คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : การเดินทางข้างใน

อย่างที่รู้กัน การวิ่ง 2 พันกว่ากิโลเมตร จาก “ใต้สุดเบตงถึงเหนือสุดแม่สาย” ในโครงการก้าวคนละก้าวของนักร้องที่หลงใหลการวิ่ง “ตูน บอดี้สแลม-อทิวราห์ คงมาลัย” สำเร็จลงอย่างยิ่งใหญ่ตามเป้าหมาย ทั้งในแง่ระยะทาง และระยะเวลา (55วัน) โดยสามารถระดมเงินบริจาคเพื่อนำไปซื้อเครื่องมือแพทย์ให้ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ได้มากกว่า 1,400 ล้านบาท

ในงานสัมมนา “พลิกเกมธุรกิจ พลิกอนาคต The Reinvention” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และธนาคารไทยพาณิชย์ “ตูน-บอดี้สแลม” เป็น 1 ในวิทยากรที่มาขึ้นเวที และเล่าถึงที่มาที่ไปของการวิ่งครั้งนั้น ว่าเกิดจากความต้องการที่จะหาเงินช่วยโรงพยาบาลต่างๆ หลังวิ่งหาเงินช่วยโรงพยาบาลบางสะพานเสร็จแล้ว

เมื่อต้องการเงินบริจาคมากขึ้นเพื่อกระจายไปยัง 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เดิมคิดจะวิ่งจากตะวันตกสุดมาตะวันออกสุด ระยะทางเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 400 กว่ากิโล เป็น 800 กว่า แต่คิดว่าไม่ท้าทายพอ จึงตัดสินใจวิ่ง “ใต้สุดไปเหนือสุด”

เมื่อตั้งโจทย์แล้วคำนวณดูว่า ทำได้ไหม ถ้าทำได้ จะทำได้ภายในเวลากี่วัน

Advertisement

“ผมค้นพบว่าตัวเองเป็นนักวิ่ง 10 กิโล คือวิ่งสิบกิโลแล้วหยุดพักครึ่งชั่วโมง-45 นาที แล้ววิ่งต่อไปได้เรื่อยๆ ตอนวิ่งที่บางสะพานใช้สูตรนี้ ได้วันละ 40 กิโล แบ่งเป็น 10 กิโล 4 เซต วิ่งเบตง-แม่สาย เพิ่มเป็น 5 เซต”

วันละ 5 เซต 50 กิโลเมตร ต่อเนื่องทุกวัน จะใช้เวลา 40 กว่าวัน รวมเวลาหยุดพักด้วยก็น่าจะจบได้ใน 55 วัน

แม้ในระหว่างทางจะมีเสียงเตือนด้วยความเป็นห่วงว่าไม่ต้องวิ่งจบใน 55 วันก็ได้ แต่ “ตูน” ยังคงเป้าเดิม ด้วยเหตุผลว่า เมื่อตั้งโจทย์มาแล้วว่าอยากพิชิตระยะทาง 2,191 กิโลเมตร ใน 55 วัน คำนวณแล้วว่า “ทำได้” ก็อยากทำเต็มที่เพื่อให้รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

Advertisement

“อยากลองสักครั้งในชีวิต ถ้าคิดจะทำให้สำเร็จก็ขอลองให้เต็มที่ จะได้หรือไม่ได้ก็ยังดีใจว่าเราทำเต็มที่แล้ว”

แม้การวิ่งในโครงการ “ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาล” จะจบลงแล้ว ภารกิจส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนลุกขึ้นมาทำตามฝัน ดูแลสุขภาพและคิดทำสิ่งดีๆ เพื่อตนเองและผู้อื่นยังไม่จบ ต่อยอดมาเป็นโครงการ “ก้าวนี้… เพื่อศิริราช” โดยนำบันทึกเบื้องหลังการวิ่งมาตัดเป็นหนังสารคดี “2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว”

“หนังเรื่องนี้เป็นหนังเรื่องแรกของผม อยากเป็นพระเอกพันล้านกับเขาบ้าง เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส และเพื่ออาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล”

ใครอยากบริจาคทำได้หลายช่องทาง อาทิ เข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาศิริราช เลขที่บัญชี 016-3-04556-7 ประเภทบัญชีกระแสรายวัน ชื่อบัญชี เพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช, บริจาคผ่าน SMS ครั้งละ 10 บาท พิมพ์ T กดส่งที่ 4545099, สแกน QR Code ผ่านโมบายแบงกิ้ง, ผ่าน SCB EASY APP เลือกโครงการ “ก้าวคนละก้าว” เพื่อโรงพยาบาลศิริราช และ True Money Wallet

“ตูน” บอกว่า การวิ่งทำให้เขาได้เรียนรู้ และรู้จักตนเองมากขึ้นด้วย

“ตอนวิ่ง 10 กิโลเมตรแรกในชีวิต 5-6 ปีที่แล้ว อายุ 33-34 ก็คิดว่าตัวเองแข็งแรงมาก วิ่ง 2-3 กิโลเมตรแรกวิ่งเร็วมาก แซงคนรุ่นราวคราวเดียวกัน แซงเด็ก แซงผู้หญิง แซงคนแก่ พอถึงกิโลที่ 3 เริ่มหมดแรง มองเห็นผู้หญิง เห็นเด็ก คนแก่ วิ่งแซงเราไปด้วยสเต็ปช้าๆ แต่มั่นคง”

จังหวะนั้นรู้สึกช็อกมาก จากที่เคยคิดว่าตนเองแข็งแรงกว่า กลับไม่ใช่เลย เมื่อสมการเปลี่ยนไป

“ผมพาร่างอันบอบช้ำผ่าน 10 กิโลแรก ด้วยเวลา 1 ชม. เกือบ 20 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่ดีเลยสำหรับคนอายุ 30 กว่า”

ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจมากมาย “เขา” ค้นหาคำตอบด้วยการซ้อม ถามผู้รู้ และลงสนามวิ่งมากขึ้น

เวลาที่ดีที่สุดในการวิ่งมาราธอน (42.195 กิโลเมตร) อยู่ที่ 4 ชั่วโมง 8 นาที แม้จะพิชิตระยะมาราธอนมาหลายสนาม แต่ยังรู้สึกเขินทุกครั้งที่มีใครเรียกเขาว่า “นักวิ่ง” เพราะคำว่า “นัก” สำหรับเขาต้องเก่งมาก และถ้าจะให้ดีที่สุด ในชีวิตคนเราเป็นได้แค่ “นักเดียว” เขาเลือกแล้วที่จะเป็น “นัก” อะไร แต่แม้ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างสูงในฐานะ “ร็อกสตาร์” เมืองไทย และรักการร้องเพลงแค่ไหน ไม่ได้หมายความว่าอยากร้องเพลงทุกวัน

“ข้างในเรายังสนุกเหมือนเดิม แต่ตื่นเต้นน้อยลง โชคดีมากที่ผมได้มาเจอกิจกรรมที่ได้ชื่อว่า การวิ่งทำให้ความฟุ้งซ่าน และความคิดที่ว่าทำไมเป็นแบบนั้นแบบนี้ลืมไปด้วยการไปออกกำลังกาย ไม่งั้นคงคิดกับมันไปอีกสักพักโดยไม่รู้ว่าทางออกคืออะไร เมื่ออาชีพในฝันกลายเป็นงานประจำ คงไม่ต่างไปจากทุกคนที่ต้องเข้าออฟฟิศ เราก็มีเวทีคอนเสิร์ต มีคำว่า ต้องไปขึ้น ทั้งที่ไม่ได้อยากร้องเพลงทุกวัน”

การวิ่งทางไกลครั้งล่าสุดยังทำให้ “ตูน” พบ “ตัวยอมแพ้” เป็นครั้งแรกด้วย

“เป็นการวิ่ง 100 กิโลเมตร ติดต่อกันโดยไม่พักครั้งแรกในชีวิต การวิ่งเป็นการท่องเที่ยวไม่ใช่แค่ข้างนอก แต่เป็นการท่องเที่ยวเข้าไปข้างในตัวเราด้วย บางทีไปเจอตัวขี้เกียจตอนซ้อม ไปเจอตัวข้ออ้าง โน่นนั่นเต็มไปหมด ตัวยอมแพ้ เป็นตัวใหม่ที่ผมเจอในการวิ่งร้อยกิโล”

เขาเล่าว่าหลังวิ่งไป 80 กิโลเมตร ฝนเริ่มตกแรงขึ้น อากาศที่อุ่นกำลังพอดีลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ลมกระโชกแรง เนื่องจากเป็นเส้นทางวิ่งริมทะเลตอนเหนือของญี่ปุ่น เสื้อผ้าที่ใส่เป็นชุดนักวิ่งปกติจึงไม่ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น

เมื่อ “ขา” เริ่มไม่ไปกับ “ใจ”

“ก้าวต่อก้าวทรมานมาก รู้สึกเหนื่อยมากจนใช้คำว่า เกือบตายได้เลย ตอนวิ่งเบตง-แม่สาย ไม่มีอาการแบบนี้ ระหว่างนั้นมีวูบหนึ่งคิดว่า ไม่ไหวแล้วจะยอมแพ้แล้ว แต่มาเจออีกตัว คือตัวเสียดาย วิ่งมา 80 กว่ากิโลแล้ว เหลืออีกสิบกว่ากิโลเองนะ”

ระหว่างตัว “เสียดาย” กำลังต่อสู้กับตัว “ยอมแพ้” เขาก็คิดขึ้นมาว่า ลองเดินช้าๆ แทนก่อนยอมแพ้ไหม จากวิ่งอยู่จึงเริ่มเดินก่อนเพื่อลองดูว่าจะไปได้อีกสักกี่ก้าว แล้วทุกอย่างก็คลี่คลายดีขึ้นด้วยตัวเอง

“จังหวะนั้นนับเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำมาก ทำให้ผมเรียนรู้ว่า ไม่ใช่มีทางเลือกแค่ว่า ไปต่อ หรือเลิกเลยเท่านั้น”

สิ่งที่ได้จาก “การวิ่ง” จึงเป็นอะไรที่มากไปกว่าการทำให้ร่างกายแข็งแรง และสุขภาพที่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image