คอลัมน์ โลกสองวัย : สมาธิทำเองก็ได้ ง่ายจัง

ห้วงแห่งเทศกาลเข้าพรรษา นอกจากการรณรงค์ให้บรรดา “คอทองแดง” ทั้งหลาย “งดเหล้าเข้าพรรษา” และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรหยุดอบายมุขทั้งปวง แม้สลากกินแบ่งรัฐบาล ยิ่งหวยใต้ดินหากหยุดหรือ “พอสมควรแก่เหตุ” หรือความอยากได้ยิ่งดี

ห้วงเวลานี้ การถือศีลฟังเทศน์ฟังธรรม จะเป็นผลดีกับตัวเองและครอบครัว โดยเฉพาะน้องหนูจะได้มีสมาธิในการเล่าเรียนเขียนอ่าน

เมื่อวานว่าถึงการไปปฏิบัติสมาธิตามหลักของ คุณแม่สิริ กรินชัย 7 คืน 8 วัน ที่รีสอร์ทสปริงฟิลด์วิลเลจ ชะอำ ตามคำชวนของ คุณสุนันทา สมบุญธรรม

วันนี้ขอทบทวนเรื่องการทำสมาธิ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ใครก็ทำได้ เพราะการทำสมาธิเพื่อฝึกจิตให้นิ่งมีสติกำกับตลอดเวลา วิธีการจะเริ่มด้วย “คำบริกรรม” ตามที่เคยร่ำเรียนมาจากครูอาจารย์ด้านนี้ อาทิ พุทโธ ยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัง หรือจะใช้วิธีธรรมชาติ กำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก ก็ได้ เพื่อกรองอารมณ์ให้เหลือเพียงหนึ่งเดียว

Advertisement

อารมณ์ที่เป็นหนึ่งเดียวจะลดการทำงานของคลื่นสมองเข้าสู่หัวใจ ทำให้เกิดสมาธิเมื่อจิตรวมตัวเป็นหนึ่ง จิตสงบ จิตเป็นสมาธิ มี 3 ขั้นตอน คือ

ขณิกะสมาธิ สมาธิขั้นต้นชั่วขณะ

อุปจาระสมาธิ สมาธิขั้นกลาง หมายถึงมีความชำนาญในการทำสมาธิ คงอยู่ในสมาธิได้รวดเร็วและได้นาน

อัปปนาสมาธิ สมาธิขั้นสูง กำหนดจิตให้อยู่นิ่งได้ตามความต้องการ

เมื่อเกิดสมาธิ หรือระหว่างที่บริกรรมทำสมาธิจะมีการผลิตพลังจิตเก็บสะสมไว้ที่ฐานจิตซึ่งเรากำหนดไว้ เลือกใช้ได้เพียง 1 ฐาน ได้แก่ หน้าผาก ปลายจมูก บริเวณหน้า หัวใจ สะดือ พลังจิตที่เกิดและสะสมไว้นี้ไม่เสื่อมสลาย จะเป็นบุญกุศลติดตัวไปทุกภพทุกชาติ

เมื่อมีพลังจิตสะสมมากเพียงพอ มีผลทำให้ผู้ปฏิบัติ

1.มีความฉลาด เชาวน์ปัญญาดี

2.เกิดความมีศีลธรรม มีเมตตาปรานี

3.มีความเสียสละ มีความรับผิดชอบสูงขึ้น

4.มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง

5.เกิดความเกรงกลัวต่อความชั่วโดยอัตโนมัติ

6.ทำให้เกิดสติสัมปชัญญะ มีความยั้งคิดต่อการกระทำ

7.เป็นคนมีเหตุผลของการดำเนินชีวิตในสังคม

8.มีความสบายใจคลายกังวล นอนหลับง่ายขึ้น ลดอาการปวดศีรษะ

การทำสมาธิทำให้เกิดกระแสจิต มีพลังจิตมากพอจะเกิดกระแสจิต ลักษณะเป็นแสงสีในสมาธิ

เมื่อมีสมาธิทำให้จิตเป็นหนึ่ง จะเกิดภวังค์ 2 แบบ คือเกิดตามธรรมชาติ เหมือนนอนหลับทุกวัน กับภวังค์ที่สร้างขึ้น คืออาการคล้ายกับการหลับในสมาธิ บางคนอาจเห็นภาพที่เรียกว่านิมิต คล้ายกับนอนหลับที่เรียกว่า “ฝัน”

เมื่อเข้าภวังค์มากขึ้นจนเกิดความชำนาญ ประกอบกับมีพลังจิตมากเพียงพอ สามารถเข้าภวังค์แบบรู้ตัว มีสติควบคุม และทำงานในภวังค์นั้นได้

การทำสมาธิอาจใช้เวลาไม่เท่ากัน บางคนกำหนดจิตเป็นสมาธิได้เร็ว บางคนกำหนดเป็นสมาธิได้ช้า บางคนขึ้นกับเวลา สถานที่ และสภาพแวดล้อม เช่นอยู่ในที่สงบ อยู่ในระหว่างทำงาน หรืออยู่ในที่พลุกพล่าน

การทำสมาธิด้วยวิธีกำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก กำหนดได้ทุกเวลา หรือทุกขณะจิต เชื่อว่าในห้วงเวลา 3 เดือนต่อจากนี้ ทำให้ผู้เคยปฏิบัติสมาธิอยู่แล้วจะทำได้เร็วขึ้น เพียงแต่ให้คิดเสมอว่า ขณะนี้เราหายใจเข้า ขณะนี้เราหายใจออก หายใจเข้าสั้นให้รู้ว่าหายใจเข้าสั้น หายใจออกยาวให้รู้ว่าหายใจออกยาว ตลอดเวลาทั้งขณะตื่นและหลับ

ทางที่ดี ควรเข้ารับการศึกษาทำสมาธิจากครูอาจารย์ในเบื้องต้น เผื่อติดขัดข้องใจอย่างไรจะได้สอบถามทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image