เมืองนครปฐมโบราณ, พระปฐมเจดีย์ ในจารึกวัดศรีชุม (สุโขทัย) และฝรั่งคลั่งสยาม โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม เป็นปูชนียสถานมีคนกราบไหว้บูชาไม่เคยร้าง ตั้งแต่สมัยการค้าโลก เรือน พ.ศ.1000 สืบจนทุกวันนี้ (ภาพจากโดรน มติชนทีวี เมื่อกรกฎาคม 2561)

“นครพระกฤษณ์” และ “มหาธาตุหลวง” กับ “ขอมเรียกพระธม”

เป็นข้อความอยู่ในจารึกวัดศรีชุม จ. สุโขทัย (จารึกสุโขทัย หลักที่ 2) ที่นักปราชญ์ก่อน 14 ตุลาคม 2516 ไม่อธิบายว่าหมายถึงอะไร? ที่ไหน? เมื่อไร? ฯลฯ

หลัง 14 ตุลา ไมเคิล ไรท์ อธิบายตามลำดับโดยสรุป ดังนี้

“นครพระกฤษณ์” หมายถึง เมืองนครปฐมโบราณ

Advertisement

“มหาธาตุหลวง” หมายถึง พระปฐมเจดีย์องค์เดิมที่สร้างนอกเมืองนครปฐมโบราณสมัยการค้าโลก เรือน พ.ศ. 1000

“ขอมเรียกพระธม” หมายถึง ชาวละโว้ (เป็นขอมพูดภาษาเขมร) เรียกมหาธาตุหลวงว่าเจดีย์ใหญ่โต (ธม เป็นภาษาเขมร แปลว่า ใหญ่โต)

สมัยปลายอยุธยา คนเรียกพระธมเพี้ยนเป็น “ประธม” แล้วสร้างนิทานว่าพระเจดีย์สร้างครอบพระนอนซ่อนข้างใน จนสมัย ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์ เรียกสืบเนื่องว่า “พระประธม” (ใช้ ธ) มีในนิราศของเสมียนมีและสุนทรภู่

Advertisement

อคติต่อจารึกวัดศรีชุม

ช่วงแรกๆ ที่มีคำอธิบายแบ่งปันเผยแพร่สู่สาธารณะ บรรดานักโบราณคดีไทยไม่เชื่อ “ฝรั่งคลั่งสยาม” คนนี้ เพราะต่างมีอคติต่อจารึกวัดศรีชุมว่าส่วนมากมีเนื้อความเลอะเทอะ และจับต้นชนปลายไม่ได้

ประวัติศาสตร์โบราณคดีกระแสหลักในช่วงเวลาก่อน 14 ตุลาคม 2516 มีบรรทัดฐานสำคัญตามแนวทางนักปราชญ์ฝรั่งเศสกับแนวคิดแบบอาณานิคม โดยไม่อนุญาตให้ทักท้วงถกเถียง หากใครฝ่าฝืนอาจถูกกล่าวหาใส่ร้ายเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นข้อหาร้ายแรงช่วงสงครามเย็น

มหาเถรศรีศรัทธา กรุงสุโขทัย

ไมเคิล ไรท์ ยืนยันอธิบายว่าจารึกวัดศรีชุมไม่เลอะเทอะ และจับต้นชนปลายได้ ทั้งหมดเกี่ยวกับมหาเถรศรีศรัทธา “ขุนศึกกรุงสุโขทัย” ออกบวชแล้วธุดงค์ไปอยู่ลังกานานราว 10 ปี มุ่งนมัสการปูชนียสถานสำคัญๆ ตรงตามที่มีหลักฐานในเกาะลังกา

ครั้นขากลับสยาม ท่านมหาเถรศรีศรัทธานั่งเรือข้ามทะเลอันดามันไปขึ้นบกทางฝั่งเมืองมะริด, ตะนาวศรี แล้วเดินบกออกช่องสิงขรผ่านเมืองเพชรบุรี, เมืองราชบุรี ชักชวน “คนฝูงดี” ปฏิสังขรณ์มหาธาตุหลวง พร้อมทั้งบูรณะพระพุทธรูปหินแตกหักที่ถูกปล่อยทิ้งร้างกลางป่า

ต่อมาอีกนานหลายปี คำอธิบายของไมเคิล ไรท์ หนักแน่นด้วยข้อมูลความรู้สนับสนุนทุกด้าน จึงค่อยๆ เป็นที่ยอมรับอย่างเงียบๆ เนียนๆ จากนักโบราณคดีไทยกระแสหลัก

ชาวอังกฤษ เป็นฝรั่งคลั่งสยาม

ไมเคิล ไรท์ เป็นชาวอังกฤษ เคยผจญภัยวัยหนุ่มฉกรรจ์ไปอยู่ลังกานานหลายปี แล้วมาอยู่เมืองไทยเป็นพนักงานธนาคารกรุงเทพ จนเกษียณอายุ (หลังเกษียณอายุ ขรรค์ชัย บุนปาน สนับสนุนไปอยู่ประจำทำงานสร้างสรรค์ที่มติชน)

ระหว่างทำงานอยู่ในไทย ไมเคิล ไรท์ ศึกษาภาษาไทยจนอ่านศิลาจารึก, พงศาวดาร, วรรณคดีไทยได้แตกฉานคล่องแคล่ว แล้วเขียนบทความเป็นภาษาไทย เริ่มครั้งแรก (เรื่องส้วมสมัยสุโขทัย) ลงในศิลปวัฒนธรรม รายเดือน ฉบับปฐมฤกษ์ พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 และเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกมากด้วยสำนวนมีลักษณะเฉพาะตน ล้วนเกี่ยวข้องความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับสยาม จนได้รับยกย่องเป็น “ฝรั่งคลั่งสยาม”

ทุกเย็นวันศุกร์ ราว 30 ปีที่แล้ว ไมเคิล ไรท์จะไปนั่งเสพสุราที่กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม (ฝั่งกรุงธนบุรี) สัปดาห์ละครั้งอย่างสม่ำเสมอ สนทนากับบรรดานักค้นคว้านักวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดี และวรรณคดีดนตรีไทยในสยามด้วยโลกทรรศน์สากล

ช่วงนี้เองที่กระตุ้นให้ผมตาสว่างได้ข้อมูลความรู้กับวิธีคิดหลายเรื่องแบบฝรั่งคลั่งสยามจากไมเคิล ไรท์ จึงรวบรวมแล้วเรียบเรียงไว้ในหนังสือ พระปฐมเจดีย์ ไม่ใช่เจดีย์แห่งแรก แต่เป็นมหาธาตุหลวง ยุคทวารวดี (โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2545) แล้วใช้ในงานเขียนหนังสือเลี้ยงชีพมาจนทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image