ผู้เขียน | สถานีคิดเลขที่ 12 |
---|
สถานการณ์โลกทั้งใบปั่นป่วนไปด้วยคำสั่งขึ้นภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน ทำให้เห็นคุณค่าของคำว่าผู้นำ
แม้สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า เพราะทรัมป์ประกาศว่าจะทำเช่นนี้เอาไว้แล้ว แต่ผลจากการประกาศก็ถือว่าเกินกว่าความคาดหมาย
หลายประเทศเจอมาตรการภาษีจนหัวหมุน และมีท่าทีต่อการขึ้นภาษีดังกล่าวหลากหลาย
จีนตอบโต้ในทันทีด้วยการขึ้นภาษี สหภาพยุโรปก็ส่งสัญญาณตอบโต้ ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความเห็นว่าสถานการณ์ดังกล่าวคือวิกฤตของชาติ
หลายชาติในอาเซียนก็มีความเคลื่อนไหว
เวียดนามมีความไว หลังจากเชื่อมต่อกับทรัมป์มาตั้งแต่ต้นวันนี้มีโอกาสได้เจรจา พร้อมข้อเสนอที่ยอมลดภาษีนำเข้าเวียดนามสูงถึง 0 เปอร์เซ็นต์ แต่คำตอบจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องลุ้น
ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีออกมาแสดงความรู้สึก ส่งสัญญาณให้ชาวสิงคโปร์ได้รับทราบถึงความไม่เป็นปกติ และแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำของทรัมป์
สำหรับประเทศไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ยืนยันการเจรจา โดยมอบให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้นำฝ่ายไทย
นำข้อเท็จจริงไปอธิบายความ และนำข้อเสนอไปต่อรอง
และในวันที่ 8 เมษายน นายกฯอิ๊งค์ จะประชุมกับคณะกรรมการที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่เดือนมกราคม มีนาย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมทั้งแถลงแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น
ในแถลงการณ์นายกฯอิ๊งค์ยืนยันว่า มีมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการเยียวยาผู้ประกอบการที่ต้องรับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐอเมริกา 36 เปอร์เซ็นต์
เพราะทรัมป์เริ่มดำเนินการขึ้นภาษี และจะเต็มพิกัดตามที่กำหนดตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน ดังนั้น ระหว่างวันนี้จนถึงวันที่มีการเจรจากันได้และตกลงเริ่มดำเนินการตามที่เจรจา ผู้ประกอบการหลายรายต้องได้รับผลกระทบ
ขณะที่ประเทศไทย มีการคาดการณ์ในกรณีไม่มีการตั้งรับว่า จะทำให้จีดีพีไทยลดลง 1 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างน้อย ทำให้เป้าหมายจีดีพีที่รัฐบาลจะดันให้ได้มากกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ อาจจะลดลงมาไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์
และยังมีผู้ประเมินว่าอาจจะเลวร้ายถึงขนาดทำให้จีดีพีติดลบ แต่ก็หวังว่าจะไม่ถึงขนาดนั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองสภาพการณ์ปัจจุบัน แม้สหรัฐอเมริกาจะไม่ขึ้นภาษีกับไทยเลย เศรษฐกิจของเราก็ย่ำแย่อยู่แล้ว
ด้านการเมือง เพิ่งจะเริ่มแสดงให้เห็นเสถียรภาพ เมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มีความมั่นใจว่าจะยั่งยืน
ด้านเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังแก้ไม่ตก ผู้คนไม่มีกำลังซื้อ การลงทุนยังไม่เห็นรูปธรรม ความหวังจากการส่งออกเริ่มมืดมัวเมื่อเจอวิกฤตภาษี แล้วยังมีเรื่องการท่องเที่ยวที่ต้องทำการบ้านหานักท่องเที่ยวชาติอื่นมาทดแทนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เชื่อว่าไม่กลับมาเยอะเหมือนเก่า
ด้านสังคม ยังเป็นปัญหาความขัดแย้งที่สืบต่อกันมายาวนานเป็นสิบปี และพร้อมจะปะทุขึ้นมาได้ตลอดเวลา
แม้รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากขั้วอำนาจเดิม ขณะที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจกับขั้วอำนาจนั้นควบคุมประเทศ ทุกอย่างจึงติดขัดและดูมีอุปสรรคเสมอ
สัญญาณจากโลก และสัญญาณจากไทย ทำให้รู้สึกว่า ไทยกำลังยืนอยู่บนปากเหว
แล้วคนไทยจะรอดพ้นจากวิกฤตซ้อนวิกฤตเช่นนี้ได้อย่างไร
นฤตย์ เสกธีระ