คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : The Reinvention

กระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่นทำให้โลกธุรกิจในช่วงสิบกว่าปีมานี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงมาก เราเห็นตัวอย่างของธุรกิจที่เคยมั่งคั่ง มั่นคง ล้มครืนหายไปในชั่วพริบตาท่ามกลางสึนามิ “ดิจิทัล” มาแล้วเป็นจำนวนมาก

ในฐานะปัจเจกบุคคลก็ไม่แตกต่างกัน เรากำลังเผชิญหน้าความท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ถ้ามัวยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ และอยู่แค่ใน “พื้นที่ปลอดภัย” ของตนเองก็จะตามโลกไม่ทัน เพราะในยุคสมัย “ปลาเร็วกินปลาช้า” มีคู่แข่งหน้าใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ไม่ว่าจะเป็นบุคคล องค์กร หรือประเทศ ล้วนต้องเปลี่ยนแปลงตนเองให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

งานสัมมนาแห่งปี “พลิกเกมธุรกิจ พลิกอนาคต THE REINVENTION” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ โดยการสนับสนุนของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ ได้รวบรวม “นักคิด และสุดยอดนักธุรกิจ” ที่เดินอยู่บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงที่สามารถสร้าง พลิกเกม และสร้างตัวตนใหม่ให้ขึ้นมายืนอยู่แถวหน้ามาไว้บนเวทีเดียวกัน

Advertisement

“ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” นักคิด-นักเขียนชื่อดัง เจ้าของผลงานมากมาย หนึ่งในนั้น คือซีรีส์ที่ขึ้นต้นชื่อเรื่องด้วยคำว่า “ปัญญา” (FUTURE, PAST, ONE MILLION และ MANAGING ONESELF) เป็น 1 ใน 5 นักคิดที่จะมาจุดประกายความคิดและแรงบันดาลใจในเรื่องเดียวกันนี้

“ภิญโญ” มองว่า การเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในโลกที่ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เขาหยิบยกคำกล่าวของ “ขงจื๊อ” ปราชญ์ชาวจีนผู้โด่งดังมาตอกย้ำด้วยว่า “มีแต่ผู้ฉลาดที่สุด และผู้ที่โง่ที่สุดเท่านั้น ที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง”

Advertisement

การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุดที่กลายเป็นเรื่องที่ยากที่สุด โดยมี “ตัวเรา” เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด เพราะครั้งหนึ่ง เราเคยเป็นปัจจัยในความสำเร็จของตัวเรา ดังนั้นจะให้ละทิ้งตัวเอง ละทิ้งความสำเร็จในอดีตจึงเป็นสิ่งที่ยากมาก

“วันนี้ เรากำลังโดนท้าทายโดยปัจจัยภายนอก ซึ่งคนที่จะเปลี่ยนแปลง ปรับตัวได้คือคนที่พร้อมเคลื่อนที่ตัวเองออกจากจุดที่ปลอดภัยที่สุด เพราะเมื่อเราเปลี่ยนที่ยืน สิ่งที่จะเปลี่ยนตามมาคือ Point of View”

เมื่อ Point of View เปลี่ยน สิ่งที่เห็นจะเปลี่ยนไป สิ่งที่เห็นกับโลกจะเปลี่ยนไป World View เปลี่ยน “โลกทัศน์” จะเปลี่ยน ถ้าอยู่ที่เดิม ทำงานบริษัทเดิมๆ กินข้าวร้านเดิม ก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยน และเมื่อคุณเปลี่ยนที่ตนเองในทุกมิติ หรือออกเดินทาง คุณจะได้เห็นโลกในมุมมองที่เปลี่ยนไป

และถึงที่สุดถ้าเราทำต่อเนื่องอย่างมีวินัย มันจะสะท้อนกลับมาที่การเปลี่ยนโลกทัศน์ภายในของเรา

“อย่าเสียเวลาไปเปลี่ยนแปลงผู้อื่น เพราะผู้อื่นก็จะเสียเวลามาเปลี่ยนแปลงเราเช่นกัน และถึงที่สุดจะไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย นอกจากความว่างเปล่า”

ถ้าเราไม่สร้างตนเองขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา เราจะติดสังขารเดิม อดีตเดิม และประวัติศาสตร์เดิม และหัวใจสำคัญในการสร้างสิ่งใหม่ (Reinvent) คือ ต้อง “ละทิ้งตัวตนเก่า” ไปทั้งหมด หรือแทบจะทั้งหมด

“การแบกตัวตนเก่าไปด้วย ยิ่งแบกในสัดส่วนสูงเท่าไร ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างตัวตนใหม่ เพราะปริมาตรที่ใส่ตัวตนของเรา เต็มไปด้วยตัวตนเก่า”

“ภิญโญ” ย้ำว่า “ถ้าไม่รินน้ำในถ้วยออกไปบ้าง ก็ไม่มีทางที่จะรินน้ำจากกาลงมาในถ้วยชาใหม่ได้”

สิ่งสำคัญที่สุด คือ “คุณต้องเป็นถ้วยที่ว่างเปล่า อย่าเป็นชาที่ล้นถ้วย เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะเอาน้ำเติมลงไปบนถ้วยชาที่ล้นอยู่แล้ว”

การจะ “สร้างใหม่ได้” จึงต้อง “ละทิ้ง” บางอย่างไป

“มนุษย์หวงแหนตัวตนของตนเองมากที่สุด ตัวตนเป็นทั้งความสำเร็จ เป็นทั้งล้มเหลว ความทรงจำ ความประทับใจ ความผูกพัน ความรัก ความภาคภูมิใจในชีวิต เป็นทุกอย่างที่หลอมรวมให้เราเป็นเรา วันดีคืนดีมีคนบอกว่า กรุณาทิ้งสิ่งที่เป็นตัวเราสูงสุดในวันนี้ไป เราจะทิ้งได้อย่างไร”

ไม่มีใครยอมทิ้ง และจะไม่ทิ้ง แต่ปัจจัยภายนอกจะบังคับให้เราทิ้งตัวตนเก่า แม้จะไม่อยากทิ้ง และนี่คือปัญหาใหญ่ที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ทุกวันนี้ เราจึงจำเป็นต้องสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา เพื่อรับมือกับปัญหาที่เดินเข้ามาหาเราในปัจจุบัน

“คนฉลาด คนมีปัญญา และเตรียมการล่วงหน้าจะเห็นทันทีว่า ปัจจัยภายนอกจะเข้ามาคุกคาม จุดยืนตัวตนเดิม ดังนั้นเขาจะปรับตัวเองก่อน เขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างรวดเร็ว ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น”

แต่อาจมีเพียงแค่ร้อยละ 2 เท่านั้น ที่มองการณ์ไกล และปรับตัวไปก่อน ขณะที่ร้อยละ 98 เป็นกลุ่มคนที่สถานการณ์บังคับให้ต้องปรับตัว

“คุณอาจจะตกงาน บริษัทให้ออกจากงานเดิม แม้คุณอยากจะทำงานนี้ เขาก็ไม่จ้างคุณอีกต่อไปแล้ว คุณอยู่ในธุรกิจเก่า ธุรกิจกำลังจะขาดทุน ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อีก จะดันทุรังทำต่อก็เดินต่อไปไม่ได้”

มีสองทางเลือก คือ 1.ไปก่อนเพราะเห็น กับ 2.สถานการณ์บังคับให้ทิ้งตัวตน ทิ้งธุรกิจ ทิ้งชีวิตเก่าเพื่อที่คุณจะไปข้างหน้าได้

“มีคนส่วนน้อยที่มองไปข้างหน้าแล้วเห็นอนาคต มีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล เพราะเขาเรียนรู้มาก อ่านหนังสือมาก คุยกับผู้คนมาก รู้ว่าสถานการณ์จะเกิดยังไง เขาจะปรับตัวเองอย่างยิ่งยวด และรวดเร็ว จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ กลุ่มนี้เป็น 2% ที่ไปได้”

ขณะที่คนส่วนใหญ่จะทอดอาลัย และติดอยู่กับอดีต ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะรู้สึกว่า “อดีต” ที่อยู่ปลอดภัย คิดว่า “ปัจจุบันคืออดีต” หาเข้าใจไม่ว่า “ปัจจุบันคือปัจจุบัน และเคลื่อนออกจากอดีตมานานแล้ว”

ใช่หรือไม่ว่า เราทุกคนล้วนอยากเป็นคนในกลุ่ม 2% ไม่ใช่ 98% จะเปลี่ยนแปลงและสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาได้อย่างไร มาหาคำตอบไปพร้อมกันในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ บนเวทีสัมมนา “พลิกเกมธุรกิจพลิกอนาคต THE REINVENTION”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image