สถานีคิดเลขที่ 12 : Geopolitics ขั้นพื้นฐาน

Geopolitics ขั้นพื้นฐาน – ในสภาวะที่การตัดสินใจส่งตัว “ชาวอุยกูร์” หลายชีวิตกลับประเทศจีน ของรัฐบาลไทย นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายๆ ฝ่าย ทั้งในและนอกประเทศ

ในสภาวะที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” แห่งสหรัฐอเมริกา ก่อวิวาทะเผ็ดร้อนดุดันเกินกว่าจะเป็นการเจรจาทางการทูตแบบปกติกับประธานาธิบดี “โวโลดิมีร์ เซเลนสกี” แห่งยูเครน โดยไม่เขินอายสาธารณชนทั่วโลก

อยากพาทุกท่านย้อนกลับไปอ่านข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย ของ “รศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ” แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานสัมมนา “US Election 2024 เจาะลึก ศึกชิงทำเนียบขาว” ซึ่งจัดขึ้นโดยสื่อเครือมติชนและพันธมิตรเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว ดังเนื้อหาต่อไปนี้

“บางที เราชอบคิด หรือคำถามที่สื่อชอบถาม คือ เราจะเลือกข้างใคร? เพราะแรงกดดันมันมีอยู่แล้ว การแข่งขันของมหาอำนาจในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ มันทำให้ประเทศต่างๆ ถูกบีบให้ต้องเลือกข้าง ผู้นำเอเชียทุกคนรู้กันดี เพียงแต่ว่าเราจะเล่นเกมอย่างไร? ในเกมของการเลือกข้างตรงนี้

ADVERTISMENT

“บางเรื่อง ถ้าผลประโยชน์ของเราสอดคล้องกับสหรัฐ เราก็ต้องเลือก แต่ถ้าสอดคล้องกับจีน เราก็ต้องเลือกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น มันต้องกลับมาที่โจทย์เรื่องผลประโยชน์ แต่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติที่ต้องวางอยู่บน ‘หลักการระหว่างประเทศของยูเอ็น’ หรือของอะไรก็แล้วแต่ ที่เรายึดถือด้วย ก็จะทำให้ไทยมีท่าทีจุดยืนที่ ‘สง่างาม’ ในเวทีระหว่างประเทศ…”

“คำที่เรามักจะใช้ก็คือ ‘การทูตแบบไผ่ลู่ลม’ (bamboo diplomacy) ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามการทูตแบบไผ่ลู่ลมว่าคืออะไร?

ADVERTISMENT

“ผมยกตัวอย่างว่า เวียดนามวันนี้เขาประกาศอย่างชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของเขาจะเป็นการทูตแบบไผ่ลู่ลม ในมิติที่ว่าเขาจะประกันความเสี่ยง รักษาสมดุลระหว่างมหาอำนาจอย่างพอเหมาะพอควร อย่างนั้นเป็นในเชิงรุกในเชิงยุทธศาสตร์

“แต่พอมาถึงบริบทไทย เวลาเราคิดถึงคำว่าไผ่ลู่ลมดูเหมือนจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียมากกว่า คือมองว่าเราไม่มีจุดยืน เราก็ลู่ไปตามลม คือถ้ามองในลักษณะนั้น นิยามแบบนั้น ผมคิดว่าเราไม่ควรเป็นการทูตไผ่ลู่ลมแบบ ‘ลู่ตามลม’ อย่างเดียว หลายครั้ง ผมคิดว่าเราอาจจะต้อง ‘ลู่ก่อนลม’ บ้าง

“หมายความว่าเราอาจจะต้องคิดหรือคาดการณ์ว่าสถานการณ์โลกมันจะเป็นอย่างไร แล้วเราต้องมียุทธศาสตร์ว่าฉากทัศน์ที่เกิดขึ้นจะเป็นแบบไหน รับข้อดี-ข้อเสียคืออย่างไร ในลักษณะนี้ ผมว่าเราต้องลู่ก่อนลม”

“อีกทางหนึ่ง เราอาจจะต้องคิดถึงบทบาทที่เราจัดวางตำแหน่งแห่งที่ตัวเองใหม่ว่า เราเป็น ‘ประเทศอำนาจปานกลาง’ (middle power) บ้างไหม?

“บางครั้งเราอาจจะต้องชกข้ามรุ่นบ้าง ไม่ใช่ทุกเรื่องนะ บางเรื่องที่สำคัญต่อเรา เช่น การเล่นบทบาทในการเป็นตัวแสดงที่ให้ความสำคัญกับ ‘เรื่องมนุษยธรรม’ ประเด็นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เราเล่นได้ในกรอบของสหประชาชาติ ซึ่งมาตอบโจทย์ของเราในภาคเกษตรกรรม-อุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งภาคบริการ-ภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น

“เพราะฉะนั้น ในมิตินี้ ผมคิดว่าบางครั้ง เราอาจจะต้องมีบทบาทนำบ้าง อาจจะใช้คำว่าเป็นการนำจาก ‘ประเทศตรงกลางๆ’ (leading from the middle)

“บางประเทศเช่นออสเตรเลียเขาเล่นบ้าง สแกนดิเนเวียเขาก็เล่นบทบาทเรื่องนโยบายต่างประเทศด้านสิทธิผู้หญิง ไทยเราเล่นในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไหม? เราเล่นในเรื่องของ ‘การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม’ บ้างได้ไหม? คือไม่ได้เป็นผู้รับแล้ว แต่เป็นประเทศที่จะเป็นผู้ให้”

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image