สุจิตต์ วงษ์เทศ : ‘หมอลำ’ โกอินเตอร์ มีรากเหง้าหลายพันปีมาแล้ว

ความเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมลาวจากอีสาน มีมากในกรุงเทพฯ ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในคณะสงฆ์สายธรรมยุต ดังพบภาพเทวดาเป่าแคน จิตรกรรมในวิหารพระศาสดา วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ [ภาพจากบทความเรื่อง "จิตรกรรมเทวดาเป่าแคนในวัดบวรนิเวศวิหาร กับสายธารประวัติ "พระคณะลาว" แห่งธรรมยุติกนิกายยุคแรก" ของ พระวิโรตม์ ธมฺมวโร (วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ) พิมพ์ในหนังสือ แคน มนต์เสน่ห์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน-ลาว มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2561 หน้า 210-234]

หมอลำ หมายถึงผู้ชำนาญขับลำคำคล้องจองเคล้าคลอด้วยเสียงแคน มีกำเนิดจากหมอขวัญ (หรือ หมอมด) และหมอแคนในพิธีกรรมทางศาสนาผีราว 2,500 ปีมาแล้ว

ต่อมามีพัฒนาการเป็นมหรสพเรียกรวมๆ ว่า หมอลำ

มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีงาน “ขอนแก่น-ลาวศึกษา” เรื่อง “แคน” มนต์เสน่ห์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน (วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน 2561) ผมได้กราบไหว้ “แม่ญิง” สองหมอลำร่วมสมัยคนสำคัญคือ ดร. ฉวีวรรณ พันธุ กับ ดร. ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร (ใส่ ดร. นำหน้าตามเอกสารทางการ ที่อ่านแล้วงงๆ แต่สอบถามใครก็ไม่ได้คำอธิบายว่าทำไม?)

ด้วยความเคารพยกย่องอย่างยิ่ง จึงต้องเขียนบอกเล่าเรื่องความเป็นมาของหมอลำ ซึ่งเป็นขุมพลังทางวัฒนธรรมสำคัญมากชุดหนึ่งต่อข้อมูลความรู้เกี่ยวกับความเป็นไทยด้านวรรณคดีและดนตรี ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มสืบเนื่องจนปัจุบัน (โดยไม่ถือเป็นยุติ)

Advertisement
(บน) หนุ่มสาวลงข่วงเข็นฝ้ายเป่าแคน “งันเฮือนดี” ศพพราหมณ์ชูชก
(ล่าง) แห่ศพพราหมณ์ชูชกไปเผา ฮูปแต้มในหอพระบาท วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
[รูปจากบทความเรื่อง “แคนในฮูปแต้มอีสาน” ของ ณัฐพงศ์ มั่นคง ในหนังสือ แคน มนต์เสน่ห์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน-ลาว มหาวิทยาลัยขอนแก่น พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2561 หน้า 195-209]

หมอลำโกอินเตอร์ เพราะมีเสรีทางวัฒนธรรม

หมอลำหมอแคน เป็นการแสดงคู่กัน มีความเป็นมาปลอดจากอำนาจวัฒนธรรมราชสำนักลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงมีเสรีเต็มที่ แล้วมีช่องเปิดกว้างรับแนวคิดสร้างสรรค์ เพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองเคลื่อนไหวไปกับวัฒนธรรมป๊อบ

หมอลำประเพณี

หมอลำหมอแคนเก่าสุดเป็นเพศหญิง หรือแม่หมอ ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนเป็นลำโต้ตอบกันด้วยผู้หญิงกับผู้ชาย

ต่อมาหลังสมัย ร.5 หมอลำหมอแคนปรับตัวให้มีผู้เล่นเล่นหลายคนเป็นหมู่ เรียกหมอลำหมู่ เลียนแบบลิเกกรุงเทพฯ แต่ลำเป็นคำลาว แต่งตัวเหมือนลิเก เล่นเป็นเรื่องนิยายอย่างลิเก บางทีเรียกลิเกลาว เพื่อความอยู่รอดอย่างทันสมัยครั้งนั้น

Advertisement

“หมอลำซิ่ง” พลังสร้างสรรค์ของอีสาน

“หมอลำซิ่ง” ที่แพร่หลายเป็นที่ชื่นชอบทั่วไปทุกวันนี้ มีขึ้นจากพลังสร้างสรรค์ของหมอลำตามประเพณีอีสาน นาม ราตรี ศรีวิไล [เกิด พ.ศ. 2495 จ. มหาสารคาม] ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2527 จนได้รับยกย่องเป็น “ราชินีหมอลำซิ่ง”

ราตรี ศรีวิไล ได้รับยกย่องเป็น “ราชินีหมอลำซิ่ง” ในงาน แคน มนต์เสน่ห์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน-ลาว จัดโดยสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่โรงแรมราชาวดีรีสอร์ต แอนด์ โฮเทล อ. เมืองฯ จ. ขอนแก่น วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน 2561

หมอลำซิ่ง มาจากหมอลำกลอน (ตามประเพณี) หรือหมอลำคู่หญิง-ชาย บางทีเรียก “หมอลำโจทก์-แก้” ลำโต้ตอบเรื่องต่างๆ

แต่สร้างสรรค์โดย ราตรี ศรีวิไล เข้ากับความทันสมัย ให้ลำกลอนรวดเร็วขึ้น บางทีเรียก “กลอนซิ่ง” สนองความต้องการของคนร่วมสมัย

ผสมวงด้วยเครื่องดนตรีฝรั่งอย่างกลองชุด ฝ่ายหญิงนุ่งกระโปรงสั้นทันสมัย แล้วเน้นการเต้นประกอบจังหวะ สอดแทรกด้วยเพลงลูกทุ่งที่คนดูนิยม และพร้อมดัดแปลง สิ่งใหม่เข้าหมอลำซิ่งไม่หยุดเคลื่อนไหว

ทั้งหมดเป็นความสามารถในการปรับตัวของหมอลำในวิถีของคนอีสานที่ไม่ถูกครอบงำด้วยลายกระหนกของความเป็นไทยแบบภาคกลาง ทำให้มีเสรีต่อพลังสร้างสรรค์สูงยิ่ง


หมอลำในวัฒนธรรมป๊อป

หมอลำหมอแคนปรับตัวเองเป็นระยะๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกและของไทย กระทั่งเข้ากับวัฒนธรรมป๊อป

แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก พ.ศ. 2504 (มีขึ้นจากการปฏิวัติของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์) กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว แล้วมีวงดนตรีชนิดใหม่ในอีสานเรียกภายหลังว่า วงโปงลาง กับเพลงไทยสากลแบบหนึ่งในวัฒนธรรมป๊อป เรียกเพลงลูกทุ่ง มีขึ้นราวหลัง พ.ศ. 2507

หลังจากนั้น หมอลำหมอแคนปรับตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมป๊อป เป็นหมอลำลูกทุ่ง(เพลงลูกทุ่งที่ผสมหรือแทรกทำนองหมอลำ) ทับซ้อนกับ หมอลำซิ่ง จนแยกจากกันไม่ได้

โกอินเตอร์

เมื่อไม่มีกรอบครอบงำเหมือนกะลาเหล็ก หมอลำที่มีเสรีก็โกอินเตอร์อย่างมั่นใจ (ไม่กลัวฝรั่ง) คนเกือบทั้งโลกรู้จักแล้วร่วมสนุกเต็มพิกัด

เพราะอีสานดินแดนที่ราบสูงเป็น “เขตไร้รัฐ” ซึ่งถูกทอดทิ้งจากศูนย์กลางตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 2000 (ยุคปลายอยุธยา)

ชาวอีสานประกอบด้วยคนหลายเผ่าพันธุ์และหลายวัฒนธรรม ตั้งหลักแหล่งกระจัดกระจายตามแหล่งน้ำ เช่น หนอง บึง บุ่ง ทาม ฯลฯ นับถือศาสนาอีสาน ที่มีศาสนาผีเป็นแกนสำคัญ แล้วผสมกับพุทธ, พราหมณ์ แบบพื้นเมือง (ไม่ทางการ) อีสานในที่นี้ไม่รวมเมืองนครราชสีมา เพราะไม่ลาว

หมอขวัญหมอแคนเป็นผู้หญิง

สมัยดั้งเดิมเริ่มแรกราว 2,500 ปีมาแล้ว หมอขวัญ (หมอมด) หมอแคนเป็นผู้หญิง เพราะสมัยนั้นผู้หญิงมีฐานะทางสังคมสูงกว่าผู้ชาย และได้รับยกย่องเป็นบุคคลพิเศษ เรียก หมอ มด, หมอผี เป็นเจ้าพิธีศาสนาผี และเป็นเจ้าของงานศิลปวัฒนธรรม มีอำนาจเสมือนหัวหน้าผ่าพันธ์

หมอขวัญ หรือ หมอมด สร้างสรค์คำขับลำคำคล้องจองร้องขวัญ เรียกขวัญ ส่งขวัญ และวิงวอนร้องขอต่อผีฟ้าเพื่อความอุดมสมบูรณ์และเจริญพืชพันธุ์ธัญญาหาร หมอขวัญเป็นผู้ทำหน้าที่แทนคนทั้งหมดในชุมชน (ครั้นหลังรับพุทธศาสนาเรียก หมอพร)

ถ้ามีผู้เจ็บไข้ได้ป่วย หมอมดก็ทำหน้าที่เชิญผีฟ้ารักษาโรค แล้วเรียกสมัยหลังว่า ลำผีฟ้า

หมอแคน สร้างสรรค์ภาษาพิเศษและศักดิ์สิทธิ์ สื่อสารกับผีฟ้าด้วยการเป่าแคนแสนเสนาะเคล้าคลอคำขับลำของหมอขวัญ เป็นผู้แปลงภาษาคนเป็นภาษาแคน (คือ ดนตรี) สื่อสารกับผีแถนผีฟ้าหรือผีบรรพชน

ผีฟ้า ไม่ใช่คน แต่เป็นอำนาจเหนือธรรมชาติ จึงสื่อสารไม่ได้ด้วยภาษาคนที่พูดจาในชีวิตประจำวัน ต้องมีภาษาพิเศษ คือ ดนตรี ที่เรียก แคน (หรืออื่นๆ)

คำเรียกหมอขวัญหมอแคนอนุโลมตามปัจจุบัน แต่เมื่อหลายพันปีมาแล้วเรียกยังไงไม่พบหลักฐาน?


(บน)หมอลำทำขวัญงันเฮือนดี ราว 2,500 ปีมาแล้ว สนุกสนานด้วยการละเล่นต่างๆ (จำลองแผ่ตรงๆ เพื่อดูสะดวกจากภาพสลักบนหน้ากลองทองมโหระทึก พบในเวียดนาม)
(ล่าง) หมอลำมีกำเนิดจากหมอขวัญหมอแคน ล้วนเป็นผู้หญิง 2,500 ปีมาแล้ว (ลายเส้นจำลองจากภาพสลักบนขวานสำริด ขุดพบในหลุมศพเมืองดงเซิน ริมแม่น้ำซองมา จ. ถั่นหัว เวียดนาม)

แคน เครื่องเป่าในศาสนาผี

แคน เป็นเครื่องเป่า มีกำเนิดจากพิธีกรรมทางศาสนาผีในภูมิภาคอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว พบหลักฐานรูปแคนสำริดมีอายุก่อนมีพุทธศาสนา

ยังไม่เคยพบหลักฐานเกี่ยวกับแคนในอินเดีย แคนจึงไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธกับพราหมณ์ ตามที่นักวิชาการด้านดนตรีมักอ้างถึงนิทานเรื่องเสียงนกการเวกกับหญิงหม้าย ว่าแคนมีกำเนิดตามคำบอกเล่าสืบกันมาว่าหญิงหม้ายได้ยินเสียงร้องไพเราะของนกการเวก จึงสร้างเครื่องเป่ามีเสียงไพเราะเหมือนนกการเวก แล้วถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล โปรดให้ชื่อ “แคน”

คำบอกเล่านี้มีขึ้นสมัยหลังๆ มากแล้ว ไม่เป็นหลักฐานกำเนิดแคน แต่เป็นพยานว่ามีผู้พยายามสร้างนิทานให้แคนขลังและศักดิ์สิทธิ์มาจากอินเดีย (เหมือนนิบาตชาดก ยกนิทานท้องถิ่นของอุษาคเนย์จับบวชเป็นชาดก เรียกชาดกนอกนิบาต หมายถึงไม่มีในอินเดีย แต่พยายามทำให้ขลังโดยสร้างใหม่แล้วอ้างว่ามาจากอินเดีย)


เสียงโหยหวนและลูกคอ

คำขับลำทำขวัญและวิงวอนร้องขอต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาหาร มีลักษณะพิเศษที่หมอขวัญสร้างสรรค์ไว้ ได้แก่ คำคล้องจอง เป็นต้นทางพัฒนาการ เป็นร้องกรอง ประเภทโคลงกลอนและร่าย เสียงโหยหวน, ลูกคอ เป็นต้นทางทำนองร้องเพลงดนตรีไทย

เสียงโหยหวนและลูกคอ คือลักษณะเด่นเป็นพิเศษของหมอลำทุกประเภท

มีต้นแบบจากคำขับลำทำขวัญของหมอขวัญ (หรือ หมอมด) หลายพันปีมาแล้ว ต้องการเน้นเนื้อความวิงวอนร้องขอหรือเรื่องราวสำคัญนั้นๆ

ครั้นหลังรับศาสนาพุทธจากอินเดีย บรรดาพระสงฆ์ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองต่างคุ้นเคยยกย่องอยู่แล้วต่อเสียงโหยหวนและลูกคอของหมอขวัญ จึงรับประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมใช้เทศน์มหาชาติเป็นทำนองต่างๆ มีเสียงโหยหวนและลูกคอ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระนิพนธ์บอกไว้นานแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2462 ว่า

“พระเทศน์เวสสันดรชาดกโดยทำนองต่างๆ เห็นจะมีขึ้นทางเมืองลาวก่อน แล้วจึงแพร่หลายลงมาข้างใต้—-“ (คำนำหนังสือมหาพนคำเฉียง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2462)

“งันเฮือนดี” หมายถึง งานฉลองมีสนุกสนานอย่างยิ่งด้วยการละเล่นเป็นมโหสพคบงันอึกทึกครึกโครม (มโหสพคบงัน กลายคำจาก มหรสพ หมายถึง การละเล่นหลายอย่างในงานฉลอง) งัน หมายถึง งานฉลองสนุกสนานอย่างยิ่ง ไม่ใช่งานอาชีพในชีวิตประจำวัน เช่น หุงข้าว, ทำนาทำไร่ ฯลฯ เฮือนดี น่าจะกลายจาก เรือนผี หมายถึงเรือนที่มีคนตายเพราะขวัญหาย

ความเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมลาวจากอีสาน มีมากในกรุงเทพฯ ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในคณะสงฆ์สายธรรมยุต ดังพบภาพเทวดาเป่าแคน จิตรกรรมในวิหารพระศาสดา วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ
[ภาพจากบทความเรื่อง “จิตรกรรมเทวดาเป่าแคนในวัดบวรนิเวศวิหาร กับสายธารประวัติ “พระคณะลาว” แห่งธรรมยุติกนิกายยุคแรก” ของ พระวิโรตม์ ธมฺมวโร (วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ) พิมพ์ในหนังสือ แคน มนต์เสน่ห์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน-ลาว มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2561 หน้า 210-234]
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image