เผาเทียน เล่นไฟ ที่สุโขทัย เมื่อ 40 ปีมาแล้ว ศิลปวัฒนธรรม ฉบับปฐมฤกษ์ เร่ขายในงาน โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

หนังสือศิลปวัฒนธรรม ฉบับปฐมฤกษ์ ชำแหละประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่ขนไปเร่ขายเล่มละ 10 บาท งานเผาเทียน เล่นไฟ ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เมื่อพฤศจิกายน 2522

เผาเทียน เล่นไฟ เป็นงานริเริ่มโดย นิคม มูสิกะคามะ (ถึงแก่กรรม) อดีตอธิบดีกรมศิลปากร

ชื่องานครั้งแรกว่า เผาเทียน เล่นไฟ (ไม่มีคำว่า ลอยกระทง) ได้จากข้อความในจารึกพ่อขุนรามคำแหง หมายถึงจุดธูปเทียนไหว้พระทำบุญ มีเล่นไฟพะเนียง (ในจารึกไม่มีคำว่า ลอยกระทง)

นิคม มูสิกะคามะ เป็นชาวเมืองนครศรีธรรมราช แล้วเข้าเรียนจบปริญญาตรีจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ารับราชการกรมศิลปากร เป็นภัณฑารักษ์ (นักโบราณคดี)

รัฐบาลสมัยต่อมามอบหมายงานสำคัญ บุกเบิก โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ ที่เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย นิคม มูสิกะคามะ รับงานอย่างองอาจ แต่แทบเอาชีวิตไม่รอด เพราะถูกลอบทำร้ายหลายครั้ง ถึงขั้นถูกลอบยิง (แต่รอดตาย) จากผู้เสียผลประโยชน์ ที่ลักลอบขุดหาของมีค่าจากวัดร้างในเมืองเก่าสุโขทัยไปขายจนมีฐานะ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ยาวนาน

Advertisement

โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ระดมขอความร่วมมือจากนักวิชาการหลายสาขา ทั้งด้านประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา รวมถึง สื่อมวลชน ครั้นเป็นตัวเป็นตนจนสังคมทั่วไปรับรู้และสนับสนุนมากขึ้น นิคม มูสิกะคามะ (โดยร่วมกับหน่วยงานจังหวัดสุโขทัย) สร้างสรรค์กิจกรรมแบ่งปันข้อมูลความรู้เพื่อโปรโมตสุโขทัยเมืองประวัติศาสตร์ เรียกงาน เผาเทียน เล่นไฟ (ยังไม่มีข้อความ ลอยกระทง)

พฤศจิกายน พ.ศ.2522 (ราว 40 ปีมาแล้ว) ผมขนหนังสือ ศิลปวัฒนธรรม รายเดือน ฉบับปฐมฤกษ์ ใส่รถตู้ไปขายเร่ในงานเผาเทียน เล่นไฟ สุโขทัยเมืองเก่า

ศิลปวัฒนธรรม ฉบับปฐมฤกษ์ พาดปกด้วยข้อความว่า “ชำแหละประวัติศาสตร์สุโขทัย” เนื้อหาส่วนมากเป็นมุมมองใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย ขายเล่มละ 10 บาท ปกพิมพ์ 4 สี กระดาษอาร์ต รูปเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ วัดมหาธาตุ สุโขทัย ขนาดเล่ม 8 หน้ายก (ธรรมดา) กระดาษปรู๊ฟมันทั้งเล่ม เก็บเล่มเย็บกลาง (มุงหลังคา)

ปรึกษาหารือแล้วก่อนหน้านั้นเป็นเดือน เรื่องศิลปวัฒนธรรมจะโปรโมตประวัติศาสตร์สุโขทัย จึงขอความช่วยเหลือหานักเรียนมัธยมสัก 10 คน เดินขายหนังสือเล่มละ 10 บาท แบ่งครึ่ง คนขายให้ 5 บาท คนพิมพ์ได้ 5 บาท นิคม มุสิกะคามะ จัดการตามร้องขอให้ทุกอย่าง แถมเลี้ยงข้าวและเลี้ยงเหล้าตลอดงาน พร้อมที่นอนบนเรือนรับรองตั้งอยู่หลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุโขทัย (ซึ่งพี่นิคมให้ผมนอนประจำมาก่อนแล้ว เมื่อไปช่วยงานอุทยานฯ)

งานเผาเทียน เล่นไฟ สุโขทัยเมืองเก่า เมื่อพฤศจิกายน พ.ศ.2522 จึงมีหนังสือศิลปวัฒนธรรมเร่ขายตลอดงาน (เสมือนสูจิบัตร แต่จริงๆ ไม่ใช่) เป็นครั้งแรก และครั้งเดียว เพราะในปีต่อๆ ไปไม่ขนไปขายอีก (เพราะมีเอเยนต์รับวางตลาดทั่วประเทศ)

นอกจาก ไม่เคยต่อต้านงานเผาเทียน เล่นไฟ ที่สุโขทัยแล้ว ผมยังมีส่วนร่วมอยู่ห่างๆ ไกลๆ ตั้งแต่แรกเริ่มเสียด้วยซ้ำ (ตามเล่ามานี้ ซึ่งมีไม่เล่าอีกมาก) เพียงมีแนวคิดต่างไม่เห็นพ้องด้วย 2 เรื่องทางวิชาการ ได้แก่ (1.) ข้อมูลเรื่องนางนพมาศ และ (2.) สถานที่ลอยกระทง

ขอให้บอกความจริงต่อสังคมเท่านั้นว่าหลักฐานวิชาการแท้จริงเป็นอย่างไร? แล้วจะลอยกระทงกันยังไง? ตรงไหน? ก็ตามใจได้ทุกแห่ง ไม่ว่าบนยอดเขา หรือในโรงแรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image