Lo and Behold : Reveries of the Connected World ‘พิภพอินเตอร์เน็ต’ กำลังจะยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์?

ข้อความที่มีการส่งทางอินเตอร์เน็ตครั้งแรกในโลก…เขียนว่าอะไร?

นี่คือคำถามต้นเรื่องของ “Lo and Behold : Reveries of the Connected World” ภาพยนตร์สารคดีปี 2016 ของผู้กำกับหนังระดับตำนานโลกชาวเยอรมัน “แวร์เนอร์ แฮร์โซก” (Werner Herzog)

แฮร์โซกทำหนังสารคดีเรื่องนี้ตอนอายุ 74 ปี ปัจจุบันเขาอายุ 76 ปีแล้ว ความโชกโชนของงานภาพยนตร์ที่เขา ทำตั้งแต่ยุคที่อินเตอร์เน็ตยังไม่เข้ามามีบทบาท ด้วยหนังขึ้นหิ้งอย่าง Aguirre , Wrath of God และ Fitzcarraldo

หนังของแฮร์โซกนั้น มักมีฉากและเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติอยู่มาก เพื่อพูดถึงบริบท “ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่ามนุษย์” จะต้านทานได้

Advertisement

ย่างสู่วัยชรา “แฮร์โซก” ตั้งคำถามว่าเมื่อโลกเข้าสู่ยุค “อินเตอร์เน็ตอัจฉริยะ” ไม่ว่าจะเป็นยุคหุ่นยนต์อัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ และอินเตอร์เน็ตที่ถูกผูกโยงกับทุกอย่างในชีวิตประจำวันเป็น Internet of Things

“อินเตอร์เน็ต” กำลังจะ “ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์” ด้วยหรือไม่

หนังสารคดี “Lo and Behold : Reveries of the Connected World” เริ่มต้นพาไปดูสถานที่ที่อินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นครั้งแรก ในปี 1969 ที่ห้องปฏิบัติการมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (ยูซีแอลเอ)

ที่นี่คือที่ตั้งของ “อุปกรณ์อินเตอร์เน็ตชิ้นแรกของโลก” เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่สูงกว่า 2 เมตร

ข้อความที่มีการส่งทางอินเตอร์เน็ตครั้งแรกในโลก ถูกส่งจากห้องปฏิบัติการนี้ ไปยังสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด ที่อยู่ห่างกัน 400 ไมล์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1969

โดย “ข้อความแรก” ที่ถูกส่งผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ยูซีแอลเอ เชื่อมต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สแตนฟอร์ด คือคำว่า “โล” (Lo) ซึ่งดั้งเดิมโปรแกรมเมอร์จากสองสถาบันต้องพิมพ์เชื่อมต่อกัน ด้วยคำว่า “Log in” ล็อกอิน แต่ระหว่างที่สื่อสารและพิมพ์ส่งหากันนั้น พิมพ์ไปได้แค่สองตัวอักษร คือ แอล และโอ คอมพิวเตอร์ฝั่งสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ดเกิดล่ม

ทำให้ข้อความแรกที่พิมพ์จากคอมพิวเตอร์คือคำว่า Lo “โล” นั่นเอง

อาจถือได้ว่าเป็นวันแรกของการเริ่มต้นอารยธรรม “ยุคอินเตอร์เน็ต”

“แฮร์โซก” ไล่เลียงเรื่องราวที่เกิดขึ้นของ “อินเตอร์เน็ต” ตั้งแต่เริ่มต้นจนมาถึง “รถไร้คนขับ หุ่นยนต์อัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์”

ด้านหนึ่งเขาพาไปพูดคุยกับผู้คนในแวดวงที่หลงใหลในนวัตกรรมนี้ ขนาดที่มีความใฝ่ฝันว่าไม่เกิน 30 ปีจากนี้ จะสร้าง “ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์อัจฉริยะ” ที่ฉลาดและเก่งกาจพอกับมนุษย์จนสามารถลงแข่งกับทีมฟุตบอลโลกของฟีฟ่าได้

ในอีกด้านตรงข้าม “แฮร์โซก” พาไปดู “ด้านมืดของอินเตอร์เน็ต” ผ่านเรื่องเล่าการกลั่นแกล้งทางออนไลน์, การแฮกข้อมูลส่วนตัวที่กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล หรือแฮกข้อมูลภาครัฐ บริษัท

เขายังพาไปคุยกับกลุ่มคนที่ต้องเข้ารับการบำบัดอาการเสพติดอินเตอร์เน็ตเรื้อรังอย่างหนัก และกลุ่มคนที่มีความเจ็บป่วยจากสัญญาณมือถือ สัญญาณไร้สายต่างๆ จนต้องหาที่พักอาศัยในพื้นที่ “ปลอดอินเตอร์เน็ต” และสัญญาณเชื่อมต่อไร้สายทุกระบบได้

เรื่องราวของคนกลุ่มเล็กๆ นี้ สวนทางกับเมื่อโลกกำลังสร้างให้ทุกอย่างในชีวิตเราให้ต้องผูกกับอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่แค่ในระดับเป็น “ทางเลือก” แต่ทำให้อินเตอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิต

“แฮร์โซก” ยังสำรวจด้วยว่า แล้วจะมีจุดจบหรือ “ยุคอินเตอร์เน็ตล่มสลาย” ได้หรือไม่? ในหนังมีคำอธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ โดยโยงใยกับความผิดปกติของดวงอาทิตย์ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้

ในหนังสารคดีเขาสัมภาษณ์ “อีลอน มัสก์” นักธุรกิจผู้ก่อตั้งโครงการสเปซเอ็กซ์ สร้างจรวดและพัฒนาถิ่นที่อยู่อาศัยบนดาวอังคาร ดูเหมือน “อีลอน มัสก์” จะมีความฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะอยู่อาศัยบนดาวอังคารได้

แล้วถ้าฝันใหญ่นั้น อาจเป็น “ฝันร้าย” ?

แฮร์โซก นำเสนอในอีกแง่มุมว่า ฤๅโลกยังน่าอยู่ แต่มนุษย์ไม่เลือกรักษา ในเมื่อวันนี้ผู้คนยังว่ายน้ำเล่นในทะเลได้ หายใจในอากาศได้เองโดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยี แต่เรากลัวโลกจะพังแล้วเลือกไปที่อื่น?

ยิ่งวิวัฒนาการยุคอินเตอร์เน็ตรุดหน้าแค่ไหน ถึงจุดหนึ่งอินเตอร์เน็ตจะเลยเถิด เกินการควบคุมของมนุษย์หรือไม่ เขาตั้งคำถามเชิงปรัชญาเรื่องนี้ โดยอ้างอิงคำกล่าวของ นักทฤษฎีสงครามชาวปรัสเซีย “เคลาเซวิตซ์” ที่กล่าวไว้ว่า

“บางครั้งสงครามก็ฝันถึงตัวเอง”

แฮร์โซกตั้งคำถามต่อว่า เป็นไปได้ไหม “อินเตอร์เน็ตจะเริ่มฝันถึงตัวเอง” เช่นกัน

ความฉลาดของมันที่อาจทำให้มนุษย์ควบคุมไม่ได้ และเส้นแบ่ง “จริยธรรมกับเทคโนโลยี” อาจจะพร่าเลือนไป

ถึงจุดที่อารยธรรมอินเตอร์เน็ตพัฒนาไปถึงขีดสุดแล้ว ลูกหลานเรายังต้องการ “มิตรภาพในแบบมนุษย์” หรือไม่ หรือเราอาจเป็น “มิตรกับหุ่นยนต์-อินเตอร์เน็ตอัจฉริยะ”ได้?อย่างไม่มีปัญหาเช่นกัน?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image