ชื่นชม”บ้านแพ้ว” : คอลัมน์ แท็งก์ความคิด

ตามประสาคนอยากเห็นชุมชนเมืองไทยก้าวไปทัดเทียมเมืองใหญ่

เหลียวไปพบข้อมูลจากงาน Healthcare 2018 ที่มติชนจัด ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายนถึงวันนี้แล้ว

อดไม่ได้ที่จะนำมาเชิดชูความสำเร็จของชุมชน

เป็นความสำเร็จจากการก่อตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ที่จังหวัดสมุทรสาคร

Advertisement

โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นต้นแบบของนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค”

เดิมโรงพยาบาลบ้านแพ้วเปิดแผนกจักษุขึ้นมา

มีผู้ป่วยประมาณ 30 คนต่อวัน ครั้งนั้นแผนกจักษุได้ส่งแพทย์ออกหน่วยเพื่อผ่าตัดต้อกระจกในถิ่นทุรกันดาร

Advertisement

ต่อมาผู้ป่วยโรคตาเพิ่มมากขึ้นจนถึง 400 คนต่อวัน

มูลนิธิโรงพยาบาลบ้านแพ้วและภาคประชาชนจึงสร้างโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้วขึ้นมา

เป็นการตัดสินใจสร้างโรงพยาบาลจักษุโดยมีประชาชนมาเกี่ยวข้อง

หลังจากก่อสร้างเสร็จ ปรากฏว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ได้รับการยอมรับจากสังคม

มีทีมผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

แพทย์มีประสบการณ์ มีความชำนาญสูง กระทั่งได้รับการติดต่อให้ไปออกหน่วยผ่าตัดที่กัมพูชา และภูฏาน

ถือเป็นความก้าวหน้าที่มีประชาชนมีส่วนร่วม

ย้อนกลับไปยังต้นกำเนิดโรงพยาบาลบ้านแพ้ว พบว่าเกิดขึ้นจากชุมชน

ตามประวัติระบุว่า พ.ศ.2508 ชาวบ้านรวมตัวกันบริจาคและผลักดันให้มีโรงพยาบาลแห่งนี้

ต่อมาโรงพยาบาลที่สร้างได้พัฒนาเป็นโรงพยาบาลประจำชุมชน และโรงพยาบาลประจำอำเภอ

เติบโตจนกลายเป็น “องค์การมหาชน”

โครงสร้างการบริหารนอกจากจะมีนายแพทย์ที่ดำรงตำแหน่งแล้ว ยังมีกรรมการบริหารที่เป็นผู้แทนชุมชนด้วย

วันนี้ แม้โรงพยาบาลบ้านแพ้วมีพัฒนาการจนกระทั่งตั้งโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้วขึ้นมาอีกแห่ง

แต่โรงพยาบาลบ้านแพ้วก็ไม่ลืมต้นเหง้าของความสำเร็จ

ในเว็บไซต์โรงพยาบาลระบุว่า ความสำเร็จของโรงพยาบาลมาจากชุมชนบ้านแพ้ว

“ชุมชนชาวบ้านแพ้ว มีทุนทางสังคมที่ดี ในด้านการมีส่วนร่วมและการพัฒนา”

ได้อ่าน ได้เห็นผลงานแล้วปลื้มใจ

พลังจากชุมชนนั้นมีจริงเสมอ

ชุมชนสามารถกำหนดสิ่งที่ชุมชนต้องการได้ และชุมชนสามารถเข้าไปร่วมทำให้สิ่งที่ต้องการให้ปรากฏผลเป็นรูปเป็นร่างได้

ชุมชนสามารถพัฒนาสิ่งที่เกิดมาแล้วให้ก้าวหน้าต่อไปได้ โดยอาศัยเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการศึกษา

ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการกีฬา หรือพัฒนาการทางด้านใดๆ ในชุมชน

หากชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม โอกาสที่ชุมชนจะพัฒนาก้าวหน้าก็มีสูงมาก

เหมือนดั่งชุมชนชาวบ้านแพ้ว ที่จังหวัดสมุทรสาคร

ความสำเร็จที่ปรากฏ ณ บ้านแพ้ว สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในประเทศ

เพียงแค่รัฐบาลให้โอกาสชุมชน และชุมชนนำเอาโอกาสที่ได้มาร่วมกันทำ

ใช้แนวทางการมีส่วนร่วมนี่แหละสร้างสรรค์

สร้างสรรค์โรงพยาบาล สร้างสรรค์โรงเรียน สร้างสรรค์สหกรณ์ออมทรัพย์ ฯลฯ

ใช้แนวทางสร้างเครือข่ายในการพัฒนา

พัฒนาระบบสาธารณสุข พัฒนาระบบการศึกษา พัฒนาระบบการออม ฯลฯ

พัฒนาให้ชุมชนมีความเจริญเกิดขึ้น

หากชุมชนสามารถทำได้ ความหวังที่จะให้ไทยลดเหลื่อมล้ำก็จะมีหนทาง

จากเดิมที่รอให้รัฐบาลกระทำ

เปลี่ยนเป็นชุมชนดำเนินการลดเหลื่อมล้ำด้วยตัวเอง

เวลาไปงาน Healthcare ของมติชน มักได้ไอเดียอะไรๆ กลับมาเสมอ

อย่างกรณีที่เกิดกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นตัวอย่างความก้าวหน้าของโรงพยาบาลชุมชน

โรงพยาบาลที่เกิดขึ้นจากชุมชน ดำรงอยู่ด้วยชุมชน พัฒนาต่อไปโดยชุมชน

และย้อนกลับมารับใช้ชุมชน

การที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วเกิดขึ้น พัฒนาไปข้างหน้า และดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ได้

ถือเป็นความสำเร็จที่ต้องชื่นชม

ชื่นชมในความสำเร็จที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วยความร่วมมือจากภาคประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image