ผู้เขียน | สถานีคิดเลขที่ 12 |
---|
สั่นสะเทือนไปทั่วโลก หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10% จากสินค้าทุกประเทศทั่วโลก มีผลบังคับใช้ 5 เมษายน
อีกกว่า 60 ประเทศที่ถูกมองว่าเก็บภาษี หรือมีมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมกับสหรัฐ จะถูกเรียกเก็บ ภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) อัตราสูงขึ้น มีผลในวันที่ 9 เมษายนนี้
ไล่เรียงรายชื่อตามที่สื่อต่างประเทศรายงาน ประเทศไทย จะถูกเก็บภาษีส่วนนี้สูงถึง 36% อยู่ในอันดับที่ 5 ของอาเซียน โดยมีกัมพูชา ถูกเก็บภาษีในอัตราสูงสุด 49% ตามด้วย สปป.ลาว 48% เวียดนาม 46% เมียนมา 44% ตามลำดับ
ส่วนประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีน ถูกเรียกเก็บ 34% เกาหลีใต้ 25% ญี่ปุ่น 24% อินเดีย 26% สหภาพยุโรป 20%
ประมวลจากผู้เชี่ยวชาญของไทยหลายคน สรุปได้ว่า นโยบายทางภาษีของทรัมป์จะเป็น แผ่นดินไหว ที่กระทบต่อการค้าโลก
ผลกระทบในส่วนของไทย สินค้าส่งออกจะมีราคาสูงขึ้น ทำให้ส่งออกลดลง การค้าโลกจะเกิดการชะลอตัวจะกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกและจีดีพีไทย
สินค้าหลายประเทศจะทะลักเข้าไทย โดยเฉพาะสินค้าราคาถูกจากจีน จะกระทบต่อผู้ประกอบการไทย
เมื่อดูตัวเลขที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงออกมา ยิ่งน่ากังวลเข้าไปอีก
โดยคาดการณ์ว่ามาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐ จะสร้างผลกระทบมากถึง 359,104 ล้านบาท ฉุดจีดีพีลดลง 1.93%
หากรวมกับผลกระทบแผ่นดินไหวด้วยจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทยราว 374,851.8 ล้านบาท
จีดีพีไทยทั้งปีนี้อาจจะโตเพียง 1% ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ 3%
ถ้าตัวเลขออกมาตามคาดการณ์ไว้ย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย เพราะเกินกว่าที่รัฐบาลได้ประเมินสถานการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าสหรัฐจะขึ้นภาษีตอบโต้ไทยเพียง 11% เท่านั้น
นับถึงตอนนี้ไทยยังมีเวลาเจรจา ต่อรอง อีกราว 4-5 วันก่อนมาตรการภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐ จะมีผลในวันที่ 9 เมษายน
กระทรวงพาณิชย์วางการเจรจา 3 แนวทาง คือ 1.ไทยจะลดภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการให้กับสหรัฐ เพิ่มการลงทุนด้านพลังงานในสหรัฐ
2.เพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ยังไม่เคยนำเข้าจากสหรัฐ และ 3.ลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าของสหรัฐ
ก่อนหน้านี้บนเวทีสัมมนา Prachachat Forum : NEXT MOVE Thailand 2025 ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้ข้อคิดเห็นก่อนที่จะมีการประกาศมาตรการภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เอาไว้บางช่วงบางตอนว่า
มาตรการภาษีที่ทรัมป์จะประกาศในวันที่ 2 เมษายน จะมีผลอย่างไรนั้น ถ้าย้อนกลับไปดูช่วงปี 1930 ตอนที่สหรัฐผ่านกฎหมาย Smoot-Hawley และขึ้นภาษีศุลกากรโดยรวม 20% ประเทศคู่ค้าหลักๆ ตอบโต้
แต่นโยบายการเงินช่วงนั้นไม่ได้ผ่อนคลายเพียงพอ ทำให้ผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าครั้งนั้นกดดันให้มูลค่าการค้าโลกลดลงไปมากถึง 2 ใน 3 หรือลดลง 60% ถามว่าผลกระทบ รอบนี้มองคงไม่ถึง 60% เพราะนโยบายการเงินและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ดีกว่าช่วงนั้นมาก
แต่ต้องยอมรับว่าบทเรียนจาก 95 ปีที่แล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงผลกระทบจากนี้จะเป็นสิ่งที่ไทยต้องเผชิญ ดีไม่ดีจะมีผลกระทบทั้งปีนี้และปีหน้า สิ่งที่ไทยต้องพยายามเพื่อก้าวต่อไป คือการจัดการปัญหาตรงนี้ให้ได้ดีมากที่สุด
จนถึงขณะนี้ยังคาดการณ์ได้ค่อนข้างยาก ว่าท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยจะผ่าวิกฤตในคราวนี้ โดยบอบช้ำน้อยที่สุดได้หรือไม่
ทุกอย่างอยู่ที่ผลการเจรจาต่อรองของรัฐบาลไทย ในสถานการณ์เช่นนี้ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจเพื่อ
ฝ่าวิกฤตที่หนักหน่วงกว่าที่คิด
สุพัด ทีปะลา