แม่กลอง สมุทรสงคราม เส้นทางประวัติศาสตร์ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม (ซ้าย) แม่น้ำแม่กลอง ไหลลงมาจากแควใหญ่ แควน้อย จ.กาญจนบุรี, จ.ราชบุรี (ขวา) คลองแม่กลอง ไหลมาจากแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร บริเวณหัวมุมเป็นที่ตั้งวัดใหญ่น่าจะเป็นชุมชนเริ่มแรกที่เติบโตเป็นจังหวัดสมุทรสงคราม (ภาพมุมสูงจากโดรนมติชน)

ร.1 เคยเสด็จผ่านตอนปลายปี 2329 บริเวณวัดใหญ่ (อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม) อยู่ระหว่างคลองแม่กลอง กับแม่น้ำแม่กลอง เมื่อยกทัพทางเรือขึ้นไปรบพระเจ้าปดุง ที่ยกมาตั้งค่ายใหญ่อยู่ท่าดินแดงริมแควน้อย (จ.กาญจนบุรี)

มีบอกในเพลงยาวนิราศรบพม่าท่าดินแดงพระราชนิพนธ์ ร.1 ประทับเรือจากกรุงเทพฯ เข้าคลองด่านผ่านคลองมหาชัย ทะลุแม่น้ำท่าจีน (จ.สมุทรสาคร) แล้วข้ามเข้าคลองเชื่อมแม่น้ำแม่กลอง ผ่านบ่อนาขวาง, ย่านซื่อ, สามสิบสามคด, สุนัขใน ก็ถึง เมืองสมุทรบุรี (ทุกวันนี้ชื่อ จ.สมุทรสงคราม) ตรงนี้มีกลอนเพลงยาวนิราศว่า “พอตกลึกแล้วให้ล่องนาวาคลา ประทับท่าเมืองสมุทรบุรีรมย์”

เส้นทางตามพระราชนิพนธ์เพลงยาวนิราศ ปัจจุบันได้แก่คลองแยกแม่น้ำท่าจีนจากสมุทรสาคร เข้าเขตสมุทรสงคราม (ขนานถนนเอกชัย) ผ่านคลองสามสิบสองคด (สมัย ร.1 เรียกสามสิบสามคด) ผ่านคลองสุนัขหอน (สมัย ร.1 เรียกสุนัขใน) ถึงปากคลองแม่กลอง ไหลลงแม่น้ำแม่กลอง บริเวณทุกวันนี้ที่ตั้งวัดใหญ่

เมื่อเข้าถึงแม่น้ำแม่กลอง เลี้ยวขวา ทวนน้ำขึ้นเมืองราชบุรี ไปเมืองกาญจนบุรี เข้าแควน้อย ตีค่ายพระเจ้าปดุงที่ท่าดินแดง

Advertisement

ราว 60 ปี หลัง ร.1 เสด็จผ่านย่านนี้ (เป็นสมัย ร.3) สุนทรภู่นั่งเรือตามเส้นทางเดียวกัน บอกในนิราศเมืองเพชรว่าผ่านสามสิบสองคด, สุนัขหอน แล้วออกปากคลองแม่กลอง เป็นย่านตลาดหนาแน่น เข้าแม่น้ำแม่กลองว่า “ถึงแม่กลองสองฝั่งเข้าตั้งบ้าน” แล้วย้ำว่าออกปากคลอง ถ้าเลี้ยวขวาไปบางช้าง (อัมพวา) เลี้ยวซ้ายออกทะเล (อ่าวไทย)

ชุมชนบนเส้นทางคมนาคมตรงนี้เองจะเติบโตเป็นตัวจังหวัดสมุทรสงครามทุกวันนี้

[ต่อจากนั้น สุนทรภู่ตัดข้ามแม่น้ำเข้าคลองฝั่งขวาแม่น้ำแม่กลอง (กิเลน ประลองเชิง แห่งไทยรัฐ หน้า 3 แนะนำว่าเข้าคลองบางเรือหัก) ไปบ้านยี่สาร (เพี้ยนจากคำจีนว่า อี้ซาน แปลว่า ภูเขาลูกโดด) ออกบางตะบูน เข้าแม่น้ำเพชร ไปเมืองเพชรบุรี]

Advertisement

จ.สมุทรสงคราม ควรพิจารณาเส้นทางประวัติ ศาสตร์ที่ยกมานี้ว่ามีทั้งคุณค่าและมูลค่าสูงมากซึ่งเกี่ยวข้องความเป็นมาโดยตรงของจังหวัดและเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

วัดใหญ่ ควรได้รับการดูแลยกย่องเป็นบริเวณศิลปวัฒนธรรมของเมืองแม่กลอง บนเส้นทางประวัติศาสตร์สยามประเทศไทย

แม่กลอง มีรากจากภาษามอญ

แม่กลอง แปลว่า ทางใหญ่ หรือทางหลักหมายถึงเส้นทางคมนาคมทางน้ำ มาจากคำว่าแม่ กับ กลอง ในตระกูลภาษามอญ-เขมร

แม่ มาจาก เม แปลว่า เป็นใหญ่ กลอง มาจากคำมอญว่า โคฺลงฺ แปลว่า หนทาง, เส้นทางคมนาคม (คำไทยน้อยแผลงเป็น ของ ในชื่อน้ำแม่ของ หรือแม่น้ำโขง ส่วนคำไทยใหญ่ แผลงเป็น คง ในชื่อน้ำแม่คง หรือแม่น้ำสาละวิน)

สอดคล้องเข้ากันได้ดีกับชุมชนปากน้ำแม่กลองเป็นชาวมอญที่สืบเนื่องจากคนพื้นเมืองดั้งเดิมนับพันๆ ปีมาแล้ว

แม่กลอง มีนิทานว่าได้ชื่อจากกลองใหญ่ที่ลอยน้ำมา ซึ่งน่าจะบอกเล่าตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า เพราะรับรู้ในหมู่คนชั้นนำสมัยต้นกรุงเทพฯ จึงมีบอกไว้ในโคลงนิราศนรินทร์และโคลงพระยาตรัง แม้จะไม่จริงก็ควรเก็บไว้ในความทรงจำด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image