ผู้เขียน | สถานีคิดเลขที่ 12 |
---|
สถานบันเทิงครบวงจร
กลายเป็น สถานบันเทิง “ลัดวงจร” ไปเรียบร้อย
ดังนั้น ที่หลายคน หวังจะเห็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไฟฟ้าสว่างไสว ไม่มีวันหลับ อย่างนานาประเทศคงยาก
เพราะเกิด “ไฟชอร์ต” ทำให้ความหวัง “ดับมืด” ไปแล้ว
แม้ ฝ่ายพรรคเพื่อไทย และแกนนำรัฐบาล จะพยายามบอกว่า เป็นภาวะ “มืดชั่วคราว”
อีก 2 เดือน หลังเปิดสมัยประชุมสภาหน้า สถานบันเทิงครบวงจร จะกลับมาสว่างไสว
–จริงหรือ
เพราะ แม้หัวหน้าพรรคร่วมสำคัญอย่างภูมิใจไทย จะ “กราบขออภัย” นายกรัฐมนตรีไปแล้ว กรณีที่เลขาธิการพรรค “ผิดคิว” โพล่งในสภาจะไม่เอาเรื่องนี้ในทุกรูปแบบ
แต่ กระนั้น ดูเหมือนสังคม จะไม่ค่อยเชื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะผลักดันเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ อย่างสุดจิตสุดใจเท่าใดนัก
ยิ่งกว่านั้น ยังเชื่ออีกว่า คงมี “แทคติค” ทางการเมือง อีกหลายแทคติค ที่จะถูกงัดออกมาใช้ เพื่อทำให้เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่ราบรื่น
ถึงแม้พรรคร่วมรัฐบาลจะทำตัวสงบเสงี่ยมเรียบร้อย
แต่ เราได้เห็นปรากฏการณ์ “สงครามตัวแทน” ดำเนินไปอย่างคึกคัก
โดยเฉพาะที่แสดงผ่าน “สภาสูง” นั้น ไม่ได้มีท่าทีประนีประนอม หรือรอมชอม อย่างที่ฝ่ายรัฐบาลในสภาล่างจะพยายามโชว์ให้เห็นเลย
ส.ว.อย่างน้อย 50 กว่าคน ที่ชื่นชอบ “สีน้ำเงิน” ออกมาแถลงคัดค้านเรื่องนี้โดยเปิดเผย
ขณะที่ ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเสียงส่วนใหญ่ ให้ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร จำนวน 35 คน
แม้ ชื่อจะบอกว่าเป็นการ “ศึกษา”
แต่เมื่อพิจารณารายชื่อกรรมาธิการ โดยเฉพาะ “คนนอก” ที่เข้ามาร่วมเป็นกรรมาธิการแล้ว
ปรากฏว่า เป็นฝ่ายที่ “ไม่เอา” หรือ “คัดค้าน” แทบทั้งสิ้น
ยิ่งไปกว่านั้น หลายคนยังเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มที่เคลื่อนไหวนอกสภาเพื่อต่อต้านกาสิโนและเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ในนามคน “เสื้อขาว” ด้วย
แสดงให้เห็นว่าเสื้อสีน้ำเงินกับเสื้อสีขาวไหลรวมเป็น แนวร่วมเดียวกัน
ดังนั้น แม้ชื่อกรรมาธิการวิสามัญ จะบอกเป็นเรื่อง “การศึกษา” อย่างที่ว่า
แต่ก็มีแนวโน้มสูง จะเป็นการศึกษา เพื่อล้มหรือไม่เอากาสิโนและสถานบันเทิงครบวงจรมากกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น แนวร่วมนี้ ไม่ใช่เพียงคัดค้านเรื่องกาสิโนเท่านั้น
หากแต่มีวาระที่จะขยายประเด็นเป็นการไม่เอารัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำและไม่เอาตระกูลชินวัตร ด้วย
ดังนั้น อีกแนวโน้มสำคัญที่อาจจะเกิดติดตามมา นั่นคือการโค่นล้มรัฐบาลด้วย
ดีกรีแห่งการเคลื่อนไหวจึงมีแนวโน้ม แตกหัก รุนแรง
และ “พันลึก” ไปยังการต่อสู้แย่งชิง “อำนาจ” ด้วย
มีการมองและวิเคราะห์ว่านี่คือการพยายามรุกกลับเข้ามาของฝ่าย “อนุรักษ์” ที่ต้องการฟื้นอำนาจกลับคืนมาหลังเพลี่ยงพล้ำในเกมเลือกตั้ง
เกมการเมืองจากนี้จึงส่อเค้าความรุนแรง บานปลาย และแตกหัก
ซึ่งแกนนำพรรคเพื่อไทยก็รู้อยู่เต็มอก ดังนั้นแม้จะขึงขังว่าจะเดินหน้าเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
แต่กระนั้นอีกด้านก็คงระแวดระวังอย่างสูง
ระแวดระวังทั้งฝ่ายตรงข้าม หรือแม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ที่อาจจะพลิกเป็นอื่นได้ตลอดเวลา
การขับเคลื่อนทางการเมืองจึงต้องระมัดระวังทุกย่างก้าว
และเผลอๆ อาจต้องยอม “ถอย” ด้วยการแช่แข็งเรื่องนี้เอาไว้ หรือซื้อเวลายอมให้มีการทำประชามติ
เพื่อประคองสถานการณ์ ให้ “ไฟลัดวงจร” นี้ส่งผลแค่ไฟดับ
ไม่ลุกลามเป็นไฟไหม้จนควบคุมไม่ได้
สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร