คอลัมน์เดือนหงายที่ชายโขง : หนี้ครูถึงหนี้เกษตรกร ปัญหาหนี้ทับซ้อนต้องแก้ไข

ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเศรษฐกิจใหญ่ที่กระทบกระเทือนแทบทุกคนในสังคม เมื่อพูดถึงหนี้ก็เป็นเรื่องที่เข้าถึงจิตใจคนส่วนใหญ่ เพราะทุกคนต่างก็มีหนี้บ้างไม่มากก็น้อย และต้องฝ่าฟันภาระหนี้สินกันตั้งแต่เติบโตจนถึงเข้าโลงขึ้นเมรุ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจรวยกระจุกจนกระจายฝนตกไม่ทั่วฟ้าแบบยุคนี้ คำว่าหนี้ยิ่งตามหลอกหลอนประชาชนคนหาเช้ากินค่ำยิ่งกว่าเรื่องอื่น

เรื่องหนี้สินนั้น หากจะแก้ไขต้องระบุจำเพาะเจาะจงไปเฉพาะหนี้เงินกู้ดอกเบี้ยเกินอัตรา และการเกิดหนี้เสีย เพราะการกู้หนี้ยืมสินไม่ใช่เรื่องผิดบาป ทุกคนสามารถมีหนี้ อันเกิดจากเครดิต คือความเชื่อใจกันว่าจะจ่ายหนี้คืนได้ และผู้ให้กู้ยืมก็หวังจะได้ซึ่งดอกผลในการลงทุนให้เงินงอกเงยขึ้นมาในอัตราที่สมเหตุสมผล

เจ้าสัวซีพีและเบียร์ช้างก็ขยายธุรกิจด้วยการกู้หนี้ยืมสินจำนวนมหาศาล แม้แต่ธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ ก็ถือว่ามีหนี้คือเงินฝากที่รับเอาเงินจากชาวบ้านร้านตลาดไปลงทุน รัฐบาลก็มีพันธบัตรรัฐบาลและการกู้เงินจากต่างประเทศเป็นหนี้ ซึ่งตราบใดที่ยังมีศักยภาพในการทำงานหาเงินจ่ายคืนได้อย่างเพียงพอ ก็ไม่เป็นปัญหา ไม่ใช่เรื่องความไม่พอเพียงฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมแต่อย่างใด

ปัญหาเรื่องหนี้เงินกู้ดอกเบี้ยเกินอัตรา นอกจากจะแก้ด้วยการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือแหล่งทุนประเภทอื่นให้เข้าถึงได้อย่างทั่วหน้าแล้ว ยังต้องผนวกเข้ากับการกวาดล้างนายทุนเงินกู้นอกระบบที่เก็บดอกเบี้ยสูงลิบไปพร้อมกัน จะละเว้นอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ เพราะหากลำพังกวาดล้างนายทุนเงินกู้ดอกโหด ชาวบ้านก็ยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุนและมีความต้องการเงิน นายทุนรายใหม่ก็พร้อมจะโผล่ขึ้นมาปล่อยกู้ทดแทน ส่วนหากทำแค่เพียงให้เงินทุนดอกเบี้ยต่ำไปซึ่งมักจะมาพร้อมกับการทำเอกสารและบัญชีที่ชาวบ้านไม่คุ้นชิน นายทุนก็พร้อมจะหลอกล่อให้กู้ด้วยวิธีที่ง่ายกว่าและเงื่อนไขน้อยกว่า หากคิดไม่ทันก็จะติดกับดักเงินกู้อยู่ดี

Advertisement

ส่วนปัญหาหนี้เสีย ต้องแยกแยะว่าหนี้เสียเกิดขึ้นจากอะไรมิใช่เหมารวมเป็นแผงเดียวกันหมด ไม่ว่าจะเกิดจากดอกเบี้ยสูงเกินไปไม่เป็นธรรม เกิดจากความผิดพลาดของการลงทุน เกิดจากการขาดความรู้ด้านการจัดการทางการเงิน เกิดจากภัยธรรมชาติหรืออุบัติเหตุ เกิดจากปัญหาสุขภาพหรือภาระครอบครัว หรือเกิดจากอบายมุขสุราและการพนัน

สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องการความเอาใจใส่ในระดับย่อยเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะหากไม่กำจัดรากเหง้าของหนี้ตั้งแต่ต้นเหตุ สภาพหนี้ก็จะวนเวียนมาเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ว่าจะเทเงินลงไปแก้ปัญหาสักกี่ครั้งก็ตาม ซึ่งหนี้สินของครูบางส่วนที่เป็นข่าวเป็นข้อพิสูจน์ที่ดี

การจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์หรือกองทุนชุมชนเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งของการแก้ปัญหาหนี้สิน แต่สหกรณ์หรือกองทุนดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบและกำกับดูแลในฐานะสถาบันการเงิน ใช้มาตรฐานความโปร่งใสเข้าส่งเสริม พร้อมกับสนับสนุนความรู้และการพัฒนา พร้อมกับให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด ดังจะเห็นได้จากกองทุนหมู่บ้านและชุมชน ซึ่งสมาชิกมีส่วนร่วมจัดการสูง ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมามีอัตราหนี้เสียอยู่ในระดับต่ำ

Advertisement

แต่สหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีจำนวนเงินมากกลับขาดธรรมาภิบาลและเกิดการทุจริตเพราะสมาชิกไม่สามารถตรวจสอบได้หรือสมาชิกไม่สนใจมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิเข้าตรวจสอบ

หัวใจหลักของการจัดการการเงินคือความละเอียดถี่ถ้วน โปร่งใส และสุจริต พร้อมที่จะตรวจสอบได้ทุกเมื่อ หากค่อยๆ แก้ไขปัญหาไปทีละเปลาะตามหลักการนี้ ปัญหาหนี้สินไม่ว่าจะของครูหรือเกษตรกร หรือแม้แต่หนี้คนธรรมดาทั่วไปก็จะค่อยๆ ทุเลาเบาบางลงได้ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image