ผู้เขียน | สถานีคิดเลขที่ 12 |
---|
วันก่อนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.เปิดเผยข้อมูล
นายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. เปิดเผยตัวเลขว่า ปีการศึกษา 2567 มีนักเรียนวัย 3-14 ปี ประมาณ 8.5 ล้านคน
จำแนกนักเรียนจากจำนวน 8.5 ล้านคน ออกมาให้เห็นว่ากว่า 3 ล้านคนอยู่ในครัวเรือนยากจน และ 1.34 ล้านคนเป็นนักเรียนยากจนพิเศษ
นักเรียนยากจนพิเศษกระจุกตัวมากที่สุดใน แม่ฮ่องสอน นราธิวาส และภาคอีสาน
แม้จะมีการให้ทุนการศึกษาช่วยเหลือ แต่ก็พบว่ามีเพียง 13.49% ของนักเรียนยากจนที่ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา
และยังมีนักเรียนยากจนอีก 1.1 ล้านคนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ
สำหรับเด็กนอกระบบ ปี 2567 พบว่า มีเด็กอายุ 3-18 ปี ที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษาจำนวน 982,304 คน แม้จะลดลงจากปีก่อน แต่ยังมีเด็กที่หลุดออกจากระบบต่อเนื่องกว่า 590,557 คน และกลุ่มใหม่อีก 391,747 คน โดยเฉพาะวัยเรียนภาคบังคับที่มีมากกว่า 387,591 คน
ข้อเสนอของ กสศ.ในวันนั้น คือ 1.สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา 2.ยกระดับบัตรประชาชนเป็น Learning Passport เชื่อมโยงการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย พร้อมถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างระบบ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการจ้างงานในอนาคต
วันเดียวกันนั้น นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเวทีด้วย
นายสิริพงศ์ยกเอารายงานผลคะแนนการสอบของโครงการประเมินนักเรียนระดับนานาชาติ หรือปิซ่า ขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นความสามารถของเด็กไทย
พบว่า เด็กไทยสามารถแข่งขันอยู่ในระดับสูง
แต่ปัญหาที่เป็นอยู่คือความเหลื่อมล้ำคุณภาพของการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงเรื่องของงบประมาณ
นายสิริพงศ์บอกว่า หลายคนอาจเห็นว่า กระทรวงศึกษาฯ ได้รับงบประมาณมากที่สุด แต่ในจำนวนดังกล่าวเป็นงบเพื่อพัฒนาการศึกษาแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ อีก 85 เปอร์เซ็นต์เป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการศึกษา หรือเงินเดือน
เชื่อว่าประเด็นปัญหาการศึกษา และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คงเป็นที่รับทราบกันมาช้านาน
แต่สิ่งที่อยากเห็นและร่วมกันผลักดันคือการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปให้ได้
ณ ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ผลักดันนโยบาย “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” หรือ “Anywhere Anytime”
ขณะเดียวกันทราบมาว่า พรรคการเมืองหลายพรรคก็เริ่มขยับที่จะแก้ปัญหาการศึกษา
ก่อนหน้านี้เคยพูดคุยกับทีมงานของพรรคภูมิใจไทยทราบว่า กำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาเท่าเทียม
เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่รับทราบปัญหาจากการเวิร์กช็อป
1.ความเหลื่อมล้ำ 2.ขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ 3.หลักสูตรที่เน้นการท่องจำมากกว่าคิดวิเคราะห์ 4.หลักสูตรการศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน 5.ค่าใช้จ่ายในการศึกษาสูง สร้างหนี้สินให้ผู้ปกครอง 6.โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา องค์ความรู้ไม่ทันสมัย 7.เด็กจบไม่ตรงสายงาน 8.โอกาสจบการศึกษาก่อนเวลาน้อย
ในการเวิร์กชอปมีข้อมูลประกอบ และตามมาด้วยแนวทางการแก้ไข
จากแนวทางการแก้ไขดังกล่าวได้กลั่นกลายเป็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาเท่าเทียม
รายละเอียดในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำน่าสนใจ
เรื่องนี้สมควรจะให้ผู้ร่าง พ.ร.บ. มาอธิบาย
เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการศึกษาขึ้นมา
ถึงเวลาแล้วที่จะปรับปรุงการศึกษาไทย
ทำให้เสร็จและมีผลสำเร็จในรัฐบาลชุดนี้
นฤตย์ เสกธีระ