่องเที่ยวหวาดกลัวด้วย ดังนั้น การที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งแอ๊กชั่นมาตั้งแต่อยู่ต่างประเทศ และผลักดันให้เป็นวาระอาเซียนนั้นเหมาะสมแล้ว
ย้อนกลับมาฝุ่นที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ จากข้อมูลของ กทม.ระบุว่า แหล่งที่มาของฝุ่น PM2.5 ดังกล่าวมาจากรถยนต์ดีเซลมากที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 57
รองลงมา มาจากฝุ่นทุติยภูมิ ร้อยละ 16 มาจากการเผาชีวมวล ร้อยละ 15 มาจากรถยนต์เบนซิน ร้อยละ 8 และอื่นๆ เช่น ฝุ่นจากอุตสาหกรรม ร้อยละ 4
ดังนั้น หากสามารถลดการใช้รถลงได้ จะช่วยสกัดแหล่งที่มาของฝุ่นใน กทม.ได้ ร้อยละ 57 บวกร้อยละ 8 หรือประมาณร้อยละ 65
ส่วนฝุ่นทุติยภูมินั้น ไปพลิกดูข้อมูลพบว่า เป็นฝุ่นที่ไม่ได้เกิดจากมนุษย์ แต่เกิดขึ้นจากแสงแดดก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีในชั้นบรรยากาศ ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ก๊าซแอมโมเนีย (NH3) และกลุ่มก๊าซสารอินทรีย์ระเหยง่าย
ดูข้อมูลแล้ว ไม่รู้จะไปสู้รบปรบมือกับฝุ่นทุติยภูมิอย่างไร ก็ข้ามไปดูฝุ่นที่เกิดจากการเผาชีวมวล ซึ่งมีถึงร้อยละ 15
ถ้าสามารถลดลงไปได้ก็จะทำให้แหล่งกำเนิดฝุ่นพิษจำกัดลงไปอีก
เมื่อรวมการสกัดฝุ่นจากรถดีเซล รถเบนซิน และการเผาชีวมวล เท่ากับว่าจะสกัดต้นเหตุของฝุ่นพิษได้สูงสุดถึงร้อยละ 80
แต่การจะสกัดฝุ่นจากแหล่งต่างๆ ดังกล่าวได้จำเป็นต้องมีการจัดการ
กทม.อาจจะจัดการเกี่ยวกับรถดีเซล และรถเบนซินได้ โดยเฉพาะรถบรรทุกนั้นสามารถเอาผิดกับผู้ฝ่าฝืนและไซต์งานก่อสร้างได้
แต่จะจัดการกับการเผาในพื้นที่นอก กทม.คงไม่ได้
วันนั้นนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ชี้เป้าไปที่จังหวัดนครนายก จึงต้องพึ่งพากระทรวงมหาดไทย
กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ อาจจัดการกับการเผาในประเทศได้
ตอนนี้เห็นกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังปะทะกับโรงงานอ้อยที่รับอ้อยเผากระทั่งกลายเป็นข่าว
แต่แม้จะจัดการการเผาในประเทศได้ ก็ไม่สามารถจัดการกับการเผาในประเทศเพื่อนบ้านได้
หน้าที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านจึงต้องใช้กลไกของกระทรวงการต่างประเทศ และใช้ความสัมพันธ์กับหน่วยงานชายแดน
การจัดการต้นตอการเผาจึงซับซ้อน แต่ก็ใช่ว่าจะจัดการไม่ได้
ดังนั้น เมื่อนายกฯอิ๊งค์มีข้อสั่งการ และข้อสั่งการนั้นๆ ครอบคลุมต้นตอของฝุ่นพิษ ก็ต้องมาลองดูแนวทางปฏิบัติ
ลองดูกันว่า กระทรวงไหน หน่วยงานใดที่ทำได้ หรือทำไม่ได้
มาดูกันว่า กระทรวงไหน และหน่วยงานใด จะทำงานแล้วประสบผล
กลายเป็นมือปราบฝุ่นพิษ ผู้พิชิต PM2.5 ให้หมดไปจากประเทศไทย
นฤตย์ เสกธีระ