เติมพลังเครือข่าย : คอลัมน์ แท็งก์ความคิด

(มหาวิทยาลัยขอนแก่น-ภาพ)

ติดสอยห้อยตามคณะจากสถาบันพระปกเกล้าลงพื้นที่ไปดู “ของดี” ประเทศไทย

ของดีที่คนไทยร่วมมือร่วมใจกันจัดการตนเองได้อย่างน่าชื่นชม

ไปดูการบริหารงานการมีส่วนร่วมแบบเครือข่ายของ อบต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี

ภายใต้การนำของ นายอำนวย อินทรธิราช นายก อบต.นาพู่

Advertisement

การเดินทางไปเยือนครั้งนี้ สืบเนื่องจากสถาบันพระปกเกล้าจัดการประกวดรางวัลพระปกเกล้าทองคำ ประจำปี 2561

รางวัลพระปกเกล้าทองคำเป็นรางวัลต่อยอดจากรางวัลพระปกเกล้า

รางวัลพระปกเกล้านี้จะมอบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ 3 ด้าน

หนึ่งด้านการมีส่วนร่วม สองด้านเครือข่าย และสามด้านส่งเสริมสมานฉันท์

ทั้ง 3 ด้านต้องอยู่ภายใต้การบริหารงานแบบโปร่งใสด้วยนะ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเข้าประกวดแล้วได้รับ “รางวัลพระปกเกล้า” 2 ครั้งในรอบ 5 ปี

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีสิทธิลุ้น “รางวัลพระปกเกล้าทองคำ”

อบต.นาพู่เคยได้รับรางวัลพระปกเกล้ามาแล้ว 2 ครั้งตามเกณฑ์

คราวนี้คณะกรรมการรางวัลพระปกเกล้าจึงลงพื้นที่เพื่อไปดู “นวัตกรรม”

หลังจากฟังคำบรรยายของผู้เกี่ยวข้องแล้วสะดุดใจกับการนำเอา “ความรู้” มาใช้กับ “ชีวิต”

ก่อนหน้านี้พื้นที่ อบต.น้ำพู่ มีปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาการทางสมองของเด็ก

เหตุเพราะเด็กๆ ขาดสารไอโอดีน

สุดท้ายทางแก้ไขของ อบต.นาพู่ คือการทำไข่ไก่ไอโอดีน แล้วกระจายให้เด็กและผู้ใหญ่ได้กิน

จากวันนั้นที่เด็กมีปัญหาทางสมอง วันนี้ปัญหานั้นหายไปหมดแล้ว

นั่นคือความสำเร็จในอดีต

ปัจจุบันที่ อบต.นาพู่ จัดตั้งโรงเรียนผู้สูงวัยขึ้นมา ซึ่งฟังดูแล้วก็เหมือนๆ กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ

แต่จุดสะดุดที่น่าประทับใจคือการจัดทำหลักสูตรให้กับผู้สูงวัย

ผู้ที่เข้ามาทำหลักสูตรคือเครือข่ายของ อบต.นาพู่ ที่มีทั้งส่วนราชการ เอกชน และภาคประชาชน

หัวใจสำคัญของหลักสูตรคือการเติมความรู้เข้าไปในสิ่งที่ทำ

ฟังแล้วคล้ายๆ กับการแก้ปัญหาเรื่องพัฒนาการเด็ก

คล้ายๆ การกำเนิดของไข่ไอโอดีน

แต่คราวนี้ได้ขยายผลมายังผู้สูงวัย

เครือข่ายภาครัฐ มีอาทิ วิทยาลัยบรมราชชนนี อุดรธานี การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน.

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเพ็ญ พัฒนาสังคมฯ

เครือข่ายภาคเอกชน เช่น หอการค้าอุดรธานี สโมสรโรตารี่อุดรธานี

ขณะที่เครือข่ายภาคประชาสังคม มีกลุ่มข้าราชการบำนาญ ชมรมผู้สูงอายุ

สภาเด็กและเยาวชน กลุ่ม อผส. และ อสม. เป็นต้น

วิธีดำเนินการ คือ การกำหนดหลักสูตร เช่น ป้องกันโรคซึมเศร้า ป้องกันโรคเรื้อรัง ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันโรคความดัน เบาหวาน ฯลฯ

จากนั้นทำหลักสูตรขึ้นมาแล้วนำไปใช้ในโรงเรียนผู้สูงวัย มีวิทยากรคอยมาให้ความรู้

ทำให้ผู้สูงวัยเปลี่ยนจากติดบ้านติดนา มาติดกลุ่มเพื่อนที่อยู่รวมกัน

สุดท้าย ปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้า โรคลดความดัน โรคเบาหวาน และอื่นๆ ทยอยลด

ไอเดียเรื่องการจัดทำหลักสูตรเช่นนี้ยังขยายผลต่อไป

คราวนี้ขยายไปสู่เกษตรกรที่เป็นหนี้

เครือข่ายจัดทำหลักสูตร “ปลดหนี้” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9

รูปแบบการดำเนินการก็ไม่ต่างจากเก่า

คือตั้งเป้าหมาย จัดทำหลักสูตร และนำไปสู่การปฏิบัติ

เกษตรกรสามารถลดหนี้ เพิ่มรายได้ และมีความสุข

ดูเหมือนว่า นี่คือเสน่ห์ของเครือข่าย อบต.นาพู่

เครือข่ายที่ตอบสนองชาวบ้านด้วย “องค์ความรู้”

การแก้ปัญหาด้วยความรู้ ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน

เครือข่าย อบต.นาพู่ จึงมีพลังที่พร้อมเผชิญหน้ากับทุกๆ ปัญหา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image