ผู้เขียน | สถานีคิดเลขที่ 12 |
---|
การออกมาคัดค้านแปรสภาพมหาวิทยาลัยรัฐหลายแห่งไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือการ “ออกนอกระบบ” 10 กว่าปีก่อน ของกลุ่มอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิตและนักศึกษา น่าจะเป็นสิ่งที่ยังจดจำกันได้
การชุมนุมคัดค้านเพราะข้อกังวลหลักๆ 1.ความรู้สึกไม่มั่นคงของอาจารย์ เจ้าหน้าที่ จะแปรเปลี่ยนไปเป็นพนักงานตามสัญญาจ้าง 2.ผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาและภาระค่าเล่าเรียนที่อาจจะสูงขึ้น
ปัจจุบันประเด็น “มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ” ไม่ได้ถูกพูดถึงกันเท่าไรนัก ว่ามีความก้าวหน้าไปแค่ไหน ผลพวงของการออกนอกระบบเป็นเช่นไร
ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. … สาระสำคัญคือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพื่อให้การบริหารจัดการมีความเป็นอิสระ คล่องตัว สามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ มติที่ประชุมเห็นชอบรับหลักการ
“เทวฤทธิ์ มณีฉาย” สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายสะท้อนแง่มุมที่น่าสนใจว่าด้วยการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย บางช่วงบางตอน มีเนื้อหาดังนี้
การออกนอกระบบมีการผลักดันอย่างเข้มข้นในช่วงปี พ.ศ.2551-2559 โดยเฉพาะช่วง สนช. หรือสภาที่เกิดภายใต้คณะรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมากยิ่งขึ้น
ยิ่งผ่านง่ายและจำนวนหลายมหาวิทยาลัย เพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเหล่านั้นมานั่งในสภานั่นเอง
ไอเดียเริ่มต้นนอกจากลดภาระงบประมาณรัฐแล้ว อีกประการที่สำคัญคือความเป็นอิสระทั้งการบริหารและทางวิชาการ โดยประเด็นสำคัญคือความสามารถที่จะแสวงหารายได้และกำไร ที่เป็นแรงผลักให้ออกจากระบบราชการ
ไม่ได้ยินดีให้มหาวิทยาลัยถูกพันธนาการกับระบบราชการที่เราเห็นปัญหา แต่การออกนอกระบบที่ผ่านมาเกิดปัญหาหลายประการ หลักความเป็นอิสระที่ยังไม่ถึงฝั่งฝันจริงหรือไม่
“ข้อเท็จจริงบางประการ คือหลายมหาวิทยาลัยที่ออกจากระบบราชการไปก็ยังถูกควบคุมการจัดอัตรากำลัง ยังมีกฎระเบียบราชการมากมาย และยังต้องพึ่งพางบประมาณอุดหนุนจากรัฐในสัดส่วนที่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากระยะแรกยังหารายได้ด้วยตัวเองไม่พอ กลายเป็นยังยอมกลับไปอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ นอบน้อมต่อการควบคุมในแง่ทิศทางและนโยบายจากรัฐบาล”
ส่วนเรื่องของคุณภาพหลังออกนอกระบบ “เทวฤทธิ์” ได้ยกตัวอย่างว่า การจัดอันดับ QS Asia University Ranking ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ออกนอกระบบปี 2559 ปี 2557 อยู่อันดับ 10 ของประเทศ อันดับที่ 251-300 ของเอเชีย 10 ปี ผ่านมาปี 2567 อันดับที่ 19 ของประเทศ อันดับ 601-650 ของเอเชีย
นั่นแปลว่าเมื่อออกนอกระบบไปแล้วประสิทธิภาพที่เรามุ่งหวังอาจจะไม่ถึงฝั่งฝัน
ส่วนมหาวิทยาลัยที่อันดับทรงๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกนอกระบบปี 2558 ปี 2557 อยู่อันดับที่ 134 ของเอเชีย ปี 2567 ลำดับที่ 145 ของเอเชีย
และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกนอกระบบปี 2558 ปี 2557 ลำดับ 151-160 ของเอเชีย ปี 2567 ลำดับ 162 ของเอเชีย นั่นแปลว่าออกนอกระบบแล้วใช่จะมีประสิทธิภาพเสมอไป
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ ค่าเทอมแพงขึ้น รายจ่ายที่มากขึ้นแปลว่าโอกาสเข้าถึงผู้ที่แสวงหาอยากเรียนจะยากขึ้น
ผลการสำรวจที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เปรียบเทียบกันระหว่างมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้กำกับของรัฐกับมหาวิทยาลัยเอกชน พบว่า มีแนวโน้มเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นหลังออกนอกระบบ จนในบางปีเริ่มสูงทัดเทียมกับสถาบันการศึกษาเอกชน
“เมื่อมหาวิทยาลัยไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบต่างๆ สภามหาวิทยาลัยจึงสามารถดูแลบริหารงานได้อย่างอิสระ ซึ่งรวมไปถึงการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยยึดมติของที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัย”
จากข้อมูลอภิปรายของ “เทวฤทธิ์ มณีฉาย” สะท้อนผลที่เกิดขึ้นหลังมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ยังคาดหวังว่าภาครัฐจะมีผลสรุปของเรื่องนี้ออกมาให้ได้รับทราบว่า ผลของการออกนอกระบบ จะนำพามหาวิทยาลัยไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ มีอยู่ 26 แห่ง ในจำนวนนี้ ราว 7 แห่งออกนอกระบบตั้งแต่ก่อตั้ง และยังมีอีกหลายแห่งอยู่ในขั้นตอนเสนอกฎหมาย
สุพัด ทีปะลา