จีนโล้สำเภาคุมอ่าวไทย หนุนสยามสุพรรณ ‘ยึดอยุธยา’ จากขอมละโว้

เรือมหาสมบัติ "เป่าฉวน" (จำลอง) ของแม่ทัพเจิ้งเหอ น่าเชื่อว่ายกมาจอดทอดสมออยู่อ่าวไทยเพื่อสนับสนุนเจ้านายสยามรัฐสุพรรณภูมิยึดอยุธยาจากขอมละโว้ (แบบจำลองตามสัดส่วนที่บันทึกโดยหลอเหมาเติ้ง สมัยราชวงศ์หมิง ในหนังสือชื่อบันทึกการท่องทะเลตะวันตกของขันทีซานเป่า ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน)

อยุธยา ราชอาณาจักรสยามแห่งแรกของไทย มีพัฒนาการจากสองรัฐใหญ่หลายพันปีมาแล้ว ได้แก่ รัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) กับรัฐละโว้ (ลพบุรี)

[สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก และอยุธยาไม่ใช่แห่งสอง ตามตำราของทางการ]

รัฐสุพรรณภูมิ เป็นที่รับรู้ทั่วไปสมัยหลังในอีกชื่อว่า สยาม (เอกสารจีนเรียก เสียน, เสียม) พูดภาษาไทย (สำเนียงลาว)

รัฐละโว้ เป็นที่รับรู้ทั่วไปในเอกสารไทยว่า ขอม พูดภาษเขมร

Advertisement

ยึดพื้นที่รอบอยุธยา

ก่อนสมัยอยุธยาหลายร้อยปี สยามกับละโว้ทยอยยึดพื้นที่คนละฟากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจะเป็นอยุธยาต่อไปข้างหน้า

สยาม อยู่ริมแม่น้ำฟากตะวันตก แล้วรับรู้สมัยหลังเรียก เวียงเหล็ก (เมืองปท่าคูจาม)

ละโว้ อยู่ริมแม่น้ำฟากตะวันออก เป็นที่รู้ทั่วไปสมัยหลังเรียก อโยธยา (ศรีรามเทพนคร)

Advertisement
ปรับปรุงใหม่บางตอนจากหนังสือ อยุธยา มาจากไหน?
สำนักพิมพ์นาตาแฮก แถมแผนที่ภูมิสถานอยุธยา “บิ๊กไซซ์”
ขายทางออนไลน์ ไอ้ทุยบุ๊คส์
www.facebook.com/ituibooks.com
08 0919 4516
แผนที่แสดงชุมชนบ้านเมืองสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณอยุธยา ยุคก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1893 (ซ้าย) เวียงเหล็ก (ฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา) เป็นชุมชนสยาม จากรัฐสุพรรณภูมิและเครือข่าย กลุ่มยกย่องตำนานพระเจ้าอู่ทอง (ขวา) อโยธยา (ฟากตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา) เป็นชุมชนละโว้ จากรัฐละโว้และเครือญาติกัมพูชา กลุ่มยกย่องคติรามาธิบดี

สยามยึดอยุธยา

สยามแห่งรัฐสุพรรณภูมิกำจัดรัฐละโว้ แล้วยึดอยุธยาโดยการอุดหนุนของจีน นับแต่นี้ไปอยุธยาต้องส่งบรรณาการ “จิ้มก้อง” จีน

จีนควบคุมเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร หลังสนับสนุนสยามยึดอยุธยา เพราะสยามมีอำนาจการเมืองระบบเครือญาติชาติภาษาไต-ไท ตั้งแต่รัฐสุโขทัย ถึงรัฐเพชรบุรี และรัฐนครศรีธรรมราช ซึ่งมีอำนาจเหนือเส้นทางข้ามคาบสมุทรสำคัญ ได้แก่

(1.) ช่องสิงขร ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ จ. ประจวบคีรีขันธ์ และ (2.) ด่านเจดีย์สามองค์ ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ จ. กาญจนบุรี

สยามยึดอยุธยาจากละโว้ มีพัฒนาการเป็นลำดับดังนี้

พระประธานปางป่าเลไลยก์ “หลวงพ่อโต” สิ่งศักดิ์สิทธิ์สืบจากรัฐสุพรรณภูมิ (ก่อนสมัยอยุธยา) ในวิหารหลวงวัดป่าเลไลยก์ อ. เมืองฯ จ. สุพรรณบุรี
พระแสงขรรค์ชัยศรี สัญลักษณ์ของจักรพรรดิราช เครื่องราชกกุธภัณฑ์ในสมเด็จพระนครินทราธิราช หรือเจ้านครอินทร์ พบในกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จ. พระนครศรีอยุธยา

สถาปนากรุงศรีอยุธยา

1.สยามกับละโว้ ร่วมกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1893 (เคยสถาปนาร่วมกันมาก่อนแล้ว มีบอกในเอกสารจีน)

กษัตริย์อยุธยาที่สถาปนาใหม่ (สืบจากอโยธยาศรีรามเทพ) เชื้อวงศ์ละโว้ ทรงนามสมเด็จพระรามาธิบดี

เมื่อสิ้นรัชกาลทุกครั้งมักมีขัดแย้งช่วงชิงอำนาจระหว่างสยามกับละโว้

เจ้านครอินทร์จากสุพรรณไปจีน

2.พระบรมราชา (พะงั่ว) จากรัฐสุพรรณภูมิเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา (สืบต่อจากพระรามาธิบดี) แล้วส่งโอรสสยามนามเจ้านครอินทร์ ไปเมืองจีน ขึ้นเฝ้าจักรพรรดิจีน เมื่อ พ.ศ. 1920

ครั้นสิ้นรัชกาลมีขัดแย้งทางการเมืองระหว่างละโว้กับสยาม

ยึดอยุธยา

3.พระรามราชา เชื้อสายรัฐละโว้ เสวยราชย์อยุธยา (ระหว่าง พ.ศ. 1938-1952)

ขัดแย้งรุนแรงกับเจ้านายขุนนางที่เป็นเชื้อสายรัฐสุพรรณภูมิ มีในพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ สรุปดังนี้

ตอนแรก พระรามราชาสั่งให้จับกุมเจ้าเสนาบดี ที่รับราชการในราชสำนักอยุธยา

เจ้าเสนาบดีหนีรอดอยู่เมืองปท่าคูจาม (เวียงเหล็ก) ซึ่งเป็นขุมกำลังของสยาม

ตอนหลัง เจ้าเสนาบดีนัดหมายทางการเมืองกับเจ้านครอินทร์ สุพรรณภูมิ

เมื่อถึงกำหนด เจ้าเสนาบดียึดอยุธยาโดยยกกำลังผู้คนเมืองปท่าคูจามกับสุพรรณภูมิ แล้วเชิญเจ้านครอินทร์ขึ้นเสวยราชย์อยุธยา (นาม พระนครินทราธิราช) พ.ศ. 1952

ฝ่ายพระรามราชาเชื้อสายละโว้ ถูกกักขังไว้ในเมืองปท่าคูจาม (ขุมกำลังของสยามแห่งรัฐสุพรรณภูมิ)

เจ้าเสนาบดี น่าจะเป็นเจ้านายผู้ใหญ่ เชื้อสายสุพรรณภูมิ รับราชการในอยุธยา โดยมีอำนาจควบคุมขุมกำลังชาวสยามแห่งรัฐสุพรรณภูมิ อยู่เมืองปท่าคูจาม (ซึ่งเดิมเป็นเวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทอง) โดยรับอุดหนุนจากจีน

เจิ้งเหอ (หรือชาวจีนในไทยเรียก ซำปอกง) ได้รับมอบหมายจากจักรพรรดิจีนให้ยกกองเรืออุดหนุนเจ้านายสุพรรณภูมิยกกำลังยึดอยุธยา (รูปปั้นที่อุทยานเจิ้งเหอ ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน สร้างเมื่อ ค.ศ. 1980 ภาพจาก http://www.yunnanadventure.com)

จีนสนับสนุน

4.จีนต้องการควบคุมและคุ้มครองบ้านเมืองแถบทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะบริเวณคาบสมุทรมลายู

ก่อนสยามยึดอยุธยา พ.ศ. 1952 จีนส่งกองเรือจีนนำโดยแม่ทัพขันทีเจิ้งเหอ (หรือซำปอกง) ยกกองเรือท่องสมุทร (ครั้งที่ 3) ผ่านอ่าวไทย เท่ากับใช้กองเรือกดดัน

ซึ่งเท่ากับมีส่วนสนับสนุนการยึดอยุธยาของสยามแห่งรัฐสุพรรณภูมิ

[หลักฐานและคำอธิบายมีในหนังสือ 2 เล่ม ของ สืบแสง พรหมบุญ (1.) ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการ ระหว่างจีนกับไทย มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2525 และ (2.) เจิ้งเหอ ซำปอกง อุษาคเนย์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก เมษายน พ.ศ. 2549]

การแผ่อำนาจของจีนมีเสมอ ในลักษณะกดดันและใช้กำลังทหารจากกองเรือข่มขู่คุกคามบ้านเมืองที่อ่อนแอกว่า เพื่อได้สิ่งที่ต้องการ รวมทั้งมีเหตุการณ์อย่างนี้ในอยุธยาด้วย

เรือน พ.ศ. 1900 มีในเอกสารจีนว่าเจิ้งเหอ ออกคำสั่งให้รื้อถอนพระสถูปในอยุธยาอย่างน้อย 1 องค์ว่า “เป็นพระสถูปที่ปราศจากยอดและอยู่ทางเบื้องทิศตะวันตก โดยกล่าวว่าพวกชนป่าเถื่อน (ชาวอยุธยา) เหล่านี้สร้างพระสถูปจนสำเร็จอยู่ก่อน เจิ้งเหอได้บัญชาให้ปราบพระสถูปนี้จนราบเรียบ จนแม้ต่อมาจะมีความพยายามที่จะสร้างสถูปขึ้นอีก ก็ไม่สำเร็จอีกเลย”

[ดูในบทความเรื่อง “เจิ้งเหอกับการทูตแบบสันถวไมตรี หรือเพื่อกดขี่บีฑา” ของ เจฟ เวด (ทรงยศ แววหงษ์ แปลจากบทความภาษาอังกฤษ พิมพ์เป็นเอกสารประกอบสัมมนาวิชาการ จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราฯ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้า เมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548)]


เหตุการณ์ครั้งนี้เสมือนจีนได้สยามกับละไว้ในอำนาจโดยไม่ต้องยกทัพ

ตามนโยบายที่พบในเอกสารจีน ดังนี้

“(จักรพรรดิ) ทรงปรึกษาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หารือเรื่องการจัดทัพไปปราบเสียน (สยาม) หลอหู (ละโว้) หม่าปาเอ๋อร์ (เปโป้ยยี้) จี้หลัน (กู้น้ำ) และซูมู่ตาลา (สุมาตรา) แต่ขุนนางชื่อเจียหลู่น่าต๋าซือ กราบทูลว่า ‘อาณาจักรเหล่านั้นเป็นอาณาจักรเล็กที่ไม่มีความสำคัญอะไร แม้ว่า (จีน) จะได้ (อาณาจักรเหล่านั้น) มาเป็นเมืองขึ้น ก็หาประโยชน์มิได้ (นอกจากนั้น) การที่จะจัดทัพไปปราบอาณาจักรเหล่านั้น ยังเป็นการทำลายชีวิตประชาชนโดยใช่เหตุ ควรส่งทูตไปชี้แจงบาปบุญคุณโทษ (และ) ชักชวน (ให้อ่อนน้อม) จะเหมาะสมกว่า ถ้า (อาณาจักรเหล่านั้น) ไม่ยอมอ่อนน้อมก็ยังไม่สายเกินไปที่จะไปโจมตีได้’ จักรพรรดิทรงเห็นชอบด้วย และรับสั่งให้เอียลาเยหนูเตอมี่และคณะ จัดการส่งทูตตามข้อเสนอดังกล่าว (ปรากฏผลว่า) กว่า 20 อาณาจักรยอมนอบน้อม”

[จากหนังสือ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน พ.ศ. 1825-2395 (แปลจากเอกสารทางราชการของจีน) โดย คณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทย เกี่ยวกับจีนในเอกสารภาษาจีน สำนักนายกรัฐมนตรี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2523]


ประวัติศาสตร์แห่งชาติคลาดเคลื่อน

“สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย ส่วนอยุธยาเป็นราชธานีแห่งที่สอง มีขึ้นหลังการล่มสลายของสุโขทัย”

ที่ยกมานี้มีในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ตามแนวคิดยุคอาณานิคมเกี่ยวกับการเมืองการปกครองสมัยโบราณแบบ “อาณาจักร” โดยมีอำนาจรวมศูนย์อยู่แห่งเดียว แล้วแผ่อำนาจออกไปโดยรอบ

แต่ไม่เคยพบหลักฐานวิชาการรองรับทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เพราะล้วนเสกสรรปั้นแต่งขึ้นเหมือน “นิยาย” สมัยใหม่

จีนโล้สำเภาคุมอ่าวไทย หนุนสยามสุพรรณ “ยึดอำนาจ” จากขอมละโว้ ล้วนมีเนื้อหาตรงข้ามกับประวัติศาสตร์แห่งชาติ อันเป็นรายงานข่าวอย่างง่ายๆ ตามอาชีพผู้สื่อข่าว (ไม่นักวิชาการ) ที่ผมได้จากงานวิชาการค้นคว้าวิจัยของนักปราชญ์ราชบัณฑิตและครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่าน

แต่อาจไม่ถูกใจอาจารย์มหาวิทยาลัยบางท่าน จึงย่อมมีสิทธิ์เต็มพิกัดคัดค้านทักท้วงถกเถียงตำหนิติเตียนดุด่าว่ากล่าวได้ทุกแง่มุมตามสะดวก (ในทุกเรื่องที่ผมทำรายงานข่าว รวมถึงเรื่องก่อนๆ เช่น “ทวารวดี”) เพื่อความก้าวหน้างอกเงยอย่างงดงามทางวิชาความรู้ แล้วแบ่งปันไร้ขีดจำกัดสู่สาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image