ผู้เขียน | สถานีคิดเลขที่ 12 |
---|
เคยมีคำกล่าวคลาสสิกที่ว่า “ศัตรูของศัตรูนั้นคือมิตร”
แต่หากพิจารณาจากสภาพการต่อสู้ในสังคมการเมืองไทยตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจะย้อนแย้งกับคำกล่าวคลาสสิกข้างต้นอยู่มากพอสมควร
และอาจฟังดูเหมาะสมสอดคล้องกว่า ถ้าจะกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมาว่า “ศัตรูของศัตรูก็คือศัตรู”
รูปธรรมชัดเจน ก็คือ การใช้กลไกอำนาจรัฐที่แนบแน่นกับทางฝั่งพรรคเพื่อไทยอย่าง “ดีเอสไอ” เข้าไปตรวจสอบ-ล้มล้างความชอบธรรมของกระบวนการเลือก ส.ว. อันหมายถึงความพยายามในการล้างไพ่เครือข่าย “ส.ว.สีน้ำเงิน” ซึ่งแนบชิดกับทางพรรคภูมิใจไทย
ทว่า ในอีกด้านหนึ่ง เราก็ได้เห็น “ส.ส.รักชนก ศรีนอก” แห่งพรรคประชาชน ทำการตรวจสอบการทำงานและการใช้งบประมาณของบอร์ดประกันสังคม ซึ่งยึดโยงกับกระทรวงแรงงานและ “รมต.พิพัฒน์ รัชกิจประการ” อย่างเข้มข้นจริงจัง
คล้ายภูมิใจไทยจะตกเป็น “ฝ่ายตั้งรับ” จากพายุสองลูกที่กระหน่ำซัดเข้ามาพร้อมๆ กัน
แต่ถึงกระนั้น กระบวนการตรวจสอบของดีเอสไอและ “ส.ส.ไอซ์ รักชนก” ก็ดูจะเป็นภารกิจเอกเทศ ซึ่งไม่มีส่วนยึดโยงสัมพันธ์กัน และเหมือนเป็นความพ้องพานที่บังเอิญเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมิได้นัดหมาย
พิสูจน์ได้ด้วยสภาวะที่ไม่เพียงแต่รัฐมนตรีจากภูมิใจไทยจะรู้สึกหงุดหงิดอึดอัดกับ ส.ส.พรรคประชาชน เท่านั้น หากบรรดาผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยบางส่วน ก็มีท่าทีจะลดทอนด้อยค่าการทำงานของนักการเมืองฝ่ายค้านเช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ “ความสัมพันธ์สามเส้า” ดังกล่าว จึงแทบไม่มีพื้นที่ว่างให้แก่ “ความเป็นมิตร”
หากเป็นการเผชิญหน้าระหว่างพรรคการเมืองสามฝ่าย ซึ่งต่างเป็น “ศัตรู” ของกันและกัน
คำถามน่าสนใจ ก็คือ เราจะอธิบายความหรือตีความสายสัมพันธ์เช่นนี้ว่าอย่างไรดี?
คำตอบแรก อาจมีผู้อธิบายว่านี่คือภาพตัวอย่างที่ชัดเจนของ “การเมืองแบบสามก๊ก”
แต่ในอีกด้านหนึ่ง “การเมืองสามก๊ก” นั้นยังวางพื้นฐานอยู่บนความสัมพันธ์ “กึ่งมิตรกึ่งศัตรู” ที่แต่ละฝ่ายอาจมาจับมือต่อรองผลประโยชน์กันได้
มิได้มีนัยของการปะทะชนกันระหว่างกลุ่มการเมืองสามฝ่ายเพียงองค์ประกอบเดียว
คำตอบที่สอง อาจมีผู้อ้างอิงไปถึงการบรรยายและคำสัมภาษณ์ของนักวิชาการบางคน ที่เสนอแนวคิดเรื่อง “ฉันทมติเปราะบาง” และ “หุ้นส่วนทางอำนาจใหม่” ที่มารวมตัวกันหลวมๆ ชั่วครั้งคราว
แน่นอน ในคำอธิบายแนวนี้ การเมืองไทยนั้นไม่ได้แบ่งออกเป็น “สามก๊ก” แต่มีแค่ “สองขั้ว”
ขั้วหนึ่งก็คือพรรคการเมืองสีส้ม “อนาคตใหม่/ก้าวไกล/ประชาชน” ขณะที่อีกขั้ว คือ ฝั่งรัฐบาล อันมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำหลัก และพรรคภูมิใจไทยเป็นพี่รองผู้มีอำนาจการต่อรองสูงลิ่ว
แต่เป็นขั้วฝ่ายรัฐบาลนี่แหละ ที่ร่วมมือกันอยู่บน “ฉันทมติเปราะบาง” หรือเข้ามาเป็น “หุ้นส่วนกัน” แบบรวมการเฉพาะกิจ โดยมิได้มีอุดมการณ์หรือเจตจำนงทางการเมืองใดๆ ร่วมกันเลย
ไม่ว่าเราจะพินิจพิเคราะห์เรื่องราวทั้งหมดนี้ ในมุม “การเมืองสามก๊ก” หรือในมุม “ฉันทมติเปราะบาง”
ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเมืองไทยร่วมสมัย นั้นมีสภาพอึมครึม ไม่แน่นอน ไร้เสถียรภาพ และคาดเดาอนาคตข้างหน้าไม่ได้
ปราปต์ บุนปาน