สถานีคิดเลขที่ 12 : คิดมากเรื่องซัพพอร์ต

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ฝ่ายค้านพุ่งเป้า ไปที่นายกรัฐมนตรี “เจนวาย” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร คนเดียวนั้น

ในแง่ “การซัพพอร์ต” โดยเฉพาะคะแนนเสียงจากพรรคร่วม เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา

คงไม่มี ส.ส.หรือพรรคไหน “หัก” กันโต้งๆ ด้วยการ “งดออกเสียง” หรือ “ไม่วางใจ”

แต่สิ่งที่ต้องติดตาม คือนายกฯ “เจนวาย” ที่มาจากครอบครัวที่มีความมั่นคงทางฐานะ มีการศึกษาสูง มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง มีความเชี่ยวชาญการสื่อสารทางออนไลน์ มีความคล่องตัวสูงในการปรับตัวเข้ากับการเจริญทางเทคโนโลยีของโลกยุคดิจิทัล

ADVERTISMENT

จะใช้จุดเด่น สยบ “ฝ่ายค้าน” ได้ดีเพียงใด

การจะหวัง “การซัพพอร์ต” จาก “คนเจนเอ็กซ์” ที่คุ้นเคยกับการเมืองแบบเก่า อย่างแทคติคการประท้วง การพยายามจำกัดเวลาการอภิปรายแบบวันเดียวก็พอ หรือเน้นสื่อสารทำความเข้าใจ ด้วยสำนวนโวหารมากกว่าข้อมูล

ADVERTISMENT

คงไม่ดีแน่นอน

น.ส.แพทองธาร ต้องโชว์ ศักยภาพ “ผู้นำเจนวาย” อย่างเต็มที่ จึงจะได้ใจของประชาชน

เพราะไม่มีการซัพพอร์ตไหน จะดี เท่ากับการซัพพอร์ต ของประชาชน

ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงเรื่องการซัพพอร์ตแล้ว อย่างที่บอกในตอนต้น

เสียงซัพพอร์ตในสภา โดยเฉพาะศึกซักฟอกที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่น่ามีปัญหา

แต่ที่น่าพิจารณา คือการซัพพอร์ตจากฝ่ายที่แวดล้อมใกล้ตัวนายกฯและรัฐบาลมากกว่า

ยกตัวอย่าง “บอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ” ที่แม้จะทำให้คดีฮั้ว ส.ว.เป็นคดีพิเศษได้

อย่างไร ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ชวนให้คิดมากเรื่อง “การซัพพอร์ต”

โดยพิจารณาจาก

1) ผู้ที่ขาดประชุม คือ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. แม้มอบหมายให้ พล.ต.ท.อภิชาติ สุริบุญญา ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี เข้าประชุมแทน แต่ก็ไม่ได้เข้าร่วม

ส่วนอีก 2 ราย ได้แก่ พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ก็ไม่ร่วม

ชวนให้ “คิดมาก” ว่าทำไม ผู้นำกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ และเป็นมือไม้สำคัญของรัฐบาล จึง “เป็นอื่น”

2) ผู้ที่งดออกเสียง 3 ราย ประกอบด้วย

นายณรงค์ งามสมมิตร ที่ปรึกษากฎหมาย (ผู้แทนปลัดกระทรวงพาณิชย์)

นางเยาวลักษณ์ นนทแก้ว อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ (ผู้แทนอัยการสูงสุด)

นายอรรถพล อรรถวรเดช ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง (ผู้แทนปลัดกระทรวงการคลัง)

ซึ่งนี่ก็ต้อง “คิดมาก” เช่นกันว่าทำไมตัวแทนฝ่ายข้าราชการประจำ และสำนักงานอัยการสูงสุด จึง “วางเฉย”

3) กรรมการที่มีมติไม่เห็นชอบ 4 ราย

นายนพดล เภรีฤกษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา)

นายจิรานุวัฒน์ ธัญญะเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมาย (ผู้แทนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย)

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง (ผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย)

พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพล

จะเห็นว่า ทั้ง 4 คน ล้วนอยู่ในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญที่จะต้องทำงานเคียงคู่กับรัฐบาล แต่กลับ “เห็นต่าง”

ยิ่งตัวแทนจาก “มหาดไทย” หากคิดมากโดยโยงไปยังประเด็นการเมืองเรื่อง “สีน้ำเงิน”

ท่าทีที่แสดงออก เช่นนี้ คือสัญญาณอะไรหรือไม่

ไหนว่าผู้ทรงอิทธิพลทั้งแดงและน้ำเงิน พบและหารือกันแล้ว

แต่ไฉนจึง มีปรากฏการณ์ชวนให้ “คิดมาก” เกิดขึ้นอีก

สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีคดีพิเศษ “ฮั้ว ส.ว.” นี้

สะท้อนถึงปัญหานายกฯและรัฐบาลที่นำโดยเพื่อไทย เกี่ยวกับ “การซัพพอร์ต” หรือไม่

ชวนคิดกันมาก-มาก

สุวพงศ์ จั่นฝังเพชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image