คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : มันนี่เกมอีคอมเมิร์ซ

ศึกอีคอมเมิร์ซในบ้านเรานับวันมีแต่จะร้อนแรงขึ้น โดยการเปิดเกมรุกของยักษ์ข้ามชาติ นำโดย “ลาซาด้า” ของยักษ์อาลีบาบา และ “ช้อปปี้” ในเครือการีนา รวมถึงที่กำลังจะคิกออฟอย่าง “เจดีดอตคอม” ที่จับมือกันมากับกลุ่มเซ็นทรัล

ยังไม่นับ “อีเลฟเว่น สตรีท” (อดีต) น้องใหม่มาแรงเมื่อปีก่อนแต่จะยังแรงเหมือนเดิมหรือไม่ต้องรอดูหลังการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นจากกลุ่มทุนแดนกิมจิมาเป็นทุนไทย ภายใต้การบริหารของทายาทเนสกาแฟ “เฉลิมชัย มหากิจศิริ” ซึ่งเจ้าตัวควักกระเป๋าใช้เงินส่วนตัวซื้อมา โดยตั้งใจว่าจะเปลี่ยนชื่อ ไม่ใช้ “อีเลฟเว่น สตรีท” พร้อมปรับโมเดลธุรกิจเพิ่มความแปลกใหม่ ท่ามกลางสมรภูมิอีคอมเมิร์ซไทยที่แข่งขันกันอย่างหนัก

บิ๊กเนมอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยอย่าง “วีเลิฟช้อปปิ้ง” หรือ “ตลาดดอตคอม” ก็คงไม่อยู่เฉย ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยจึงน่าจะเติบโตจากการแข่งกันเลือดสาดไปอีกพักใหญ่

ฟากผู้ประกอบการก็แข่งกันไป ในมุมผู้บริโภค ใครเคยซื้อสินค้าออนไลน์จะบนเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่นของอีมาร์เก็ตเพลสดังทั้งหลาย ไม่ว่าซื้อผ่านคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป, โน้ตบุ๊ก หรือโทรศัพท์มือถือ เชื่อว่ามีครั้งแรก ต้องมีครั้งต่อไป และต่อไป เพราะสะดวกรวดเร็ว ทั้งในแง่การซื้อ การจ่ายเงิน และการจัดส่งสินค้า โดยมีสารพัดโปรโมชั่นของบรรดาแบรนด์สินค้า และอีมาร์เก็ตเพลสออกมากระตุ้นต่อมนักช้อปผ่านสื่อโซเชียลวันละหลายรอบ

Advertisement

ยากที่ “ขาช้อป” จะทนไหว

การหาข้อมูลเปรียบเทียบ “ราคา” จึงเป็นเรื่องจำเป็น นั่นทำให้ “ไพรซ์ซ่า” (Priceza) ผู้ให้บริการเครื่องมือค้นหาสินค้าและบริการ เปรียบเทียบข้อมูลและราคาสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมาก

ปัจจุบันเปิดบริการในรูปแบบเว็บไซต์ www.priceza.com และแอพพลิเคชั่นใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีผู้ใช้เฉลี่ย 8 ล้านคนต่อเดือน มีจำนวนการเข้าเยี่ยมชมเว็บและแอพพ์กว่า 12 ล้านครั้งต่อเดือน

Advertisement

เฉพาะครึ่งปีแรก 2561 มีผู้เข้าชมเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นรวมกว่า 70 ล้านครั้ง ที่น่าสนใจเป็นอัตราการซื้อสินค้า ที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.98% จากปีที่แล้วอยู่ที่ 2.81% เนื่องจากผู้บริโภคเชื่อมั่นกับการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น

“ไพรซ์ซ่า” เปิดเผยว่า การเข้าถึงการใข้งานมาจากสมาร์ทโฟน 73% คอมพิวเตอร์ 23% และแท็บเล็ต 4% ขณะที่ 81% ของการซื้อมาจากสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอีก 19% มาจากคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป

จำนวนสินค้าบนแพลตฟอร์ม “ไพรซ์ซ่า” เพิ่มขึ้น 28% จากที่มีอยู่ 28 ล้านชิ้นในปี 2560 เพิ่มเป็น 36 ล้านชิ้นในปัจจุบัน ถือว่าโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (cross border) เมื่อการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศง่ายขึ้น และปัจจุบันมีสินค้าประเภทนี้บนแพลตฟอร์มไพรซ์ซ่าถึง 17 ล้านชิ้น หรือคิดเป็น 47% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด

ในแง่มูลค่าการซื้อขายโดยรวมอยู่ที่ 1.42 พันล้านบาท คิดเป็นยอดสั่งซื้อโดยเฉลี่ย 1,702 บาท/ออเดอร์ มาจากคอมพิวเตอร์, โมบายเว็บ และแอพพลิเคชั่น

เมื่อแยกคำสั่งซื้อผ่านอุปกรณ์ต่างๆ จะพบว่ามูลค่าการซื้อผ่านคอมพิวเตอร์ เฉลี่ยอยู่ที่ 2,309 บาท/ออเดอร์ สูงกว่าผ่านแอพพลิเคชั่น (1,495 บาท) และโมบายเว็บ (1,266 บาท)

ประเภทสินค้าที่ขายดี คือสินค้าแฟชั่น 15%, ยานยนต์ 14%, อิเล็กทรอนิกส์ 13%, มือถือ 12% และเฟอร์นิเจอร์ 10%

“ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง “ไพรซ์ซ่า” กล่าวว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยยังเติบโตต่อเนื่อง 20-30% ขณะที่การแข่งขันรุนแรง จากมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดหนักขึ้น ประกอบกับบางรายที่เคยพักการทำตลาดไปหวนกลับมาอีกครั้งจึงคาดว่าตลาดจะเริ่มถึงจุดอิ่มตัวในปี 2568

“อีคอมเมิร์ซ” ทำให้การค้าขายสินค้าสะดวกขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ซื้อขายระหว่างกันได้จึงไม่เกินจริงหากจะบอกว่า อีกไม่เกิน 5 ปี การค้าจะเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “ไร้พรมแดน” ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซจึงต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์รับมือการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้นทั้งจากมาร์เก็ตเพลส และสินค้าจากต่างชาติ

“ฝั่งมาร์เก็ตเพลสยังแข่งขันกันรุนแรงมาก แม้แต่ลาซาด้าที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะทำกำไรให้ได้ใน 3-5 ปี ยังต้องปรับกลยุทธ์ ลดค่าธรรมเนียมให้ร้านค้า เมื่อมีคู่แข่งใหม่เข้ามา เพราะคู่แข่งบางรายไม่เก็บค่าธรรมเนียมร้านค้า”

ไม่เฉพาะการเปรียบเทียบราคาสินค้าที่จับต้องได้เท่านั้น “ไพรซ์ซ่า” มี “ไพรซ์ซ่ามันนี่” (Priceza Money) บริการเปรียบเทียบบริการทางการเงินทั้งประกันรถยนต์, บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลด้วย หลังจากสำรวจความต้องการของผู้บริโภคแล้วพบว่า มีถึง 90% ไม่สบายใจที่จะขับรถที่ไม่มีประกัน และ 85% มองว่า การเปรียบเทียบบริการประกันแต่ละบริษัทต้องใช้เวลานานและยาก

การค้นหาประกันออนไลน์จึงเข้ามาตอบโจทย์สิ่งที่ “ผู้บริโภค” ต้องการได้ ปัจจุบัน เฉพาะประกันรถยนต์ “ไพรซ์ซ่ามันนี่” มีข้อมูล 1.6 ล้านแผนประกัน จาก 30 บริษัทประกัน ครอบคลุมสถาบันการเงิน 10 ราย และบัตรเครดิตอีกกว่า 69 ราย

“ในครึ่งปีหลังจะมีบริการด้านฟินเทคเข้ามาเพิ่ม เพราะการชำระเงินเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ เนื่องจากอีคอมเมิร์ซกับฟินเทคเป็นเรื่องที่อยู่ร่วมกันอยู่แล้ว ที่อีคอมเมิร์ซโตขนาดนี้ก็มาจากอินฟราสตรักเจอร์พร้อม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือระบบเพย์เมนต์”

“ธนาวัฒน์” ย้ำว่าถ้าอยากอยู่ให้รอดต้องโฟกัสที่ “ลูกค้า” ต้องมีบริการที่ดี และมีจุดเด่นอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่สู้กันที่ “ราคา” อย่างเดียว ซึ่งพฤติกรรมของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่นของ “ไพรซ์ซ่า” ตอกย้ำให้เห็นชัดเจน โดยมากถึง 80% ไม่ได้ซื้อสินค้าโดยดูที่ราคาถูกสุด แต่เลือกความไว้วางใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image