คอลัมน์เดือนหงายที่ชายโขง : เศรษฐีเงินสด วิถีเถ้าแก่อีสาน

ภาวะเศรษฐกิจต่างจังหวัดที่หยุดชะงักซบเซาลง เนื่องจากสินค้าเกษตรราคาตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน ประชาชนรากหญ้าขาดกำลังซื้อกำลังจับจ่าย กระทบกระเทือนไปถึงการปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคารที่หนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้การพิจารณาปล่อยสินเชื่อรายใหม่ให้กับคนทำธุรกิจยากขึ้น การริเริ่มทำธุรกิจจึงเป็นไปได้ลำบากทั้งจากต้นทุนที่หายาก และจากลูกค้าที่ถดถอย

สภาพความฝืดเคืองเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก วิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทยเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายหน ผู้ที่เคยผ่านสถานการณ์มาย่อมระมัดระวังตัวและเตรียมรับมือกันไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เอาตัวรอดจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 มาก่อน ซึ่งนักธุรกิจตามต่างจังหวัดที่มีอายุเข้าหลักสี่หลักห้าขึ้นไปมักจะหลีกเลี่ยงการลงทุนขนาดใหญ่ ใช้ความรอบคอบและระแวดระวังเมื่อทำการค้าและสะสมทุนจากเงินสดมากกว่า

การเก็บเงินสดไว้เป็นฐานนี่เอง ทำให้เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจของเถ้าแก่อีสานยังพอถูไถไปได้ หมุนเงินใช้จ่ายรายวันไว้ประทังตัว อีกส่วนหนึ่งก็เล็งเห็นการณ์ไกล ซื้อสินทรัพย์ที่ราคาถูกลงเนื่องจากผู้ขายร้อนเงินเก็บไว้เป็นสมบัติมรดก หรือลงทุนก่อสร้างในช่วงที่ราคาวัสดุก่อสร้างมีโปรโมชั่นลดราคาส่งเสริมการขาย และแรงงานมีให้เลือกมากค่าแรงไม่แพง เมื่อเศรษฐกิจกลับมาดีมีเงินหมุนเวียนก็จะได้กำไรเยอะกว่าไปเริ่มสร้างตอนราคาข้าวของแพงแล้ว

จึงจะเห็นได้ว่า แม้สภาพการค้าขายจะเงียบเหงา แต่โครงการก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือร้านค้าในจังหวัดภาคอีสาน ยังมีการเปิดตัวโครงการใหม่ขึ้นอยู่เรื่อยๆ เมื่อเปิดแล้วอาจจะไม่มีคนเข้ามาเช่าหรือทำการค้า ปิดเงียบอยู่สักระยะ เมื่อทิ้งเวลาผ่านไปหลายปีก็กลับมาคึกคักมีคนเข้ามาค้าขายเอง ระยะเวลาที่ทิ้งให้ว่างเปล่าไปนั้นเมื่อเทียบการปล่อยเงินสดให้ทิ้งไว้อยู่เฉยๆ ในธนาคารที่ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนต่ำ กับการก่อสร้างพัฒนาที่ไม่เสียดอกเบี้ยต่างจากการกู้เงินมาลงทุนแล้วย่อมคุ้มค่ากว่าในอนาคต

Advertisement

ตัวอย่างของโครงการที่ใช้เงินสดพัฒนาแล้วเงียบเหงาระยะหนึ่ง ก่อนจะเติบโตเป็นแหล่งการค้าใหญ่ได้แก่ ตลาดค้าส่งอู้ฟู่ ในจังหวัดขอนแก่น โดย คุณธนะ ศิริธนะชัย แห่งบริษัทแฟรี่วราศิริ เจ้าของห้างสรรพสินค้าแฟรี่พลาซ่าที่โด่งดังในอดีตของขอนแก่น ใช้วิธีร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อพัฒนาศูนย์ค้าส่งสินค้าแฟชั่นเพื่อร้านค้าปลีกในพื้นที่ 60,000 ตารางเมตร จนกลายเป็นตลาดใหญ่ ผู้ค้าปลีกไม่จำเป็นต้องลองไปเลือกซื้อสินค้าทุกอย่างถึงในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจโกลบัลเฮาส์ของร้อยเอ็ด ที่เน้นการปิดบิลซื้อขายวัสดุก่อสร้างด้วยเงินสด และพัฒนาสาขาผ่านการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ จนมีมูลค้าบริษัทมากกว่า 19,000 ล้านบาท และมีต้นทุนทางการเงินต่ำ สามารถประคองธุรกิจและผลประกอบการในภาวะที่สภาพเศรษฐกิจหดตัวได้

อย่างไรก็ตาม สภาพซบเซายาวนานเช่นนี้ แม้ว่าเถ้าแก่จะมีเงินสดสำรองเป็นสายป่านรองรับความเสียหาย แต่ว่าแต่ละคน แต่ละร้าน ก็มีไม่เท่ากัน และสภาพความเงียบงันต่อเนื่องก็ไม่เป็นผลดี ในขณะที่คนที่ไม่มีเงินสดเลยก็ต้องโยนผ้ายอมแพ้ธนาคารตั้งแต่ปีแรกๆ คนที่มีเงินสดสำรองน้อยกว่าก็จะทยอยเริ่มมีปัญหากับธุรกิจไปทีละน้อยๆ ปล่อยให้คนที่ร่ำรวยมากกว่าเป็นปลาใหญ่ค่อยกลืนกินธุรกิจเข้าไปช้าๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนใหญ่จากกรุงเทพฯ ที่ได้รับสินเชื่อหรือเงื่อนไขทางการเงินพิเศษจากธนาคารและตราสารในตลาดหุ้น มีต้นทุนการเงินต่ำกว่า และระดมทุนได้จำนวนมากกว่า

หากเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นในเร็ววัน จะนำไปสู่การผูกขาดของทุนใหญ่ ที่แม้แต่เถ้าแก่เงินสดเก่าแก่ก็อาจยังสู้ไม่ไหว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image